ว่ากล่าวถึง Shell และอื่น ๆ อีกมากมาย : ปฐมบท

โดย ธีรัส บุญ-หลง
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

มิถุนายน 2003-Shell U.K. exploration & production-Aberdeen

"ทุกๆ อย่างเปลี่ยนไปทั้งนั้น มันเป็นสัจธรรมที่ว่าไม่มีอะไรแน่นอน" Pim Braun ชายวัยดึก สุขภาพดี กล่าวขึ้นกับผม ก่อนที่จะรีบเก็บของบนโต๊ะไปพักผ่อนที่ออสเตรเลีย สักเดือนสองเดือน "Martijn จะดูแลเธอแทนผมนะ เขาจะมาพรุ่งนี้ มีอะไรก็ e-mail ผมได้" ว่าแล้วเขาก็จากไป

ธันวาคม 2003-Beluga Restaurant, Edinburgh
ผมมานั่งทานอาหารมื้อค่ำกับ James อดีต flatmate ผม ซึ่งขึ้นมาจากลอนดอน

ผม : งานเป็นยังไงบ้าง
James : ก็ดีนะ นานๆ จะได้หยุดสักที

จริงอย่างเขาว่า ปกติ James จะเป็นคนที่โทรหาเพื่อนฝูงบ่อยที่สุดคนหนึ่ง ช่วงเวลา 3 ปีที่ผมอยู่บ้านเดียวกับเขา เขาใช้เวลาอยู่กว่าครึ่งวันคุยโทรศัพท์เรื่องไร้สาระ แต่ตั้งแต่เขามาทำงานที่ Goldman Sachs ก็แทบจะไม่มีใครได้คุยกับเขาทางโทรศัพท์เกินนาทีหนึ่งเลย (นอกจากเรื่องงาน)

James : นี่นายรู้ไหม ว่าเรากลับมาคราวนี้ รู้สึกแก่ขึ้นเยอะเลย งานหนักแต่ก็สนุกดีนะ อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่เราชอบ อืมไม่ใช่สิ ทำให้เราได้ใช้ชีวิตในแบบที่เราชอบมากกว่า แล้วนายล่ะ ไม่ได้เล่าเรื่องที่ไปฝึกงานกับ Shell เลย ชอบหรือเปล่า หรือจะมาทำ Goldman Sachs กับเราก็ได้นะ ไม่คิดจะมาหรือ?
ผม : .............

ผมกะจะพูดแต่ก็ไม่พูดดีกว่า ในใจก็ยังครุ่นคิดถึงอนาคตของเด็กหางานทำในยุคปี 2003-2004 ที่ยังพยายามหาคำตอบให้กับตัวเอง จริงๆ แล้ว Shell นั้นสอนผมหลายอย่างแม้ในระยะเวลาสั้นๆ โดยรวมแล้วผมชอบในตัว Shell มาก แต่ที่ไม่ตอบเนื่องจากผมพยายามจะย้อนอดีตกลับไปสู่ระยะเวลาดันน่าสนใจมากที่สุดช่วงหนึ่งใน Shell ในรอบสิบปีนี้ ในขณะที่ผมฝึกงานอยู่ ระยะเวลาการเปลี่ยนแปลง Shell EP Europe 2003

บางสิ่งบางอย่างในประวัติศาสตร์ Shell และสิ่งที่ควรรู้

ปี 1833 Marcus Samuel เปิดร้านขายเปลือกหอย Shell ในลอนดอน ก่อนที่ต่อมาร้านนั้นจะเติบใหญ่ขึ้นเป็นบริษัทนำเข้าส่งออก (Import-Export)

ปี 1892 Shell ก็เริ่มส่งออกน้ำมันกว่า 4,000 ตันไปในเอเชีย (เป็นน้ำมันสำหรับหุงต้มกับตะเกียง ประเทศไทยและสิงคโปร์เป็นลูกค้าใหญ่นะครับ) ในขณะเดียวกันนั้นบริษัท Royal Dutch ก็ได้ก่อตั้งขึ้นในเนเธอร์แลนด์ สำหรับการทำบ่อน้ำมันในเอเชีย เนื่องจากทั้งสองบริษัท นั้นเป็นคู่แข่งกันจึงต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง ผ่านไปไม่นานก็ค้นพบว่าร่วมกันนั้นดีกว่าห้ำหั่นกัน ในปี 1900 บริษัท Royal Dutch/Shell Group จึงได้เริ่มขึ้น

ต่อจากนั้นบริษัทก็ได้ขยายกิจการไปทั่วโลก ในปัจจุบัน Royal Dutch/Shell Group นั้นมีบริษัทในเครือมากมาย แต่ที่เป็นธุรกิจหลักนั้น มีอยู่ 5 อย่าง

1. Shell Chemicals : ดูแลธุรกิจเกี่ยวกับ เคมีภัณฑ์ทั้งหมด

2. Shell Exploration and Production : หาน้ำมันแล้วก็ขุดเจาะออกมาใช้ รวมถึงส่งไปยังโรงกลั่นด้วย

3. Shell Oil Products : ทำ Oil products ต่างๆ เช่น น้ำมันรถยนต์ น้ำมันเครื่องบิน

4. Shell Renewables : อนาคตอยู่ที่นี่ พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้

5. Shell Gas& Power : กลั่นพลังงาน แก๊สธรรมชาติ โปรโมต และส่งออกแก๊ส กับไฟฟ้าไปทั่วโลก


นอกจากนี้ Royal Dutch/Shell Group ยังมีบริษัทก่อสร้าง บริษัทที่ปรึกษาเทคโนโลยี บริษัท Trading น้ำมัน และอีกหลายอย่าง เป็นบริษัทที่อยู่ในสิบอันดับแรก ของ Fortune 500 อยู่เกือบตลอดเวลา ในไตรมาสที่สามที่ผ่านมาของ 2003 ก็มีรายได้ สุทธิ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้รายได้สุทธิของปีนี้ขึ้นไปถึง 10.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นมาถึง 52%

Shell พูดอยู่เสมอว่าทุกๆ 4 วินาที เครื่องบินสักลำจะต้องถูกให้น้ำมันอยู่โดย Shell ทุกๆ เวลาอย่างน้อยรถยนต์ 1,200 คัน ก็จะต้องอยู่ในปั้มน้ำมัน Shell สักแห่งในโลก

มองดูแล้วก็เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่การที่บริษัทอยู่มาได้นานขนาดนี้ ทำได้ดีขนาดนี้ ต้องทำอย่างไรบ้าง? ต้องสูญเสียหรือเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง? มีอะไรดีที่ทำให้คงอยู่?

หน้ากระดาษนี้หมดแล้ว คงต้องติดตามในฉบับหน้านะครับ แล้วมาคุยกันต่อ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.