แอนดรูว์ แม็คบีน ภาพลักษณ์ใหม่ Microsoft

โดย ไพเราะ เลิศวิราม ศศิธร นามงาม
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

แอนดรูว์ แม็คบีน ใช้เวลาเพียงแค่ 3 เดือน สร้างความท้าทายบนเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ด้วยการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรแห่งนี้ในหลายมิติ

แม็คบีนจัดได้ว่าเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการของไมโคร ซอฟท์ ประเทศไทย ก่อนหน้านี้ล้วนแต่เป็นคนไทยทั้งสิ้น เช่น อาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ ที่เข้ามาบุกเบิกการขายในไทย และได้รับมอบหมาย ให้จัดตั้งสำนักงานสาขาขึ้นที่นี่

ภายหลังจากอาภรณ์ลาออกไปตั้งบริษัทภูมิซอฟท์ พัฒนาซอฟต์แวร์เป็นของตัวเอง ไมโครซอฟท์ก็ได้พีรพงษ์ เอื้อสุนทรวัฒนา จากบริษัทคอมแพค ประเทศไทย มาเป็นกรรมการผู้จัดการ

แอนดรูว์ แม็คบีน เป็นชาวสกอตโดยกำเนิด โดยส่วนตัวชอบประวัติศาสตร์ และโบราณคดี มีแม่เป็นครูสอนโบราณคดี แต่เพื่อตอบรับกระแสความต้องการแรงงานทางด้านไอทีที่มีมากกว่า เขาจึงเลือกเรียนคอมพิวเตอร์

หลังเรียนจบ เริ่มต้นชีวิตทำงานโดยเป็นโปรแกรมเมอร์ ซึ่งเชี่ยวชาญภาษา dBASE ในประเทศอังกฤษ และหาประสบการณ์ทำงานอยู่ในบริษัทไอทีที่นั่นอยู่หลายปี ทำงานเป็น Technical Support Analyst ให้กับบริษัท Ashton-Tate ก่อนที่จะย้ายมาดูแลด้านพัฒนาธุรกิจ ให้กับบริษัทไอทีในอังกฤษ และมาได้งานที่ European Software Publishing (ESP) บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายใหญ่ของยุโรป

จากผลงานที่ผลักดันให้บริษัท Symantec ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ESP ทำยอดขายเติบโตเพิ่มขึ้น 600% ภายในเวลา 3 ปี ได้รับมอบหมายให้ไปบุกเบิกตลาดที่ประเทศฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งเป็นช่วงที่ทำให้เขาได้เรียนรู้โลกกว้างทั้งผู้คนและวัฒนธรรมที่แตกต่าง

หลังจากร่วมงานที่ ESP เป็นเวลา 6 ปี เขาก็ย้ายมาทำงานกับบริษัทโลตัส ซอฟท์แวร์ ประจำภูมิภาคแอฟริกาใต้ ในตำแหน่ง Cape Town branch manager จนเมื่อไอบีเอ็มซื้อกิจการโลตัส เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการฝ่ายขายประจำประเทศของไอบีเอ็ม ในส่วนงานซอฟต์แวร์ของโลตัส ในปี 2538

แอนดรูว์ย้ายมาร่วมงานกับไมโครซอฟท์ในปี 2540 ในตำแหน่ง Corporate Sales Manager รับผิดชอบดูแลทีมฝ่ายการตลาดและการขาย สำหรับลูกค้าองค์กรของไมโครซอฟท์ในภูมิภาคแอฟริกาใต้ 2 ปี ก่อนจะถูกย้ายมาเป็นผู้จัดการประจำภูมิภาค รับผิดชอบด้านการบริหารกลยุทธ์พันธมิตร และลูกค้าในภูมิภาคเอเชีย ประจำอยู่ที่กรุงโตเกียว ต่อมาก็ได้โปรโมตขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรและผู้อำนวยการฝ่ายขายครอบคลุม 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย

ความประทับใจที่มีต่อประเทศญี่ปุ่นเป็นพิเศษ ไม่เพียงเฉพาะการเรียนรู้ภาษา แต่ยังรวมไปถึงการเรียนรู้ในการทำงานใหม่ๆ ในประเทศภูมิภาคในแถบนี้

ในปี 2544 แอนดรูว์ได้รับแต่งตั้งเป็น ประธานผู้อำนวยการ ไมโครซอฟท์ ประเทศอินโดนีเซียและผลงานจากการสร้างความเติบโตในตลาดเกิดใหม่อย่างอินโดนีเซีย ที่เขาสามารถสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานรัฐ และการเข้าถึงความต้องการของตลาด ทำให้เขาถูกเลือกสำหรับตลาดในไทย ที่ได้รับการคาดหมายถึงความสำเร็จภายใต้ท่วงทำนองการทำธุรกิจที่ไม่แตกต่างกันนัก

ความสนใจส่วนตัวของเขาเป็นเรื่องราวของศาสนาและประวัติศาสตร์ เลือกพักผ่อนด้วยการท่องเที่ยว ปีนเขา และศึกษาเรื่องราวของแต่ละประเทศ ภาษาไทยกำลังเป็นภาษาใหม่ที่กำลังถูกเรียนรู้อย่างรวดเร็ว ต่อจากญี่ปุ่น ที่เขาพูดได้คล่องแคล่วไปแล้วก่อนหน้านี้

