ใคร...? เป็นใคร... ? 10+2+1 ที่ปรึกษาขุนคลัง


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

การตั้งที่ปรึกษาครั้งนี้ สะท้อนแนวคิดการบริหารกระทรวงการคลังที่แตกต่างไปจากเดิม โดยให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมด เพื่อประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจร่วมกัน อย่างเป็นระบบภายใต้ทิศทางเดียวกัน

ที่ปรึกษาด้านการเงิน การคลัง และสถาบันการเงิน

ช ว ลิ ต  ธ น ะ ช า นั น ท์

อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติคนที่ 13 หลังเกษียณเขาได้รับข้อเสนอของสุธี สิงห์เสน่ห์ รัฐมนตรีคลังในสมัย รสช. ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เขาอยู่ที่นี่สี่ปี ก่อนที่จะ มานั่งเป็นประธานกรรมการธนาคาร เอเชียตามคำเชิญของกลุ่มภัทรประสิทธิ์ และนั่งในตำแหน่งนี้เรื่อย มา แม้ว่าจะมีกลุ่มเอบีเอ็นแอมโร มาถือหุ้นใหญ่แล้วก็ตาม ชวลิตถือ เป็นนักคิดและนักเทคนิคการเงินที่มีประสบการณ์สูง เป็นผู้รอบรู้ในประวัติศาสตร์การเงินของโลก เป็นผู้ที่ผ่านสนามการบริหารสูงสุดทั้งในภาคราชการและเอกชน ดร.สมคิดบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ท่านเป็นคนที่ดีมาก" แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเป็นประธานแบงก์เอกชน เป็น Conflict of Interest ที่ปรึกษาท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า "รมต.เชื่อใน Integrity ของท่านชวลิต ท่านก็ไม่ค่อยได้มากระทรวงหรอก ท่านรมต.มีอะไรปรึกษาก็ยกหูคุย ผมว่าเราน่าจะมองว่าเป็นเรื่องช่วยชาติมากกว่า"

ด ร . ชั ย วั ฒ น์   วิ บู ล ย์ ส วั ส ดิ์

อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติที่เป็นลูกหม้อที่ติดต่อกันเป็นคนที่ 4 ต่อจาก ชวลิต ธนะชานันท์ วิจิตร สุพินิจ และเริงชัย มะระกานนท์ เขาเป็น ผู้ว่าการที่ผ่านงาน "สองเสาหลัก" ของแบงก์ชาติ คือ เป็นผู้อำนวย การฝ่ายวิชาการ และผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคาร พาณิชย์ ปี 2539 ขณะเป็นรองผู้ว่าแบงก์ชาติ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น รมช.คลัง ในรัฐบาลบรรหาร ต่อมาก็ขยับเป็น รมว.ระยะสั้นๆ เพียง 45 วัน ก่อนที่จะขอกลับไปดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าอีกครั้ง และได้ขึ้น เป็นผู้ว่าการหลังจากที่เริงชัย มะระกานนท์ ทนแรงบีบทางการเมือง ไม่ไหวต้องลาออกไปเช่นเดียวกับ วิจิตร สุพินิจ เนื่องมาจากผลพวง ของวิกฤติเศรษฐกิจ และศปร.2 ชี้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีที่ทุน สำรองของประเทศหายไปจากการปกป้องการโจมตีค่าเงินบาท ชื่อ ของเขาเงียบหายไปจากสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทย แต่กลับไป รุ่งเรืองในวงการวรรณกรรมในฐานะนักเขียนนามปากกา "วินนี่ เดอะ ปุ๊"

ดร.สมคิดกล่าวถึงภารกิจของดร.ชัยวัฒน์กับ "ผู้จัดการ" ว่า

"ท่านมาช่วยผมในด้าน Macro เพราะเป็นคนเก่ง และเป็น คนมีหลัก เราต้องมีหลัก คือ บทบู๊ เราต้องเดินไปข้างหน้า แต่เราต้องมีคนมาตีกรอบว่าเราเดินบู๊มากไปแล้ว ท่านเป็นคนตีกรอบ และช่วยเรื่องข้อมูลที่ set ขึ้นมาเป็นระบบ"

