"ความยากจน" เบ้าหลอมชีวิตในวัยเยาว์ ของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

เรื่องราวของ "ความจน" และ "คนจน" ไม่ใช่ "เรื่องแปลก" หรือ "สิ่งแปลก" ในสังคมไทย มันเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยด้วยซ้ำ แต่สำหรับ "คนจน" ที่รู้จักพลิกหา "ด้านบวก" และใช้มันเป็นบันไดชีวิตสู่ความสำเร็จของตัวเองได้ ก็มักจะประสบความสำเร็จในระดับที่ไม่ธรรมดา และสมคิดก็เป็นหนึ่งในคนที่ไม่ธรรมดาเหล่านั้น

บรรพบุรุษของสมคิดทนต่อความยาก จนข้นแค้นที่บ้านเกิดในอำเภอเท่งไฮ้ มณฑล กวางตุ้งไม่ได้ จึงอพยพมาทำมาหากินในเมือง ไทยตั้งแต่รุ่นของ "ก๋ง" (หมายถึงปู่) "ก๋ง" นั้นมาเมืองไทยเมื่ออายุค่อนข้างมากแล้ว โดย ได้พาภรรยาพร้อมลูกสาว 3 คน ลูกชาย 2 คน หลังจากมาอยู่เมืองไทยไม่นานก็ได้ลูกสาวอีก 2 คน "ก๋ง" ของเขาได้ทำงานรับจ้างเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ส่วนลูกสาวนั้นก็ทยอยออกเรือนไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็แต่งงานกับลูกหลานคนจีนย่านสำเพ็ง เยาวราช นั่นเอง พี่สาวคนโตได้แต่งงานกับหนุ่มลูกชายเจ้าของ "อื้อชุนหลี" ร้านขายปลาเค็มเลื่องชื่อในตลาดเก่า ซึ่ง "ซ้ง" คุณพ่อของสมคิด ที่เป็นลูกชายคนโตได้อาศัยทำงานด้วย ส่วนน้องชายอีกคนก็ได้อาศัยทำงานกับครอบครัวของพี่สาวคนที่สอง "ซ้ง" สู้อดทนทำงานหนักเก็บหอมรอม ริบ กระทั่งพอสะสมเงินทองได้บ้างก็ร่วมกับเพื่อนอีก 4 คน เปิดร้านชื่อ "สี่ชัย" ซึ่งชื่อร้าน หมายถึง หุ้นส่วนสี่คนนั่นเอง นั่นคือ เหตุ การณ์เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว คะเนว่าร้าน "สี่ชัย" น่าจะอยู่ในยุคเดียวกับ "ร้านเปียวฮะ" ซึ่ง "พ่อ" ของนายห้างเทียมร่วมกับน้องๆ อีก 6 คนบริหาร

ปรากฏว่าทั้งสองร้านประสบปัญหาจากการบริหารงานแบบครอบครัวหรือแบบหลายหุ้นส่วน กล่าวคือ ร้านเปียวฮะ นั้น เป็นที่รวมของครอบครัวใหญ่ ระบบภายในยุ่งเหยิง กิจการตกต่ำ จนในที่สุดต้องแบ่งสมบัติแยกย้ายกันไป ส่วน "สี่ชัย" นั้นกิจการไม่สู้ดีนัก เหตุผลนั้นไม่ชัดเจนว่าเป็นเพราะเหตุใด บ้างก็ว่าสายป่านสั้นและขาดเงินทุนหมุนเวียน บ้างก็ว่ากิจการไม่ดีนัก พอ ถึงจุดหนึ่งหุ้นส่วนต้องการแยกย้ายกันไปทำกิจการของตัวเอง ในที่สุดก็ปิดกิจการ

