นัดประชุมเจ้าหนี้ปุ๋ยแห่งชาติโหวตรับแผนฟื้นฟู 24 ธ.ค.นี้ "ซี.เจ.มอร์แกน"
ในฐานะผู้ทำแผนฯมั่นใจเจ้าหนี้เห็นชอบ โดย NFC จะกลับมาเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกครั้งกลางปีหน้า
เผยขณะนี้แบงก์กรุงไทยให้สินเชื่อล็อตแรกซื้อวัตถุดิบ 300 ล้าน และจะให้สินเชื่อเพิ่มเป็น
2.2 พันล้าน หลังพันธมิตร ใหม่ใส่เงินเพิ่มทุนแล้ว
นายชำนิ จันทร์ฉาย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ซี.เจ. มอร์แกน จำกัด ผู้ทำแผนบริษัท
ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)(NFC) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการNFCเสร็จแล้ว
โดยเรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตรับแผนฟื้นฟูฯในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ หากเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เห็นชอบแผนฯ
ก็จะเสนอให้ศาลฯเพื่อมีคำสั่งเห็นชอบแผนฯต่อไปในวันที่ 30 ธันวาคมนี้
เชื่อว่า แผนฟื้นฟูดังกล่าวน่าจะผ่านความเห็นชอบ จากเจ้าหนี้ และศาลล้มละลายกลาง
เนื่องจากรายละเอียดของแผนสอดคล้องกับบันทึกช่วยจำ (MOU) ที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
(บสท.) สรรหาผู้ร่วมทุน รายใหม่ให้ NFC ซึ่งสุดท้ายเลือกกลุ่มบริษัทไทยพีค่อน และอุตสาหกรรม
จำกัด ร่วมกับบริษัท Xiyang Group จากประเทศจีน
สำหรับรายละเอียดของแผนฟื้นฟูของ NFC นั้น ผู้บริหารแผนฯจะดำเนินการลดทุนจดทะเบียนบริษัทฯจากเดิม
1.4 หมื่นล้านบาท ลงเหลือเพียง 10% ของ ทุนจดทะเบียน หลังจากนั้นจะมีเงินเพิ่มทุนใหม่เข้าไป
ทำให้มีทุนจดทะเบียนใหม่ 2,236 ล้านบาท รวมทั้งแปลงหนี้เป็นทุน ทำให้กลุ่มนักลงทุนใหม่จะเข้ามาถือหุ้นใหญ่
71% ผู้ถือหุ้นเดิม 2.9% และที่เหลือเป็นของสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ NFC จะชำระหนี้เจ้าหนี้สถาบันการเงินทั้ง 2 ราย คือ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
และธนาคารไทยพาณิชย์ โดยนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนเสนอขายให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจงประมาณ
1,588 ล้านบาท รวมกับเงินสดใน NFC อีก 78-80 ล้านบาทมาชำระหนี้ และโอนที่ดินติดทะเลจำนวน
100 ไร่ มูลค่า 200 ล้านบาท มาตี ชำระหนี้ด้วย
หลังจากนั้นบริษัทฯจะดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุนคิดเป็นสัดส่วน 25% ของทุนจดทะเบียน
รวมทั้งออกหุ้นกู้จำนวน 200 ล้านบาท ให้เจ้าหนี้สถาบันการเงิน โดยหุ้นกู้ดังกล่าวมี
อายุ 3 ปี ไม่มีดอกเบี้ย
ขณะที่เจ้าหนี้การค้า คิดเป็นมูลหนี้ 500 ล้านบาท จะได้รับการชำระหนี้ตามปกติ
โดยไม่มีการลดหนี้
ภายหลังการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูแล้วเสร็จ NFC จะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้
1.2 หมื่นล้านบาท รวมกับการลดทุนเพื่อล้างขาดทุน สะสมที่มีอยู่ 2 หมื่นล้านบาทจนหมด
และมีส่วนเกินทุน 8-9 พันล้านบาท และมีมูลค่าหุ้นตามบัญชี (บุ๊กแวลู) 40 บาทต่อหุ้น
ดังนั้น ในปี 2547 NFC จะกลับมาเป็นบริษัทที่แข็งแกร่ง และตั้งเป้าหมายว่าจะยื่นศาลฯขอออกจากแผนฟื้นฟูฯได้ประมาณมีนาคม