ศุ ภ ชั ย  พิ ศิ ษ ฐ ว า ณิ ช ย์

อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ที่เพิ่งเกษียณไปเมื่อ ปี 2543 ดร.สมคิดกล่าวถึงเขาว่า "รู้งานทุกซอก ทุกมุม เรื่องที่เข้ามากระทรวง ไม่มีสักเรื่องที่ท่าน ศุภชัยไม่รู้ แต่ผมก็บอกท่านว่า ท่านเป็นที่ปรึกษาผม แต่อย่าไปเกิน Limit ที่ทำให้ท่านปลัดคนใหม่รู้สึกกระอักกระอ่วน เพราะท่านเคยเป็นเจ้านายลูกน้อง กันมา ผมมีเส้นคั่น ช่วยผมได้ แต่อย่าล้ำเส้น"

ด ร . ศุ ภ วุ ฒิ  ส า ย เ ชื้ อ

ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัยและวางแผน บล.เมอร์ริลลินช์ ภัทร เขาเป็นลูกชายของอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของ กระทรวงการต่างประเทศ และอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ชื่อ "เชาว์ สายเชื้อ" ศุภวุฒิ ร่ำเรียน สายเศรษฐศาสตร์มาโดยตลอด จาก 3 มหาวิทยาลัย 3 ประเทศ เริ่มจากมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย แห่งเวลลิง ตัน นิวซีแลนด์ จากนั้นได้ปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ และปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐ อเมริกา กลับมาเริ่มงานที่กระทรวงการต่างประเทศเช่นเดียวกับพ่อของเขา ในแผนกความสัมพันธ์กับอเมริกาและแปซิฟิก ยาวนานถึง 17 ปี ก่อนที่จะตัดสิน ใจหันเหชีวิตมาสู่ภาคเอกชนในปี 2537 โดยร่วมงานกับฝ่ายวิจัยและวางแผนของ บงล.ภัทรธนกิจในปี 2537 ครั้นเมื่อมีการแยกบริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ออกจากกัน เขามาอยู่กับบริษัทหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ กระทั่งเมื่อผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยตัดสินใจขายหุ้น 51% ให้กับยักษ์ใหญ่ของโลกเชื้อสายอเมริกัน บริษัทเมอร์ริลลินช์ กลายเป็น บล.เมอร์ริลลินช์ภัทร เขาก็ได้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการที่ดูแลงานถนัดคือ ด้านวิจัยและวางแผน สำหรับงานการเมืองนั้นเขาเคยลาพักจากงานไปนั่งในตำแหน่งรองเลขาธิการ นายกรัฐมนตรี ช่วยดูแลงานด้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้กับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งขณะนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี เป็นการทำงาน ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น

แม้ว่าเขาเพิ่งอยู่ในวงการโบรกเกอร์เพียง 8 ปี ในระหว่างที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ยังไม่ได้ประกาศให้ชัดเจนว่าตัดสินใจเลือก ใครเป็นรัฐมนตรีคลัง สื่อมวลชนพากันกะเก็งชื่อบุคคลต่างๆ มากมาย และดร.ศุภวุฒิ ก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น ชื่อของเขาจึงเป็น ที่รู้จักกันในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดตั้งเอเอ็มซีแห่งชาติ สื่อมวลชนพยายามโยงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ ดร.ทักษิณ ในฐานะอดีตเลขาฯ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ถึงความสัมพันธ์อันเนิ่นนานระหว่างเขากับรัฐมนตรีคลังคนปัจจุบัน เพราะ ดร.สมคิดเป็น ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งส่วนงานวิจัยของบงล.ภัทรธนกิจ และเป็นที่ปรึกษาตลอดมา เขาขอพักไปจากงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน (leave without pay) 6 เดือน ฉะนั้นจากนี้ไปเขาก็ย้ายออฟฟิศมาอยู่ข้างๆ ห้องรัฐมนตรี ทำงานรับใช้ชาติอย่างเต็มเวลา ทำงานตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย ซึ่งขณะนี้มีเรื่องเอเอ็มซี และการแปรรูปรัฐวิสากิจ