"ฮกเปรี้ยว" บิดาของนายห้างเทียมตัดสินใจตั้งร้านใหม่ชื่อ "เฮียบฮะ" ส่วน "ซ้ง" บิดาของสมคิดพยายามดิ้นรนจนในที่สุดสามารถตั้งร้าน "เตี่ยเซ็ง" ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นร้านของเขาเอง ร้านนี้เดิมอยู่แถววัดเกาะ ครั้นต่อมาถูกไล่รื้อ จึงย้ายไปอยู่แถวตลาดน้อย คำว่า "เตี่ย" มาจากชื่อจีนอีกชื่อหนึ่งของเขาที่หมายถึง "คลื่น" ส่วนคำว่า "เซ็ง" นั้นหมายถึง "ความมั่งคั่งรุ่งเรือง" ดูจากชื่อแล้วก็เห็นได้ชัดว่าเขาคงตั้งอกตั้งใจที่จะสร้าง ร้านของเขาเองให้ "เติบใหญ่" เป็น "รากฐาน" ที่มั่นคงของครอบครัว

ร้านเตี่ยเซ็ง เป็นร้านขายกะปิ โดยรับพวกวัตถุดิบซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ นำ "ตัวเคย" มาผสมให้เข้ากันแล้วก็บรรจุขาย การทำงาน ใช้แรงงานของลูกๆ ในบ้านนั่นเอง ดร.สม พี่ชายคนที่สองของสมคิดเล่าว่า "ผมจำได้ว่า ต้องทำทุกอย่าง พี่ชายของผมต้องหาบกะปิคนละข้างกับผม สมัยนั้นผมแข็งแรงมาก ก็ขนาดว่า แบกข้าวเป็นกระสอบได้เลย พวกเรา จะต้องขึ้นไปเหยียบตัวเคย ให้มันปนเข้ากัน แล้วบรรจุใส่ถุง เอาไปส่ง นี่เป็นงานประจำ ที่จะต้องทำ" และ "เจ้าเคย" ที่ต้องขึ้นไปเหยียบนี้เอง สมคิดเคยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง เมื่อหลายปีก่อนว่า นึกถึงภาพนั้นทีไร ทำให้เขาถึงกับกินกะปิไม่ลงทีเดียว

ขณะที่ "เฮียบฮะ" ก็ยังคงทำการค้าแบบเดิม แต่เทียม โชควัฒนา อยากลองแนว ใหม่ จึงออกมาเปิดร้านของตัวเองที่ "ตรอกอาเนียเก็ง" ชื่อ เฮียบเซียงเชียง ด้วยความคิด ไม่หยุดนิ่งของนายห้างเทียมที่หาสินค้าแปลกๆ ใหม่ๆ มาขายตลอดเวลา ทั้งจากฮ่องกงและญี่ปุ่น ร้านของเขาเจริญขึ้นเรื่อยๆ และเติบโตมาจนกลายเป็นเครือสหพัฒนฯ ในที่สุด ส่วนร้าน "เตี่ยเซ็ง" นั้นไม่รุ่งเรืองดังชื่อของร้าน ประสบปัญหาการบริหารงาน คือ เงินทุนหมุนเวียนไม่พอเพียง ไม่มีสินค้าเข้าร้าน กระทั่งขาดทุนจนต้องล้มละลาย และปิดกิจการในที่สุด เช่น เดียวกับร้าน "เฮียบฮะ" ที่ต่อมาก็เลิกกิจการไปในที่สุด

เด็กน้อยสมคิด หรือ "หั่งกวง แซ่จัง" นั้น ลืม ตาดูโลกในช่วงที่กิจการของพ่อเขาใกล้จะเจ๊งเต็มที "หั่งกวง" ซึ่งหมายถึง "แสงสว่าง" นั้น ไม่รู้ว่า "ซ้ง" ผู้พ่อตั้งชื่อเช่นนี้เป็นนัยที่หวังให้ลูกคนนี้นำมาซึ่งแสงสว่างนำทางให้ครอบครัวยามที่แสงสว่างภายในครอบ ครัวนั้นริบหรี่เต็มทีหรือไม่ แต่น่าเสียดายที่เขายังเล็กเกินกว่าที่จะช่วยอะไรครอบครัวได้ มรสุมลูกใหญ่ที่เกิด จากความล้มเหลวในธุรกิจของพ่อ ทำให้พี่สาว 2 คน พี่ชายอีก 4 คน และน้องสาวอีกหนึ่ง รวมตัวเขาด้วย เป็น 8 ชีวิต ต้องประสบกับความยากลำบาก ดร.สมคิดเล่าความทรงจำนั้นกับ "ผู้จัดการ" ว่า

