สุวิทย์ ไพรสานฑ์กุล อายุปีนี้ย่างเข้า 70 ปีแล้วเป็นประธานบริษัทกิจสยามคอมเมอร์เซียลและบริหารงานบริษัทในเครืออีกมากเช่นบริษัทไทยซินอุตสาหกรรม
(ตัวแทนขายเครื่องสำอางยี่ห้อคาเสโบ) บริษัทไทยสินคอมเมอร์เซียล บริษัทไทยสินอุตสาหกิจบริษัททีเอสฟู๊ด
บริษัทตันโจคอสเมติค บริษัทอุตสาหกรรม (ไทย) และบริษัทไทยทายาม่ารีด
สุวิทย์เป็นคนสามสัญชาติโดยกำเนิดเชื้อชาติเขาเป็นคนจีนไต้หวันชื่อ "เปียงหอง
แซ่ลิ้ม" เป็นบุตรของนายลิ้มก๋าและนางตั้งอิ่ม บ้านเกิดอยู่ที่หมู่บ้านจงเหลียว
ตำบลเหอเหม่ย อำเภอจังหั้ว จังหวัดไทจง บนเกาะไต้หวัน ซึ่งขณะนั้นตกอยู่ในอาณานิคมการปกครองของญี่ปุ่นตามสนธิสัญญาสันติภาพในปี
2438 ภายหลังสงครามระหว่างจีนและญี่ปุ่น ทำให้สุวิทย์ต้องถือสัญชาติญี่ปุ่นและได้รับการศึกษาในไต้หวันจบโรงเรียนพาณิชย์ไทจง
(ปัจจุบันคือวิทยาลัยพาณิชย์แห่งชาติไทจง) ในฐานะหนึ่งในนักเรียนฝึกงาน 20
คน ทำให้สุวิทย์ได้มีโอกาสเหยียบแผ่นดินไทยในปี 2486 เป็นครั้งแรก และเมื่อญี่ปุ่นพ่ายสงครามสุวิทย์ก็ถูกจับเป็นเชลยอยู่ในค่ายกักกัน
10 เดือน จึงได้รับการปลดปล่อย ชาวไต้หวัน 500 คน กลับบ้านเกิดส่วนใหญ่ เหลืออยู่ในไทยไม่ถึง
40 คนและสุวิทย์ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนี้
ความมีหัวการค้าทำให้สุวิทย์เอาเงินที่เก็บหอมรอมริบได้จากฝึกงานไปลงทุนซื้อขายดีบุก
และยางพาราภาคใต้ขนไปขายสิงคโปร์ทำได้ปีครึ่งเขาก็กลับไปแต่งงานกับอุดมศรี
(เดิมชื่อฮองซา แซ่ซี) ซึ่งเป็นครูที่ไต้หวัน และกลับมาเมืองไทยในปี 2491
ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลไทยได้เปิดสัมพันธ์ทางการค้ากับญี่ปุ่นมีการส่งคณะผู้แทนการค้าไปทำสัญญาการค้ากับกองบัญชาการทหารพันธมิตร
เปิดบัญชีนำเข้าและส่งออกโดยตั้งเป้าไว้ฝ่ายละ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าขาออกที่ไทยส่งไปญี่ปุ่นเป็นรายการใหญ่สุดคือข้าว
3 ล้านตัน ส่วนสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นคือตู้รถไฟ สิ่งทอ และสินค้าเบ็ดเตล็ด
สุวิทย์กลับมาเมืองไทยตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยซินพานิชในปี 2494 และอาศัยสายสัมพันธ์เดิมค้าขายกับพ่อค้าญี่ปุ่นโดยสั่งเข้าแอมโมเนียซัลเฟตเพื่อทำปุ๋ย
กรดกำมะถันใช้ทำแหวนอะลูมิเนียม และแผ่นอะลูมิเนียม กระดาษฯลฯ นอกจากนี้ยังขายของเบ็ดเตล็ดเช่นหมวก
แว่นตา กล่องบุหรี่ไฟแช็ค กรรไกร ช้อนส้อม ถุงเท้าไนล่อน หม้อกระเบื้องเคลือบฯลฯ
กิจการครอบครัวตอนนั้นสุวิทย์ทำหน้าที่ติดต่อร้านค้าส่งโดยรับเงินมัดจำ
