ไต้หวันลงทุน8หมื่นล.ปี47 BOIดึงโครงการพัฒนาคน


ผู้จัดการรายวัน(1 ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

บีโอไอหวังดึงการลงทุนต่างประเทศ โดยไม่นับไต้หวัน เข้าไทยปีหน้าเพิ่มเท่าตัวจากปีนี้ ขณะ ที่บริษัทด้านอิเล็กทรอนิกส์-ชิ้นส่วนยานยนต์ จากไต้หวัน เตรียมยกพลลงทุนในไทยปีหน้ากว่า 8 หมื่นล้านบาท

นายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่าเขาหวังให้บีโอไอดึงโครงการลงทุนจากต่างประเทศเข้าประเทศไทย ที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอ เพิ่มเท่าตัว เป็นประมาณ 6 พันล้านบาทปี 2547 จากปีนี้ โดยเน้นดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติจากประเทศเอเชียตะวันออก ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (SMEs) ทั้งของประเทศเหล่านั้น และของไทย ลงทุนตาม ในลักษณะบริษัทสนับสนุน (Supporting Industries) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากนายก-รัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรองนายก-รัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เดินทางเยือนต่างประเทศต่อเนื่อง เพื่อเจาะตลาดเดิมและตลาดใหม่ ๆ ทั้งด้านการค้า ที่ต้องเชื่อมกับการลงทุน

โดยบีโอไอพร้อมสนองตอบนโยบายนายสมคิด ที่ต้องการทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ทางด้านสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยการดึงการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านนี้ จากประเทศในเอเชียตะวันออก ทั้งเกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น ให้ย้ายฐานการผลิตหลักมาสู่ประเทศไทยให้ได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากจีน มีปัญหาถูกกีดกันนำเข้าเครื่องรับโทรทัศน์จากสหรัฐอเมริกา ที่จะมีผล ม.ค.ปีหน้า

"ประเทศไทยมีโอกาสมาก ที่จะเป็นศูนย์กลาง การลงทุนภูมิภาคนี้ เพราะความมีเสถียรภาพด้านการเมือง และเศรษฐกิจ ที่มีแนวโน้มขยายตัวยั่งยืน คนไทยมีความเป็นมิตรกับต่างชาติ ขณะที่ผู้ผลิตจากประเทศอย่างเกาหลี หรือญี่ปุ่น พยายามกระจายความเสี่ยงการลงทุนออกจากจีน" เขากล่าว

ไต้หวันลุยลงทุนไทย 8 หมื่นล้านปี 47

ขณะที่ปี 2547 เขากล่าวว่าผู้บริหารระดับสูงบริษัทในไต้หวัน ด้านการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ รวมถึงด้านชิ้นส่วนยานยนต์ เตรียมเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้ไทยเป็นฐานส่งออก ประเทศอาเซียนอื่น ๆ บางส่วนด้วย

"ขณะนี้ บริษัทต่าง ๆ ในไต้หวัน กว่า 56,000 บริษัท กำลังกระจายการลงทุนไปที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่ง เท่าที่ผมคุยกับซีอีโอบริษัทในไต้หวันหลาย ๆ บริษัท เขามองประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ดีที่สุดสำหรับ การลงทุนจากต่างประเทศ"

นอกจากนี้ บีโอไอจะทำการตลาดเชิงรุกมากขึ้น ต่อเนื่องปีหน้า เพื่อดึงโครงการลงทุนจากญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ พร้อมกับใช้นโยบายดึงโครงการลงทุนที่เน้นการลงทุนด้านพัฒนา ทักษะคนไทยให้เชี่ยวชาญ ด้านเทคโนโลยี และด้านสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ (Skills, Technology an Innovation-STI) โดยมีกองทุนวิจัยสนับสนุน โดย เฉพาะอุตสาหกรรมแฟชั่นเสื้อผ้า ยานยนต์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งรวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เน้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสนองนโยบาย พ.ต.ท. ทักษิณ ที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2558 เร็วกว่าเป้าหมายมาเลเซีย 5 ปี

พลิกบทบาทบีโอไอ

ขณะเดียวกัน นายสมพงษ์กล่าวว่าบีโอไอต้อง พลิกบทบาทตนเองใหม่หมด โดยเน้นส่งเสริมการลงทุนให้ตรงจุด ตั้งทีมงานดึงการลงทุนด้านนี้โดยเฉพาะ ขณะที่ปีหน้า บีโอไอจะเน้นจัดโรดโชว์ดึงนักลงทุนต่างชาติทั่วโลกเข้าไทยมากขึ้นต่อเนื่อง

รวมถึงการผลักดันบริษัทไทย ให้ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เขมร พม่า เพื่อใช้ประโยชน์แรงงานราคาถูกจากประเทศเหล่านี้ รวมถึง การมุ่งร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วม กับจีนตอนใต้ และเวียดนาม

เลขาธิการบีโอไอกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กฎระเบียบด้านส่งเสริมการลงทุนจากไทยยังล้าสมัย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ อีกหลายแห่งทั่วโลก ประเทศไทยต้องแก้กฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกการลงทุนจากต่างประเทศ

สำหรับกรณีที่เสนอให้บีโอไอเป็นองค์กรอิสระ นายสมพงษ์กล่าวว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะการเป็นองค์กรอิสระ ต้องมีเป้าหมายชัดเจน ต้องมีความพร้อมด้านกำลังคน และอีกหลาย ๆ ด้าน ขณะนี้ เขากำลังขอความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่ ว่าบีโอไอต้องการเป็นองค์กรอิสระหรือไม่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.