Growth Symbol

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

การเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสำนักงานทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์ เมื่อกลางเดือนมีนาคมปีนี้ถือเป็นการประกาศความพร้อมในการกลับมาทำธุรกิจเชิงรุกอีกครั้ง หลังจากต้องเก็บตัวเงียบมากว่า 5 ปี

ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพย์สินฯ ยอมรับว่าความพร้อมที่ประกาศออกมาครั้งนี้ เป็นผลต่อเนื่องมาจากความสำเร็จในการแก้ปัญหาภายในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เริ่มพลิกฟื้นฐานะการเงินให้กลับมาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

"ปีนี้เราได้รับเงินปันผลจากปูนซิเมนต์ไทยประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ หลังจากสามารถล้างขาดทุนสะสมหมดในกลางปี คาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินปันผลให้กับเราได้ในปี 2547"

วิกฤติการเงินเมื่อปี 2540 นอกจากจะส่งผลกระทบต่อฐานะการลงทุนของสำนักงานทรัพย์สินฯ อย่างหนัก มูลค่าเงินลงทุนที่ลดลงอย่างมาก ยังไม่ส่งผลร้ายเท่ากับรายได้ที่เคยได้รับต่อปีจากเงินปันผล ของหลายๆ บริษัทที่หดหายไป

สิ่งที่เกิดขึ้นกับสำนักงานทรัพย์สินฯ ถือเป็นภาพสะท้อนความเป็นไปโดยรวมของภาคเศรษฐกิจ ทั้งประเทศ เพราะก่อนเกิดวิกฤติสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้มีการลงทุนในหลายกิจการ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของแต่ละภาคธุรกิจ

กว่า 5 ปี ที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ปรับโครงสร้างการลงทุนใหม่ เหลือกิจการที่เป็น Core Business ที่จะเข้าไปลงทุนโดยตรงเพียงไม่กี่แห่ง จนหลายคนมองว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ กำลังลดบทบาทตัวเองลงจากที่เคยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ปัจจุบัน สำนักงานทรัพย์สินฯ เหลือการถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพียง 4 บริษัท คือในปูนซิเมนต์ไทย 30% ธนาคารไทยพาณิชย์ 8.30% บริษัทเทเวศประกันภัย 25% และอีก 28.90% ในบริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น

จากข้อมูลราคาหุ้น ซึ่งปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้ง 4 บริษัทมี Market Capitalization รวม 285,241.74 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.76% ของ Market Capitalization รวมของทั้งตลาด

เทเวศประกันภัย เป็นบริษัทเดียวที่ยังคงมีการจ่ายเงินปันผลคืนให้อย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 24 ล้านบาท แต่เงินก้อนดังกล่าวถือว่าเล็กน้อย หากเทียบกับที่สำนักงานทรัพย์สินฯ เคยได้รับจากปูนซิเมนต์ไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

ฐานะการเงินของปูนซิเมนต์ไทย เริ่มกลับมามีกำไรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2543 และเริ่มจ่ายเงินปันผลได้ตั้งแต่ปี 2545 โดยจ่ายหุ้นละ 10 บาท ในจำนวนนี้เป็นเงินปันผลที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้รับ 360 ล้านบาท

ส่วนปีนี้ปูนซิเมนต์ไทยมีการจ่ายเงินปันผล 2 ครั้ง ครั้งแรกหุ้นละ 30 บาท เป็นเงินปันผลในส่วน ของสำนักงานทรัพย์สิน 1,080 บาท และครั้งที่ 2 เป็นเงินปันผลระหว่างกาลที่จ่ายหลังแตกพาร์จาก 10 บาท เหลือ 1 บาท โดยจ่ายหุ้นละ 2.50 บาท สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้รับไป 900 ล้านบาท

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ ผลประกอบการ 9 เดือนนี้มีกำไร 9,203.62 ล้านบาท และคงเป็นดังที่ ดร.จิรายุคาดการณ์ไว้ว่าจะเริ่มจ่ายเงินปันผลได้ในปีหน้า

ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย และชุมพล ณ ลำเลียง คือบุคคลสำคัญในกระบวนการพลิกฟื้นฐานะให้กับทั้ง 2 กิจการ ซึ่งเป็น Core Business ที่ใหญ่ที่สุดของสำนักงานทรัพย์สินฯ

การฟื้นตัวกลับขึ้นมาอีกครั้งของสำนักงานทรัพย์สินฯ ครั้งนี้ จึงเปรียบได้กับสัญลักษณ์ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศไทย

แนวทางที่ ดร.วิชิต และชุมพลนำมาใช้แก้ปัญหากิจการที่อยู่ในความรับผิดชอบ จึงล้วนตื่นเต้น เร้าใจ และน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.