"4 ปีในธุรกิจดอทคอม ไม่ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไป แต่กลับดีขึ้นด้วยซ้ำ
จากเมื่อก่อนที่เริ่มก่อตั้งบริษัทสยามทูยู ในปี 1999 เรามีพนักงานเพียงแค่
3 คน
ตอนนี้เรามีพนักงาน 45 คน จากตอนแรกที่ผมต้องหัดขับรถเองด้วย
รถอีซูซุ เวลานี้ผมมีคนขับรถให้ และเปลี่ยนมาใช้รถยี่ห้อแลนด์โรเวอร์แล้ว"
คลาส สตอลเบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสยามทูยู จำกัด บอกกับ
"ผู้จัดการ" เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นิคลาสเป็นชาวสวีเดน หนึ่งในผู้บริหารที่ได้นำความรู้ด้านอินเทอร์เน็ต
ประสบ การณ์จากสายงานอาชีพที่สั่งสมจากสวีเดนมาเป็นจุดก่อตั้งบริษัทสยามทูยู
จำกัด ที่วางตำแหน่งของตัวเองให้เป็นบริษัท Digital Communications มุ่งเน้นให้บริการครอบคลุมลูกค้าทั้งในด้านดิจิตอล
และ Communications อย่างทั่วถึง โดยแยกทีมงานออกเป็น 2 ทีมด้วยกันคือ ทีม
Interactive Solution และทีม Wireless มีพนักงาน 45 คน (ไม่รวม freelance)
นิคลาสบอกเล่าความเป็นมาของสยามทูยูว่า "ในช่วงเริ่มแรกที่ก่อตั้งสยามทูยูนั้นจะเน้นที่อินเทอร์เน็ตเป็นหลัก
มีทีมงานเพียงทีมเดียว ต่อจากนั้นก็ได้เริ่มพัฒนาด้านบริการ SMS ที่ยังคงใช้ทีมพัฒนา
และทีมเทคโนโลยีทีมเดียวกันอยู่ จนกระทั่งฐานลูกค้ามีการขยายตัว ความต้องการมากขึ้น ต้องมีการพัฒนาในส่วนของผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับความต้อง การของลูกค้าที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด
จึงแยกทีมงานออกเป็น 2 ทีม ในปี 2002"
"ต่อมาในปี 2003 จึงเริ่มมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจนมากขึ้น
โดยทีม Interactive Solution จะทำหน้าที่ดูแลในเรื่องการออกแบบ และ พัฒนาเว็บไซต์
รวมไปถึง WAP Application ในขณะที่ อีกทีมหนึ่งซึ่งเรียกว่าทีม Wireless
จะดูแลภาพรวมทั้งหมด ทั้งในเรื่องของ SMS ดาวน์โหลด และ WAP Portal"
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สยามทูยูได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งความผันผวนจากวิกฤติเศรษฐกิจ
ของธุรกิจดอทคอม การเรียนรู้ที่จะปรับกระบวนทัพ กลยุทธ์เพื่อความอยู่รอด
การลองผิดลองถูก เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่ต้องอาศัยทักษะการเรียนรู้ ความอดทน ทีมงานที่แข็งแกร่ง รู้จักปรับตัวให้เข้ากับกระแสของตลาดในขณะนั้น
ขณะเดียวกันก็ต้องมองหาสิ่งใหม่ๆ เข้ามาสร้างจุดเด่นที่แตกต่างให้กับตัวเองด้วยเช่นกัน
นิคลาสเล่าเหตุการณ์ยุคดอทคอมล่มสลายในช่วงนั้นว่า "ผมโชคดีที่ปรับตัวทัน
ไม่ยึดติดกับอินเทอร์เน็ต Fix Line สินค้าบางอย่างที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตสามารถนำ
มาประยุกต์ใช้บนมือถือได้ เช่น การดูดวงผ่านมือถือ เป็นต้น เราพยายามใช้ประโยชน์จากของที่มีอยู่เดิมให้เกิดคุณค่ามากที่สุด
ด้วยการนำสิ่งที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตมาสอนให้ลูกค้าใช้บนมือถือแทน เพราะมือถือเป็นสิ่งที่ลูกค้าพกติดตัวอยู่ตลอดเวลา"
"การที่เราปรับตัวทันตามกระแสได้นั้นเป็นผลมาจากการหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ
ทั้งจากการอ่านหนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ผมได้ชื่อว่าเป็นนักอ่านตัวยงคนหนึ่ง
ผมแบ่งปันสิ่งที่รู้ สิ่งที่ผมอ่านมาให้กับทีมงาน เพราะพวกเขาอาจนำสิ่งเหล่านี้ไปจุดประกายความ
