ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารชารีอะฮ์ประสานเสียงกดดันผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์เปิดตลาดหุ้นอิสลาม
(Islamic Index) เพื่อให้ชาวมุสลิม สามารถลงทุนโดยไม่ผิดหลักศาสนา ดึงเงินทุนจากตะวันออกกลางและมุสลิมทั่วโลกที่สะพัดกว่า
1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ไม่ขัดข้องแต่หวั่นตั้งแล้วล้ม เพราะไม่แน่ใจว่ามีความต้องการจริง
หรือไม่
นายนพดล เตะหมาน กรรมการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ศึกษาและพิจารณา
ความเป็นไปได้ในการเปิดตลาดหุ้นอิสลาม (Islamic Index) จนได้ข้อสรุปเกี่ยวกับรูปแบบและวิธีการเรียบร้อย
"ผมทราบว่าเรื่องนี้มีความคืบหน้าเกือบ 100% แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมตลาดหลักทรัพย์ยังไม่
เปิดดำเนินการ ทั้งๆ ที่ไม่มีความยุ่งยาก เพราะเพียงแค่คัดเลือกหุ้นบริษัทที่ไม่ผิดหลักศาสนาอิสลามออกมาแล้วติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ก็ดำเนินการได้ทันที"
ทั้งนี้ หุ้นที่ไม่ผิดหลักศาสนา ได้แก่ ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข สุรา
ยาเสพติดหรือธุรกิจสถานเริงรมย์
นายนพดล กล่าวว่า เท่าที่พิจารณาพบว่าใน ปัจจุบันมีหุ้นอยู่ประมาณ 200 บริษัท
ใน 200 บริษัทดังกล่าว หุ้นในเครือกลุ่มชินวัตรถือเป็นหุ้น ที่มุสลิมลงทุนได้ ถ้าแยกหุ้นกลุ่มชินฯมาไว้ในตลาดหุ้นอิสลาม
แต่วันนี้หุ้นกลุ่มชินฯไปอยู่ในตลาดหุ้นรวม มุสลิมจึงลงทุนไม่ได้
นายนพดล คาดว่า เหตุผลที่ผู้บริหารตลาด หลักทรัพย์ยังไม่ยอมอนุมัติให้จัดตั้งตลาดหุ้นอิสลาม
น่าจะเกิดจากเกรงผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับอเมริกา ถือเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น
เพราะตลาดหุ้นในอเมริกาเองยังมีตลาดหุ้นอิสลาม โดยมีหุ้นให้ชาวมุสลิมสามารถเข้าไปลงทุนมากกว่าหมื่นบริษัท
"หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องค้าขายกับชาติตะวันตกผ่านประเทศสิงคโปร์ ทำให้ไทย
เสียเปรียบเพราะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้สิงคโปร์มากมาย เพราะเป็นความต้องการของอเมริกา
ส่วนเรื่องเปิดตลาดหุ้นอิสลาม ไม่รู้อเมริกาห้ามหรือเราคิดไปเอง จริงแล้วตลาดหุ้นมีความโปร่งใส
สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นเรื่องที่เกรงว่า จะโยงใยกับการก่อการร้ายคงเป็นไปไม่ได้"
นายนพดลกล่าว
นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ ประธานกรรมการ ธนาคารชารีอะฮ์ (ธนาคารอิสลามของธนาคารกรุงไทย)
เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศที่มีตลาดหุ้น อิสลาม นอกจากอเมริกาแล้วยังมีประเทศอังกฤษ
และเยอรมนี ส่วนในอาเซียนมีเพียงในมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับความต้อง
การของมุสลิม ตลาดที่มีอยู่คงที่ไม่อาจรองรับความต้องการเงินทุนมุสลิมที่มีมูลค่ารวมทั่วโลก
1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
"ความต้องการลงทุนของมุสลิมในปัจจุบันมีสูง ทำไมเราไม่คิดแบ่งเงินเหล่านั้นเข้ามาในประเทศเราบ้าง
เราจะมีโอกาสขยายการค้าขายได้ มากกว่านี้ถ้าเรามีตลาดหุ้น เมื่อมีตลาดหุ้นแล้วเป้าหมายเงินทุนที่จะเข้ามาในไทย
ผมคิดว่าขอแค่ 0.01% ของ 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มหาศาล"
นายธีรศักดิ์ ยืนยันว่า การเปิดตลาดหุ้นอิสลามในบ้านเรามีแต่ผลดี ดังนั้นผู้บริหารตลาด
หุ้นไม่ควรสงสัยหรือหาเหตุผลที่จะไม่เปิด เพราะจากการสำรวจนักธุรกิจและนักลงทุนที่นับถือศาสนาอิสลามทั้งในประเทศไทย
อาเซียน และต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศในตะวันออกกลาง มีความสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทยทั้งในตลาดเงินและตลาดทุน
"แม้ปัจจุบันจะมีมุสลิมบางคนลงทุนในตลาดหุ้นบ้านเรา แต่ยังไม่มีความชัดเจนเพราะหมิ่นเหม่ต่อศาสนา
เราจึงควรทำให้ชัดเจน วันนี้ เรามีธนาคารอิสลามซึ่งเป็นตลาดเงินแล้ว เราต้อง มีตลาดทุนเพื่อให้โครงสร้างสมบูรณ์
เพราะต่อไปต้องมีธุรกิจเช่าซื้อธุรกิจเงินผ่อน แม้กระทั่งแฟคทอริ่งก็จะต้องตามมา"
นายธีรศักดิ์ กล่าว
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างพิจารณาดัชนีอีกหลายตัว ที่สามารถเข้ามาเปิดซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
รวมทั้งดัชนีสำหรับนักลงทุนมุสลิม (Islamic Index) ภายใต้หลักการที่ต้องมีความต้องการจริง
ที่สำคัญต้องเข้ามาแล้วมั่นคง
"เราต้องมั่นใจว่าหากออกดัชนีให้แล้วไม่เลิก ถ้าดัชนีสำหรับนักลงทุนมุสลิมเข้าหลักเกณฑ์
ผมไม่ขัดข้อง แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีใครเข้ามาติดต่อ มีแต่เราศึกษากันเอง" นายกิตติรัตน์กล่าว
ปัจจุบันในตลาดทุนของไทยมี 2 ตลาด คือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET
เปิด ดำเนินการเมื่อปี 2518 กับตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (MAI) เปิดเมื่อปี 2542