ก้าวที่สองของ "นายสนุก"

โดย ศศิธร นามงาม
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงเวลาที่เอ็มเว็บซื้อเว็บไซต์ sanook.com เมื่อเดือนพฤษภาคม 2542 ว่ากันว่า ดีลครั้งนั้นไม่น่าจะต่ำกว่า 50 ล้านบาท เป็นช่วงที่การทำเว็บไซต์ในเมืองไทยยังเป็นของใหม่ เป็นงานอดิเรกที่ทำกันในยามว่าง ปรเมศวร์ มินศิริ กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จจากงานอดิเรก ที่ทำเล่นๆ ยามว่าง เพียงชั่วเวลาข้ามคืน ซึ่งธุรกิจโลกใบเก่าไม่มี

โลกธุรกิจอินเทอร์เน็ต เป็นเรื่องของความเชื่อ ไม่มีใครบอกได้ว่า sanook.com ดีกว่าเว็บไซต์อื่นๆ หรือไม่ แต่หลังจาก sanook.com แล้วก็ไม่มีเว็บไซต์ไหนที่สร้างกระแสได้เท่า sanook ถึงแม้ว่าเว็บไซต์เหล่านั้นจะมีเทคโนโลยีและ Content มากกว่า sanook.com ก็ตาม

หลังจากนั้น 2 ปี 7 เดือน ที่ปรเมศวร์ มินศิริ ทำงานร่วมกับเอ็มเว็บ เป็นการเร่งให้ความคิดของเขาเติบโตเร็วขึ้น ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมร่วมกับบริษัทข้ามชาติการทำงานอย่างมีเป้าหมาย เขาได้ทำสิ่งที่ผิดพลาดไปในเอ็มเว็บมากมาย เพราะยิ่งทำงานมากเท่าไร ก็ยิ่งมีข้อผิดพลาดมากเท่านั้น ประสบการณ์ในเอ็บเว็บกลายเป็นบทเรียนชั้นเลิศสำหรับเขา

ผลลัพธ์จากการขายเว็บไซต์ sanook.com กลายเป็นแรงผลักดันให้ปรเมศวร์มุ่งมั่นทำธุรกิจเพื่อพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง หลังจากที่ลาออกจากเอ็มเว็บในเดือนกุมภาพันธ์ 2545 เขาไปเตรียมความพร้อมเสริมจุดอ่อน ด้วยการเรียนหลักสูตรระยะสั้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเรื่องการเงิน ภาษี และกฎหมาย เพื่อกลับมาเป็นเถ้าแก่อีกรอบในบริษัทของตนเอง ที่ชื่อว่า บริษัทบัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท

"การกลับมาทำธุรกิจในครั้งนี้ผมไม่อยากให้มันจบลงแบบเดิมด้วยการขายธุรกิจให้กับคนอื่น การขายเว็บไซต์ sanook.com ในครั้งนั้นเป็นความสำเร็จที่คนอาจจะมองในแง่ลบก็ได้ ว่าเราขายเพื่อเงิน แต่ครั้งนี้ผมอยากให้มองผมในอีกด้านหนึ่งมากกว่า ความสำเร็จอาจจะไม่ได้นิยามด้วยคำว่ามีเงินเยอะก็ได้" ปรเมศวร์ บอก

เขาให้คำจำกัดความธุรกิจของเขาว่า Customer Focus Business ที่ไม่ได้มองว่า ตัวเองถนัดหรือเก่งเรื่องอะไรแล้วผลิตสิ่งนั้นขึ้นมาขาย แต่มองที่ลูกค้าต้องการอะไร แล้วผลิตสิ่งนั้นออกมา

ปรเมศวร์เริ่มสานต่อความฝันของตนเองด้วยการลงทุนไว้ในอีก 2 บริษัท คือ บริษัทบัณฑิต ไซเบอร์ จำกัด ที่มีเป้าหมายเป็นแพ็กเกจของบริการออนไลน์สำหรับคอนซูเมอร์ มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ซึ่งเขาถือหุ้นมากกว่า 50% และบริษัทเน็ตคอม โปรเฟสชั่นนอล จำกัด เป็นบริษัททำธุรกิจด้านซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่น และรับจัดทำเว็บไซต์ มีทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาทโดยปรเมศวร์ถือหุ้นอยู่ 40% พนักงานของทั้ง 3 บริษัท ประมาณ 70 คน

ในอีกด้านหนึ่ง ปรเมศวร์ยังพลิกบทบาทของตนเองเป็นนักลงทุน (Investor) ด้วยการลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทอื่นๆ ทั้งซอฟต์แวร์และเว็บไซต์

"วิธีการร่วมงานของผมไม่เหมือนใคร ต้องทดสอบประสิทธิภาพกันก่อนร่วมหุ้น ไม่ใช่ซื้อมา ขายไป ถ้าทำไม่ได้ตามที่ commit ไว้ มาเป็นพันธมิตรร่วมหุ้นกันแล้ว ไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิม กลับมีตัวหารมากขึ้น ก็อย่าเอาผมไปร่วมหุ้นด้วยเลยดีกว่า ไม่ต้องใช้ราคาคุย แต่ใช้ฝีมือมาโชว์ให้เห็นกัน" เป็นคำพูดที่สะท้อนแรงขับภายในที่ต้องการพิสูจน์ตัวเองของปรเมศวร์ ในมาดเถ้าแก่ดอทคอม