20 - 30 % และเมื่อส่งของก็รับเงินสดที่เหลือโดยให้ภรรยาทำบัญชีเป็นภาษาจีนและให้พนักงานคนไทยแปลอีกครั้ง
จากเงินลงทุนเริ่มต้น 8 หมื่นบาทในปีเดียวเขาก็ทำกำไรถึงหนึ่งแสนบาท และเพิ่มเป็นสามแสนในปีที่สอง
แม้ว่าสินค้าญี่ปุ่นสมัยนั้นจะถูกมองว่า "สินค้าเลวราคาถูก" ก็ตาม
ในปี 2499
สุวิทย์ซึ่งขณะนั้นอายุ 35 ปี ได้บินไปติดต่องานกับบริษัทฮิรุโกะโซเท็นบริษัทนำเข้าส่งออกที่
โอซาก้าและปีนี้เองที่บริษัทคาโอญี่ปุ่นได้ผงาดขึ้นมาจากความเสียหายหลังสงคราโลก
สุวิทย์ได้รับการแนะนำให้รู้จัก "แชมพูแฟซ่า" เป็นครั้งแรกและทำให้ชะตาชีวิตในอนาคตของเขารุ่งโรจน์
ในสมัยนั้นเมือไทยยังไม่มียาสระผมประเภทแชมพู มีแต่ยาสระผมประเภทสบู่ชื่อ
"รูเบีย" ซึ่งจัดจำหน่ายโดยบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ โดยขายเป็นถุงใหญ่ปริมาณมากถึง
30 กรัม เมื่อเปรียบเทียบกับแชมพูแฟซ่าซึ่งเป็นซองเล็ก ๆ ติดกันสองซอง ๆละ
3 กรัม ทำให้สะดวกใช้มากกว่าในซองกระดาษอะลูมิเนียมที่เก็บได้นาน สุวิทย์เล็งเห็นโอกาสทองนี้ทันที
เขาได้ติดต่อพบรอง ประธานบริษัทคาโอคือเอโช อิโต้และโยชิโอะ มาคุตะผู้จัดการฝ่ายขาย(ประธานบริษัทคาโอปัจจุบัน)
ขณะนั้นคาโอมีนโยบายส่งออกพอดีทำให้สุวิทย์ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าคาโอตั้งแต่แชมพูผงแฟซ่าที่เริ่มจาก
400 หีบจนกระทั่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆเป็น 1,000 หีบต่อเที่ยวและสุดท้ายชักชวนให้คาโอมาลงทุนสร้างโรงงานบรรจุผลิตภัณฑ์แห่งแรกได้ที่หัวลำโพงในปี
2502
ชื่อ "แชมพูแฟซ่า" มาจากภาษาอังกฤษว่า "FEATHER SHAMPOO"
ที่ให้ความหมายถึงเส้นผมนุ่มเบาดุจขนนก ในสมัยก่อนชื่อแชมพูจะพิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่น
ทำให้คนไทยอ่านไม่ออก สุวิทย์จึงตั้งชื่อใหม่ด้วยพื้นฐานที่เขาอ่านออกเขียนได้ในภาษาญี่ปุ่นทำให้สุวิทย์ตีสำเนียงคำว่า
"FEATHER" ที่ญี่ปุ่นอ่านเป็น "ฟุเอซ่า (FUEZA)" เป็นภาษาไทยที่ให้ความหมายดีว่า
"แฟซ่า" และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้
ในวันที่ 27 สิงหาคม 2506 สุวิทย์และอุดมศรีก็โอนสัญชาติเป็นไทย เนื่องจากอยู่เมืองไทยมานานและไม่คิดกลับบ้านเกิดอีกแล้ว
ทั้งคู่ให้กำเนิดบุตรธิดา 4 คนคือสหัทย์ (ปัจจุบันเป็นรองกรรมการผู้จัดการบริษัทไทยซินอุตสาหกรรม)
ศุภร โสภณ และโสภาซึ่งต่อมาได้รับช่วงหริหารงานบริษัทในเครือของพ่อทั้งหมด
เมื่อกิจการขยายใหญ่โตเกินกว่าที่ไทยซินพานิชจะรับไหวตั้งแต่งานผลิต งานบริหารและงานขาย
