อีกก้าวของความสำเร็จ


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

"เรตติ้ง" อาจเป็นดัชนีสามัญที่ใช้วัดความสำเร็จของหลายบริษัทในธุรกิจสื่อ แต่ไม่ใช่มาตรวัดความสำเร็จหนึ่งเดียวของสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา หรือพี่ฉอดแห่งแกรมมี่ บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการสื่อ

"ความสำเร็จของเราหมายถึง การผลิตรายการให้ได้รับความนิยมเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน" สายทิพย์ยกตัวอย่างรายการ ที่ออกอากาศทางช่อง 7 มาเกือบ 10 ปี อย่างเกมฮอตเพลงฮิต และกรีนเวฟ รายการวิทยุที่มีอายุกว่า 10 ปี

บริษัท A-time Media ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ GMM Media กลุ่มวิทยุ คลุกคลีอยู่ในวงการวิทยุมาตั้งแต่ปี 2531 จนถึง ปีนี้ที่ทำรายการวิทยุรูปแบบ format station ถึง 5 คลื่น ซึ่งมีคอนเซ็ปต์และบุคลิกแตกต่างกัน เพื่อดึงความนิยมจากกลุ่มคนฟังตามคอนเซ็ปต์ของแต่ละคลื่น และง่ายต่อการหาโฆษณา

แม้ GMM Media ยังไม่มีแผนเพิ่มคลื่น แต่ก็มีแผนเปลี่ยนชื่อคลื่น 2 คลื่นในปีหน้า เพื่อเพิ่มความลงตัวและตอกย้ำคอนเซ็ปต์เดิมให้แข็งแรงขึ้น RVS หรือ Radio Vote Satellite ถูกเปลี่ยนเป็น EFM หรือ Entertainment FM แต่ยังคงเน้นคอนเซ็ปต์ "คลื่นที่นำความบันเทิงไปใส่ไว้ในมือคุณ" และยังคงถ่ายทอดสัญญาณไปต่างจังหวัด

อีกคลื่นหนึ่งคือ Radio No Problem "คลื่นนี้ไม่มีปัญหา" เปลี่ยนเป็น Peak FM : Peak U Up "สุดๆ กันไปเลย" และตอกย้ำความเป็นที่สุดด้วยการจัดกิจกรรมปีนยอดเขา Everest ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก

นอกจากระยะเวลาจะเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จและความเป็นมืออาชีพของบริษัท ตามนิยามของสายทิพย์แล้ว บริษัทยังต้องผลิตรายการที่สร้างดีเจให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งกว่า 10 ปีที่ A-time media ได้สร้างดีเจดังๆ มาแล้วหลาย 10 คน จากเกือบ 40 คน

การตอบรับจากผู้ฟังหรือผู้ชมต่อกิจกรรมของบริษัท ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณแห่งความสำเร็จ ซึ่งปีนี้ บริษัทจัดกิจกรรมนอกรายการ ทั้งกิจกรรมชิงรางวัลและขายบัตรรวม 77 กิจกรรม โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ฟังและสปอนเซอร์

แต่ปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ความสำเร็จของบริษัท คือรายได้และกำไร เกือบ 1 ปีที่ GMM Media ก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้น ณ วันที่ 12 พฤศจิกายนซึ่งถูกเลือกเป็นวันแถลง Year Plan ปี 2004 อยู่ที่ 35.25 บาท เพิ่มขึ้น 23% จากวันแรกที่เข้าตลาด

ในส่วนของวิทยุ รายได้ปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 1,100 ล้านบาท จากปีที่แล้ว 1,050 ล้านบาท เนื่องจากข้อจำกัดในพื้นที่ขายเพียง 5 คลื่น เวลาโฆษณาเพียง 12 นาทีต่อชั่วโมง และสปอต โฆษณาที่ยังตรึงราคาเดิม ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 17% เนื่องมาจากอัตราการเติบโตของคลื่น น้องใหม่อย่าง Bangkok Radio ที่สูงกว่า 20%

สำหรับทีวี ซึ่งประกอบด้วย GMM Media, Exact และ Teentalk สิ้นปีนี้น่าจะมีรายได้รวมเกือบ 400 ล้าน มากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากมีโปรแกรมเพิ่มขึ้นเป็น 23 รายการ หรือ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และได้รับความสนใจจากลูกค้านอกเพิ่มขึ้น 30%

ธุรกิจสุดท้ายคือสิ่งพิมพ์ ทำรายได้ประมาณ 5% ของรายได้บริษัท ซึ่งมี Pocketbook นิตยสารอิมเมจ และล่าสุด Madam Figaro เพิ่งวางแผนเมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา

"ถ้ามันมีอะไรซ้ำๆ กัน เราก็จะเป็นคนที่หนี เราจะทำอะไรไปข้างหน้า เพราะเรามีสมองมาก" สายทิพย์ย้ำ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.