แบงก์นครหลวงไทยต่ำจอง10%


ผู้จัดการรายวัน(2 ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

หุ้นแบงก์นครหลวงไทย (SCIB) ประเดิมเปิดซื้อขายวันแรกวานนี้ หลังถูกแขวน ห้ามซื้อขายกว่า 5 ปี สร้างความผิดหวังให้ผู้ถือหุ้น หลังราคาปิด รวมคอฟเวอร์วอร์แรนต์ 1 ต่ำกว่าราคาเสนอขายประชาชนทั่วไป 10%

หุ้นสามัญแบงก์นครหลวงไทย (SCIB) หวนกลับมาเปิดซื้อขายวันแรกวานนี้ (1 ธ.ค.) ในตลาดหุ้นไทยโดยทำราคาได้สูงสุด 20 บาทต่อหุ้น เทียบราคาจอง ซื้อ 20.60 บาท ต่ำสุด 17.10 บาท ปิด 17.20 บาท เพิ่มถึง 8,500% จากราคาปิด 20 สตางค์ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2541 ซึ่งเป็นวันซื้อขายสุดท้าย ก่อนถูกแขวนยาววันรุ่งขึ้น และก่อนกลืนแบงก์ศรีนคร

แต่ต่ำกว่าราคาจองซื้อ 16.50% แต่หากรวมคอฟ-เวอร์วอร์แรนต์ (SCIB-C 1) ที่ปิดวานนี้ ราคา 3.18 บาท รวมผู้ถือหุ้นได้ 20.38 บาทต่อชุด ราคาวูบ 10.22% จากราคาจองซื้อ 22.70 บาท ทั้ง 2 ตัว มูลค่ามากที่สุดวานนี้ รวมกัน 4,152 ล้านบาท คิดเป็น 15.05% เทียบมูลค่าซื้อขายรวมทั้งตลาดฯ วานนี้ที่ 27,580.35 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ ธนาคารเสนอขายหุ้นสามัญเดิมธนาคารที่ถือโดยกองทุนฟื้นฟูฯ 370 ล้านหุ้น ราคา 20.60 บาท/หุ้น และวอร์แรนต์อนุพันธ์ (คอฟเวอร์วอร์แรนต์ SCIB-C 1) 740 ล้านหน่วย ราคา 1.05 บาท/หน่วย ดังนั้น การเสนอขายครั้งนี้มี 370 ล้านชุด ซึ่ง 1 ชุด ประกอบด้วย 1 หุ้นสามัญเดิม และ SCIB-C 1 จำนวน 2 หน่วย ราคาเสนอขายรวม 22.70 บาท รวมมูลค่า 8,399 ล้านบาท

SCIB-C1 อายุ 1 ปี ใช้สิทธิแลกหุ้นสามัญได้ทุกวันทำการ ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2546 หมด อายุ 25 พ.ย. 2547 ซึ่งเป็นวันใช้สิทธิครั้งสุดท้าย อัตราใช้สิทธิ 1:1 ราคาใช้สิทธิ 20.85 บาทโครงสร้างผู้ถือหุ้นหลังแปรรูป กองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นประมาณ 82.484% หากใช้สิทธิ SCIB-C1 กองทุนฟื้นฟูฯ จะถือหุ้นเหลือ 47.459%

ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน เปิดเผยว่าราคาเหมาะสม SCIB-C1 ระหว่าง 4.63-11.98 บาท หากราคา SCIB อยู่ระหว่าง 20-30 บาท แนะนำ ซื้อเก็งกำไรŽ

จุดเด่น SCIB อยู่ที่ NPL ต่ำ สิ้นไตรมาส 3/46 ธนาคารมี NPL 8,088 ล้านบาท หรือ 2.65% ของสินเชื่อรวม ต้นทุนการระดมทุน (Funding cost) ที่ลดลง หลังดอกเบี้ยแนวโน้มต่ำติดดิน ช่วยให้ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin-NIM) ดีขึ้น โดยไตรมาส 3/46 NIM 1.89% ดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 1.61% ปี 2545 และ 0.72% ปี 2544 ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของ Funding cost ที่ไตรมาส 3/46 อยู่ที่ 2.11% ลดลงเมื่อเทียบกับ 2.99% ปี 2545 และ 3.42% ปี 2544

ไตรมาส 3/46 ธนาคารมีสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อ NPL 108.25% ปี 2545 อยู่ที่ 802.98% และปี 2544 อยู่ที่ 201.87%

กำไรทางบัญชี (Unrealized gain) จากเงินลงทุนพันธบัตร ส่งผลกระทบทั้งบวกและลบต่อมูลค่าบัญชี BV ของธนาคาร ที่หาก ผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) เพิ่มขึ้น จะทำให้ราคาพันธบัตร (Bond price) ลดลง ส่วนเกินทุนมูลค่าเงินลงทุนจะลดลง

ตรงกันข้าม หาก Bond yield ลดลง จะทำให้ Bond price เพิ่มขึ้น ส่วนเกินทุนจากมูลค่าเงินลงทุนจะเพิ่มขึ้น

คาดว่าปีนี้ SCIB จะกำไรสุทธิประมาณ 2,866 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ประมาณ 1.36 บาท และ BV ประมาณ 16.48 บาท/หุ้น คาดว่าปี 2547 SCIB จะกำไรสุทธิราว 3,559 ล้านบาท EPS ประมาณ 1.68 บาท และ BV ประมาณ 16.62 บาท/หุ้น ราคาเหมาะสมสำหรับ SCIB ประมาณ 27-30 บาทปีหน้า

ด้านฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ไซรัส ประเมิน ราคาตามปัจจัยพื้นฐานปี 2547 ที่ 23 บาท สัดส่วนราคาหุ้นต่อกำไร (P/E) คิดจากคาดการณ์ กำไรก่อนสำรองปี 2547 เท่ากับ 10 เท่า P/E คิดจากการคาดการณ์กำไรสุทธิ 11.9 เท่า และสัดส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าบัญชี (P/BV) 1.2 เท่า ขณะที่หุ้นอื่นๆ หมวดธนาคาร P/E คิดจากการคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2547 เฉลี่ย 11 เท่า และ P/BV เฉลี่ย 1.3 เท่า มูลค่าเหมาะสมวอร์แรนต์ 1.41 บาท ปีนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.