คิดใหม่ๆ ขึ้นมาได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือการออกไปพบปะผู้คน ได้เห็นมุมมองมากขึ้น
แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาปรับใช้กับสยามทูยู เรามีการเรียนรู้กันอย่างมากในช่วง
4 ปีที่ผ่านมา"
ในอนาคตข้างหน้าสยามทูยูอาจจะเป็นบริษัทสื่อ ที่รวมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน
ครอบคลุมในสิ่งที่เรียกว่าดิจิตอล ทำให้การสื่อสารถึงกันสะดวก ง่ายดาย สร้างบริการที่เข้าถึงตัวลูกค้าได้ง่าย
ซึ่งสยามทูยูได้ปรับตัวไปตามกระแสตลาดตลอดเวลา แต่ก็ไม่ปล่อยให้สิ่งที่เคย
ทำมาแล้วหยุดกระแสความนิยมเหล่านั้นตายไป
เขายกตัวอย่างการสร้างเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งนิคลาสเชื่อว่า วันหนึ่งอินเทอร์เน็ตจะต้องกลับมาตลาด
อินเทอร์เน็ตจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน จึงยังคงส่วนการสร้างเว็บบนอินเทอร์เน็ตไว้
และนำสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในอนาคตทุกอย่างคงจะมารวมเข้าด้วยกัน
ทำให้ผู้ใช้มีความสนุกมากขึ้น
รายได้ส่วนใหญ่ของสยามทูยูในปีนี้มาจาก Wireless ถึง 85% และจาก Interactive
Solution 15%
เมื่อพิจารณาจากตัวเลข 85% ทางด้าน Wireless เป็นรายได้ที่มาจากการให้บริการ
SMS สามารถแยกรายได้ที่มาจากส่วนนี้ออกเป็นการดาวน์โหลดเสียงเพลงเรียกเข้า
40% ภาพกราฟิก 40% และผลสรุปกีฬา ดูดวง และอื่นๆ ประมาณ 20%
เมื่อมาถึงจุดนี้คงต้องย้อนกลับมามองอีกมุมหนึ่งในแง่การขายเสียงเพลงเรียกเข้า
ซึ่งสยามทูยูเป็นเพียงบริษัทที่รับ Content มาขาย ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงนั้นเอง
เมื่อเจ้าของ Content อย่างแกรมมี่ ที่มาทำเพลงเรียกเข้าเองตั้งแต่ปี 2545
ส่วนด้านอาร์เอส โปรโมชั่น ที่เพิ่งจะกระโดดลงมาทำเองเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา
ย่อมมีผลกระทบเกิดขึ้นกับยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ในแง่ส่วนแบ่งทางธุรกิจ จากเดิมที่มีรายได้ต่อเพลงประมาณ
20% ก็ต้องลดน้อยลงไป
รายได้ของผู้รับ Content เสียงเพลงเรียกเข้ามาขาย ก่อนที่เจ้าของค่ายเพลงจะเข้ามาทำเองนั้น
แบ่งออกเป็นรายได้จากเสียงเพลงเรียกเข้า 1 เพลง หักให้โอเปอ เรเตอร์เป็นค่าท่อส่งข้อมูล
50%, ให้ค่ายเพลงเป็นค่าลิขสิทธิ์ 30%, ผู้รับ Content มาขายได้ 20% แต่ต้อง
ทำอินดี้เพลง และการตลาดเอง
หลังจากประสบปัญหาดังกล่าว นิคลาสได้แก้ปัญหาด้วยการสร้าง Content ที่เป็นของสยามทูยูขึ้นมาเอง
ซึ่งในขณะนี้เขาได้พยายามสร้างตัวพรีเซ็นเตอร์สร้างลิขสิทธิ์การ์ตูนของตนเองขึ้นมา
ส่วนด้านเสียงเพลงเรียกเข้านั้นก็ได้พัฒนาในสิ่งที่เรียกว่า Voice and Sound
Effect เป็นการผนวกเอาเสียง ระบบสั่น และเสียงคนพูด มาไว้รวมกัน จังหวะของระบบสั่นจะเข้ากับเสียงเพลง
โดยมีทั้งเพลงเก่านำมาทำใหม่ และมีเพลงใหม่ที่สร้างขึ้น มาเอง 100% ซึ่งเสียงเพลงเรียกเข้าในรูปแบบนี้
สยามทูยู ตั้งชื่อว่า Poly Plus
Poly Plus จะเป็นทางออกที่ดีสำหรับสยามทูยู ท่ามกลางอุปสรรคในขณะนี้หรือไม่
คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งการจะอยู่รอดในธุรกิจดอทคอมได้ ต้อง
รู้จักเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ต้องรักที่จะเรียนรู้ กล้าคิดสิ่งใหม่ๆ
แตกต่างจากรูปแบบเดิม เริ่มคิด เริ่มทำ ตั้งแต่หมอกยังเป็นสีเทา มองเห็นอะไรไม่ชัดเจน
เพราะเมื่อถึงวันที่มองเห็นภาพได้กระจ่างแล้ว นั่นคือสัญญาณ บอกให้เริ่มมองหากลุ่มหมอกสีเทากลุ่มใหม่กันอีกครั้ง