2547 หลังจากนั้นจะทำหนังสือต่อตลาดหลักทรัพย์ฯขอกลับไปเทรดซื้อขายใหม่อีกครั้งในเดือนเมษายน-พฤษภาคม
2547
KTB ใช้เงินทุนหมุนเวียน 300 ล้าน
นายชำนิ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้บริษัทฯ ได้ทำหนังสือขอเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ซื้อวัตถุดิบจำนวน
2.2 พันล้านบาทจากธนาคารกรุงไทย โดยแบงก์ยืนยันที่จะให้สินเชื่องวดแรก ก่อน 300
ล้านบาท เพื่อใช้ในการสั่งซื้อวัตถุดิบรองรับการผลิตในต้นปีหน้า โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการผลิตได้ในวันที่
5 มกราคม 2547
ส่วนวงเงินทุนหมุนเวียนที่เหลืออีกเกือบ 2 พันล้านบาทนั้น แบงก์กรุงไทยจะปล่อย
สินเชื่อ ต่อเมื่อ NFC ดำเนินการลดทุน/เพิ่มทุน และหาพันธมิตรร่วมทุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น ในอนาคต NFC จะพลิกจากบริษัทที่เคยมีหนี้สินกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท กลายเป็นบริษัทที่มีหนี้เพียง
200 ล้านบาท และเป็นหนี้ที่ปลอดดอกเบี้ย รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากแบงก์กรุงไทย
ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องขายปุ๋ยราคาถูกเหมือนในอดีต
ปีหน้าปุ๋ยราคาสูง
นายชำนิ กล่าวต่อไปว่าในปี 2547 NFCตั้งเป้าหมายผลิตปุ๋ยเคมีประมาณ 5.6 แสนตัน
คิดเป็นสัดส่วน 50% ของกำลังการผลิตรวม 1 ล้านตัน เนื่องจากขณะนี้บริษัทได้มีการปิดซ่อมบำรุงโรงงาน
หลังจากเปิดเดินเครื่องมานาน โดยไม่มีการปรับปรุงอย่างจริงจัง
ขณะที่แผนการตลาด ยังคงอาศัยช่องทาง การจำหน่ายผ่านเอเย่นต์ผู้ค้าปุ๋ย รวมทั้งส่งออก
ไปเวียดนาม และขายให้ธ.ก.ส.และชุมชนสหกรณ์การเกษตร ซึ่งราคาขายปุ๋ยนั้นจะอิงตาม
ราคาตลาด ไม่มีการขายให้ธ.ก.ส.ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดเหมือนในอดีต เพราะ NFC
เป็นบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งหวังกำไร
หวั่นราคาปุ๋ยพุ่ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลในการดำเนินธุรกิจผลิตปุ๋ยเคมีในปีหน้า คงหนีไม่พ้นต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งหินฟอสเฟต กำมะถัน เป็นต้น อันเนื่องจากค่าเฟสขนส่ง ทางเรือได้ปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ครึ่งปีหลังนี้
เนื่องจากเรือขนส่งสินค้าส่วนใหญ่ถูกจองเดินทางไปจีน และมีบางส่วนถูกปลดประจำการ
ทำให้ราคาปุ๋ยเคมีคงต้องปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกทั้งขณะนี้ผู้ประกอบการผลิตปุ๋ยเคมีในไทยคงเหลือเพียง บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมีเท่านั้นที่ยังเดินโรงงานปั้นเม็ดอยู่
ขณะที่ NFC ได้ปิดซ่อมบำรุงมาตั้งแต่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่วนบริษัทปุ๋ยไทย ก็ได้ปิดโรงงาน
รอการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ ทำให้ปริมาณปุ๋ยเคมีหายไปจากตลาดค่อนข้างมาก ดังนั้นเกษตรกรอาจต้อง
ซื้อปุ๋ยในราคาสูง แต่เชื่อว่าคงไม่กระทบมากนัก เนื่องจากราคาพืชผลการเกษตรขยับดีขึ้น