บัณฑูร ล่ำซำ

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

คำพูดของเขาฮือฮาเสมอ และชวนให้มีการตีความอย่างมากมาย โดยเฉพาะ ปุจฉา-วิสัชนา เกี่ยวพันไปถึงภาพกว้างกว่าธุรกิจธนาคารไปถึงการเมือง

ปุจฉาที่เร้าใจจึงมีว่า บทบาทของผู้นำธนาคารที่เข้มแข็งสุดของไทย มีความสัมพันธ์กับการเมืองอย่างไร ซึ่งความโน้มเอียงในการอรรถาธิบายด้วยทฤษฎีสายสัมพันธ์แบบเดิมกำลังทำงานอยู่นั้น

ผมคิดว่าทฤษฎีนั้น ใช้ไม่ได้กับบัณฑูร ล่ำซำ

สิ่งที่ผมจะถ่ายทอดจากนี้ไป มาจากบทสนทนาในบ่ายวันหนึ่งของปลายเดือนกันยายน กับ "ผู้จัดการ" ธนาคารไทยที่ฝรั่งยกย่องว่า การบริหารดีที่สุด โดยบทสนทนาในเรื่องหลาก หลาย มิใช่การสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ และเรื่องที่ผมเล่าจากนี้ก็เป็นการ "จับประเด็น" และ "ตีความ" ของผมเอง

เขามองว่าประเทศไทยขณะนี้ มิได้มีปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงเพียงด้านเดียว หากมันเป็นวิกฤติการณ์ของสังคมเลยทีเดียว ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตามอยู่ในสังคมนี้ก็ต้องเชื่อมโยงปัญหาเหล่านี้เข้ากับการทำงาน และชีวิตของพวกเขาทั้งสิ้น

ทั้งหมดจะต้องแก้ด้วย "การบริหาร" ที่มีความสามารถ มิใช่แก้ด้วย "การเมือง" แนวคิดนี้สัมพันธ์กับประสบการณ์ของเขา ความสำเร็จในยุคของเขาที่เข้ามารับช่วงธุรกิจของตระกูลล่ำซำนั้น สถานการณ์แตกต่างจากรุ่นก่อนอย่างมาก รุ่นก่อนต้องอาศัยความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับผู้มีอำนาจ แต่ยุคนี้ต้องการการบริหารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับโลก

เขามักจะให้ความสำคัญในเรื่องวินัยของคนในสังคมอย่างมาก

อีกมิติหนึ่ง ธุรกิจธนาคารกลายเป็นธุรกิจที่อยู่ส่วนหน้าของโลกาภิวัตน์ ความสัมพันธ์ในท้องถิ่นมีพลังน้อยลงๆ เป็นลำดับ

อย่างไรก็ตาม "ภาพทางความคิด" ของผู้บริหารมิเพียง มองระดับโลกาภิวัตน์เท่านั้น จะต้องมองระดับท้องถิ่น และระดับประเทศด้วย

บัณฑูร ล่ำซำ มองปัญหาสังคมไทยออกเป็น 3 ระดับ ที่จะต้องจัดการแตกต่างกันไป

หนึ่ง - ระบบเศรษฐกิจที่อยู่ในโลกาภิวัตน์ ซึ่งจะเข้าใจ การต่อสู้ที่ดุเดือด ธนาคารกสิกรไทยก็อยู่ในโซนนี้ ซึ่งจะต้องปรับตัว ต่อสู้ให้ได้ตามมาตรฐานของโลกาภิวัตน์ หากใครทำไม่ได้ ก็อยู่ไม่ได้

สอง - ระบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามทฤษฎีของในหลวง ซึ่งเขาเชื่อว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจส่วนหนึ่งที่ต้องส่งเสริมให้เข้มแข็ง ซึ่งจะมีส่วนทำให้สังคมไทยดำรงอยู่อย่างอิสระและสมดุลกับโลกาภิวัตน์ได้ดีพอสมควร

สาม - กลุ่มคนที่อยู่ในภาวะช่วยตัวเองไม่ได้ ที่นอกเหนือจากระบบทั้งสองข้างต้น รัฐบาลจะต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพื่อทำให้คนกลุ่มนี้ มีความพร้อมในการเข้าสู่ระบบที่สองต่อไป

เขาทำอะไรได้ไม่มาก นอกจากแสดงความเห็นที่ไม่ผูกพันกับพรรคการเมืองใดๆ เพราะเวลาที่เหลือเขาจะต้องต่อสู้ในระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ต่อไป อย่างเข้มข้นมากขึ้นเป็นลำดับ

ภารกิจในการต่อสู้ของธนาคารไทยที่ต้องปรับตัวเข้ากับมาตรฐานโลกาภิวัตน์ เป็นสิ่งที่คนอย่างเขาไม่ยอมรามือง่ายๆ

ขณะที่เขาออกมาพูดเรื่องสังคมระดับกว้างมากขึ้นนั้น เขากับทีมงานในกสิกรไทยก็ทำงานอย่างขะมักเขม้นในการปรับโครงสร้างทางความคิด โครงการสร้างการทำงานและโดยเฉพาะการจัดการกับเทคโนโลยีธนาคาร ซึ่งคงปรากฏภาพให้เห็นไม่ช้านี้

บัณฑูร ล่ำซำ ชอบดื่มกาแฟหรือน้ำขิงในตอนบ่าย ด้วยถ้วยกาแฟที่มีข้อความ "QUIT NEVER NEVER" ซึ่งบ่งบอกถึงแรงบันดาลใจเข้มแข็งของเขา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.