บอร์ดบีโอไอปรับแผนการส่งเสริมการลงทุนใหม่ เน้น 3 อุตสาหกรรมหลัก "แฟชั่น-ยานยนต์-ไอซีที"
หวังผลักดันให้ไทยเป็นเลิศในการผลิตสินค้าด้านนี้ ส่วน "ชินแซทเทลไลท์"
ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามคาด "พินิจ" แย้มข่าวดี "ออดี้"
เตรียมลงทุนเพิ่ม 5-6 พันล้านบาท และมีรายใหญ่อีก 12 รายจ่อคิวลงทุนอีกกว่า 1 หมื่นล้านบาทภายในสิ้นปีนี้
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
(บีโอไอ) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริม การลงทุน เพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
(Skill Technology & Innovation - STI) โดยเน้น 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมแฟชั่น
(สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ) 2.อุตสาหกรรม
ยานยนต์ และ 3.อุตสาหกรรม ICT (Information Communication Technology)
สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์แก่กิจการใน 3 อุตสาหกรรม เป้าหมายด้าน
STI นั้น ได้กำหนดเงื่อนไข เช่น มีค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบไม่น้อยกว่า
1-2% ของยอดขายต่อปีภายใน 3 ปีแรก มีการจ้างบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปด้านวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์
หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาหรือ ออกแบบไม่น้อยกว่า 1-5%
ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ภายใน 3 ปีแรก เป็นต้น
"กิจการใดที่มีคุณสมบัติข้างต้น จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มกรณีละ
1 ปี แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 8 ปี และให้ได้รับยกเว้นภาษีเครื่องจักรด้วย ซึ่งจะทำให้กิจการที่จะลงทุนในเขต
1 หรือเขต 2 สามารถได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับการลงทุนในเขต 3" นายสมคิดกล่าว
นอกจากนี้ บีโอไอยังได้เปิดประเภทกิจการ ใหม่ คือ กิจการเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หรือ Science Park โดยกำหนดให้เป็นเขต ส่งเสริมการลงทุน และจัดเป็นกิจการที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นพิเศษ
โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดในทุกเขต เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจการด้าน STI
และให้การส่งเสริมแก่กิจการลงทุนที่ตั้งอยู่ในเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 5 ประเภท
ได้แก่ กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ กิจการ วิจัยและพัฒนา กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์
กิจการบริการสอบเทียบมาตรฐาน (Calibration) และสถานศึกษาหรือศูนย์ฝึกฝนวิชาชีพโดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย
กรณีที่บอร์ดบีโอไอมีมติให้การส่งเสริมการ ลงทุน โดยมีเป้าหมายเน้นใน 3 อุตสาหกรรมหลักข้างต้นนั้น
เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมา การส่งเสริมการลงทุนไม่มีการกำหนดเป้าหมายและทิศทางการลงทุนของอุตสาหกรรมที่ชัดเจน
แต่จากนี้ไป จะมีการกำหนดเป้าหมายและทิศทางของอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยจะให้การส่งเสริม
และจะผลักดันให้อุตสาหกรรมเป้าหมายนั้นๆ ทำชื่อเสียงให้กับประเทศในอนาคต
ชินแซทฯ ได้รับการส่งเสริม
นายสมคิดกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ ให้การส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งสิ้น
5 โครงการ มีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 25,540 ล้านบาท โดยโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
ประกอบด้วย โครงการขยายกิจการให้บริการวงจรดาว เทียม ของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด
(มหาชน) โดยดาวเทียมชื่อ ไอพี สตาร์ จำนวน 1 ดวง เป็น การให้บริการดาวเทียมบรอดแบนด์
การให้บริการ ข้อมูลความเร็วสูง โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างดาวเทียมไอพี สตาร์
และสถานีภาคพื้นดินทั้งในส่วนสถานีควบคุมระบบเครือข่าย และสถานีลูกข่าย จะเปิดให้บริการในเดือนพ.ค.2547
เงินลงทุน 16,543 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้ตั้งอยู่ที่สถานีภาคพื้นดิน อ.เมือง จ.นนทบุรี
และสถานีลูกข่าย มีทั้งหมด 18 แห่ง ใน 14 ประเทศ โครงการจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
เฉพาะรายได้ที่ได้รับจากต่างประเทศเป็นเวลา 8 ปี
ส่วนอีก 4 โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการ ลงทุน เป็นของสยามโตโยต้า อุตสาหกรรม
จำกัด 2 โครงการคือ ผลิตฝาสูบเครื่องยนต์ อะลูมิเนียม เงินลงทุน 1,929 ล้าน และผลิตเครื่องยนต์ดีเซล
รถบรรทุกเล็ก ลงทุน 2,480 ล้านบาท กิจการพัฒนาและผลิตพรินเตอร์แบบครบวงจร ของบริษัท
Hewlett Packard (HP) จากประเทศสหรัฐฯ ลงทุน 3,084 ล้านบาท และกิจการ ผลิตพลังงานไฟฟ้า
ของบริษัท กัลฟ์ยะลากรีน จำกัด ลงทุน 1,504 ล้านบาท
ออดี้เล็งลงทุนเพิ่มในไทย
นายพินิจ จารุสมบัติ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่าสิ้นปีนี้ออดี้ผู้ผลิตรถยนต์จากเยอรมัน
สนใจที่จะลงทุนขยายการผลิตรถยนต์ในไทยเพิ่มขึ้น โดยจะมีการหารือกันในรายละเอียด
อีกครั้ง ส่วนเม็ดเงินลงทุนคาดว่าจะประมาณ 5-6 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้ออดี้จ้างให้ยนตรกิจเป็นผู้ผลิต
คาดว่าการลงทุนครั้งนี้จะมีเป็นการผลิตรถยนต์ซีดานแทนจ้าง
ขณะเดียวกัน ยังมีนักลงทุนรายใหญ่อีก 12 รายที่แจ้งความประสงค์จะเข้ามาลงทุนมากกว่าหมื่นล้านบาทในช่วงสิ้นปีนี้
ทำให้ยอดการลงทุนสิ้นปีจะสูงถึง 3 แสนล้านบาท โดยการลงทุน 10 เดือนแรกของปีนี้
มีเม็ดเงินการลงทุนของโครงการขอรับการส่งเสริมเพิ่มขึ้นถึง 41% จาก 194,000 ล้านบาท
เป็น 272,800 ล้านบาทเมื่อเทียบกับในช่วง 10 เดือนของปีที่ผ่านมา
นายพินิจกล่าวว่า บอร์ดบีโอไอยังได้พิจารณานโยบายส่งเสริมการลงทุนโครงการที่เป็นรัฐวิสาหกิจและกิจการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
และมีมติเห็นชอบให้โครงการลงทุนของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนที่เกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจสามารถยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนได้
โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ปกติที่ให้กับภาคเอกชน