ปล่อยข่าวค่าต๋งITVปั่นหุ้น


ผู้จัดการรายวัน(4 ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

"อนุญาโตตุลาการ-วิษณุ เครืองาม-สำนักปลัดฯ" เรียงหน้าปฏิเสธข่าวไอทีวีได้ลดค่าสัมปทานจากรัฐกว่า 2 หมื่นล้าน "ชัยเกษม" เชื่อมีคนปล่อยข่าวปั่นหุ้น เพราะคณะอนุญาโตตุลาการยังไม่มีการชี้ขาด "ยงยุทธ" ลั่น หากอนุญาโตฯตัดสินให้ไอทีวีชนะ สำนักปลัดฯจะคัดค้าน ครป.จับตาใกล้ชิด

จากกรณีที่มีการเสนอข่าวว่า คณะอนุญาโตตุลาการได้พิจารณาตัดสินข้อพิพาทระหว่างสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และสถานีโทรทัศน์ไอทีวี กรณีที่ไอทีวีเสนอขอแก้สัญญาสัมปทานเพื่อปรับลดค่าตอบแทนให้รัฐบาล ไอทีวีให้เหตุผลว่า เมื่อเทียบกับเอกชนรายอื่นสัญญาการจ่ายผลตอบแทนดังกล่าวสูงเกินไป

นายชัยเกษม นิติศิริ อธิบดีฝ่ายที่ปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุด อนุญาโตตุลาการฝ่ายสำนักปลัดสำนักนายก-รัฐมนตรี เปิดเผยว่าขณะนี้คณะอนุญาโตตุลาการ ยังไม่ได้มีการตัดสินใดๆ ทั้งสิ้น เพราะยังไม่มีการ แถลงปิดคดีและยังไม่รู้ว่าจะต้องหารือกันอีกกี่นัด

ที่ผ่านมาเพิ่งเสร็จสิ้นขั้นตอนสืบพยานทั้งสองฝ่าย ต่อไปคณะอนุญาโตตุลาการ จะต้องให้ โอกาสทั้งสองฝ่ายมาแถลงปิดคดีเพื่อสรุปเรื่องของแต่ละฝ่ายอีกครั้ง และเมื่อแถลงปิดคดีเสร็จ ก็จะส่งไปให้คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาวินิจ-ฉัย ซึ่งก็ต้องมีการนัดแต่ละฝ่ายมาคุยในประเด็น ต่างๆ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเริ่มคุยกัน

ส่วนการนัดทั้ง 2 ฝ่ายมาแถลงปิดคดี ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละฝ่ายจะมีเวลาว่างในวันไหน อย่าง ไรก็ตาม ขั้นตอนดังกล่าวจนถึงขั้นตอนการตัด สินคาดว่าจะอยู่ภายในเดือนม.ค.2547

"ข่าวที่ออกมาผมไม่ทราบว่า ออกมาได้อย่าง ไร ทั้งยังบอกอีกว่าคณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินไปแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเชื่อว่าผู้ที่ให้ ข่าวหวังปั่นหุ้นไอทีวี" นายชัยเกษมกล่าว

นายชัยเกษม กล่าวว่าเป็นไปไม่ได้ที่มีผู้รู้คำ ตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการก่อนเพราะตราบ ใดที่ยังไม่มีการตัดสินก็จะไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่ถ้าเป็นในสำนวนทั่วๆ ไปอาจจะมีคน รู้มาก ทั้งในส่วนของไอทีวีและสำนักปลัดฯก็รู้ข้อมูลกันทั้งหมด

"เพิ่งผ่านขั้นตอนสืบพยาน จึงยืนยันได้ว่า ยังไม่มีการวินิจฉัยชี้ขาด ผมไม่ทราบว่าข่าว ออกไปได้อย่างไรทั้งที่กระบวนการยังไม่จบ" นาย ชัยเกษมกล่าว