"ผมจำได้ว่า เกิดมาในตึกแถวสองชั้นครึ่ง อยู่รวมกันเป็นสิบคน ไม่เฉพาะพี่ๆ น้องๆ ผมเท่านั้น ยังมีลูกอาที่พ่อรับเลี้ยงด้วย พี่ชายคนโตต้องเสียสละไม่เรียนหนังสือ เพื่อออกมาทำงานช่วยเลี้ยงน้องๆ ส่วนพี่สมเขาขวนขวายทำงานด้วยเรียนด้วย ครอบครัวลำบากมาก ทุก คนต้องอดทน และช่วยกัน ตัวผมเองถูกส่งไปอยู่กับน้องสาวพ่อ ตั้งแต่ 5 ขวบ"

ส่วน ดร.สมนั้นบอกว่า "ครอบครัวของผมนั้น เสียน้องคนหนึ่งไปตั้งแต่ยังเล็ก รวมถึงพี่สาวคนหนึ่งที่เสียไปนานแล้ว ผมเข้าใจว่าอาจจะเป็นเพราะไม่มีเงินรักษานั่นเอง"

ช่วงที่ "เอ็ง" คุณแม่ของ ดร.สมคิดให้กำเนิดเขานั้น อายุเกือบจะสี่สิบแล้ว น้ำนมที่จะ ให้ลูกดื่มก็ไม่ค่อยจะมี เวลาเด็กน้อยหิวก็ร้องไห้โยเยมาก บังเอิญจังหวะนั้นน้องสาวของพ่อที่เขาเรียกติดปากว่า "โซ่ยโกว" เพิ่งให้กำเนิดลูกชายซึ่งอายุห่างจากสมคิดเพียงห้าเดือน ความ ที่เธอยังสาวจึงมีน้ำนมมาก เธอเป็นแม่บ้านที่ไม่ต้องช่วยทำมาหากิน จึงมีเวลามาเยี่ยมพี่ชายพี่สะใภ้บ่อยมาก ยามสมคิดหิวนม ข้างหนึ่งเธอป้อนนมแก่ลูกชาย อีกข้างก็เผื่อแผ่มาถึงสมคิด และราวกับชะตาจะต้องกัน คราวใดที่สมคิดร้องไห้โยเยมาก เมื่ออาผู้หญิงอุ้มหรือบอกให้เงียบเขาก็จะเชื่อฟังโดยดี ความที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับลูกชาย "โซ่ยเตี๋ย" (สามี ของอาผู้หญิง) จึงชักชวนเขาไปเรียนอนุบาลโรงเรียนเดียวกับลูกชายที่อยู่แถวๆ บ้านของเขาที่สะพานเหลือง แรกๆ พี่ชายของสมคิดที่ชื่อว่าชาติชาย ต้องคอยทำหน้าที่รับส่งน้องจากบ้านของตัวเองที่วัดเกาะมาที่สะพานเหลือง ต่อมาสมคิด จึงอยู่ที่บ้านคุณอาทั้งสองโดยที่ไม่ได้กลับไปค้างที่บ้านเก่าอีกเลยกระทั่งโตเป็นหนุ่ม

