ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีการเปิดโครงการ "ศูนย์อัญมณี" ไม่ต่ำกว่า
8 รายแต่ละรายประกาศตัวว่าเป็น ศูนย์อัญมณีสมบูรณ์แบบแห่งแรกของไทย มีมูลค่าการลงทุนก่อสร้างแต่ละแห่งตั้งแต่หลักพันล้านจนถึงหมื่นล้าน
ทำเลที่ตั้งใกล้เคียงกัน มีลูกค้ากลุ่มเดียวกันคือผู้ค้าอัญมณี ลักษณะการก่อสร้างและเริ่มต้นและสิ้นสุดใกล้เคียงกันคืออีกในราว
4 - 5 ปีข้างหน้า
เกิดอะไรขึ้นกับวงการค้าอัญมณีและวงการพัฒนาที่ดิน?
ไทยเราส่งอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าออกมาช้านาน จนกระทั่ง 10 ปีมานี้
สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับได้ทวีความสำคัญมาเป็นลำดับ มูลค่าส่งออกเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ถึงแมว่าไทยจะขาดแคลนวัตถุดิบ โดยลำพังวัตถุดิบที่ขุดได้ที่เหมืองจันทบุรีหรือกาญจนบุรีก็ไม่เพียงพอต้องนำเข้าจากออสเตรเลีย
ศรีลังกา อินเดีย แอฟริกาก็ตามแต่ ไทยก็อาศัยบทบาทเป็นโรงงานแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเองอย่างมหาศาล
สาเหตุที่สินค้าประเภทนี้ของไทยเป็นที่นิยมของต่างประเทศเพราะ หนึ่ง -
ค่าแรงต่ำ สอง - แรงงานมีฝีมือในการเจียระไนมีอยู่มาก สาม - ไทยได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร
(GSP)โดยเฉพาะในตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปแม้ช่วงหลังจะถูกตัดไปบ้างแต่เมื่อเทียบกับกำไรที่ผู้ส่งออกของไทยได้รับก็ยังคุ้มอยู่
สี่ - ชื่อเสียงของไทยในวงการอัญมณีโลกที่สะสมมานานนับสิบปี
ห้า - การส่งเสริมอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ เช่น การให้สิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมต่าง
ๆ แก่ผู้ส่งออก การยกเลิกเก็บภาษีวัตถุดิบ การอนุมัตินำทองคำเข้ามาจำหน่ายเป็นต้น
หก - ต้นทุนการผลิตในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและในยุโรป
ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ประสบปัญหาค่าแรงสูงจึงหันมานำเข้าหรือย้ายฐานการผลิต
อัญมณีที่ไทยส่งออกเป็นพวกทับทิม ไพลิน และเพชร โดยส่งออกทั้งที่เป็นพลอยร่วงคือเจียระไนแล้ว
แต่ยังไม่ได้ติดตัวเรือน และส่งออกเป็นเครื่องประดับไปเลยก็มี
ในปี 2530 ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเป็นมูลค่า 19,830 ล้านบาท ปี
2531 ส่งออก 25,000 ล้านบาท พอในปี 2532 ส่งออกพุ่งไปที่ 29,000 ล้านบาท
สูงเป็นอันดับสอง รองจากเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีมูลค่าส่งออกประมาณ 55,000
ล้านบาท ชนะสินค้าประเภทข้าว ยางพาราและแผงวงจรไฟฟ้าไปแล้ว
ตัวเลขที่สูงมากขึ้นทุกปีเช่นนี้ ทำให้คนในวงการอัญมณีรวมไปถึงสภาพัฒน์
ฝันเห็นตัวเลขแสนล้านภายในเวลา 5 ปีข้างหน้าอยู่ร่ำไร!
เมื่อตัวเลขการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเพิ่มสูงมากจนน่าดีใจเช่นนี้
คนในวงการค้าอัญมณีและวงการส่งออกก็เลยฝันเฟื่องที่จะเห็นไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีแห่งหนึ่งของโลก
นอกเหนือไปจากฮ่องกง ลอนดอน นิวยอร์ก เบลเยียม
กล่าวกันว่ามูลค่าแสนล้านและการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีของโลกนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
เพราะประเมินกันว่ามูลค่าเงินหมุนเวียนในตลาดค้าอัญมณีปีหนึ่งๆนั้นตกอยู่ในราว
51,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,326,000 ล้านบาท ซึ่งเป้าหมายที่ไทยเราตั้งไว้คือ1
แสนล้านบาทต่อปีภายใน 5 ปีนั้น เท่ากับเพียง 10 % ของมูลค่าตลาดทั้งหมดเท่านั้น
เชื่อกันว่า ตัวเลจมูลค่าส่งออกปีละเกือบ 3 หมื่นล้านบาทต่อปีในขณะนี้นั้น
ส่วนใหญ่มาจากผู้ส่งออกที่มีบริษัทตั้งเป็นหลักแหล่งย่านถนนสีลม มเหศักดิ์
สุรวงศ์
แม้จะไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการก็ตามว่า บริเวณถนนสีลม มเหศักดิ์ สุรวงษ์
เป็นศูนย์กลางการค้าขายอัญมณีของกรุงเทพฯหรือของไทย แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธบทบาทนี้แต่อย่างใด
สีลม มเหศักดิ์ สุรวงศ์ เป็นแหล่งค้าอัญมณีเก่าแก่มากว่า 30 ปี สืบเนื่องมาเพราะการเติบโตทางการค้าที่มาจากถนนเจริญกรุงและการที่มีโรงแรม
ที่มีชาวต่างชาติมาพักมากมายเช่นโอเรียนเต็ล และต่อมาก็ยังมีโรงแรมนารายณ์
ดุสิตธานี รอยัลออคิด ฯลฯ
มีผู้ประเมินว่า ในไทยมีผู้ประกอบการค้าอัญมณีประมาณ 3,000 รายซึ่งประกอบด้วยผู้ค้าปลีกประมาณ
2,000 รายและผู้ค้าส่งประมาณ 1,000 ราย ในจำนวนนี้มากระจุกตัวอยู่ย่านถนนสีลม
มเหศักดิ์ สุรวงศ์ในราว 400 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าส่ง
แต่ข้อจำกัดในปัจจุบันของถนนสีลม มเหศักดิ์ สุรวงศ์ก็คือสภาพการจราจรความสะดวกในการติดต่อและความปลอดภัยรวมไปถึงความแออัดของร้านค้าที่ดูท่าจะขยายต่อไปอีกไม่ได้
ปัจจัยที่ไม่คาดคิดที่มีผลต่อการขยับขยายของร้านค้าแถบนี้อีกประการคือ
ทางด่วนสายบางโคล่แจ้งวัฒนะ ซึ่งจะพาดผ่านขนานกับถนนเจริญกรุงโดยมีทางลงที่ถนนสีลมและสุรวงศ์
แหล่งธุรกิจย่านปลายถนนสีลม มเหศักดิ์ สุรวงศ์ หายไปกว่า 30 % !