ที่ปรึกษาด้านตลาดทุน

มีสองคน คนแรกคือ

ศ . สั ง เ วี ย น  อิ น ท ร วิ ชั ย

เขาเป็นผู้มีบารมีมากที่สุดคนหนึ่งในตลาดหุ้นไทย ก็คงไม่ผิดนัก ด้วยว่าเป็นประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ มายาวนาน และเป็นประธานก่อตั้งของตลาดโอทีซีอีกด้วย อาจารย์สังเวียนได้ประกาศนียบัตรทางบัญชี จากธรรมศาสตร์ จากนั้นสอบเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หรือที่เรียกว่า FCA จากสถาบันผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ที่อังกฤษ และจบ ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ เป็นอาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีลูกศิษย์ได้ดิบได้ดีในวงการราชการและธุรกิจหลายคน เช่น ศุภชัย พิศิษฐวาณิชย์, ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อาจารย์สังเวียนนั้นสนใจการบริหารจัดการสมัยใหม่ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโครงการปริญญาโท บริหารธุรกิจ หรือที่เรียกกันติดปากว่า "MBA" ตลอดจนโครงการ "Mini MBA" และโครงการปริญญาโทบริหารธุรกิจภาคพิเศษ (Ex-MBA) ซึ่งโครงการ Ex-MBA นี่เองที่ทำให้เขามีลูกศิษย์เป็นผู้ประกอบการ และผู้บริหารระดับสูงทั้งภาคธุรกิจและราชการ อาจารย์สังเวียนถือว่าเป็นศูนย์รวมคนสำคัญของศิษย์เก่า "เอื้องฟ้า" ที่มีส่วนเกื้อหนุน ซึ่งกันและกันในหมู่คณะในหลายรูปแบบ

นอกจากนี้เขามีโอกาสได้ช่วยภาครัฐทำการศึกษาองค์กรที่มีปัญหาหลายแห่ง เช่น เมื่อแบงก์ชาติเข้าควบคุมเอเชียทรัสต์และเปลี่ยนเป็นธนาคารสยาม ศ.สังเวียนได้ เข้าไปศึกษาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เขาได้นำทีมอาจารย์หนุ่ม 3 คนเข้าไปด้วย คนเหล่า นั้น ก็คือ ดร.สมคิด, ดร.พิพัฒน์ พิทยาอัจฉริยะกุล (รุ่นพี่ของดร.สมคิดที่นอร์ธเวสเทิร์น เสียชีวิตไปแล้ว) และดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ซึ่งเป็นทีมอาจารย์หนุ่มไฟแรงที่ได้มีโอกาสช่วยอาจารย์สังเวียนในอีกหลายโครงการ

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทน้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) และประธานบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด เมื่อ ดร.สมคิดขึ้นนั่งในตำแหน่งสำคัญ อาจารย์สังเวียนตอบรับคำเชิญเป็นที่ปรึกษา เพราะความที่เขาทะลุปรุโปร่งอยู่กับเรื่องตลาดหุ้น นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่อง SME และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เขาเป็นคนหนึ่งที่มากระทรวงบ่อยมาก

วิ โ ร จ น์  น ว ล แ ข

นายกสมาคมโบรกเกอร์หลายสมัยผู้มากประสบการณ์ ในยุคที่เศรษฐกิจบูม ในฐานะผู้กุมบังเหียน ของ บงล.ภัทรธนกิจ โบรกเกอร์ชั้นแนวหน้า

หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ แม้ บงล.ภัทรธนกิจ จะรอดพ้นจากการปิดกิจการ แต่เนื่องจาก เกิดระบบวิกฤติศรัทธากับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะบริษัทเงินทุน ประกอบกับการจะอุ้มบริษัท นี้ต้องใช้เงินอีกไม่น้อย ตระกูล "ล่ำซำ" จึงตัดสินใจสละแขนขาเพื่อรักษาชีวิต วิโรจน์จึงต้องคืน "License" ประกอบการเงินทุนให้กับทางการ เหลือเพียงบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเขาได้ชักชวนเมอร์ริล ลินช์เข้ามาถือหุ้นใหญ่ จึงกลายเป็นเมอร์ริลลินช์ภัทร โดยที่เขายังคงเป็นประธานบริหาร ต่อมา บทบาทของเขาลดลง โดยเป็นเพียงประธานกิตติมศักดิ์ในปัจจุบัน

ที่ปรึกษาด้านภาคการผลิตและการพาณิชย์

ธ นิ น ท์  เ จี ย ร ว น น ท์

ประธานกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งไม่เคยยอมรับเป็นที่ปรึกษาให้ นักการเมืองคนไหนออกหน้าออกตาขนาดนี้มาก่อน ครั้นเมื่อ ดร.สมคิดบอกสื่อมวลชนว่า อยากรู้ว่าเขาเป็นอย่างไรให้ไปถาม ธนินท์ เจียรวนนท์, บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา และบัณทูร ล่ำซำ เขาก็ให้สัมภาษณ์ทันทีที่บินกลับจากการไปรับรางวัล Review 200 ในฐานะบริษัทชั้นนำของเอเชีย และแชมป์บริษัทของไทย ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นอันดับ 1 เป็นครั้งที่ 4 จากผู้อ่าน ของนิตยสารชั้นนำอย่าง Far Eastern Economic Review ที่เห็นพ้องต้องกันว่าซีพีเป็นบริษัทที่สามารถปรับโครง สร้างธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จและรวดเร็ว ภายหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เขามั่นใจว่ารัฐมนตรีคลังคนนี้ มีความสามารถ เพราะเป็นคนใฝ่รู้ และเชื่อว่าจะทำงานได้ดี และสามารถทำงานเข้าขากับนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งเขาเห็นว่านี่ต่างหากที่เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จ

ดร.สมคิดนั้นไม่เคยร่วมงานกับเจ้าสัว แต่มีโอกาสพูดคุยสนทนากันหลายครั้งหลายวาระ ทั้งในฐานะนักวิชาการหนุ่มที่มีชื่อเสียง และต่อมาเมื่อเข้าสู่วงการเมืองก็มีโอกาสคุยกันมากขึ้น

ธนินท์ได้เข้าประชุมหารือครั้งแรกกลางเดือนมีนาคม ร่วมกับรัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีเศรษฐกิจและคณะที่ปรึกษา ได้ให้ความเห็นอย่างเข้มข้นในเรื่องการส่งเสริมภาคเกษตร และเรื่องการรณรงค์ให้คนไทยใช้สินค้า ไทย ที่เขาเห็นว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วน

บุ ณ ย สิ ท ธิ์  โ ช ค วั ฒ น า

ประธานเครือสหพัฒนฯ ยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าอุปโภคบริโภค ดร.สมคิดมีโอกาสรู้จักและร่วมงานกับเครือ นี้ถึง 13 ปีเต็ม ทำให้เขารู้ซึ้งถึงความเป็นไปของสังคมการค้าและพฤติกรรมของผู้บริโภคผ่านสินค้านา นับชนิด นับแต่บะหมี่มาม่า กระทั่งถึงยกทรงวาโก้

บุณยสิทธิ์นั้นเป็นเสี่ยสามของตระกูลโชควัฒนา แม้ว่าจะเรียนหนังสือเพียงแค่มัธยม 6 แต่จาก การเรียนรู้การค้าในโลกของความเป็นจริงกับผู้พ่อ "นายห้างเทียม โชควัฒนา" และได้มีโอกาสไปฝึกฝนการค้าที่ญี่ปุ่นยาวนานถึง 6 ปี ก่อนที่จะกลับมาบุกเบิก "ไอซีซี" กระทั่งเติบใหญ่เป็นขาหยั่งที่สำคัญของเครือสหพัฒนฯ หลังจากนายห้างเสียชีวิตเขาได้ขึ้นเป็นผู้นำของกลุ่ม นำพาธุรกิจของเครือ ฝ่าคลื่นมรสุมเศรษฐกิจได้อย่างดี

