ตลาดหุ้น จุดเริ่มต้นการบ่มเพาะ


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงที่ตลาดหุ้นไทยเริ่มฟื้นตัวเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ดร.สมคิดเป็น 1 ในนักวิชาการซึ่งเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของนักลงทุน ในฐานะผู้บรรยายให้ความรู้พื้นฐานในการเล่นหุ้น แต่วันนี้ภาพดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ชื่อของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ปรากฏต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก ในฐานะวิทยากรในการสัมมนาหัวข้อ "
การวิเคราะห์งบการเงิน และการประเมินมูลค่าหุ้น" ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วม กับมูลนิธิสายใจไทยที่โรงแรมเซ็นทรัล พลาซ่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2531 เป็นการสัมมนาซึ่งจัดขึ้นภายหลังตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ประสบกับวิกฤติจากเหตุการณ์ "แบล็คมันเดย์" เพียง 9 เดือนและ บรรยากาศการซื้อขายหุ้นในขณะนั้น ได้เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากซบเซาจากวิกฤติการณ์ดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายเดือน

วิทยากรที่ร่วมบรรยายกับ ดร.สมคิดในวันนั้น ประกอบด้วยดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทย ธวัช ภูษิตโภยไคย, ดร.กุลภัทรา เวทย์วิวรณ์, ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ และดร.พิพัฒน์ พิทยาอัจฉริยกุล

2 รายหลัง ได้กลายเป็นกลุ่มนักวิชาการที่ตระเวนบรรยายเรื่อง เกี่ยวกับการลงทุนร่วมกับ ดร.สมคิด อีกหลายรายการในเวลาต่อมา


ปี 2530 เป็นปีที่คนไทยเริ่มตื่นตัวในการนำเงินออมเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบ กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในขณะนั้นอยู่ในระดับต่ำ

แต่พื้นฐานความรู้ของนักลงทุนไทยในระยะนั้นยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ การตัดสินใจซื้อขายหุ้นในช่วงนั้น อาศัยคำแนะนำของโบรกเกอร์ หรือเล่นตามข่าวเป็นหลัก

สูตรการวิเคราะห์หลักทรัพย์ ก็ยึดอยู่บนพื้นฐานเพียงแค่การดู ตัวเลขอัตราส่วนราคาต่อรายได้ (P/E Ratio) และผลตอบแทนจาก เงินปันผล (Dividend Yield) เป็นสำคัญ ส่วนพวกที่อาศัยจิตวิทยา ในการลงทุน ก็จะดูแต่เส้นกราฟ โดยไม่สนใจตัวเลขพื้นฐานของบริษัท

"พวกนักเล่นหุ้นในช่วงนั้นคิดกันแค่ตัวเลข เหมือนกับม้าลำปาง คือ มองตรงอย่างเดียว" ดร.สมคิดให้คำนิยามกับ "ผู้จัดการ"

การเกิดเหตุการณ์แบล็คมันเดย์ขึ้น โดยเริ่มจากตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2530 และลามไปยังตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน ทางที่ดีขึ้นกับแนวทางการวิเคราะห์หลักทรัพย์ในประเทศไทย

มีการนำปัจจัยภายนอกประเทศ ตลอดจนปัจจัยแวดล้อม และภาพรวมของแต่ละอุตสาหกรรมเข้ามาประกอบการวิเคราะห์ในแต่ละครั้งด้วย นอกเหนือจากการ วิเคราะห์เพียงงบการเงินของบริษัทแต่ละแห่ง เพียงอย่างเดียวเหมือนในช่วงก่อนหน้า

หลังเหตุการณ์แบล็คมันเดย์ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ได้ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้แก่นักลงทุน ได้มีการจัดสัมมนา และ อภิปรายในเรื่องนี้หลายครั้ง และวิทยากรที่ไป เป็นประจำ จะประกอบด้วย ดร.สมคิด ดร.สม ชาย ดร.พิพัฒน์ รวมทั้งดร.ไพบูลย์ เสรีวิ-วัฒนา ซึ่งทั้ง 4 คน นอกจากจะเป็นนักวิชาการแล้ว ยังมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ดร.สมคิด และดร.ไพบูลย์ มาในฐานะ นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์ (นิด้า) ขณะที่ ดร.สมชาย และดร.พิพัฒน์เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในการบรรยาย หรือสัมมนาแต่ละครั้ง ได้มีการแบ่งหัวข้อการพูดตามความถนัดของ แต่ละคนไว้ก่อนล่วงหน้า

ดร.สมชาย จะเป็นผู้พูดนำเป็นส่วนใหญ่ โดยจะอธิบายถึงภาพรวม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น ในโลก และมีผลกระทบต่อประเทศไทย