ร้านค้าห้องแถวเก่าแก่หายไปเป็นแถบ เช่นตึกบอร์เนียวสีลมก็โดนเวนคืนทั้งหลัง
ตามกำหนดการเวนคืนระบุว่า เจ้าของอาคารแถบนี้จะต้องย้ายออกไปภายใน 22 เดือนนับจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ดังนั้นช่วงเวลาต่อจากนี้ บรรดาเจ้าของกิจการร้านค้าแถบนั้น โดยเฉพาะธุรกิจค้าอัญมณีจึงต้องแสวงหาทำเลใหม่
แม้ว่าค้านค้าส่วนใหญ่จะยังหลงเหลืออยู่ แต่ก็ไม่แน่ใขว่าระหว่างการรื้อถอนและก่อสร้าง
ว่าจะได้รับกระทบกระเทือนอย่างไรบ้าง
ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญและมี "ทางด่วน" เป็นตัวเร่ง
บรรดาผู้ประกอบธุรกิจ้าอัญมณีผนวกกับนักพัฒนาที่ดินจึงเห็นช่องทางในการลงทุนและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนอีกช่องทางหนึ่ง
"ถึงเวลาแล้วที่รูปแบบธุรกิจการค้าอัญมณีของไทยจะต้องเปลี่ยนแปลง"
เป็นคำสรุปที่ชัดเจนของนักธุรกิจในวงการนี้
บรรดผู้ส่งออกอัญมณีส่วนใหญ่ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศต่างได้รับประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันถึงรูปแบบกาค้าในต่างประเทศที่
"ศูนย์อัญมณี" เป็นสถานสื่อกลางการซื้อขายอัญมณ เช่น ทิฟฟานี่บิลดิ้งและไดมอนด์
ทาวเวอร์ หรือศูนย์ต่าง ๆที่อยู่เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น หรืออิสราเอล ที่มีถึง
4 แห่ง แม้จะไม่มีวัตถุดิบเลยก็ตาม
ภาพจำลองธุรกิจการค้าเหล่าน้นก็คือความฝันของนักธุกิจอัญมณีของไทยที่วาดหวังว่าน่าจะเกิดขึ้นได้
"ศูนย์อัญมณี" จำนวน 8 แห่งจึงเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันด้วยปัจจัยข้างต้น
1. เจมส์ ทาวเวอร์ (GEMS TOWER) ถนนเจริญกรุง ตรงข้ามซอยเข้าโรงแรมโอเรียนเต็ล
เป็นของกลุ่มค้าอัญมณีแห่งหนึ่งย่านถนนมเหศักดิ์ เป็นโครงการแรกที่เปิดตัว
แต่ค่อนข้างเงียบๆ
2. จิวเวลรี เทรด เซ็นเตอร์ (JEWELRY TRADE CENTER) ถนนสีลม ติดกับโรงแรมฮอลิเดย์อินน์เป็นอาคารสูง
55 ชั้น เป็นการร่วมลงทุนระหว่างชาตรี โสภณพนิช วิชัย มาลีนนท์ สัมฤทธ์ จิราธิวัฒน์
และดับบลิว.เค. โฮ ผู้ค้าอัญมณีเก่าแก่ในเมืองไทยมูลค่าลงทุน 8,000 ล้านบาท
3. สีลม พรเชียส ทาวเวอร์ (SILOMPRECIOUS TOWER) ถนนสีลม ติดโรงพยาบาลเลิดสิน
เป็นอาคารสูง 63 ชั้น เป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มพัฒนาที่ดินที่มีผศ.รังสรรค์
ต่อสุวรรณนำทีม และกลุ่มผู้ค้าอัญมณีนำโดยอภิชาติ ฟูเฟื่องวณิช จากควอลิตี้
คัลเลอร์ มูลค่าลงทุน 8,000 ล้านบาท
4. บางกอก เจมส์ แอนด์ จิวเวลรี ทาวเวอร์ (BANGKOK GEM & JEWELRY TOWER)
ถนนสุรวงศ์เยื้องปากถนนมเหศักดิ์ เป็นอาคารสูง 29 ชั้น เป็นการร่วมทุนระหว่างนงเยาว์
ผิวนวล พลางกูร เจ้าแม่อัญมณีเมือเหนือกับกลุ่มผู้ค้าอัญมณีนำโดยศิริ ศุภผล
จากเอสเซ็ก อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ส่งออกอัญมณีระดับพันล้าน มูลค่าลงทุนโรงการ
2,000 ล้านบาท
5. เจมโมโปลิส (GEMOPOLIS) หรือ "อัญธานี" ถนนบางนา - ตราด กิโลเมตรที่
9 - 12 เป็นโครงการโรงงานและอาคารสูงเนื้อที่รวม 500 ไร่ ร่วมทุนระหว่างผู้ค้าอัญมณีเก่าแก่คือบุญยงค์
อัศรัสกรแห่งเชียงเฮงเทรดดิ้งกับพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุลแห่งบิวตี้เจมส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับอยู่ด้วย