"โซ่ยเตี๋ย" นั้นทำงานในบริษัทรับเหมาก่อสร้าง แม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของ กิจการเอง แต่ก็เรียกได้ว่าสามารถเลี้ยงดูลูกๆ หลานๆ ได้สบายทีเดียว ขณะนั้น นอกจากจะเลี้ยงสมคิดแล้วบางช่วงก็ยังช่วยเลี้ยงลูกๆ ของพี่สาวของภรรยาด้วย การที่ทั้งสองช่วยนำสมคิดไปเลี้ยงนับว่าช่วยแบ่งเบาภาระของพี่ชายพี่สะใภ้ไปได้พอสมควรทีเดียว เดชะบุญว่า อาทั้งสองเลี้ยงลูกและหลานด้วยความรักเสมอกัน ทำให้สมคิดไม่ได้เป็นเด็กที่มีปมด้อยในชีวิตเฉกเช่นคนจำนวนมากซึ่งมักคับแค้นใจเมื่อต้องไปอาศัยอยู่กับญาติ ซึ่งความข้อนี้สมคิดมักจะกล่าวกับคนใกล้ชิดเสมอว่า อาทั้งสองเป็นคนมีเมตตามากรวมทั้งมีบุญคุณกับเขามากเสมือนหนึ่งบิดามารดาบังเกิดเกล้าทีเดียว

การอยู่กับอาผู้หญิงซึ่งเป็นคนมีระเบียบวินัย ทำให้สมคิดได้ฝึกฝนการดูแลตัวเอง และการมีน้องอีกสองคน ในฐานะพี่ใหญ่ในบ้านก็ช่วยเลี้ยงน้อง "โซ่ยโกว" ซึ่งขณะนี้อายุ 74 ปีแล้ว พูดถึงหลานรักคนนี้ด้วยความภูมิใจกับ "ผู้จัดการ" ทางโทรศัพท์ว่า "เขาเป็นเด็กเรียบร้อย น่ารัก อยู่ในโอวาท ไม่เกเร เรียนหนังสือก็เก่ง แล้วยังช่วยเลี้ยงน้อง สอนน้องด้วย"

ส่วนสมคิดพูดถึงเรื่องการช่วยสอนหนังสือให้น้องชายซึ่งอายุไล่เลี่ยกันว่า ช่วยทำให้เขาได้ฝึกการคิดแบบคาดการณ์ตั้งแต่เด็ก "น้องชายผมเรียนไม่เก่ง ได้ 50% ผมต้องคิดล่วงหน้า ขีดเส้นให้เขาด้วย ผมรู้ว่าเขาเรียนไม่เก่ง ฉะนั้นยิ่งอ่านมากก็ยิ่งตก เราจึงต้องเก็ง ต้องเสี่ยงดวง และเมื่อเราอ่าน เราขีดเส้น ทุกอย่างมันอยู่ในพุงเราหมด เวลาสอบเราก็ได้ 90% เป็นของตาย"

แม้ว่าสมคิดจะจากครอบครัวของตัวเองมาแต่เยาว์วัย แต่ความที่สะพานเหลืองกับเยาวราชไม่ได้ห่างกัน "โซ่ยโกว" จึงพาเขากลับบ้านแทบจะทุกสัปดาห์ เขาจึงไม่มีความรู้สึกห่างเหินกับครอบครัว ตรงกันข้ามเขาสงสารเห็นใจพ่อแม่มากที่ต้องลำบากลำบนเลี้ยงลูกหลาย คน รวมถึงมีความรู้สึกผูกพันกับพี่ๆ น้องๆ ของเขาทุกคน รวมถึงลูกๆ ของคุณอาด้วย ซึ่งพ่อแม่จะสอนให้รักกันมีอะไรให้ช่วยเหลือกัน จึงปรากฏว่าครอบครัวนี้มีความปรองดองและเกื้อกูลกันมาก