ดร.พิพัฒน์ จะพูดเจาะลึกลงไปในภาคการเงิน และการวิเคราะห์ ประเมินถึงราคาหุ้น ที่อาจจะได้รับผลกระทบ

ดร.สมคิด จะพูดถึงการวางกลยุทธ์และการแข่งขันของแต่ละบริษัทในแต่ละอุตสาหกรรม

ขณะที่ ดร.ไพบูลย์ ซึ่งมีบุคลิกเป็นคนมีอารมณ์ขัน มักจะเป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมักจะนำเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น มาเล่าให้คนฟังได้ผ่อนคลาย หลังจากฟังเรื่องหนักๆ ของวิทยากรคนอื่นมามาก

การที่ต้องตระเวนไปบรรยายให้คนฟังหลายๆ ครั้ง ทำให้สาธารณชนเริ่มคุ้นหูกับชื่อของนักวิชาการทั้ง 4 คน

แม้ว่าในบางรายการ ไม่ได้จัดในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้น แต่ก็ยังมีนักลงทุนตาม ไปฟัง เพราะคิดว่าจะต้องมีการพูดเรื่องหุ้นสอดแทรกเข้ามาด้วย

ขณะเดียวกัน การเดินทางไปบรรยายในที่ต่างๆ ก็เป็นการปลูกฝังความสัมพันธ์ระหว่าง ดร.สมคิด ดร.พิพัฒน์ และดร.สมชาย ที่แน่นแฟ้นอยู่แล้วให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

"เรา 3 คน แต่ละคนมันเสริมซึ่งกันและกัน ผมแมคโคร และการเงิน อาจารย์พิพัฒน์ไฟแนนซ์ อาจารย์สมคิดเรื่องกลยุทธ์ เพราะฉะนั้นก็เอามาใช้ได้ ผมแมคโครก็ปูพื้นเข้ามาสู่การ เงิน สมคิดก็กลยุทธ์ ก็มาสอดคล้องกับแมคโคร ก็คุยกันแทบจะเรียกว่าไม่ต้องเตรียมอะไรเลย เพราะต่างคนต่างก็มีอาชีพอยู่ตรงนี้อยู่แล้ว" ดร.สมชายเล่ากับ "ผู้จัดการ"

ดร.สมชายได้รู้จักกับ ดร.สมคิดในช่วงประมาณปี 2530 โดยการแนะนำของ ดร.พิพัฒน์ ซึ่งสอนอยู่ที่เดียวกันที่ธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นทั้ง 3 คนก็เริ่มสนิทสนมกัน และมีโครงการ ที่จะทำวิจัยร่วมกัน "หลังจากสนิทกันก็มาเขียนหนังสือด้วยกัน เวลาไปพูดก็มักจะไปพูดด้วยกัน"

เส้นทางเดินของนักวิชาการทั้ง 3 คน ค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยว ข้องกับตลาดหลักทรัพย์ โดย ดร.สมชายมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของตลาดหลักทรัพย์มาตั้งแต่ยุคของสิริลักษณ์ รัตนากร เป็นกรรม การและผู้จัดการ ต่อเนื่องมาถึงยุคของ ดร. มารวย ผดุงสิทธิ์

ขณะที่ ดร.สมคิด และดร.พิพัฒน์ ได้ ตามเข้ามาเป็นที่ปรึกษาของตลาดหลักทรัพย์ ต่อมาภายหลัง โดยการชักชวนของ ศ.สังเวียน อินทรวิชัย

ศ.สังเวียนในขณะนั้น ถือว่าเป็นบุคคล ที่มีบทบาทสูงมากในตลาดหลักทรัพย์ เพราะ นอกจากจะดำรงตำแหน่งกรรมการตลาด หลักทรัพย์มาหลายสมัย ยังมีตำแหน่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการรับหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการที่มีอำนาจชี้ขาดว่าบริษัทใดมีสิทธิที่จะเข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

กล่าวกันว่าสายสัมพันธ์ระหว่างดร.สมคิด กับ ศ.สังเวียน เกิดขึ้นเนื่องจากการที่ ศ.สังเวียนเป็นผู้ก่อตั้งโครงการปริญญา โททางบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ (X-MBA) จึงได้ให้ดร.พิพัฒน์ ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นพี่ของ ดร.สมคิดจากเคลล็อก ไปชัก ชวนให้ ดร.สมคิด ซึ่งขณะนั้นสอนอยู่ที่คณะบริหารธุรกิจ นิด้า มาร่วมสอนในโครงการ X-MBA ของธรรมศาสตร์ด้วย