โครงการนี้ขึ้นต้นเป็นการขายที่ดินเพื่อสร้างโรงงานเจียระไนเป็นหลัก ต่อมาจึงมีอาคารเทรดดิ้งเซ็นเตอร์ในขั้นที่สอง
จนที่สุดของโครงการคือการสร้างเมืองใหม่รายล้อมเต็มพื้นที่ มูลค่าลงทุนขั้นต้น
2 พันล้าน
6. จิวเวลรี เซ็นเตอร์ (JEWELRY CENTER) ถนนนเรศ เป็นการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจชาวฮ่องกงและเดช
นำศิริกุล มือขวาด้านพัฒนาที่ดินของชาตรี โสภนพนิช
7. ศูนย์อัญมณีพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เป็นโครงการโรงงานและศูนย์ค้าอัญมณีรวมเนื้อที่
200 ไร่ เป็นของบริษัทกอบแก้วบ้านและที่ดิน
8. เขตอุตสาหกรรมอัญมณีส่งออกของการนิคมอุตสาหกรรม โครงการนี้อยู่ในขั้นรับหลักการในคณะกรรมการ
กนอ. เท่านั้น ยังไม่มีการศึกษา รายละเอียด
ทั้ง 8 โครงการเป็นโครงการเท่าที่ "ผู้จัดการ" สำรวจพบ ณ สิ้นเดือนเมษายน
เท่านั้น
โดยลำพังการสร้างตึกสูงแล้วขายพื้นที่ให้แก่คนทั่วไปนั้นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่คนมีเงินและที่ดินทั่วไปก็ทำได้
แต่อาคารสูงสำหรับธุรกิจอัญมณีมีลักษณะเฉพาะที่คนลงมาเล่นต้องตระหนักคือ
หนึ่ง - สายสัมพันธ์ในวงการค้าอัญมณี
คนในวงการอัญมณีกล่าวว่า ธุรกิจอัญมณีเป็นธุรกิจที่ต้องการคนที่เข้าใจเป็นพิเศษ
เนื่องจากความสลับซับซ้อนและความหลากหลายในกระบวนการการผลิตและกระบวนการค้า
ดังนั้นผู้ค้าอัญมณีที่ตัดสินใจจะขยายหรือย้ายไปขึ้นศูนย์จะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจเจ้าของศูนย์เป็นอย่างมาก
โดยคาดหมายว่าศูนย์นั้นจะเอื้ออำนวยต่อการดำเนินกิจการของตนมากที่สุด
นอกจากนั้นความที่ธุรกิจอัญมณีเป็นธุรกิจที่มีความเป็น (INTERNATIONAL)
การที่เจ้าของศูนย์เป็นผู้ค้าอัญมณีและผู้ส่งออกรายใหญ่ จะเอื้ออำนวยอย่างมากในการขายพื้นที่ของศูนย์ให้แก่ผู้ค้าอัญมณีต่างชาติโดยอาศัยสายสัมพันธ์ที่มีมาแต่ดั้งเดิม
จิวเวลรี เทรด เซ็นเตอร์มีนักธุรกิจใหญ่มาหนุนด้วยกันหลายสาย อย่างชาตรี
โสภณพนิช วิชัย มาลีนนท์ สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ แต่ทุกคนก็ยอมรับว่าคนที่มีส่วนผลักดันโครงการนี้อย่างมากคือ
ดับบลิวเค. โฮ เขามีลูกชายชื่อเฮนรี่ โฮ ซึ่งไปเกี่ยวเนื่องกับสัมฤทธิ์ในฐานะลูกเขยนั่นเอง
โฮเป็นชาวพม่า ทำมาค้าขายในวงการอัญมณีเมืองไทยกว่า 30 ปี เขาเป็นเจ้าของบริษัท
WORLD JEWELS TEADE CENTER และบริษัทในเครือโฮกรุ๊ปกว่า 40 แห่งซึ่งล้วนเป็นบริษัทส่งออกหรือการค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอัญมณี
นอกจากนั้นเขายังเป็นประธานสภาบันอัญมณีศาสตร์แห่งเอเชีย (THEASIN INSTITUE
OF GEMOLOGICAL SCIENCES) เป็นสถาบันสร้างบุคลากรในวงการอัญมณี ตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพอัญมณี
ซึ่งเป็น 1 ใน 2 แห่งที่มีอยู่ในเมืองไทย
ในแง่การบริหารด้านนโยบายคงเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ทั้งสี่ท่านนี้ แต่ในแง่การดำเนินการในรายละเอียดนั้นเป็นเรื่องของเฮนรี่
โฮ และทศ จิราธิวัฒน์ลูกเขยและลูกชายสัมฤทธิ์ โดยเฮนรี่ โฮ ดูแลด้านการตลาดและลูกค้าในวงการอัญมณี
ส่วนทศดูแลเรื่องการจัดการและการเงิน
สีลมพรีเชียส ทาวเวอร์เป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มผศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ
และวานิช ไชยวรรณเป็นหลักกับกลุ่มอัญมณีคืออภิชาติ ฟูเฟื่องวนิชกรรมการผู้จัดการบริษัทควอลิตี้คลเลอร์ผู้ส่งออกพลอยเนื้ออ่อนรายใหญ่ของไทย
มูลค่าประมาณ 1 พันล้านต่อปี และบริษัทของเขายังมีโรงงานเจียระไนพลอยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งและธุรกิจครบวงจรมากที่สุดคือตั้งแต่ลงทุนทำเหมืองที่ออสเตรเลีย
เวียดนาม สั่งพลอยดิบเจ้ามามีโรงงานเจียระไน ค้าส่ง ส่งออกทำตัวเรือน และโชว์รูม
นอกจากอภิชาตแล้วยังมีไพรัช พิศาล บรรเจิด จากเอส.เฮงซัฟฟายและสมบูรณ์
กิจรังสีวิบูลย์ จากเวิลด์เจมส์ ซึ่งก็เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่รายหนึ่ง
ผู้ลงทุนสร้างบางกอก เจมส์ แอนด์ จิวเวลรี ประกอบด้วยนงเยาว์ ผิวนวล พลางกูร
"เจ้าแม่อัญมณีภาคเหนือ" ภรรยาพลโทพร้อม ผิวนวบ อดีตแม่ทัพภาคกับศิริ
ศุภผล กรรมการผู้จัดการบริษัทเอสเซ็ก บริษัทส่งออกอัญมณีรายใหญ่อีกเจ้า ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ที่อเมริกา
ส่วนนงเยาว์เป็นเจ้าของบริษัท P.N.PRECIOUS STONES และเป็นประธานชมรมผู้ค้าอัญมณีภาคเหนือมีธุรกิจติดต่อค้าขายอัญมณีทั่วโลก
สำหรับเจมโมโปลิสหรืออัญธานีผู้ก่อตั้งเริ่มแรกคือบุญยงค์ อัศรัสกร เจ้าของบริษัทเชียงเฮงเทรดดิ้ง
บริษัทค้าอัญมณีเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งย่านสีลม เพียงแต่ที่เชียงเฮงจะส่งออกเพชรเป็นหลัก
ขณะที่เจ้าอื่น ๆจะส่งอัญมณีพวกพลอยมากกว่า
ผู้ที่มาร่วมทุนกับบุญยงค์คือพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล เจ้าของบริษัทบิวตี้เจมส์และเป็นนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับคนล่าสุด
ดูรายชื่อแบบนี้แล้ว ล้วนแต่เป็นคนใหญ่คนโตในวงการอัญมณีทั้งนั้นที่โดดมาสวมบทบาทนักพัฒนาที่ดิน!
สอง - ธุรกิจค้าอัญมณีจำเป็นต้องมีตึกหรือศูนย์โดยเฉพาะหรือไม่
โดยทุกวันนี้ธุรกิจค้าอัญมณีก็มีศูนย์กลางโดยปริยายอยู่แล้วคือ สีลมมเหศักดิ์
สุรวงศ์และการเป็นศูนย์นี่เองที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจการค้า
สิ่งที่ผู้ค้าอัญมณีต้องการเป็นอันดับแรกคือ ความปลอดภัย ทุกวันนี้การค้าขายแบบห้องแถวคือสิ่งล้าสมัย
การป้องกันภัยหละหลวมแม้จะดำเนินไปได้เรื่อย ๆแต่ยิ่งธุรกิจมีมูลค่ามากขึ้นบริษัทขยายตัวมากขึ้น
รูปแบบกาค้าจำเป็นต้องติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น ความสะดวกสบายความคล่องตัว
ไม่พลุกพล่านด้วยผู้คนและร้านค้าประเภทต่าง ๆ และความปลอดภัยเป็นสิ่งที่จำเป็นมากยิ่งขึ้น
ขณะที่สีลมกำลังสูญสลายเรื่องเหล่านี้ไปทุกที
"มันไม่ใช่แค่ความปลอดภัยของร้านค้าแต่รวมถึงคนซื้อด้วย จะให้ฝรั่งเขาเดินหอบเงินท่อมๆเข้าออกร้านโน้นร้านนี้
แล้วก็หอบพลอยเดินไปด้วยคงเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว การเอาร้านค้าขึ้นตึกๆเดียว
การควบคุมก็จะเป็นไปอย่างง่ายดายมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยระบบเอกซเรย์หรือคอมพิวเตอร์คอนโทรลก็แล้วแต่ศูนย์ต่าง
ๆจะคิดเอา" เจ้าของบริษัทค้าอัญมณีคนหนึ่งกล่าว
กระจกเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จำเป็น โครงสร้างของอาคารทั่วไป ไม่เอื้อต่อการพิจารณา