"แม่" และ "โซ่ยโกว" เป็น "ผู้หญิง" สองคนที่สมคิดรักและผูกพันมาก ซึ่งนี่เองที่อาจ จะทำให้เขาเป็นคนมีจิตใจอ่อนโยน ละเอียดอ่อนต่อผู้คนรอบข้าง ส่วน "พ่อ" ก็เหมือนกับพ่อ คนจีนทั่วไปที่ส่วนใหญ่มักจะทำงานหนัก และดุ ลูกๆ จึงมักจะผูกพันกับแม่มากกว่า ขณะที่เขาทำปริญญาเอกอยู่ที่อเมริกา "แม่" ป่วยเป็นอัมพาตอยู่หลายปี มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาขอกลับมาเยี่ยมแม่ ซึ่งคุณอาก็ใจดีส่งตั๋วเครื่องบินไปให้เขาได้กลับมาเยี่ยมแม่ แต่เมื่อใกล้วาระสุดท้าย เนื่องจากเป็นช่วงใกล้สอบและเขาไม่อยากรบกวนคุณอาทั้งสองอีก จึงไม่ได้กลับมาเคารพศพแม่ เหตุการณ์ครั้งนั้นสะเทือนใจเขามาก เขาได้แต่ปักธูปหนึ่งดอกบนหิมะที่หนาวเหน็บของเมืองชิคาโก พร้อมกับน้ำตาที่รินหลั่ง แต่น่าแปลกที่หลังจากแม่ตายแล้วฝันร้ายที่เขาต้องเผชิญอยู่แทบจะทุกค่ำคืนเป็นเวลาเนิ่นนาน หายไปชนิดที่ไม่เคยหวนมาสู่ความฝันของเขาอีกเลย ในทางจิตวิทยาอาจจะเป็นไปได้ว่าความห่วงกังวลใจเกี่ยวกับแม่นั้นสิ้นสุดลงแล้ว

น่าเสียดายที่แม่ของเขามีชีวิตอยู่ไม่ยืนยาวพอที่จะได้เห็นความสำเร็จของลูกๆ ซึ่งทุกคน ล้วนเป็นฝั่งเป็นฝา มีอาชีพการงานไปตามที่แต่ละคนเลือก ส่วนพ่อของเขานั้นยังโชคดีที่มีโอกาสได้เห็นสายสะพายของลูกคนโตเมื่อครั้งได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ แต่ก็น่าเสียดายที่พ่ออยู่ไม่ทันได้เห็นลูกคนเล็ก ได้รับโปรดเกล้าฯ ในตำแหน่งสำคัญของบ้าน เมือง มีแต่เพียงคุณอาทั้งสองซึ่งแม้จะอายุมาก แล้วแต่ก็ยังแข็งแรงอยู่ที่ทั้งตื่นเต้นดีใจและภาคภูมิในตัวหลานคนนี้

สมคิดอยู่กับ "โซ่ยโกว" เรื่อยมา จนเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เขาอยากเรียนต่อต่างประเทศ และอยากเป็นลูก ศิษย์ของ "ลอเรนซ์ ไคล์" นัก "เศรษฐมิติ" ชื่อดังของอเมริกา ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ไทยชื่อ ดังที่ได้เรียนกับเขาก็คือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ก็สู้สมัครไป ทางมหาวิทยาลัยก็รับเขาแล้ว แต่ แทนที่จะเรียนปริญญาโทอย่างที่เขาสมัครกลับให้เรียนในโปรแกรมปริญญาเอก ซึ่งต้อง ใช้เวลาหลายปี แต่ตอนนั้น "โซ่ยโกว" เตรียม เงินไว้ให้เขาสองแสนบาทซึ่งไม่เพียงพอ เขาจึงต้องฉีก I-20 ที่มหาวิทยาลัยส่งมาให้ทิ้งไปด้วยความรันทดใจ เขาจึงจำต้องหางานทำ ที่ทำงานแรกของเขาคือ ฝ่ายวิชาการ ตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขณะที่เพื่อนๆ เศรษฐศาสตร์ของเขาบางคนก็ได้ทุนเรียนต่อ ต่างประเทศ หลายคนเรียนต่อปริญญาโทที่สำนักเดิม เขากลับหันเหไปเรียนด้านบริหาร ธุรกิจที่นิด้า พร้อมทั้งไล่ตะลุยสอบชิงทุน ซึ่ง ในที่สุดเขาสอบได้ถึงเก้าทุน แต่เจ้ากรรมไม่มี ทุนไหนสักทุนที่จะให้เขาไปเรียน "เศรษฐ-ศาสตร์" ที่เขารักหรือกระทั่ง "การเงิน" ที่เขาสนใจรองลงมา ในที่สุดจึงจำใจต้องไปเรียนปริญญาเอกด้านการตลาด ที่ Kellog มหาวิทยาลัย นอร์ธเวสเทิร์น ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ อยู่ในความสนใจของเขา แต่เขาก็ใช้โอกาส เรียนรู้และสร้างโอกาสให้ตัวเอง กระทั่งเรียนจบพร้อมกับมีหนังสือร่วมกับอาจารย์ของ เขาตีพิมพ์ทั่วโลก และแปลอีกกว่าสิบภาษา ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