แต่ไหนแต่ไรมากลุ่มสหพัฒนฯ ไม่สนใจการเมือง นายห้างเทียมถึงกับสั่งห้ามลูกหลานไม่ให้ยุ่งเกี่ยว การที่บุณยสิทธิ์รับตำแหน่งที่ปรึกษาครั้งนี้จึงถือเป็นกรณีพิเศษ จากความชอบพอชื่นชมกันเป็นการส่วนตัว

ส ม พ ล  เ กี ย ร ติ ไ พ บู ล ย์

อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ รับราชการจน ได้เป็นอธิบดีเกือบจะทุกกรม นั่งเป็นปลัด ยาวนานถึง 6 ปี เป็นข้าราชการที่รู้เรื่องเศรษฐกิจการค้า การส่งออก และการเจรจา ระหว่างประเทศเป็นอย่างดี จึงถูกรุมจีบจากพรรคการเมืองต่างๆ ตั้งแต่ก่อนเกษียณ ซึ่งขณะที่เขายังไม่ได้ตัดสินใจนี่เอง ก็มีเหตุให้ต้องประสบปัญหาด้านสุขภาพ กล่าวคือ เป็นโรค "เส้นเลือดในสมองตีบ" ทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายซีกขวา มีปัญหา จึงหายเงียบไปจากสังคมการเมืองไทย หลังจากรักษาร่างกายอยู่หลายเดือน ขณะนี้หายเป็นปกติแล้ว

เขาได้รู้จักกับ ดร.สมคิดเมื่อที่คราวที่ ดร.สม มาเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ในช่วงสั้นๆ ของรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ แต่ก็ได้พูดคุยกันอย่างใกล้ชิด เขาเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "ทุกวัน เวลา 7 โมงเช้า ก่อนเข้ากระทรวงจะต้องไปนั่งคุยกัน 3 คน ที่ใต้ถุนบ้านเรือนไทยของ ดร.สมที่นวธานี ทั้งสองพี่น้องเป็นคนที่มุ่งมั่นตั้งใจ ทุ่มเทให้กับงานมาก ทำงานรวดเร็ว และหวังให้เกิดผล ซึ่งเป็นสไตล์ที่เข้ากับผมได้ดี" หลังเลือกตั้ง ดร.สมคิดนัดเขาทานข้าวและเชิญให้มาร่วมงานในฐานะทีมเศรษฐกิจของไทยรักไทย สมพลก็บอกว่ายินดีช่วยให้คำปรึกษา แต่ไม่พร้อมสำหรับตำแหน่งทางการเมือง ดร.สมคิดกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมว่าท่านเป็นคนที่รู้เรื่องสินค้าเกษตรทะลุ และดีที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย"

ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาชนบท

มีอยู่คนเดียวคือ

ไ พ บู ล ย์  วั ฒ น ศิ ริ ธ ร ร ม

ประธานสถาบันพัฒนาชุมชน อดีตนักเรียนทุนแบงก์ชาติ ทำงานที่แบงก์ชาติอยู่ 16 ปี ก่อนที่จะถูกยืมตัวไปเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2523-2525 แล้วกลับไปทำงานที่แบงก์ชาติอีกไม่นาน ก่อนจะเบนเข็มมาอยู่ในภาคเอกชน ด้วยการเป็นผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารไทยทนุ เขาเป็นคนที่ให้ความสนใจด้านสังคมและการพัฒนาชนบทอย่างมาก ใน ที่สุดจึงสลัดสูทออกมานั่งเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบท ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์กร ซึ่งก่อตั้งโดย ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ซึ่งว่าไปแล้ว เขาเองมีส่วนช่วยงานมูลนิธิตลอดมานับแต่ก่อตั้งในปี 2512 เขากลับเข้าสู่วงการธนาคารอีกครั้ง โดยได้รับการแต่งตั้งจากธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังในสมัยนั้นให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เขามีความพยายามจะทำให้ธนาคารแห่งนี้เป็น "ธนาคารชุมชน" กล่าวคือ แทนที่จะเอาเงินเด็กๆ มาปล่อยกู้เฉพาะแก่หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจเท่านั้นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เขานำมาปล่อยกู้ให้กับเอกชนรายเล็กรายน้อยในชุมชน ตลอดจนพ่อค้าแม่ขายที่ต้องการเงินหมุนเวียน ต่อมาลาออก เพื่อมาดำเนินการจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนตามกฎหมายใหม่ ซึ่งเป็นงานสร้างความเข้มแข็งของชุมชนที่เขาให้ความสนใจมาช้านาน

ไพบูลย์เป็นคนที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถเข้ากันได้กับชนชั้นนำของสังคม ภรรยาของเขาเองก็เป็นถึงผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็สามารถเดินสะพายย่ามกินข้าวเหนียวคุยกับชาวบ้าน พูดภาษาเดียวกับเอ็นจีโอ ครองตัวเองสมถะ เป็นที่ยอมรับในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ดร.สมคิดมองเห็นลักษณะพิเศษเหล่านี้จึงเชิญให้เป็นที่ปรึกษาของเขา โดยภารกิจสำคัญในขณะนี้อยู่ที่เรื่อง กองทุนหมู่บ้าน

Secretariat team

ด ร . อุ ต ต ม  ส า ว น า ย น

เป็นลูกชายของอดีตผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงที่ชื่อ เล็ก สาวนายน คนที่เป็นผู้ว่ายาวนานถึง 10 ปี คือ ช่วง ปี 2510-2520 รู้จักกับ ดร.สมคิดตั้งแต่สมัยที่เขาทำปริญญาโทบริหารธุรกิจ เอกการเงิน ที่ Kellogg ขณะนั้นดร.สมคิดทำปริญญาเอก จากนั้นทั้งคู่ก็กลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่นิด้า ต่อมาอุตตมลาไปทำปริญญาเอก ด้านการจัดการ เอกการเงิน จาก University of Massachusetts-Amherst สหรัฐอเมริกา เมื่อเรียนจบก็กลับมาสอนหนังสือต่อที่นิด้า จากนั้นเขาก็มีโอกาสได้ร่วมงานใกล้ชิดกับรุ่นพี่ของเขาในหลายโครงการ เช่น โครงการ ร่วมดุษฎีบัณฑิตบริหารธุรกิจ (จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์-นิด้า) หลังจากสอนหนังสืออยู่พักใหญ่ จนได้เป็นผู้อำนวย การโครงการ Ex-MBA และรองคณบดีคณะบริหารธุรกิจ ก็ถึงเวลาที่เขาต้องการบริหารธุรกิจในโลกของความ เป็นจริงเสียที ขณะนั้นธนาคารนครหลวงไทยเป็นธนาคารระดับกลางที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีความ เป็นผู้นำ เขาเห็นว่าเป็นงานท้าทาย ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสฝ่ายวิจัยและวางแผน จึงได้มีโอกาส ร่วมงานกับ ดร.สม จาตุศรีพิทักษ์ พี่ชายของ ดร.สมคิด ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในขณะนั้น