อัญมณี ซึ่งต้องการแสงธรรมชาติ อาคารส่วนใหญ่มีลักษณะปิดทึบหรือใช้กระจกตัดแสง
กระจกสี เป็นต้น
กรณีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศญี่ปุ่นที่ร้านค้าอัญมณีเข้าไปในอาคารแห่งหนึ่งซึ่งมีความสะดวกสบายทุกอย่างแต่ติดปัญหาเรื่องกระจกตัดแสง
การจะเปลี่ยนกรจกเพื่อร้านค้าแห่งนี้เพียงแห่งเดียวเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน
ทั้งปัจจัยเรื่องความปลอดภัยและเรื่องกระจกต่างเป็นจุดขายของความเป็นศูนย์อัญมณีทั้งสิ้น
และเป็นความเฉพาะที่ทุกศูนย์ต้องมีบริการที่นอกเหนือจากนี้ก็เป็น "ลูกเล่น"
ที่ผู้บริหารศูนย์ต่างจะคิดนำเข้ามา
ความหมายของการมีอาคารสูงที่เป็น "ศูนย์อัญมณี" นั้นไม่ได้หมายความเพียงแค่การมีตึกสูงๆ
มีบริษัท ร้านค้าอัญมณีขึ้นไปอยู่รวมๆกัน มีตัวตึกที่มีลักษณะเฉพาะในเรื่งอกรจกหรือระบบความปลอดภัยเท่านั้น
แต่ความหมายและผลกระทบภายหลังการเกิดขึ้นของศูนย์อัญมณีเหบ่านี้มีมากกว่านั้น
ผู้บริหารโครงการศูนย์อัญมณีของไทยส่วนใหญ่พยายามดึงรูปแบบสังคมการค้าที่เกิดในศูนย์ของต่างประเทศมาใช้ในศูนย์ของตนได้ได้มากที่สุด
นั่นก็คือ
หนึ่ง - การค้าแบบ ONE STOP SHOPPING ในธุรกิจอัญมณี
วิธีการค้าที่ผู้ซื้อต้องเดินท่อมๆ เข้าออกร้านค้าอัญมณีย่านมเหศักดิ์เพื่อเลือกอัญมณีหลายๆ
แบบหลายชนิด และเปรียบเทียบราคากำลังจะล้าสมัย นอกจากนั้นยังมีความยุ่งยากในเรื่องพิธีทางศุลกากรที่จะต้องจัดส่งอัญมณีไปหลายงวด
หลายครั้ง ทำให้ต้นทุนสูง การมีศูย์อัญมณีที่มีทุกสิ่งพร้อมมูลภายในตัวอาคารเดียว
ทำให้ทุกสิ่งน่าจะเป็นเรื่องง่ายดายและสะดวกสบายสำหรับผู้ซื้อตางชาติ
"เวลาคุณมาซืออัญมณีเป็นจำนวนมากๆ คุณก็ค่อยๆเลือกได้ทีร้าน จะดูเป็นร้อยๆ
เจ้าก็ได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล ต้องการแบบไหนคุณก็เอาของออกมาจากร้านได้เลย
แล้วก็ไปฝากไว้ที่ตู้นิรภัยที่ศูนย์สร้างไว้ให้เช่า แล้วก็ไปโอนเงินกันที่แบงก์ที่อยู่ชั้นล่างของศูนย์
แล้วก็รวมอัญมณีส่งรวดเดียว โดยศุลกากรที่อยู่ในศูนย์เช่นเดียวกัน จากแต่เดิมที่ทุกขั้นตอนดยู่กันคนละทิศคนละทาง
ไม่สะดวกมากๆ" ผู้บริหารโครงการท่านหนึ่งกล่าว
ด้วยความสะดวกสบายเช่นนี้ คนในวงการอัญมณีส่วนใหญ่เชื่อว่า น่าจะเป็นตัวดึงดูดท่ำให้ผู้ซื้อเพิ่มมูลค่าการซื้อขายมากขึ้น
โดยปริยาย
สอง - ธุรกิจต่างชาติจะแห่เข้ามาไทยมากขึ้น
"พวกฝรั่ง ฮ่องกง ญี่ปุ่น เขาให้ผมช่วยหาสำนักงานให้เขาบ่อยมากๆ แต่เขาไม่เอาห้องแถวเพราะเขาไม่ชินกับสภาพแบบนี้
และไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย ถ้าเรามีศูนย์ขึ้นมาจริง ๆ รับรองว่าพวกนี้จะมากันไม่ขาดสายเพิ่มจากที่มีอยู่แล้วมากมาย"
อภิชาต ฟูเฟื่องวณิช แห่งฏครงการสีลม พรีเชียสทาวเวอร์กล่าว
ชาวต่างชาติพวกนี้จะมาลงทุนทำทั้งตั้งบริษัทค้าส่งโดยตรง โรงงานหรือเป็นเอเยนต์ซื้อมาขายไปอย่างเป็นหลักแหล่งแทนที่จะเดินทางเข้ามาเป็นช่วงๆ
ทำให้เสียค่าใช้จ่ายการเดินทาง
ธุรกิจค้าอัญมณีฮ่องกงอีกเช่นกันที่เป็นเป้าหมายว่า น่าจะเคลื่อนย่ายมาอยู่ที่ไทย
เพราะความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังปี ค.ศ. 1977
"เรากันพื้นที่ให้ต่างชาติ 40 % นงเยาว์ ผิวนวลพลางกูรแห่งโครงการบางกอก
เจมส์ แอนด์ จิวเวลรี กล่าว
