บันได 4 ขั้นสู่ Universal Banking

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

การปรับเปลี่ยน Model ธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ มิได้มีความหมายเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงโลโกและรูปโฉมของสาขา แต่ยังเจาะลึกเข้าไปเปลี่ยนแปลงกระบวนการภายในทั้งหมด เพื่อให้เอื้อต่อการให้บริการกับลูกค้าได้อย่างครบวงจร

Change Program เป็นกระบวนการในการเปลี่ยนแปลง Model และระบบการทำงานใหม่ให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ และเริ่มต้นกระบวนการนี้ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2544 (2001)

"Change Program คือการกำหนดอนาคตใหม่ให้กับธนาคารไทยพาณิชย์" ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย บอก

โครงการนี้แบ่งขั้นตอนการทำงานออกเป็น 4 ระดับ โดยเรียกขานกันเป็นการภายในว่า Wave 1-4

จากเอกสาร Presentation ซึ่งดร.วิชิตจัดทำขึ้น เนื่องในโอกาสที่นำทีมผู้บริหารของธนาคารไปพบปะกับกลุ่มนักลงทุนในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ได้ฉายภาพกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้ง 4 ขั้นตอนไว้อย่างชัดเจน (รายละเอียดดูได้จากแผนภูมิ)

ในเอกสารดังกล่าว Wave 1 เป็นการปรับปรุงระบบงาน เพื่อวางโครงสร้างให้เอื้อต่อการนำ Model ใหม่เข้ามาใช้โดยมีการปรับปรุงใน 7 ด้านหลัก และเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลามากที่สุดถึงกว่า 1 ปี (สิ้นสุดไตรมาส 4 ปี 2545)

ส่วน Wave ที่ 2-4 เป็นกระบวนการที่ต้องกระทำในปีนี้ ซึ่งมีเนื้องานที่ต้องปรับปรุง อีก 18 ด้าน

"ปัจจุบัน Wave 3 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อสิ้นไตรมาส 2 และเราอยู่ในขั้นตอนของ Wave 4" ดร.วิชิตระบุ

ซึ่งใน Wave นี้ งานใหญ่ที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงระบบ Core Banking (เนื้องานที่ 23 ในแผนภูมิ Change Program Wave 3 & 4)

คณะกรรมการของธนาคารไทยพาณิชย์ได้ตัดสินใจเลือกใช้ระบบ Core Banking ของ Fidality ที่เป็นระบบเดียวกับที่ธนาคารกรุงเทพและซิตี้แบงก์ใช้ ซึ่งจะทำให้ระบบการทำงานภายในธนาคารมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ในขณะที่มีความผิดพลาดน้อยลง

กระบวนการนี้มีการตั้งทีมงานขึ้นมาเป็นการเฉพาะประมาณ 80 คน กำหนดให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมปีหน้า

ปลายทางของ Change Program คือการนำธนาคารไทยพาณิชย์ให้ก้าวขึ้นไปสู่การ เป็น Universal Banking ซึ่งหมายถึงการทำธุรกิจการเงินครบวงจร (Full Financial Service)

Model นี้ ธนาคารจำเป็นต้องมีบูรณาการเครือข่ายที่มีอยู่ทั้งหมดแล้วจัดตั้งเป็นกลุ่ม การเงินขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทที่ทำธุรกิจเช่าซื้อ ฯลฯ โดยมีธนาคารพาณิชย์เป็นบริษัทแม่อยู่ในแกนกลาง (รายละเอียดดูจากแผนภูมิ The Break Through' Strategy for SCB)


"ธนาคารพาณิชย์เป็นธุรกิจบริการ ดังนั้น เป้าหมายของการบริการคือยึดความ พึงพอใจของลูกค้าเป็นหลัก การเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานทั้งหมดที่เกิดขึ้นจึงต้องมุ่งเน้นไปที่จุดนี้"

ดร.วิชิตได้ให้เหตุผลถึงความจำเป็น ที่ธนาคารไทยพาณิชย์จะต้องปรับเปลี่ยน Model การทำธุรกิจไปสู่การเป็น Universal Banking ว่าเนื่องจากความต้องการใช้บริการ ธนาคารพาณิชย์ของผู้บริโภคในทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปจากเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก

เมื่อ 7 ปีก่อน การปล่อยเงินกู้และรับเงินฝากคือธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ และเนื่องจากความต้องการเงินกู้ที่มีมากกว่าปริมาณเงิน ทำให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ล้วนให้น้ำหนักการทำธุรกิจไปในด้านการปล่อยสินเชื่อ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับบริการในรูปแบบอื่นมากนัก

"ทุกวันนี้ focus ของธุรกิจเปลี่ยนไป ลูกค้าไม่ได้ต้องการสินเชื่อแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นเราจำเป็นต้องเสริมบริการประเภทอื่นเข้าไปให้ครบถ้วน"