แต่บางคนก็มองว่า ทั้ง ดร.สมคิดและ ศ.สังเวียนรู้จักกันมาก่อนหน้าแล้ว เพราะหลังจาก ดร.สมคิดจบปริญญาตรี จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใหม่ๆ เมื่อปี 2520 ได้เข้ามาทำงานอยู่ที่ฝ่ายวิชาการของตลาดหลักทรัพย์อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะไปเรียนปริญญาโทต่อที่นิด้า

ซึ่งในช่วงนั้นศ.สังเวียนก็ได้เข้ามามีบทบาทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว

ภายหลังจาก ดร.สมคิดได้เข้ามาเป็น ที่ปรึกษาของตลาดหลักทรัพย์แล้ว ดูเหมือนบทบาทของ ดร.สมคิด จะมีมากกว่า ดร.สม ชาย และดร.พิพัฒน์ เพราะ ดร.สมคิดได้รับแต่งตั้งเข้าไปเป็น 1 ในคณะอนุกรรมการรับหลักทรัพย์ ซึ่งมี ศ.สังเวียนเป็นประธาน ในขณะที่ทั้ง ดร.พิพัฒน์และ ดร.สมชาย ยังคงบทบาทเป็นเพียงนักวิชาการ

การเข้ามามีส่วนอยู่ในคณะอนุกรรม การรับหลักทรัพย์ ทำให้ ดร.สมคิดได้มีโอกาส สร้างสายสัมพันธ์กับนักธุรกิจอีกหลายคนในเวลาต่อมา

จากการเป็นที่ปรึกษาตลาดหลักทรัพย์ มีบทบาทในการเดินทางไปบรรยายให้ความรู้กับนักลงทุน ในยุคที่เริ่มตื่นตัว ให้ความสนใจนำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น เส้นทาง ของดร.สมคิด ดร.สมชาย และดร.พิพัฒน์ก็เริ่มขยายเข้าไปสู่การเป็นที่ปรึกษาตามบริษัท ต่างๆ

จนในปี 2538 ดร.พิพัฒน์เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง บทบาทการเป็นที่ปรึกษาของบริษัทจึงตกอยู่กับดร.สมคิด และดร.สมชายเพียง 2 คน

การที่ต้องคลุกคลีอยู่กับหลายองค์ประกอบของตลาดทุน ทำให้ดร.สมคิดสามารถมองเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้อย่างเด่นชัด

"มันก็เหมือนกับเรามีเป้าตรงกลางคือ ตลาดหลักทรัพย์ ผมเป็นที่ปรึกษาประธาน ตลาดหลักทรัพย์อยู่ 10 ปี อยู่ในคณะอนุ กรรมการรับหลักทรัพย์ ฉะนั้นหัวใจของ capital market มันซึมอยู่ในสายเลือด ส่วนข้างนอกเราเห็นทุก sector ร้อยกันไปหมด" ดร.สมคิดเล่า


ปี 2530 ดร.สมคิด ได้มีโอกาสเดินทางไปทัวร์ยุโรป ร่วมกับดร.สมชายและดร.พิพัฒน์ ซึ่งในการเดินทางเที่ยวนี้ ดร.สมคิดได้เริ่มแสดงความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการเมืองให้เพื่อนนักวิชาการทั้ง 2 ได้เห็นเป็นครั้งแรก

ระหว่างการเดินทางโดยรถไฟไปตามประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ดร.สมคิดได้เริ่ม บทสนทนาเกี่ยวกับเรื่อง political marketing ออกมา เป็นการแสดงออกถึงความสนใจในเรื่องการเมือง ซึ่งในเวลาต่อมา แนวคิดในเรื่องนี้ก็ได้ถูกถ่ายทอดออกมาในช่วงของการ ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แต่กับเพื่อนนักวิชาการทั้ง 2 ของ ดร. สมคิด คนที่ดูจะมีความสนใจเรื่องการเมืองเช่นเดียวกันก็คือดร.สมชาย ซึ่งทั้งคู่ก็ได้เคยพูดคุย และวางตำแหน่งของตนเองในอนาคตไว้แล้ว

ดร.สมชายวางตำแหน่งตนเองไว้ว่าจะเป็นนักวิชาการที่มีบทบาทที่ปรึกษาที่มีชื่อเสียง อย่างเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ หรือไมเคิล อี.พอร์เตอร์

"ผมมองไว้ว่าผมไม่ได้อยากเล่นการเมืองโดยตรง แต่ว่าจะออกมาเกี่ยวข้องกับการ เมืองในลักษณะที่เป็นที่ปรึกษา มีส่วนในการวิจารณ์ โดยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และมีชื่อเสียงเป็นคอนซัลแทนซ์" ดร.สมชายเล่า

แต่ดร.สมคิด เขาไม่คิดเช่นนั้น เพราะปัจจุบัน เขาได้โดดลงมาเล่นการเมืองโดยตรงไปเรียบร้อยแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.