"ผมไม่ได้กันพื้นที่ไว้ให้กับต่างชาติเองก็ต้องอาศัยเวลา ไม่เข้ามาทันทีในระยะแรก
เขาต้องศึกษาโครงสร้างรายละเอียดและความเป็นไปได้ก่อน เขาเจอโครงการของกรุ๊ปนั้น
กรุ๊ปนี้ เขาววตาย แต่สักพักต่างชาติจะเข้ามาเอง ตอนนี้เราขายไป 1,100 ยูนิต
ส่วนใหญ่เป็นคนไทย ฮ่องกงน้อยมาก แต่เราคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าธุรกิจอัญมณีฮ่องกงจะย้ายมาอยู่เมือไทยทั้งสิ้น
เพราะหลังปี 1997 แล้ว เขาจะหนีไปไหน" ผศ.รังสรรค์ให้ความเห็น
สาม - บทบาทของสมาคมและสถาบันอัญมณีระหว่างชาติจะเพิ่มมากขึ้น
สถาบันที่เกี่ยวกับอัญมณีระหว่าชาติในโลกนี้ที่สำคัญมีด้วยกันสิบกว่าแห่ง
สถาบันเหล่านี้เกิดมาจากการรวมตัวของบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจอัญมณีในประเทศต่าง
ๆ บทบาทของสถาบันเหล่านี้นอกจากการรวมตัวเพื่อส่งเสริมธุรกิจการค้าอัญมณีหรือสร้างบุคลากรป้อนตลาดแรงงานในธุรกิจนี้แล้ว
หน้าที่สำคัญอีกประการคือ การออกใบรับรองคุณภาพของอัญมณี ให้ผู้ซื้อได้ทราบถึงระดับคุณภาพของอัญมณีนั้น
ซึ่งมีผลต่อการประเมินราคา
คนในวงการอัญมณีกล่าวว่า การส่งออกอัญมณีของไทยไปญี่ปุ่นมีปัญหาอยู่บ้างเหมือนกันเพราะคนญี่ปุ่นต้องการใบรับรองคุณภาพประกอบด้วยแต่คนไทยมักไม่มี
เพราะไม่สะดวกต่อการซื้อขายต้องเสียเวลาไปติดต่อขอและในไทยนั้นก็มีไม่กี่เจ้า
เช่นสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งเอเชีย ซึ่งก็คงจะรองรับลูกค้าทั้งหมดไม่ไหว
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องไม่แปลกเลยที่พอเกิดศูนย์อัญมณีขึ้นมา สถาบันที่เกี่ยวเนื่องเหล่านี้ก็เลยตามมาเป็นทิวแถว
เช่น สมาคมอัญมณีโลก สมาคมการค้าอัญมณีโลกเป็นต้น ทั้งเพื่อสร้างภาพพจน์น่าเชื่อถือแก่ศูนย์
เพื่อมาทำหน้าที่ออกใบรับรองแก่ลูกค้าที่มาค้าขายในศูนย์ และที่สำคัญสมาชิกของสถาบันเหล่านี้ที่มีทั่วโลกคือผู้ประกอบธุรกิจอัญมณีทั้งนั้น
การเข้ามาของสถาบันคือการดึงลูกค้าและเครือข่ายธุรกิจใหม่ ๆเข้ามาในไทยอีกนั่นเอง
นั่นคือช่องทางธุรกิจระดับ INTERNATIONAL ที่เป็นผลพวงตามกันมา
สี่ - สร้างบริการทางการเงินใหม่
ผู้บริหารโครงการศูนย์อัญมณีที่จะเกิดขึ้นใหม่ ต่างตั้งความหวังไว้คล้าย
ๆ กันว่า องค์ประกอบภายในศูนย์น่าจะเอื้อให้ธนาคารรับจำนองอัญมณีถือว่าอัญมณีเป็นทรัพย์สินประการหนึ่งที่นำมาค้ำประกันสินเชื่อได้
จากแต่เดิมที่ไม่รับค้ำประกันแต่อย่างใด
องค์ประกอบที่ว่านี้คือ ตู้นิรภัยที่สร้างไว้สำหรับเก็บอัญมณีที่ค้ำประกัน
ห้ามเคลื่อนย้ายไปไหน แต่ผู้ค้ำประกันจะสามารถพาลูกค้ามาชมได้ ถ้าหากสนใจที่จะซื้อขาย
กับอีกองค์ประกอบคือคณะกรรมการบริหารศูนย์ที่มาจากตัวแทน เจ้าของศูนย์ และตัวแทนบริษัทภายในศูนย์
ซึ่งอาจจะจัดตั้งในรูปบริษัท ซึ่งบริษัทนี้จะเป็นตัวแทนในการจัดหาสถาบันรับรองคุณภาพและประเมินราคาอัญมณี
และที่สำคัญบริษัทจะต้องรับประกัน การซื้อคืนในกรณีผู้ค้ำประกันมีปัญหา
ระบบนี้มีมานานแล้วในต่างประเทศ แต่ในไทยที่ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีการหยิบยกขึ้นมาเจรจา
ศึกษาร่วมกันแต่อย่างใด ทางธนาคารเองก็ไม่มีผู้เชี่ยวชาญในการประเมินราคา
อัญมณี และหลักประกันที่ทางธนาคารเชื่อถือมากที่สุด ก็คงจะเป็น "ที่ดิน"
มากกว่าอัญมณีอย่างแน่นอน