ดร.วิชิตได้อธิบายเพื่อย้ำความหมายของการเป็น Universal Banking ให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น ด้วยการเปรียบเทียบธุรกิจธนาคารพาณิชย์กับธุรกิจร้านอาหาร

"ถ้าเป็นเมื่อก่อน ร้านอาหารของเราอาจมีเมนูเด็ดเพียงอย่างเดียวคือ ไข่เจียวหมูสับ ลูกค้าที่เข้ามาในร้าน ล้วนแต่ต้องการจะทานเมนูนี้ แต่ทุกวันนี้ลูกค้าต้องการเพิ่มขึ้น เขาอาจจะบอกว่าไข่เจียวเขาไม่ต้องการแล้ว เขาต้องการกินก๋วยเตี๋ยว เราก็ต้องเพิ่ม เมนูก๋วยเตี๋ยวเข้าไปให้เขา และหากมีลูกค้าอีกคนเข้ามา แล้วบอกว่าทั้งก๋วยเตี๋ยว และไข่เจียวหมูสับเขาก็ไม่เอา แต่เขาจะเอาอย่างอื่น เราก็ต้องจัดหาเมนูอาหารที่เขาต้องการเพิ่มเข้าไปให้ได้อีก"

ซึ่งหากมองตามตัวอย่างที่ยกมา นับแต่นี้เป็นต้นไป ลูกค้าทุกคนที่เข้ามาใช้บริการ ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อต้องการบริการประเภทใด ธนาคารต้องสามารถจัดหาให้ได้ทั้งหมด

"สิ่งที่เราต้องการคือ เมื่อลูกค้าเข้ามาหาเราแล้ว เขาไม่ต้องไปที่อื่นอีก เพราะเรามีให้เขาได้ทุกอย่าง"

ในด้านบริการหลัก เมื่อลูกค้ามีความต้องการเงินทุน นอกเหนือจากบริการสินเชื่อ ที่ธนาคารมีให้เป็นหลักแล้ว ธนาคารยังต้องสามารถให้บริการจัดหาเงินทุนรูปแบบอื่นให้กับลูกค้าได้ทุกประเภท เช่น การออกพันธบัตร หุ้นกู้ หรือแม้การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ซึ่งธนาคารถือหุ้น 100% เป็นผู้ดำเนินการให้

ส่วนลูกค้าที่มีเงินและต้องการนำเงินนั้นไปลงทุน หากไม่พอใจกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารให้ ก็สามารถย้ายเงินลงทุน ก้อนนั้นไปซื้อหุ้น หุ้นกู้ หรือหน่วยลงทุนโดยมีบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์เป็นผู้ให้บริการ

หรือแม้แต่การย้ายเงินเข้าไปลงทุนโดยการซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต

การเป็น Universal Banking ในอีกความหมายหนึ่งก็คือการมุ่งเน้นลงไปทำธุรกิจรายย่อย (Retail Banking) ซึ่งมีผลให้ธนาคารจำเป็นต้องสร้างสรรค์บริการที่หลากหลายมากขึ้น ไม่เฉพาะการให้บริการบัตรเครดิต

เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ได้แต่งตั้งกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ ซึ่งเป็นอดีตรองประธานและกรรมการอำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องใช้ส่วนบุคคล จากบริษัทยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้งส์ ขึ้นเป็นกรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพื่อดูแลการทำธุรกิจ Retail Banking โดยเฉพาะ

ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้เป็นต้นมา ธนาคารได้เปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ของธนาคาร และปรับโฉมหน้าสาขาให้เป็นรูปแบบใหม่ เพื่อให้สามารถตอบสนองกับความ ต้องการของลูกค้าได้ดีที่สุด

ธนาคารได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะเปลี่ยนโฉมสาขาในเขตกรุงเทพฯ ให้ได้ 100 แห่งภายในปีนี้ และในปีหน้าจะเปลี่ยน เพิ่มขึ้นอีก 180 สาขา รวมสาขาในต่างจังหวัด

ในเดือนพฤศจิกายน ระบบ Call Center ใหม่ของธนาคาร ได้เริ่มเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยลูกค้าสามารถ หมุนโทรศัพท์เข้าไปได้ที่หมายเลข 0-2777-7777

ก่อนนำคณะผู้บริหารเดินทางไปพบปะกับนักลงทุนที่นิวยอร์กเพียง 5 วัน ธนาคารไทยพาณิชย์ได้จัดงานแถลงข่าวครั้งใหญ่ ผู้ที่ขึ้นมาแถลงข่าวประกอบด้วย ดร.วิชิต คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ และอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์

การแถลงข่าวครั้งนั้น เพื่อเป็นการประกาศตัวอย่างเป็นทางการว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจจาก Commercial Bank มาเป็น Universal Banking แล้ว

"การประกาศตัวเช่นนั้นก็เหมือนกับ เป็นการประกาศว่าร้านอาหารของเราเปิดแล้ว ขอเชิญทุกคนเข้ามาลองชิม ลองใช้บริการ ได้" ดร.วิชิตให้ความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น




กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.