ด้วยไลฟ์สไตล์เหล่านี้ บวกกับประสบการณ์การทำงานในหลายประเทศ ที่เขาสามารถเรียนรู้อย่างรวดเร็ว ความเป็นต่างชาติ ของเขาจึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างการเรียนรู้ใหม่ในแต่ละประเทศที่ต้องไปดูแล ซึ่ง มีความแตกต่างในเรื่องวัฒนธรรม แต่กลับเกื้อกูลต่อการเข้าถึงลูกค้าในท้องถิ่น โดยเฉพาะความสำเร็จในอินโดนีเซีย ที่จัดเป็นตลาดใหม่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเมืองไทย

งานแรกที่เขาทำหลังถูกเลือกให้เข้ามารับผิดชอบไมโครซอฟท์ ประเทศไทย คือ การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์องค์กรใหม่ ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เขายกตัวอย่างโครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทร

"ไม่ใช่แค่การลดราคา แต่เป็นการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ของไมโครซอฟท์ ในการนำเทคโนโลยีไปสู่คนหมู่มาก" แอนดรูว์บอก "ไม่ใช่แค่กระทรวงไอทีซีทีเท่านั้น เรายังมี Project ที่กำลังทำร่วมกับอีกหลายกระทรวง"

แม้ไมโครซอฟท์จะประสบความสำเร็จ ในเรื่องเทคโนโลยี แต่ก็มีภาพที่ไม่ดีนักในสายตาของลูกค้า แอนดรูว์จึงต้องเปลี่ยนท่าที ของไมโครซอฟท์ใหม่ ให้เป็นมิตรมากขึ้น

ล่าสุดไมโครซอฟท์ได้มอบเงิน 250 ล้านบาทให้หน่วยงานนี้นำไปใช้ในการติดตั้งคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนระดับประถมในถิ่นทุรกันดาร

"ไมโครซอฟท์อยากให้ทุกคนได้เข้าถึง หากมีข่าวอะไรเกิดขึ้น อยากให้เราเพิ่มเติมข้อมูล ติดต่อ หรือยกหูมาหาผู้บริหารของเราได้ทุกคน นี่คือสิ่งที่เราทำเวลานี้" แอนดรูว์ประกาศต่อหน้าผู้สื่อข่าวในงานแถลงข่าวผลงานในช่วง 3 เดือนของเขา

เป้าหมายของไมโครซอฟท์ต้องการขยายจากลูกค้าส่วนบุคคล ไปจนถึงองค์กรธุรกิจทั้งเล็กและองค์กรขนาดใหญ่ โดยเฉพาะภาคราชการและการศึกษา ที่เป็น 2 ตลาดใหญ่ที่สร้างรายได้ให้ไมโครซอฟท์ในระยะยาว

ลูกค้าเหล่านี้ย่อมต้องมีวิธีการทำตลาด ที่แตกต่างไปจากลูกค้าบุคคลทั่วไป

นั่นหมายความว่าวิธีคิดและกระบวนการทำงานของพนักงานจำเป็นต้องสอดคล้องกับแนวทางธุรกิจแบบใหม่

ภายในองค์กรของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย นอกจากอัดฉีดเงินเพิ่มทีมงานเลือดใหม่ ที่เลือกเฟ้นมาจากบริษัทไอทีต่างๆ เข้ามาเสริมทีมแล้ว วิธีการทำงานก็ต้องเปลี่ยน ไปด้วย แอนดรูว์เรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็นการ Transform บริษัท

อย่างแรกคือ ทีมงานต้องมี customer focus ต้องเข้าใจลูกค้า ทำตัวให้ใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น และต้องยืดหยุ่นมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ไมโครซอฟท์ต้องเป็นมิตรกับทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นพาร์ตเนอร์ที่ต้อง มีข้อเสนอ และกลไกที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และต้องให้การสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เพราะกระแสของลีนุกซ์ที่มาแรงในไทย ไม่ใช่เรื่องที่ไมโครซอฟท์จะอยู่นิ่งเฉยได้

"เราพยายามให้ลูกค้ามองเห็นมูลค่าเพิ่มมากกว่าในเรื่องของราคา เพราะหากฟรี จะไม่เห็นมูลค่าของมัน แต่หากบอกว่ามันมีมูลค่า เราจะสร้างมูลค่า นี่คือเป้าหมายหนึ่ง ที่แอนดรูว์เล่าให้ฟัง

การสร้างมูลค่าเพิ่มที่จะใช้สร้างความสำเร็จในระยะยาว ไม่ได้อยู่แค่ซอฟต์แวร์เท่านั้น แต่ต้องควบคู่กันไปทั้งกระบวนการตั้งแต่สายสัมพันธ์อันดี ลูกค้าสื่อการมีแอพพลิเคชั่นให้เลือกมากขึ้น

ตามเป้าหมายที่วางไว้แอนดรูว์จะใช้เวลา 3 ปีข้างหน้าผลักดันให้มูลค่าธุรกิจของไมโครซอฟท์ในไทยเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และหากทำสำเร็จย่อมหมายถึงก้าวใหม่ของไมโครซอฟท์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.