บอร์ดทหารไทย หารือปฏิรูประบบ พร้อมปรับกลยุทธ์หาพันธมิตรรายใหม่ สัดส่วน 20%
ด้านไอเอฟซีทีควบรวมไทยธนาคารต้นปีหน้า เหตุล่าช้าพราะต้องร่างกฎหมาย ระบุหลัง
รวมแบงก์จะเกิดแบงก์ใหม่อันดับ 7 ของระบบ เพิ่มสินทรัพย์เป็น 4 แสนล้านบาท ให้บริการครบวงจรเน้นภาคอุตสาหกรรม
นายสมหมาย ภาษี รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน กรรมการธนาคารทหารไทย จำกัด
เปิดเผยว่า ในวันนี้ (18 พ.ย.) คณะ กรรมการธนาคาร (บอร์ดใหญ่) จะมีการประชุมร่วมกัน
เพื่อหารือถึง การปฏิรูประบบของธนาคาร โดย จะเริ่มปรับปรุงระบบการวางตัวบุคลากร
ตั้งแต่ในส่วนบน ซึ่งปัจจุบัน ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหา
คณะกรรมการตรวจสอบและกำหนดค่า ตอบแทน คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการกลั่นกรอง
การจัดการปล่อยสินเชื่อ และคณะกรรมการที่ดูแลบรรษัทบริหารสินทรัพย์พญาไทย ให้มีความเหมาะสมกับงาน
"ผมเชื่อว่าการกำหนดหน้าที่ให้มีความชัดเจน เพื่อเป็นการก้าวเป็นองค์กรที่มีความโปร่งใส
(Good Governance) หลังจากนั้นจะเริ่มปรับปรุงในเรื่องการบริหารจัดการต่อไปให้มีประสิทธิภาพเป็นลำดับต่อไป"
นายสมหมาย กล่าว
นายสมหมายกล่าวว่า ธนาคารทหารไทยจะต้องมีการปรับปรุงใน 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
1. การสร้างความเข้มแข็งให้กับธนาคาร ซึ่งที่ผ่าน มา ธนาคารได้มีการเพิ่มทุนจำนวน
22,000 ล้าน บาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 2.การปัดกวาดธนาคารให้มีความสะอาดโปร่งใส
ซึ่งขณะนี้ได้มีการดำเนินการไปแล้วประมาณ 40% ที่เหลืออีก 60% จะต้องมีการดำเนินการในขั้นต่อไป
3. การปฏิรูประบบการวางบุคลากรให้มีความเหมาะสมและกำหนดหน้าที่อย่างชัดเจน ซึ่ง
ในความเห็นส่วนตัวแล้วแล้วมองว่าระบบเดิมไม่น่าจะทำให้ธนาคารเดินหน้าต่อไปได้
ปรับกลยุทธ์หาผู้ร่วมทุนใหม่สัดส่วน 20%
ประการสุดท้าย คือ การปรับกลยุทธ์ด้านผู้ร่วมทุน ซึ่งกรณีที่เป็นข่าวออกมาคือ
ทางธนาคารได้มีการไปเจรจา เพื่อหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ เพิ่ม และเป็นไปตามกระแสข่าวที่ว่ามีผู้สนใจประมาณ
2-3 ราย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียด และรายชื่อของผู้ที่สนใจได้ในขณะนี้
เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุป สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่คิดไว้ คือ ต้องการให้สัดส่วนสำหรับผู้ร่วมทุนรายใหม่
20% และจะเลือกเพียงรายเดียวเท่านั้น
ควบรวมไอเอฟซีทีกับแบงก์ไทยเริ่มปีหน้า
นายสมหมาย ภาษี รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(ไอเอฟซีที) กล่าวถึงความคืบหน้าในการควบรวมกิจการของไอเอฟซีที กับธนาคารไทยธนาคาร
จำกัด (มหาชน) ว่า ทางกระทรวงการคลังได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการแก้ไขกฎหมายเพื่อการควบรวมกิจการสถาบันการเงินทั้ง
2 แห่ง โดยเป็นผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ 8 คน ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
(สศค.) ผู้แทนจากสำนักงานกฤษฎีกา ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
กระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวได้มีการประชุมกันแล้ว 2-3 ครั้ง คาดว่าร่างกฎหมายที่จะเสร็จภายในปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า
