ทีทีแอนด์ทีทุ่มงบ2พันล้านรุกบริการเสริมสร้างรายได้


ผู้จัดการรายวัน(4 ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

TT&T หลังปรับหนี้เสร็จ เตรียมงบเกือบ 2 พันล้านบาท ขยายงานปีหน้า โดยจะทุ่มบริการบรอดแบนด์ 500 ล้านบาท รองรับการแข่งขัน กับโทรศัพท์เคลื่อนที่สร้างรายได้ จากยอมรับการลดค่าบริการตาม แพกเกจของรัฐ ส่งผลให้รายได้ ลดลงถึง 20%

นายประจวบ ตันตินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีทีแอนด์ ที จำกัด (มหาชน) (TT&T) เปิดเผยแผนงานหลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งในTT&T ว่า หลังจากปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้แล้ว ซึ่งเจ้าหนี้ทั้ง 20 ราย ยอมให้บริษัททยอยจ่าย ชำระหนี้เป็นเวลา 15 ปี ของมูลหนี้ 28,000 ล้านบาท โดยมี ดอกเบี้ยจ่ายในเรตที่ต่ำมาก

พร้อมกับเปิดโอกาสให้ TT&T นำเงินไปใช้ในการลงทุนเพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับทั้งเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น และพนักงานของบริษัท โดยการลงทุนนั้นจะใช้เงินจากการดำเนินงานและเงินสดที่มีอยู่ในปัจจุบันประมาณ 2 พันล้านบาท

"เรามีสองทางที่จะบริหารเงินสดในมือที่เรามีอยู่ คือไปใช้หนี้หรือลงทุนเพื่อให้เกิดรายได้ แต่ผมเลือกที่จะนำเงินมาใช้ ลงทุนใหม่ๆ เพิ่ม เพื่อให้เกิดรายได้ในอนาคตอันจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย แต่การตัดสินใจต้องมีการหารือกับบอร์ดอีกครั้ง"

สำหรับการลงทุนนั้นคาดว่า จะใช้เงินลงทุนสูงเกือบ 2 พันล้านบาท เพราะโดยปกติ TT&T ใช้เงินลงทุนในการขยายงาน ปีละประมาณ 1,700-1,800 ล้านบาท โดย ปีหน้าจะเน้นการขยายบรอดแบนด์หรือ การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งการให้ข้อมูลในเรื่องต่างๆ เพิ่มขึ้น ที่สำคัญ บริษัทต้องพยายามรักษาลูกค้าเก่าให้คงอยู่ตลอดไป ขณะที่ก็ต้องหารูปแบบการให้บริการอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยจะใช้เงินจากรายได้และเงินสดหมุนเวียนของบริษัทที่มีอยู่ในมือ

ทั้งนี้ TT&T จะเน้นการให้บริการเสริมที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้แข่งขันได้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่าง มากในปัจจุบัน ซึ่ง TT&T อยู่ในระหว่างการ เจรจาเพื่อเฟ้นหาพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมงานด้วย และต้องเป็นพาร์ตเนอร์ที่มี Synergy ในการทำงานร่วมกัน เพื่อเสริมมูลค่าทางการ ให้บริการเป็นการดึงดูดลูกค้าให้หันมาใช้บริการของบริษัท

สำหรับการลงทุนบรอดแบนด์ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 400-500 ล้านบาท จาก เดิมที่ลงทุนเพียงไม่กี่ล้านบาท โดยจะ ค่อยๆ ทยอยลงทุนไปตามการเติบโตและความต้องการของตลาดในอนาคต และจะเน้นพื้นที่ที่ลูกค้ามีความต้องการ นอกจากนี้ ยังจะเน้นการให้บริการตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีทีต้องการ ทั้งการออกแพกเกจใหม่ที่จะออกในเดือนหน้า รวมทั้งอินเทอร์เน็ตคิดส์

ทั้งนี้ การเพิ่มบริการเสริมใหม่ เพื่อขยายความสามารถในการให้บริการมากขึ้น เช่น การลงทุนในเรื่องเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์อีก จากเดิมที่ลงทุนไปไม่กี่สิบล้านบาท เพราะอัตราการขยายตัวยังมีไม่มากนัก การให้บริการดาต้า คอมมูนิเคชั่น วิดีโอ คอนเฟอเรนต์ การจำหน่ายอินเทอร์ เน็ต คิท และทีคลิ๊ก ที่ให้บริการต่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายของTT&T ได้ในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ รวมทั้งการให้บริการ ส่งเอสเอ็มเอสจากเครื่องบ้าน และรับเอสเอ็มเอสจากมือถือของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ADVANC) ซึ่งถือเป็นบริการใหม่ๆ นอกเหนือจากการให้บริการสายเรียกซ้อน หรือบริการโชว์เบอร์ ซึ่งประสบความสำเร็จและมียอดผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น

นายประจวบ กล่าวว่า นโยบายที่จะมุ่งเน้นการพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากร ให้ความสำคัญกับแนวทางการเพิ่มรายได้ของบริษัท รวมทั้งสามารถสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นให้กับกลุ่ม ผู้ถือหุ้นของ TT&T ว่าทางบริษัทจะสามารถสร้างผลกำไร และผลตอบแทนที่ดีได้ในอนาคตด้วยการให้บริการใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม TT&T ยอมรับว่าอัตราการเติบโตของกลุ่มลูกค้าใหม่ลดลง และบริษัทสามารถเพียงรักษาฐานลูกค้าเดิม เอาไว้เท่านั้น ซึ่งขณะนี้บริษัทมีลูกค้าทั้งสิ้นประมาณ 1.2 ล้านราย และมีรายได้ต่อเลขหมายต่อเดือนที่ประมาณ 500 บาท ซึ่งลดลงจากแต่ก่อนพอสมควร

เนื่องจากนโยบายของกระทรวงไอซีที ที่ให้บริษัทต่างๆ มีการปรับลดค่าบริการทางไกลในประเทศ ซึ่งบริษัทถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเป็นผู้ให้บริการโดยตรง จึงทำให้บริษัทพยายามหากลยุทธ์ใหม่ๆ ที่กล่าวมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังเน้นที่ราคา ค่าบริการรายเดือน 100 บาท และค่าโทร. ในอัตรา 3, 6 และ 9 บาทต่อนาที ต่อไป และยืนยันว่ารายได้ของบริษัทปีนี้จะพยายาม รักษาไว้ไม่ได้ต่ำกว่าปี 46 และรายได้โทร. ทางไกลจะลดลงเหลือ 40-50% จากเดิมที่อยู่ประมาณ 70%



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.