บีอีซี เวิลด์ (BEC)ผู้ประกอบการทีวีช่อง 3 จ่าย ปันผลพิเศษ ธ.ค.นี้ หุ้นละ 10
บาท มูลค่า 2,000หุ้นบาท ประกาศ แตกพาร์เป็นครั้งแรก จาก 10 บาท เหลือ 1 บาท ธ.ค.นี้
ระบุเป็นเวลาเหมาะสมจากตลาดหุ้นไทยซื้อขาย ร้อนแรงต่อเนื่อง เผยต้องการดึงนักลงทุนรายย่อยถือหุ้นแทนนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ
ที่ทำหุ้น ขึ้น-ลงหวือหวา จากพฤติกรรม อ่อนไหวต่อกระแสข่าวลือ คุย 3 ไตรมาสทำกำไร
1,608 ล้านบาท หลังประกาศภาครัฐฟันโฆษณาน้ำเมา ชูกำลัง ทำเม็ดเงินโฆษณา ต.ค.โตลดลง
นายฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน)
ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เปิดเผยวานนี้ (13 พ.ย.) ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท
มีมติจ่ายเงิน ปันผลระหว่างกาลเป็นพิเศษ ให้ผู้ถือหุ้น 200 ล้าน หุ้น หุ้นละ 10
บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท โดยจะจ่ายให้ผู้ถือหุ้นที่มีรายชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทวันที่
26 พ.ย. กำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 11 ธ.ค. ซึ่งการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลครั้งนี้
ดำเนินการเป็นครั้งแรกตั้งแต่นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
แตกพาร์เหลือ 1 บาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเสนอให้ที่ประชุม ผู้ถือหุ้น อนุมัติเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ของบริษัท
จากมูลค่า 10 บาทต่อหุ้น เหลือ 1 บาท จึงมีมติอนุมัติแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับบริษัท
ข้อ 4 วรรคแรก ในหนังสือบริคณห์สนธิใหม่ โดยการแตกพาร์ จะมีผลตามกฎหมาย หลังจากได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทวันที่
16 ธ.ค.นี้
ทั้งนี้ เงิน 2,000 ล้านบาท ที่จะนำมาจ่ายปันผลนี้ นำมาจากเงินสดสะสมที่มีอยู่ประมาณ
4,000 ล้านบาท หลังการจ่าย จะทำให้เงินสดลดเหลือ 2,000 ล้านบาท แต่หลังรวมกำไรสิ้นปีนี้
เชื่อ ว่าเงินสดจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ล้านบาท
ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อยากเห็นบริษัทในตลาดฯ แตกพาร์
เพื่อ แสดงความเป็นบริษัทที่ทำตามกฎ ตลท. ซึ่งบริษัทได้พิจารณาเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา
เพราะว่าราคาหุ้นในขณะนี้ถือว่าสูงมาก แต่สภาวะการซื้อขายหุ้นในตลาดฯ ก่อนหน้านี้
ระดับวันละ 2,000-3,000 ล้านบาท ไม่จูงใจให้บริษัทแตกพาร์ แต่ปีนี้ สภาวะการซื้อขายหุ้นในตลาดฯ
ถือว่าดีมาก โดยเฉพาะช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันละ 30,000-40,000
ล้านบาท ทำให้บริษัทตัดสินใจที่จะแตกพาร์ เพื่อกระจายหุ้นให้นักลงทุนรายย่อยมีโอกาสเข้ามาถือหุ้น
บริษัทมากขึ้น
ปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นหลักบีอีซี เวิลด์ คือตระกูล มาลีนนท์ 56.56% นักลงทุนสถาบันจากต่างประเทศประมาณ
30% ที่เหลือเป็นนักลงทุนสถาบันในประเทศและผู้ถือหุ้นรายย่อย หากจะดูเฉพาะ ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะมีสัดส่วนเพียง
2-3% เท่านั้น ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมาก สาเหตุหลักมาจากราคา หุ้นที่อยู่ในระดับสูงมาก
โดยราคาปิดล่าสุดวานนี้ (13 พ.ย.) 248 บาท ทำให้นักลงทุนรายย่อยไม่สนใจเข้ามาลงทุน
ตปท.ถือเยอะทำหุ้นหวือหวา
นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า การที่มีนักลงทุนต่างประเทศถือหุ้นในสัดส่วนสูง ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทขึ้น-ลงหวือหวามาก