อภิชาติ เฟื่องฟูวณิช กล่าวว่า ในเรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาร่วมกันกับธนาคารกรุงไทยเท่านั้น
เขาย้ำว่าหากระบบนี้เกิดขึ้นได้จริงจะมีผลมหาศาลต่อการขยายธุรกิจ อัญมณีของผู้ประกอบการรายย่อย
TRADING FLOOR เป็นอีกระบบหนึ่งที่ทางจิวเวลรี เทรด เซ็นเตอร์นำเข้ามา
โดยอภิชาติ การุณกรสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการโครงการกล่าวว่าระบบนี้คล้ายกับห้องซื้อขายขนาดใหญ่
ที่ผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมากมาชุมนุมกันได้ เหมาะสำหรับการซื้อขายอัญมณีจำนวนมาก
ๆ ที่ผ่านการรับรองและระบุคุณภาพจากสถาบันอัญมณีมาแล้ว ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อรองราคาและเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่
ๆ มากขึ้น
ห้า - ผู้ประกอบการรายใหม่
ด้วยโครงสร้างของศูนย์ คือพื้นที่ที่มากมายเหลือเฟือในใจกลางศูนย์ธุรกิจ
ปริมาณการซื้อขายอัญมณีที่มากขึ้น ระบบเครดิตที่อาจจะเป็นจริงและช่องทางการตลาด
และการหาลูกค้าใหม่ คนในวงการณ์เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่น่าจะทำให้เกิดผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่เกิดขึ้นได้ง่ายมากกว่าเดิมเป็นจำนวนมาก
ซึ่งจะทำให้มีผลผลิตส่งออกมากขึ้น
นักวิชาการในวงการณ์อัญมณีอธิบายว่า ตัวเลขส่งออกของไทยทรงตัวอยู่ไม่เกิน
30,000 หมื่นล้านมาสองปีแล้ว ทั้งที่ตั้งเป้าไว้ 35,000 หมื่นล้านในปี 2532
ที่เป็นเช่นนี้เขาอธิบายว่าเป็นเพราะผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจนี้ แม้จะมากแต่ก็ไม่มากพอที่จะไต่เพดานการส่งออกไปได้มากพอ
หรือถ้าหากมากกว่านี้ผู้ประกอบการเหล่านี้ก็จะต้อง "เร่งเครื่อง"
กันขนาดหนักทีเดียว
"ยกตัวอย่างง่าย ๆ ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้มีประมาณ 3,000 ราย แต่เป็นสมาชิกสมาคมอัญมณีและเครื่องประดับ
ประมาณ 400 รายเท่านั้น และในจำนวนนี้มีผู้ส่งออกราย ใหญ่ ๆ หลักพันล้านประมาณ
18 รายเท่านั้น การส่งออกส่วนใหญ่ก็มาจากพวกนี้แหละ" แหล่งข่าวในสมาคมกล่าว
นั่นหมายความว่า หากศูนย์อัญมณีเกิดขึ้น โอกาสที่โครงสร้างการส่งออกอัญมณีของไทยจะเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้สูงมาก
คำถามสำคัญในขณะนี้ก็คือว่า ทั้ง 8 โครงการข้างต้นเท่าที่ "ผู้จัดการ"
สำรวจมากมีอย่างน้อย 6 โครงการที่อยู่ในขั้นดำเนินการก่อสร้างแน่นอนและในเขตกรุงเทพฯ
ซึ่งรวมพื้นที่ธุรกิจในแต่ละศูนย์ ย่อมจะต้องมากมายมหาศาล เกินกว่าจำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจอย่างแน่นอน
ซึ่งคงจะมีร้านค้าจำนวนไม่น้อยรวมไปถึงโรงงานเกือบทั้งหมดที่ไม่ขึ้นศูนย์เพราะราคาพื้นที่แพงเกินไป
พูดง่าย ๆ ก็คือ การเกิดของศูนย์อัญมณีเหล่านี้อาจจะเข้าลักษณะ "แห่กันทำจนล้นตลาด"
"ไม่มีทางหรอกที่ตึกทั้ง 50 - 60 ชั้นจะเป็นพวกจิวเวลรีทั้งหมด"
ผู้ส่งออกรายหนึ่งกล่าว
แต่ดูเหมือนว่า บรรดาผู้บริหารทั้งหลายจะไม่หนักอกหนักใจหรือมองว่าศูนย์อื่น
ๆ จะเป็นคู่แข่งมาแย่งลูกค้าไปเลย
"พื้นที่ออฟฟิศของจิวเวลรี เทรด เซ็นเตอร์มีไม่เกิน 300 ยูนิต เราไม่ได้สร้างเป็นพัน
มันไม่มีทางเป็นไปได้แน่ ๆ เราสร้างขนาดที่คิดว่ามีตลาดเพียงพอ เราไม่กลัวด้วยว่าขายช้าหรือขายเร็ว
เพราะเรามั่นใจว่าขายหมดแน่ ๆ" อภิชาติ การุณกรสกุลกล่าว