ต่อมาปี 2541 ก็ข้ามฟากมาทำงานกับบริษัทฝรั่งที่เพิ่งเข้ามาเมืองไทยได้สักพัก และกำลังจะขยายตัว อย่าง "จีอี แคปปิตอล" ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเป็นผู้อำนวยการส่วนพัฒนาธุรกิจ ขณะ ที่กำลังสนุกกับงานที่จีอีซึ่งเขาเห็นว่ามีระบบที่แตกต่างไปจากบริษัทไทยมาก เป็นบริษัทใหญ่ที่มีความคล่องตัวสูงมาก เน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนต้องพร้อมที่จะเปลี่ยน ชีวิตก็มีเหตุต้องหักเหอีกครั้งเมื่อรุ่นพี่ของ เขาขอให้มาช่วยงานเต็มเวลา ต้องทิ้งเงินเดือน 6 หลัก และความสะดวกสบายส่วนตัว เขาบอกว่าเพราะความเคารพในตัวของรุ่นพี่คนนี้ที่รู้จักกันยาวนานเกือบ 20 ปี นอกจากนั้นก็เพราะเป็นงานที่ท้าทาย ขณะนี้เขาได้รับมอบหมายให้ดูเรื่อง AMC, SME ตลาดทุนร่วมกับที่ปรึกษาคนอื่น ความที่รู้ใจรัฐมนตรีเป็นอย่างดีจึงทำหน้าที่สื่อความและประสานกับส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องด้วย

ด ร . สุ วิ ท ย์  เ ม ษิ น ท รี ย์

เป็นนักเรียนรุ่นที่สองที่นิด้า ดร.สุวิทย์เรียนจบด้านเภสัชกรรม จากมหาวิทยาลัยมหิดล แต่สนใจเรื่อง การบริหารธุรกิจ ความที่เป็นคนชอบคิดอ่านไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา วิชาปีหนึ่งไม่ท้าทายสำหรับเขา เขาข้ามไปนั่งเรียนกับพวกปีสอง และลูกศิษย์ของคอตเลอร์ย่อมไม่พ้นความสนใจของเขา เรียนไม่เรียน เปล่าความที่ชอบขีดๆ เขียนๆ จึงเขียน paper ไปให้อาจารย์สมคิดอ่าน ซึ่งอาจารย์คนนี้ได้ช่วยต่อยอด ให้เขามากมาย และยังส่งเสริมให้เขาออก NIDA Business Review โดยเขาได้เขียนบทความตีพิมพ์ร่วมกับอาจารย์อีกหลายคน รวมทั้งดร.สมคิดด้วย น่าเสียดายที่หลังจากตีพิมพ์ครั้งแรกแล้วไม่มีใครสานต่อ จากนั้นเมื่อ ดร.สมคิดรับงานโครงการไหนก็มักจะนำลูกศิษย์รุ่นแรกของไปด้วยหลายคน แต่เขาเป็นรุ่น สองคนเดียวที่มักจะได้ติดกลุ่มไปด้วยในหลายโครงการ

ด้วยความที่ ดร.สมคิดเห็นความรักดีในทางวิชาการของเขา เมื่อ ศ.คอตเลอร์มีจดหมายมาชักชวนให้เขียนหนังสือเล่มที่สอง ดร.สมคิดจึงได้พาเขาไปที่นอร์ธเวสเทิร์นด้วย ทั้งสามคนเทียวเข้าห้อง สมุดถกเถียงพูดคุยกันหนึ่งเดือนเต็ม ก็ได้เค้าโครงของหนังสือเล่มใหม่ เขาได้ฝากฝังสุวิทย์ไว้เป็นศิษย์ของคอตเลอร์ซึ่งระยะหลังแทบจะไม่รับศิษย์แล้ว โดยที่ได้ทุนจากมหาวิทยาลัยด้วย ในที่สุด ดร.สุวิทย์ได้ดีกรีปริญญาเอก ด้านการตลาดจาก Kellog พร้อมทั้งหนังสือ Marketing of the Nation ร่วมกับอาจารย์ของเขาทั้งสองคน

นับว่าเป็นแบบแผนเดียวกับ ดร.สมคิดนั่นเอง สิ่งที่แตกต่างคือ เขาได้งานที่ปรึกษา Boot Allen & Hamilton ที่อเมริกา ก่อนกลับมาเมืองไทย ช่วงว่างที่บินกลับมาเมืองไทยขณะที่รอวีซ่า เขาได้ช่วยงานบริษัทในโครงการที่กรมสรรพากร และติด พันมาอีกหลายโครงการ ดร.สุวิทย์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า เป็นการปรับเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์ขององค์กร (Strategy-based Transformation) ให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ กล่าวคือ โครงการ Multimedia Super-Corridor ของรัฐบาลมาเลเซีย สภาพัฒนฯ กพ. ปตท. การบินไทย ธนาคารกสิกรไทย บีพีปิโตรเลียม