โดยเมื่อนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาซื้อราคาหุ้นก็จะพุ่งขึ้น และเมื่อนักลงทุนต่างประเทศออกราคาก็จะตกลง
ซึ่งพฤติกรรมของนักลงทุนต่างประเทศมักอ่อนไหวต่อกระแสข่าวลือต่างๆ เมื่อเกิดข่าวใดๆ
ก็ตามที่ไม่ดีขึ้นก็จะถอนการลงทุนออกทันที แม้ข่าวนั้นจะไม่เกี่ยวกับตลาดหุ้น หรือตัวบริษัทบีอีซี
ส่งผลให้ราคาหุ้นบีอีซีไม่คงที่
"บริษัทต้องการเห็นนักลงทุนรายย่อยคนไทยถือหุ้นบีอีซีมากขึ้น เพราะธุรกิจทีวีเป็นธุรกิจ
ที่ใกล้ชิดกับคนไทย และคนไทยก็มีทางเลือกน้อย ในการลงทุนตลาดหุ้น แตกต่างจากนักลงทุนสถาบันต่างประเทศที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศใดก็ได้
ซึ่งธุรกิจของบีอีซีก็เป็นธุรกิจที่มั่นคง โอกาสขาดทุนแทบไม่มี และผู้บริหารก็มีเจตนา-รมณ์จ่ายปันผลทุกปี
โดยผลตอบแทนหุ้นของบริษัทมีอัตราดีกว่าฝากแบงก์" นายฉัตรชัย กล่าว
หลังการแตกพาร์เหลือ 1 บาท บริษัทต้องการเห็นผู้ถือหุ้นรายย่อยคนไทยเข้ามาถือหุ้น
บีอีซีในสัดส่วนมากที่สุด ในปีแรกอยากเห็นเป็นจำนวนหลักหมื่น หรือจะเพิ่มขึ้นเป็นหลักแสนก็ดี
ปัจจุบันมีนักลงทุนรายย่อยที่เปิดพอร์ตลงทุน อยู่จำนวน 4 แสนราย โดยหุ้นบีอีซีเหมาะที่จะลงทุนระยะยาว
เพราะจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ
ฟันกำไร 3Q 1.6 พันล้านบาท
นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 สามารถทำกำไรสุทธิ 440 ล้านบาท ดีกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
6% หากดูผล ประกอบการ 3 ไตรมาส ทำกำไรได้ถึง 1,608 ล้าน บาท เพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อน
โดยช่วง 6 เดือนแรกทำรายได้ดีมาก จากการขายเวลาโฆษณาที่เพิ่มขึ้นสูงมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจดี
ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม พบว่าในไตรมาสสุดท้ายนี้ ที่ปกติเป็นช่วงฤดูจับจ่ายใช้สอย เจ้าของสินค้าจะทุ่มเม็ดเงินโฆษณาในช่วงนี้สูงมาก
แต่ในเดือน ต.ค.อุตสาหกรรมโฆษณาผ่านสื่อทีวีเติบโตเพียง 10% หรือมีมูลค่า 3,635
ล้านบาท โดยตัวเลขภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณา 9 เดือนเติบโต 16% หากดูตัวเลข 10 เดือน
กลับเติบโต 15% มีมูลค่า 34,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีมูลค่า 29,545
ล้านบาท ซึ่งตัวเลขน่าจะขยายตัวมากกว่านี้
สาเหตุหลักของการเติบโตลดลงมาจากประกาศของภาครัฐที่จำกัดเวลาโฆษณาสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
และกำหนดเนื้อหา ภาพยนตร์โฆษณาเครื่องดื่มชูกำลังที่จะต้องทำในลักษณะสร้างภาพลักษณ์เท่านั้น
ทำให้สินค้าทั้ง 2 ประเภท ชะลอการโฆษณาเพื่อปรับปรุงหนังโฆษณาใหม่
"ประกาศภาครัฐที่ควบคุมเวลา และเนื้อหา โฆษณาเครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เข้ามาหยุดความร้อนแรงของการใช้เม็ดเงินโฆษณาไตรมาสสี่ลง ทำให้ตัวเลขเดือนตุลาคม
ขยายตัวไม่มาก ทั้งที่จริงน่าจะสูงกว่านี้" นายฉัตรชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม การใช้เม็ดเงินของสินค้าทั้ง 2 ประเภทที่ถูกห้าม ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมมากนัก
โดยการใช้งบโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อทีวีมีสัดส่วน 2.8% เครื่องดื่มชูกำลังมีสัดส่วน
3.5% ของตลาดรวมที่คาดว่าถึงสิ้นปีนี้เม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีน่าจะสูงถึง 40,000
ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 15%