เปิดโฉมสำนักงานใหญ่ Bayer ฝีมือบริษัทออกแบบสนามบินสุวรรณภูมิ


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

อีกไม่กี่ปี ไทยเราจะได้ใช้สนามบินแห่งชาติแห่งใหม่คือสนามบินสุวรรณภูมิกันแล้ว อดใจรออีกไม่นานก็จะได้เห็นโครงสร้างรวมทั้งงานออกแบบอาคารโดยรวมซึ่งเป็นผลงานของ Murphy/Jahn บริษัทสถาปัตยกรรมสัญชาติอเมริกัน

ณ เวลานี้ลองมาชื่นชมผลงานออกแบบของ Murphy/Jahn ที่เสร็จเรียบร้อยแล้วดูก่อน เป็นอาคารสำนักงานใหญ่ของ Bayer บริษัทเคมี-เวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่แห่งเยอรมนีนั่นเอง อาคารนี้เป็นผลพวงจากนโยบายปรับโครงสร้างในทั่วโลกช่วงกลางทศวรรษ 1990 ของ Bayer ซึ่งตั้งงบประมาณไว้มหาศาลถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และหันมาเน้นหรือให้ความสำคัญกับสายการผลิตเวชภัณฑ์ มากขึ้น

Bayer รู้สึกว่าสำนักงานใหญ่ที่เมือง Leverkusen เก่าแก่มากเพราะสร้างมานานถึง 30 ปีแล้ว เห็นควรจะเปิดทางให้กับอาคารแห่งใหม่ที่จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้กับบริษัทด้วย

เมื่อ Murphy/Jahn ชนะการประมูลออกแบบสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ Bayer ในปี 1997 ก็ต้องรับเอาข้อผูกมัดว่า ต้องออกแบบอาคารที่ไม่เพียงจะสะท้อนถึงความเป็นศูนย์กลางของกิจการระดับโลก แต่ยังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของชุมชนเมืองที่มีประชากร 162,000 คนด้วย

สถาปนิก Helmut Jahn จึงทำงานชิ้นนี้ตามข้อกำหนดของ Bayer ที่ว่าต้องการอาคารทรงเตี้ย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยเติมเต็มและกลมกลืนกับอุทยานที่อยู่ติดกันแต่เป็นที่ของส่วนบุคคลได้เป็นอย่างดี

Bayer จึงได้สำนักงานใหญ่ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปีนี้ จุดเด่นคือสร้างด้วย กระจกจึงมีความโปร่งใสโดยตลอด ตัวอาคารใหญ่เป็นรูปโค้งตัดครึ่ง (semi- elliptical) แลดูสง่างาม นอกเหนือจากตัวอาคารใหญ่แล้ว ยังมี open-sided pergola ซึ่งเป็นอาคารยาวรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสร้างคร่อมพื้นที่ว่างระหว่างถนนและทางเข้า ตัวหลังคาของ pergola มุงด้วย Makrolon polycarbonate (เป็นแผ่นวัสดุสังเคราะห์โปร่งใสที่ Bayer เป็นผู้พัฒนาและผลิตขึ้นเอง) ซึ่งทำหน้าที่เป็นแผ่นฟิล์มที่มีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถเปลี่ยนสีได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของดวงอาทิตย์เป็นสำคัญ เมื่อแสงอาทิตย์ส่องผ่านลงมาจึงเกิดเป็นเหมือนม่านสีตก กระทบลงบนพื้นซึ่งเป็นทางเดินสีขาวนั่นเอง ทำให้ผู้ที่เดินเข้าไปในตัวอาคารไม่เกิดอาการตาพร่า

ทีมสถาปนิกคำนวณให้เบ็ดเสร็จว่า แนวคิดเรื่องการใช้พลังงานแบบ integrated energy ทำให้ อาคารกระจกใสรูปทรงโดดเด่นนี้ใช้เชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล (fossil fuels) ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการของอาคารทั่วไปที่มีขนาดเท่ากัน ยกตัวอย่างคือ ด้านหน้าของตัวอาคารซึ่งสร้างด้วยกระจกแบบ twin-shelled glass ทำหน้าที่ควบคุมการหมุนเวียนของอากาศโดยมีอุณหภูมิภายในและภายนอกตัวอาคารเป็นกลไกควบคุม เมื่อภายในอาคารต้องการอากาศมากขึ้น แผงกระจกด้านนอกจะเปิดออก ส่วนหน้าต่างที่อยู่ภายในจะเปิดทิ้งไว้หรือปิดเสียก็ได้ เพราะมีแผงคอนกรีตที่อยู่ใกล้กับพื้นเป็นตัวรับความร้อนหรือความเย็น เพื่อเป็นกลไกควบคุมอากาศที่ไหลเข้าสู่ตัวอาคารอีกทีหนึ่ง นับเป็นการลงลึกในรายละเอียดของงานออกแบบระบบหมุนเวียนอากาศได้อย่างครบถ้วน

นอกจากนี้ ความร้อนหรือความเย็นยังสามารถถ่ายเทสู่ตัวอาคารได้อีกวิธีหนึ่งด้วยการเดินท่อน้ำระบบ integrated piping network มาตามพื้นคอนกรีตโดยสูบน้ำจากแม่น้ำที่อยู่ใกล้เคียงขึ้นมานั่นเอง

ดังนั้น ความพิเศษแบบสุดๆ ของสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ Bayer จึงไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์สวยสง่าเด่นสะดุดตาของโครงสร้างอาคารโดยรวมที่กลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม หากแต่เป็นเรื่องของรายละเอียดการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงทั้งหมดที่ผู้ใช้เองก็แทบจะไม่สังเกตเห็นด้วยซ้ำ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.