จากนั้นคณะกรรมการจะสรุปเรื่องเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา และนำเสนอ ครม. ในกลางเดือนธันวาคม
ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้ตัดสินใจว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวควรจะเป็นพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติ
ซึ่งหากเป็น พระราชกำหนดก็สามารถดำเนินการได้รวดเร็วกว่า จะทำให้การควบรวมสามารถทำได้ในเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ปีหน้า
แต่หากเป็นพระราชบัญญัติทำให้การควบรวมล่าช้าไปบ้างภายใน กลางปีหน้า
สำหรับกระบวนการอื่นๆ ในการควบรวมกิจการก็ดำเนินควบคู่ไปด้วย โดยขณะนี้สถาบัน
การเงินทั้ง 2 แห่ง ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการ พิเศษขึ้นเพื่อเตรียมการควบรวมกิจการ
(sha-dow board) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากทั้ง 2 สถาบันการเงินแห่งละ 5 ราย และมีประธานร่วม
กัน 2 คน และตัวแทนจากกระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นเลขานุการ
ซึ่งการควบรวมของทั้งสองแห่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ที่มีขนาดสินทรัพย์อยู่ในระดับ
400,000 ล้านบาท มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ของระบบธนาคารพาณิชย์ใกล้เคียงกับธนาคารนครหลวงไทย
จำกัด และธนาคารทหารไทย จำกัด
นายสมหมาย กล่าวว่า หลังควบรวมกิจการ ภาครัฐประกอบด้วยกระทรวงการคลัง และ ธปท.
โดยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จะถือหุ้นร้อยละ 46-47 จากเดิมที่กองทุนฟื้นฟูฯ
ถือหุ้นในไทยธนาคารร้อยละ 49 ในปัจจุบัน และ กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ในไอเอฟซีทีร้อยละ
44 ขณะที่ผู้ถือหุ้นต่างชาติจากเดิมที่มีสัดส่วนถือหุ้นอยู่ในไอเอฟซีที ร้อยละ
46 หลังควบรวมสัดส่วนจะเหลือเพียงร้อยละ 23 เพราะไทยธนาคารยังไม่มีผู้ถือหุ้นต่างชาติอยู่
สำหรับการรวมกิจการเข้าด้วยกันเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่นั้น จะไม่ส่งผลกระทบ
ต่อผู้ถือหุ้นเดิมของทั้งสองสถาบันการเงิน เพราะ จะมีการคำนวณสัดส่วนหุ้นที่จะนำหุ้นเดิมของทั้งสองสถาบันการเงินแลกเป็นหุ้นธนาคารใหม่ได้
ตามสัดส่วนที่จะมีการกำหนดต่อไป และขณะนี้ยังไม่มีนโยบายในการปลดพนักงาน โดยจำนวน
พนักงานของไอเอฟซีทีมีอยู่ประมาณ 900 คน และธนาคารไทยธนาคารมีอยู่ 2,300 คน
นายสมหมาย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการนี้ จะเป็นธนาคารที่เรียกว่า
ยูนิเวอร์แซล แบงก์ แต่จะเน้น ทางด้านอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ เพราะปัจจุบันไอเอฟซีที
มีความถนัดในด้านการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคอุตสาหกรรมอยู่แล้ว การรวมกับไทยธนาคารทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดต่ำลง
เพราะสามารถรับเงินฝากจากประชาชนได้ การรวมกิจการเข้าด้วยกันเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นเดิมของทั้งสอง
สถาบันการเงิน เพราะจะมีการคำนวณสัดส่วนหุ้นที่จะนำหุ้นเดิมของทั้งสองสถาบันมาแลกเป็นหุ้นธนาคารใหม่ได้ตามสัดส่วนที่จะมีการกำหนด
ต่อไป