สำหรับคณะอนุญาโตตุลาการ นอกจากนาย เกษมแล้วยังมี นายประดิษฐ์ เอกมณี อดีตอธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญา และนายจุมพต สายสุนทร อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรม-ศาสตร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้าที่จะมีข่าวดังกล่าวออกมาเพียง 2 วัน มีคนกลุ่มหนึ่งชักจูงและปล่อยข่าวให้นักเล่นหุ้นซื้อหุ้นของไอทีวี โดย บอกว่า อีกไม่กี่วันหุ้น ITV จะขึ้นเพราะได้ลดค่า สัมปทาน ส่งผลให้เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา หุ้น ITV เคลื่อนไหวค่อนข้างหวือหวาในแดนบวก โดยราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดระหว่างวันที่ 17.8 บาทต่อหุ้น ก่อนปิดตลาดที่ 16.80 บาท เพิ่มขึ้น 12.75% หรือบวก 1.90 บาท มูลค่าการซื้อขายอันดับ 1 คือ 2,928 ล้านบาท

ในขณะที่วานนี้ (3 ธ.ค.) ปิดตลาดปรับตัวลดลง 0.6% หรือลบ 0.10 บาท ปิดตลาดที่ 16.70 บาท มูลค่าการซื้อขาย 992 ล้านบาท

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคิน กล่าวว่า การที่ราคาหุ้นไอทีวี ลดลงเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. เนื่องจากเริ่มเห็นว่า เรื่องการลดค่าสัมปทานยังไม่ชัดเจน และเมื่อบริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (UBC) ซึ่ง กำลังพยายามขอมีโฆษณาในเคเบิลทีวีของบริษัท และขอลดค่าสัมปทาน ได้ยืนยันว่ายังไม่มีการอนุมัติให้เคเบิลทีวีของบริษัทมีโฆษณาได้

"ความเป็นไปได้ที่ไอทีวีจะได้รับอนุมัติให้ลด ค่าสัมปทาน คงยาก อย่างน้อยที่สุดขณะนี้ ทำให้ นักลงทุนที่เก็งกำไรก่อนหน้านี้ เทขายหุ้นออกมา ราคาหุ้นจึงปรับลดลง สวนภาวการณ์ลงทุนตลาด หุ้นไทยโดยรวมวานนี้"

ในกรณีที่ไอทีวีได้ลดค่าสัมปทานเหลือเท่ากับที่ช่อง 7 จ่ายให้ภาครัฐฯ คือลดประมาณ 80% และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2547 ไอทีวีจะเริ่ม มีกำไรสุทธิทันที 233 ล้านบาทปีหน้า การคำนวณ ราคาเหมาะสมไอทีวีปีนี้ประมาณ 19 บาท และปีหน้าประมาณ 20.90 บาท แต่หากได้ลดค่าสัมปทาน 25-50% ไอทีวีจะทำกำไรได้ปี 2548 ประมาณ 45-245 ล้านบาท และราคาเหมาะสมของไอทีวีปีนี้ 11.10-17 บาท และราคาปี 2547 ประมาณ 15.20-17.60 บาท

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ายังไม่ทราบเรื่องที่คณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินข้อร้องเรียนของไอทีวีไปแล้ว โดยเห็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์

"ผมเรียกพ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี มาชี้แจง ปรากฏว่าพ.ต.ต. ยงยุทธยังตกใจ เมื่อเห็นข่าว" นายวิษณุกล่าว

สำนักปลัดฯตั้งป้อมค้าน!

พ.ต.ต.ยงยุทธ เปิดเผยว่า สำนักปลัดฯยืนยันจะคัดค้านหากผลออกมาว่าไอทีวีชนะ และเท่าที่ฟังการชี้แจงของ นายรองพล เจริญพันธุ์ รองปลัดสำนักนายกฯ ก็ให้ความมั่นใจว่าจะชนะ ซึ่งนายรองพล ถือได้ว่าเป็นมือ 1 ด้านกฎหมายของสำนักปลัดฯ

"ตามยุทธศาสตร์แล้ว เราเองก็ไม่จำเป็นต้อง บอกว่าเพราะเหตุผลใดจึงทำให้มั่นใจว่าจะชนะคดี เรื่องอย่างนี้มันต้องรอบคอบ และอนุญาโตตุลาการของเราก็เก่ง มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเป็นอย่างดี" พ.ต.ต.ยงยุทธกล่าว