สุวิทย์จึงชักชวนผู้บริหารคาโอร่วมทุนตั้งบริษัทคาโอ อินดัสเตรียล(ประเทศไทย)ขึ้นในปี
2507 โดยทุนจดทะเบียนครั้งแรก 6 ล้านบาท และทำสัญญาระหว่างบริษัทสบู่คาโอกับสุวิทย์
ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานบริษัทตั้งแต่นั้นมาและกรรมการผู้จัดการคนแรกเป็นชาวญี่ปุ่นชื่อ
"เฮอิโกโร อิสุมิ" ในปี 2508 สุวิทย์ได้เสนอที่ดินแถบพระประแดงหลายไร่เป็นที่ก่อสร้างโรงงานสำหรับบรรจุแฟซ่าและผงซักฟอกยี่ห้อ
"อัศจรรย์" ด้วย
เมื่อตั้งบริษัทคาโออินดัสเตรียล (ประเทศไทย) หรือไทยคาโอแล้วการขายสินค้าผ่านบริษัทไทยซินอุตสาหกรรมก็สิ้นสุดลงบทบาทสำคัญของสุวิทย์ก็เป็นแค่ในนามประธานบริษัทไทยคาโอ
และนี่คือรางวัลสำหรับผู้บุกเบิกที่วางรากฐานที่มั่นคงให้คาโอได้ผงาดอยู่ใต้ฟ้าเมืองไทยได้จนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตามโครงสร้างผลิตภัณฑ์ที่ไทยคาโอพยายามจะมีตัวหลักอื่น ๆนอกจากแชมพูก็มีมาตลอดแต่ก็ต้องพบปัญหาในระยะแรกแบกภาระภาษีและความเสียเปรียบด้านต้นทุนที่สินค้าค่ายคาโอแพงกว่าคู่แข่ง
เช่นปี 2512 หยุดผลิตผงซักฟอกอัศจรรย์เพราะขาดทุนจากภาษีนำเข้าวัตถุดิบ และเริ่มขายน้ำยาซักผ้า
EMAL น้ำยาล้างจานวันเดอร์ฟูลเค ปี 2514 ขายยาฆ่าแมลงคิสก้าแต่ก็ต้องหยุดเพราะต้นทุนของสารไพรีธรัม
ที่ทำจากพืชแพงกว่าสารพิษ DDT และ BHC นอกจากนี้ไทยคาโอยังขายน้ำยาฟอกผ้าขาว
"บรีช" น้ำยาทำความสะอาด "มายเพ็ต" แต่ต่อมาอีกปีหนึ่งก็ต้องหยุดขายเพราะทนแบกต้นทุนภาษีการค้าที่เพิ่มจาก
5.5 % เป็น 7.7 % และภาษีน้ำยาซักล้างเป็น 30 % หรือตกกิโลกรัมละ 6 บาท ไม่ไหวทำให้ราคาขายปลีก
น้ำยาฟอกผ้าขาวบรีชจาก 48 บาทเป็น 85 บาทเป็นต้น
บริษัที่เป็นแขนขาด้านการขายและการตลาดในเครือไทยคาโอก็คือบริษัทกิจสยามคอมเมอร์เชียลซึ่งเป็นบริษัที่เกิดขึ้นในปี
2518 ด้วยเหตุผลที่เกิดจากความจำเป็นต้องแยกฝ่ายผลิตกับฝ่ายขายและตลาดออกจากกันเพราะในขณะนั้นผลิตภัณฑ์คาโอได้เพิ่มมากขึ้นจากแชมพูแฟซ่าสู่สินค้าอื่น
ๆ มากขึ้น การที่จะให้บริษัทไทยคาโอเพียงบริษัทเดียวทำทั้งการผลิตและการตลาดด้วยย่อมทำได้ลำบาก
และไม่เติบโตเท่าที่ควร ในปี 2518 จึงได้เกิดบริษัทกิจสยามขึ้น
ความจริงไทยคาโอน่าจะเติบใหญ่มากกว่านี้ในประเทศไทย เพราะมีแรงหนุนทั้งด้านเงินทุนและเทคโนโลยีใหม่
ๆ จากฐานบัญชาการใหญ่ที่บริษัท KAO CORPERATION ซึ่งถือเป็นยักษ์ใหญ่ ที่สุดด้านสินค้าอุปโภคบริโภคของญี่ปุ่นที่มีมูลค่ายอดขายปีที่แล้ว