อย่างไรก็ตาม "ความยากจน" ยังตามหลอกหลอนเขาถึงเมืองนอก ชีวิตของนักเรียนทุนรัฐบาลไม่สุขสบายนัก สมัยนั้น "กพ." ให้เงินนักศึกษาเดือนละ 300 กว่าเหรียญเท่ากันทุกรัฐ แต่สำหรับชิคาโกซึ่งเป็น เมืองใหญ่ที่ค่าครองชีพสูง ลำพังค่าที่พักก็ปาเข้าไปเกินครึ่งแล้ว ที่เหลือมันนิดเดียว มันไม่พอกิน แต่ไปแล้วถึงไม่พอกินก็ต้องอยู่ให้ได้ สิ่งที่เขาต้องปฏิบัติเพื่อความอยู่รอดนั้น เขาเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า

"มื้อเช้าผมไม่เคยทานเลย ไปกินตอน 11 โมง แล้วอาหารเช้าของผมคือ อะไรรู้มั้ย อันนี้คือ ชีวิตตั้งแต่เด็กเราต้องทน ขนมปังนี่ ผมซื้อขนมปังที่ไม่มียี่ห้อ มันใช้ชื่อ generic name เขียนว่า bread แล้วก็ peanut butter พวกนี้จะอยู่บนชั้นล่างสุด แล้วที่คณะผมนี่ เขาจะเขียนไว้เลยว่า ถ้าคุณกิน generic name นี่ให้ถามหมอเสียก่อน แต่ผมกินทุกวัน แล้ว ผมใช้วิธีนี้คือ เอาขนมปังมา 5 แผ่น แล้วทาพีนัตบัตเตอร์สอดไปแต่ละแผ่นประกบกัน แล้วก็ไปหยอดเหรียญซื้อกาแฟกินที่คณะ กิน เป็นมื้อเที่ยง 2 ปีเต็ม โดยที่มื้อเช้าไม่เคยกินเลย ส่วนมื้อเย็นนี่ต้องทำอาหารเอง ต้องไปซื้อเนื้อไก่เอง แล้วเราทำกับข้าวเป็นที่ไหน ก็พยายามนึกอยู่ตลอดเวลาว่า เวลาหั่นไก่ เวลาทอด เขาทำอย่างไร ไปซื้อกระเทียม ซื้อ มาหมดเลย จากไม่รู้เรื่อง เวลาทอดข้างนอก มันเกรียมแต่ข้างในไม่สุก เพราะไก่มันแช่แข็ง มา เอาออกมาข้างในมันแข็ง เวลาทอดจึงไม่ สุก แล้วก็ผัดบล็อกเคอร์รี่กับไก่ พรุ่งนี้กับหมู วนกันอยู่อย่างนี้ เราเริ่มเรียนรู้ว่าเวลาต้มน้ำแกงต้องเคาะกระดูกก่อน ให้น้ำมันเดือดก่อน ค่อยใส่น้ำจะได้หวาน"

อีกเรื่องหนึ่งซึ่งสะท้อนชีวิตที่ยากลำบากของเขาที่นั่น ก็คือ เรื่องรองเท้า ซึ่งเป็นเกราะป้องกันที่สำคัญมากสำหรับเมืองหนาวที่หิมะตกหนักอย่างชิคาโก เขาเล่าวิธีแก้ปัญหาของเขาซึ่งความจริงเขาไม่อยากให้ "ผู้จัดการ" เขียนถึง