ในด้านของธุรกิจซอฟต์แวร์ที่ร่วมหุ้นกับบริษัทเน็ตคอม โปรเฟสชั่นนอล จำกัด เขาตั้งใจพัฒนาซอฟต์ แวร์ขึ้นมาเพื่อให้องค์กรในประเทศไทยใช้ ฟังก์ชันการทำงานเทียบเคียงได้กับ Microsoft Exchange Server หรือ Lotus Notes ซึ่งมีราคาสูง แต่พัฒนาบน Linux base จึงไม่เสียค่าลิขสิทธิ์ ทำให้ราคาถูกลง ซึ่งเขามองว่าโอกาสทางการตลาดสำหรับซอฟต์แวร์ ที่เน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีมยังมีอีกมาก ไม่จำเป็นต้องซื้อซอฟต์แวร์ต่างประเทศราคาแพงมาใช้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 เขาได้เปิดตัวเบราเซอร์ภาษาไทยในชื่อ ปลาวาฬ ที่ใช้เวลาในการพัฒนา 1 ปี ใช้ทุนวิจัยและพัฒนาประมาณ 3 ล้านบาท แจกฟรีให้กับสาธารณชน โดยตั้งเป้าว่าจะแจกประมาณแสนชุดไปตามโรงเรียน ด้วยความคิดที่ว่า เบราเซอร์มีความจำเป็นต่อการเรียนรู้ของเยาวชน และอยากเห็นเด็กไทยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นโดยไม่ติดเรื่องภาษา

หากเบราเซอร์ตัวหนึ่งสามารถเร่งความเร็วในการเข้าถึงข้อมูล เข้าไปค้นหา ได้เรียนรู้มากขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาไปกับการแปลภาษาไม่ออก เข้าเว็บโป๊หรือเพราะจำชื่อเว็บนี้ไม่ได้ เบราเซอร์ช่วยประหยัดเวลากับผู้ใช้ได้ทีละนิด ทีละหน่อย จะช่วยเร่งพัฒนาการศึกษาให้กับเด็กไทยได้ ซึ่งสิ่งที่ได้กลับมาก็คือทำให้บริษัทเป็นที่รู้จัก

เบราเซอร์ปลาวาฬออกแบบให้ส่วนติดต่อกับผู้ใช้ (User Interface) เป็นภาษาไทยทั้งหมด สามารถแปลภาษาได้ด้วยตัวมันเอง มีตัวอย่างประโยคให้ดู สามารถบล็อกเว็บโป๊ ผู้ปกครองสามารถติดตามลูกว่าเข้าไปเว็บไหนบ้าง และใต้เบราเซอร์จะมีช่องสำหรับข่าวที่น่าสนใจ วิ่งผ่านไปเรื่อยๆ ให้เด็กซึมซับสาระความรู้เข้าไปทีละนิด

ส่วนบริษัทบัณฑิต ไซเบอร์ จำกัด ที่ให้น้องชาย เจษฎา มินศิริ เป็นผู้ดูแล ได้ก่อตั้งขึ้นมาประมาณ 1 ปี ดำเนินธุรกิจเว็บไซต์ออนไลน์ ซึ่งเป็นแพ็กเกจของบริการ ออนไลน์สำหรับลูกค้า โดยครอบคลุมบริการออนไลน์ด้านคอนซูเมอร์ทั้งหมด เช่น ส่งอีเมล ตลาดซื้อขาย เป็นต้น

ในอีกด้านหนึ่งบัณฑิต ไซเบอร์ ใช้วิธีต่อยอดธุรกิจ ด้วยการเข้าไปซื้อหุ้นในเว็บไซต์ โดยที่เจ้าของเว็บเดิมยังคงเป็นผู้บริหารอยู่เช่นเดิม บัณฑิต ไซเบอร์ จะทำหน้าที่เป็น Holding Company ดูแลภาพรวมภายใต้แบรนด์ของบัณฑิต

kapook.com เป็นหนึ่งในเว็บไซต์เหล่านี้ที่บัณฑิต ไซเบอร์ เข้าไปช่วยในเรื่องการตลาด แต่ยังคงให้เจ้าของเว็บซึ่งเป็นนักศึกษากลุ่มหนึ่งบริหารต่อไป "นโยบายของเราคือ ให้เว็บไซต์ใช้ต้นทุนต่ำ อดทนอยู่ให้นานที่สุด เพราะ Consumer Portal คือการวิ่งมาราธอนไม่ใช่วิ่ง 100 เมตร ใครอยู่ในสนามได้นานที่สุด เป็นผู้ชนะเกมธุรกิจที่มีหนทางอีกยาวไกล"

นอกจากนี้เขายังมีโครงการทำเกมออนไลน์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง และจะเป็น Entertainment แห่งอนาคต เด็กจะดูทีวีน้อยลง แล้วก็หันมาเล่นเกมมากขึ้น รูปแบบการจ่ายเงินต่างไปจากเดิม โดยจ่ายเป็นค่า Airtime เหมือนกับโทรศัพท์มือถือ เป็นสังคมเกมออนไลน์ สำหรับเด็กมัธยมต้น-ปลาย ในขณะเดียวกันเขาก็พยายามยกระดับเกมออนไลน์ให้เป็นเหมือนกับเครื่องเล่น Play-station สร้างโลกออนไลน์ให้เข้ากับ Entertainment และ Social Life

นี่เป็นธุรกิจทั้งหมดของเขา

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของปรเมศวร์ในขณะนี้ไม่ใช่แค่เพียงพิสูจน์ตัวเอง หรือสานฝันของ Customer Focus Business ให้เป็นจริงเท่านั้น แต่เขาต้องการให้ บริษัทบัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาด MAI เพื่อการระดมทุนที่เหมาะสม ได้บริหารงานที่ตัวเองทำต่อไป และมีทุนมาทำในสิ่งที่ต้องการอีกมาก

เส้นทางนี้คงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเขา ณ เวลานี้ของผู้ชายที่ชื่อ ปรเมศวร์ มินศิริ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.