อีกด้านหนึ่งของ Globalization

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

สังคมเรามีการลงทุนในการแสวงหาปัญญาและประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต และการทำงานจากภายนอกสังคม น้อยกว่าการลงทุนซื้อสินค้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ

บทเรียนที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งนานมานับ 10 ปีแล้ว แต่ผมคิดว่ายังทันสมัยอยู่ บริษัทผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าของเกาหลี จัดทำปฏิทินปีใหม่รูปหญิงสาวที่แต่งตัวโป๊ แจกลูกค้าในยุโรปในฐานะตลาดใหม่ ปรากฏว่าได้รับการต่อต้านอย่างมาก เพราะคนยุโรปเป็นประเภท Femalelist จำนวนไม่น้อย ส่งผลต่อแผนการตลาดมากทีเดียว

ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทนี้ สอบสวนพบว่าคนที่คิดของชำร่วยที่ว่านี้ ก็คือนักการตลาดยุคใหม่ที่ผ่านการศึกษา MBA จากตะวันตกนั่นเอง และเป็นนักเรียนทุนของบริษัทเสียด้วย

จากเหตุการณ์นี้ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทธุรกิจในเกาหลีได้เรียนรู้ว่า การศึกษาเพื่อเข้าใจลูกค้า มีมากกว่าการเรียนในห้องเรียน ดังนั้นบริษัทนี้จึงสร้างโปรแกรมใหม่ในการส่งคนไปเรียนรู้สังคมต่างประเทศ ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมาย ด้วยการใช้ชีวิตเช่นเดียวกับผู้คนในสังคมนั้น เข้าสังคม กินดื่ม เที่ยวเตร่ อย่างครบถ้วน ซึ่งดูจะเป็นการผลิตธรรมเนียมของนักเรียนเอเชีย ที่คลุกคลีอยู่ในห้องเรียน ห้องสมุด หรือไม่ก็เข้าสังคมเอเชียด้วยกัน เพื่อให้เข้าใจตลาดอย่างลึกซึ้ง

และนี่ก็คืออีกเรื่องที่เกิดขึ้น และเป็นปรากฏการณ์ในสังคมไทยด้วย มันเป็นบทเรียนด้านกลับที่น่าตกใจ

บางคนในวงการธุรกิจไทยที่คิดเพียงว่า สินค้าตะวันตกที่เข้าตลาดบ้านเรา ก็คือสินค้าที่สะท้อนรสนิยม กระแสของโลกอันทันสมัย สังคมไทยยอมรับอยู่แล้ว หารู้ไม่ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกตะวันตก ขายสินค้าที่เราชื่นชอบไปพลางก็ศึกษาชีวิตของเราไปพลาง

ในที่สุดพวกเขาก็สามารถผลิตสินค้าที่ตอบสนองสังคมไทยได้อย่างดีขึ้น

บริษัทเซเรบอสได้ใช้ประสบการณ์อันมีค่าในการขายซุปไก่สกัดตราแบรนด์ ในภูมิภาคนี้ พร้อมกับศึกษาค้นคว้าสูตรอาหารใหม่ๆ ที่เข้าถึงสังคมเอเชียและโลกได้หลายสูตร ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และทำให้สินค้าไม่เพียงเป็นสินค้าตอบสนองท้องถิ่น ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นเท่านั้นหากได้กลายเป็นสินค้าระดับโลกไปด้วยในที่สุด ในยุคที่โลกศึกษาและเข้าถึงประสบการณ์ของกันและกัน หรือที่เรียกว่า Globalization

Fast Foods ในเมืองไทยก็เช่นเดียวกัน ในหลายปีมานี้ บรรดาเครือข่ายอาหารกินด่วนเหล่านี้ได้จดสิทธิบัตรสูตรอาหารใหม่เป็นของตนเองหลายสูตรทีเดียว ที่ได้นำมาเข้ากับวัฒนธรรมการบริโภคของคนไทยไปประยุกต์ใช้

แม้กระทั่งนิตยสารฝรั่งที่มาแปลเป็นไทย เพื่อเป้าหมายหลักให้คนไทยบริโภคสินค้าตะวันตกที่มากกว่าสินค้า แบรนด์ดังๆ จนถึงการฝังความเชื่อในวิถีชีวิตตะวันตก อันเป็น OS (Operation System) ในจิตวิญญาณเพื่อความจงรักภักดีในสินค้าของพวกเขา ขณะเดียวกันก็สร้างเนื้อหา ไทยภายใต้กรอบความคิดของเขา ให้กลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเขาด้วย

นี่คือภาพความคิดใหม่ในการเรียนรู้ใน Globalization ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เจ็บปวดมากกว่าอดีต กระแสนี้แรงขึ้น ซับซ้อนขึ้น จากสิ่งที่จับต้องได้ ไปจนถึงระดับภูมิปัญญาเลยทีเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.