"คนอื่นเขาจะมีรองเท้าอย่างดี เพราะว่ามันหนาว หิมะตก แต่เราไม่มีเงิน ไปซื้อคู่หนึ่ง ประมาณ 40 เหรียญ ถ้าไม่มีเครื่องป้องกันมันจะเย็น แล้วก็หนัก ของดีต้องเบาและเล็ก แล้วเราต้องเดินไกล เพราะบ้านอยู่ไกล เราไม่มีปัญญาไปอยู่หอพัก เดินไปถึงนี่ขามันชา แล้วชั้น 2 ที่เคลล็อก มันก็มีเครื่องทำความร้อน ไปถึงเราก็ถอดรองเท้า ถุงเท้า แล้วก็ผึ่งเลยเพราะทั้งวัน มันหนาว เดี๋ยวไม่สบาย ขณะที่คณะบริหารธุรกิจนั้น เขาแต่งตัวกันโก้เชียว แต่เรานี่ไม่รู้กะเหรี่ยงมาจากไหน นี่คือ ชีวิตตรงนั้น มันอยู่อย่างนั้นจริงๆ"

ชีวิตวัยเด็กของเขาช่างแตกต่างไปจากลูกชาย 2 คนของเขา ที่เกิดมาในช่วงที่เขาพอจะมีฐานะแล้ว และการที่ในระยะหลังเขาย้ายมาอยู่คอนโดสลับไปมาระหว่างคอนโดกลางเมือง "สมถวิล" และคอนโดริมแม่น้ำเจ้าพระยา "รัตนโกสินทร์" เขาอยากให้ลูกทั้งสองคนของเขารู้ว่า พ่อและปู่ของเขาเติบโตมาอย่างไร เขาจึงพาลูกน้อยไปเดินแถวตรอกแคบๆ แถวทรงวาด และเล่าถึงความลำบากแต่หนหลังให้ลูกฟัง "ผู้จัดการ" ทราบมาว่าหลังจากเข้ารับตำแหน่งเสนาบดีเขาก็ยังพาลูกไปกินหอยทอดเจ้าประจำ และพาลูกไปชี้บริเวณบ้านเก่าของเขา

หากย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน หากบิดาของเขาประสบความสำเร็จในธุรกิจ กระทั่ง ขยายใหญ่โต ตอนนี้ สมก็อาจจะเป็น "หยี่เสี่ย" และสมคิดก็อาจจะเป็น "เสี่ยกวง" ไม่ใช่นักเรียนทุนรัฐบาลที่ดิ้นรนไปไขว่คว้า "ดอกเตอร์" มาจากเมืองนอกเมืองนา และสร้างงานสร้างฐานะได้อย่างทุกวันนี้ และก็เหมือนชะตาฟ้าลิขิตที่ทำให้เขาและพี่ชายได้มาร่วมงานกับเฮียบเซี่ยงเชียงหรือสหพัฒนฯ ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นร้านที่เกิดขึ้นในยุคเดียวกับพ่อของเขา โดยดร.สมคิดนั้นได้มีโอกาสมาร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับ "เสี่ยสาม" ของตระกูลโชควัฒนานานกว่า 10 ปี ส่วนดร.สมได้มานั่งเป็นประธานกรรมการบริษัทไอซีซี และกรรมการบริษัทบางแห่งในเครือในปัจจุบัน

ว่าไปแล้วการได้ประสบกับชีวิตที่ยากจนข้นแค้นในวัยเยาว์ สอนให้เขารู้จัก "อดทน" การที่ได้เห็นชีวิตของกุลีและผู้คนที่ต้องดิ้นรนเลี้ยงปากเลี้ยงท้องประทังชีวิต ทำให้เขาเป็นคนที่ "ติดดิน" รู้จักที่จะเห็นใจคนอื่น และเพราะความยากลำบากในชีวิตนั่นเอง ที่หล่อหลอมให้เขา กลายเป็นคนที่ "แข็งแกร่ง" และคิดที่จะ "ต่อสู้ชีวิต" ให้พ้นจากความยากจนไปสู่ความสำเร็จในชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ เขาต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจและสติปัญญาอย่าง หนัก กว่าที่จะมาถึงวันนี้ได้

วันที่ใครๆ เรียกเขาว่า "ขุนคลัง"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.