จากนั้นออฟฟิศในเมืองไทยถูกซื้อโดยบริษัทของอังกฤษที่ชื่อ LEK Consulting ซึ่งเขาร่วมงานอยู่ในฐานะ Senior Consultant จนถึงปัจจุบัน ขณะที่เป็นอาจารย์สอนด้านการตลาดอยู่ที่ศศินทร์ด้วย บริษัทนี้ไม่ขัดข้องที่เขาจะทำงานเป็นที่ปรึกษาให้รัฐมนตรีด้วย

ดร.สมคิดได้วางตัวให้ ดร.สุวิทย์มาช่วยงานในด้านวิชาการนานแล้ว โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้า อุตสาหกรรม และเกษตร โดยประสานกับที่ปรึกษาอาวุโสท่านอื่นและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และจัด ทำรายงานแต่ละเรื่องตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปเป็นความคิดและสิ่งที่ควรดำเนิน การ ทั้งนี้รัฐมนตรีต้องการเห็นทิศทางของการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพด้วย ดร.สุวิทย์ถือเป็นทีมงานที่สำคัญอีกคนหนึ่งที่จะช่วยแปรความคิดของรัฐมนตรี และบรรดาที่ปรึกษาให้เป็นรูปธรรม ด้วยภารกิจที่มากมายเช่นนี้

นอกจาก 10+2 ที่ปรึกษาข้างต้นแล้ว

ล่าสุด ดร.สมคิดยังได้ติดต่อทาบทาม

" ศิ ว ว ง ศ์  จั ง ค ศิ ริ "

อดีตปลัดกระทรวงการคลังผู้มากบารมีในวงการอุตสาหกรรม รวมถึง old Establishment และ old Elite ในสังคมไทย ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน), ไทยโอเลฟินส์, ปตท.ปิโตรเคมีคอล, ไทยแอลเอ็นจีพาวเวอร์, ไทยแท้งก์เทอร์มินัล, สยามอินดัสเตรียลคอร์ปอเรชั่น ประธานกรรมการร่วม (ฝ่ายไทย) องค์กรร่วมไทยมาเลเซีย นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครืออีกหลายแห่ง และบริษัทเอกชนอีกหลายแห่ง รวมถึงเป็นที่ปรึกษาของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ดร.สมคิดได้มีโอกาสร่วมงานกับศิววงศ์ เมื่อครั้งที่เขาไปนั่งในตำแหน่งกรรมการ ปตท.สมัยที่ศิววงศ์ เป็นประธานกรรมการ เขากล่าวถึงศิววงศ์กับ "ผู้จัดการ" ว่า

"พี่ศิเป็นคนมีความรู้มากเลยเรื่องอุตสาหกรรมและเรื่องพลังงานนี่ไม่มีใครสู้แกได้ ผมชอบนิสัย เป็นคนใจสปอร์ต ผมขอให้ท่านมาช่วย โดยเฉพาะอีกหน่อยจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อย่างวันก่อนประชุมผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ "

รัฐมนตรีคลังจัดวาระประชุมร่วมกับที่ปรึกษาทุกวันจันทร์ และมอบหมายให้ที่ปรึกษาแต่ละคนดูเป็นเรื่องๆ ไป และมีการพูดคุยกับรัฐมนตรีเป็นระยะในเรื่องนั้นๆ

"ผู้จัดการ" ถามว่าทำไมตั้งที่ปรึกษามากนัก ดร.สมคิดตอบว่า ยังน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณงานของกระทรวงการคลัง ที่มีทั้งเรื่องการเงินและการคลัง เรียกว่า ทำทั้งวันตั้งแต่เช้ายันค่ำก็ไม่หมด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.