อย่างไรก็ตาม สำนักปลัดฯยังไม่รับทราบการวินิจฉัยดังกล่าว เพราะคณะอนุญาโตตุลา การยังไม่ได้ตัดสิน และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ทราบว่าสำนักปลัดฯเพิ่งจะได้รับหนังสือจากสำนักงานคดีแพ่ง สำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2546 ได้มีการสืบพยานฝ่ายผู้คัดค้านจากสำนักปลัดฯ ซึ่งสำนักปลัดฯได้แถลง หมดพยาน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา พนักงานอัยการได้แถลงหมดพยานคดี และคณะอนุญาโต ตุลาการได้แจ้งให้ผู้เรียกร้องและผู้คัดค้านทราบว่า หากคู่พิพาทประสงค์จะยื่นคำแถลงปิดคดีก็ให้ยื่น ภายใน 30 วันนับจากวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง จะครบกำหนด 30 วันในวันที่ 14 ธ.ค. 46 หากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจ แต่เวลานี้ยังไม่ครบกำหนด

พ.ต.ต.ยงยุทธ กล่าวว่าเมื่อคณะอนุญาโต ตุลาการมีคำชี้ขาดแล้ว จะส่งคำชี้ขาดต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ และให้สถาบันอนุญาโตตุลาการ ดำเนินการส่งสำเนาคำชี้ขาด ให้คู่พิพาททั้ง 2 ฝ่าย โดยเร็ว ส่วนเรื่องการแถลงปิดคดีนั้น ทางสำนัก ปลัดฯจะยื่นแถลงปิดคดี โดยจะเป็นการแถลงผล การสืบพยานที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นอย่างไร ควรจะชนะเพราะอะไร

ส่วนข่าวที่ออกมาก่อนที่อนุญาโตตุลาการจะชี้ขาดเช่นนี้ หลายฝ่ายมองว่าเป็นการปล่อยข่าว เพื่อปั่นหุ้นไอทีวีนั้น พ.ต.ต.ยงยุทธ ปฏิเสธว่าไม่ทราบ

"ผมวิจารณ์ไม่ได้ เพราะไม่ได้เล่นหุ้น ไม่รู้เรื่องหุ้น"

พ.ต.ต.ยงยุทธอธิบายว่า ถ้าสำนักปลัดฯไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และสำนักปลัดฯพิจารณาแล้วมีเหตุอันควรสงสัยว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ใช้บังคับกับข้อพิพาท หรือเป็นคำชี้ขาดที่เกิดจากการกระทำ หรือวิธีการไม่ชอบด้วยเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด หรือไม่ได้อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการ สำนักปลัดฯ จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2544

โดยส่งสำเนาคำชี้ขาดดังกล่าว พร้อมทั้งคำ ชี้แจงประกอบเหตุอันควรสงสัยนั้น ให้กระทรวง การคลัง เพื่อขอความเห็นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

นอกจากนี้ต้องแจ้งให้บริษัทคู่พิพาททราบถึงการดำเนินการดังกล่าวด้วย เพราะกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้พิจารณาว่าต้องจ่ายเงินชดเชยหรือไม่ อย่างไร หากกระทรวงการคลังมีความเห็น อย่างไร สำนักปลัดฯจะต้องนำเรื่องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.ต่อไป

ครป.-ฝ่ายค้านจับตาใกล้ชิดหวั่นตามรอยค่าโง่ทางด่วน

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรม การรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า หากพิจารณาสัญญาสัมปทานไอทีวีพบว่าบริษัท ไอทีวี ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้ภาครัฐปีละกว่า 600 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 30 ปี ถ้าอนุญาโตตุลา- การตัดสินให้ไอทีวีชนะจริงๆ รัฐต้องสูญเสียรายได้ไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท

"คำถามก็คือว่าถ้าต่อไปเอกชนผู้เข้าประมูล งานจากภาครัฐ ตั้งราคาประมูลไว้สูงๆ เหนือคู่แข่ง แล้วในวันข้างหน้าก็หาทางไปล็อบบี้ภาครัฐให้ลดค่าสัมปทาน แล้วถามว่าอย่างนี้ประเทศชาติจะเสียประโยชน์หรือไม่ ที่สำคัญคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ที่ยังไม่เป็นทางการ ยังได้ระบุให้ภาครัฐต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับไอทีวี อีก 1,000 ล้านบาทนั้น น่าเคลือบแคลงสงสัยมาก"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.