"ล้นหรือไม่ล้น ผมว่าธุรกิจมันไปได้ ถ้าไปถึงแสนล้านบาทจริง ผมว่ามันอาจจะไม่พอด้วยซ้ำไป"
บุญยงค์ อัศรัสกรแห่งเจมโมโปลิสกล่าว
"ศูนย์ของเราขายหมดไปตั้งแต่ยังไม่เปิดตัวโครงการเต็มที่ด้วยซ้ำ"
นงเยาว์ ผิวนวล พลางกูรสำทับ
"สเกลของเราใหญ่เกินไปในเวลานี้ วันที่ยอดขายเพียงแค่ 27,000 ล้านแต่วันที่ยอดขายที่แสนล้านบาท
สเกลเราอาจะเล็กเกินไป เราไม่ได้หวังลูกค้าเต็มทันที เราจะมีผู้ประกอบการอีกมากมาย
ณ ยอดขายแสนล้านบาท ธุรกิจมันจะใหญ่กว่านี้เยอะจากผู้ประกอบการระดับประเทศ
มันจะเปลี่ยนโฉมเป็น INTERNATIONAL จากนี้ไปอีก 4-5 ปีบรรยากาศธุรกิจอัญมณีนี้มันจะเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล"ผศ.รังสรรค์และอภิชาติ
ฟูเฟื่องวณิชแห่งสีลม พรีเชียส ทาววอร์ ให้ความเห็นที่ตรงกัน
"สมมุตินะว่าศูนย์มันเกิดไม่เต็ม ยังมีพื้นที่ว่าง คุณจะไปห่วงอะไรว่ามีนเสี่ยงหรือไม่
ก็ค่อยๆ ปรับตัวขายพื้นที่ให้กับกลุ่มลูกค้าที่ใกล้เคียงกันหรือเจ้าของบริษัทที่ต้องการออฟฟิศเงียบๆสงบๆ
พร้อมความปลอดภัยแน่นหนาก็เท่านั้น เพราะทุกศูนย์มันอยู่ใจกลางธุรกิจทั้งนั้น
แต่ผมว่าไม่มีทางเป็นแบบนั้นหรอก อีก 5 ปีข้างหน้าธุรกิจอัญมณีจะเติบโตกว่านี้เยอะ
ที่สร้างกันวันนี้ อีก 5 ปีอาจจะไม่พอด้วยซ้ำ" คนในวงการอัญมณีกล่าว
ดูเหมือนว่า ในวันนี้ความฝันของทุกคนจะดีหมดจดจนน่าจะดิ้นรนหาที่ดินสีลมสักผืนมาทำศูนย์อัญมณีอีกสักแห่งดูบ้าง!
หากในอีก 5 ปีข้างหน้า ศูนย์อัญมณีเกิดขึ้นมาอย่างเป็นจริงเป็นจัง อนาคตของร้านค้าจิวเวลรีที่เป็นห้องแถวอยู่เรียงราย
ถนนสีลม สุรวงศ์ มเหศักดิ์ จะเป็นเช่นไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจัดอันดับประเภทของร้านค้าที่มีมากที่สุดบนถนนสายนี้
ก็คงไม่พ้นร้านจิวเวลรีอย่างแน่นอน
"โครงการศูนย์อัญมณีทุกแห่งมีนผลักดันให้ธุรกิจอัญมณีเจริญขึ้นกว่าเก่าสี้เท่าตัว
พวกห้องแถวเขาต้องขึ้นมาเพราะมันสามารถขยายธุรกิจได้มากขึ้น เก่งอย่างไรมันก็อยู่แบบห้องแถวแค่นั้น
แต่ถ้าขึ้นมาอยู่บนศูนย์พวก SUPPORTING FACILITY มันจะช่วยให้พวกเขาขยายงานออกมาได้อีกมาก
ส่วนอนาคตของสีลมนั้น ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีห้องแถว แต่มันจะเป็นจิวเวลรีอีกประเภทหนึ่ง
ไม่ใช่ค้าส่งอีกแล้ว และจะขายอัญมณีที่มันสำเร็จรูปในคุณภาพที่ไม่สูงนัก
เพื่อให้ลูกค้าอีกประเภทหนึ่ง มาเดินชอปปิ้ง ราคาไม่แพง ไม่มีการันตี มันก็เหมือนกับร้านจิวเวลรีตามโรงแรม"ผศ.รังสรรค์ให้ความเห็น
"สีลมคงยังเป็นศูนย์กลางธุรกิจต่อไปแน่นอน แต่ด้วยราคาที่ดินที่แพงขึ้นและผลกระทบเนื่องมาจากการเกิดศูนย์อัญมณีใหม่ๆ
ห้องแถวแถบนั้นจะถูกทุบทิ้งและเปลี่ยนแปลงไปเป็นอาคารสูงมากขึ้น" อภิชาติ
การุณกรสกุล ให้ความเห็นตบท้าย
ภายใน 5 ปีข้างหน้า เป็นระยะเวลาพิสูจน์โครงการในความฝันของบรรดานักพัฒนาที่ดินและธุรกิจอัญมณีทีมาร่วมกันสร้าง"ศูนย์อัญมณี"ให้เกิดขึ้นเวลาข้างหน้า
ภาระหน้าที่เท่าที่"ผู้จัดการ"จะสามารถทำได้เวลานี้ก็คือการเสนอภาพร่างแห่งอนาคตทั้งในเรื่องการพัฒนาที่ดินการส่งออก
สังคมธุรกิจการค้ารูปแบบใหม่ๆโดยผ่านโครงการสร้าง"ศูนย์อัญมณี"ที่กำลังจะก่อสร้างขึ้น
จะจริงหรือเท็จ หรือเป็นเพียงรายการโฆษณาขายออฟฟิศคอนโดมิเนียมก็ต้องพิสูจน์กันต่อไป!