110,000 ล้านบาท ไม่นับรวมรายได้ที่มาจากบริษัทในเครือต่างประเทศ เช่นบริษัทคาโอ
ฮ่องกงซึ่งตั้งอยู่ถนนโกลเช็คเตอร์, ไต้หวัน,สิงคโปร์,ไทยคาโอ,มาเลเซียคาโอ,
กลุ่มโปเลคาโอที่อินโดนีเซีย,บริษัทฟิลปปินัสคาโอและบริษัทคาโอฟิลิปปินส์
รวมทั้งคาโอในประเทศเม็กซิโกและสเปนด้วย
นอกจากนี้คาโอญี่ปุ่นยังมีจุดแข็งทางด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วย
ในวาระครบรอบ 100 ปีในปีนี้ คาโอมีแผนการเพิ่มนักวิจัยและพัฒนาอีกหนึ่งเท่าตัว
โดยปีหนึ่ง ๆ คาโอทุ่มงบมหาศาลประมาณ 10 % ของยอดขายเพื่อจ้างนักวิจัยระดับดอกเตอร์และปริญญาโทเก่ง
ๆ จำนวน 2,700 คนหรือ 38 % ของพนักงานทั้งหมดไปประจำตามสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม
8 แห่งซึ่งมีสถาบันวิจัยหลักอยู่ที่โตเกียว วาคายามะและโทชิงิและสถาบันวิจัยเฉพาะสาขาที่คาชิมะและโทโยฮาชิสถาบันวิจัยโทชิงิอีกแห่งหนึ่ง
โดยแต่ละปีมีผลงานวิจัยที่ยื่น ขอสิทธิบัตรประมาณ 300 - 400 ชนิด
แม้ว่าผลิตภัณฑ์คาโอจะมีจุดแข็งที่งานวิจัยและพัฒนาก่อนเข้าตลาดไทยมาก
ๆ ก็ตามแต่ปัจจัยภายในไทยคาโอมีการรุกคืบเป็นไปอย่างช้ามากในเชิงการบริหารการตลาดและผลิตภัณฑ์
ทำให้ฐานะการตลาดของบริษัทไทยคาโอโดยรวมอยู่ในฐานะการตลาดของบริษัทไทยคาโอโดยรวมอยู่ในฐานะผู้เจาะตลาด
(MARKET NICHER) มากกว่าผู้นำตลาด (MATKET LEADER) โดยดูจากผู้ผลิตภัณฑ์คาโอที่อาศัยความชำนาญพิเศษด้านการวิจัยและพัฒนาใหม่
ๆ เข้ามาเจาะตลาดไทยจนประสบความสำเร็จเช่นผงซักฟอก "แอทแทค" ที่มีเจาะตลาดด้วยความแตกต่างจากคู่แข่งด้านคุณภาพของ
"สารไปโอเทค" หรือโฟมล้างหน้า "บิโอเร" ซึ่งมีสาร MAP
เป็นต้น
นับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 ที่คาโอญี่ปุ่นเริ่มออกไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ
และมีการจัดประชุมแผนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจเขตเอเชียอาคเนย์ตั้งแต่ปี 2522
ที่ไทยเป็นแห่งแรก แต่ละครั้งผู้บริหารระดับกรรมการผู้จัดการในเครือจะเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสินค้าหรือออกสินค้าใหม่เพื่อสู่กับคู่แข่งเสมอ
ทุก ๆ 4 - 5 ปีไทยคาโอจะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนผู้บริหารชาวญี่ปุ่นเข้ามารับผิดชอบดูแล
โดยเมื่อกุมภาพันธ์ปีนี้เองคาโอญี่ปุ่นได้ส่งโยชิฮิโร อินาโมริกรรมการผู้จัดการคนที่
6 มาแทนที่คนคือทาคาชิ นาคากาวาซึ่งทำงานครบ 5 ปีแล้ว ในอดีตกรรมการผู้จัดการคนแรกคือเฮอิโกโร
อิสุมิ ต่อมาก็เป็นโนบุคาสุ ซูซูกิ,คันจิ ชิโมคาวะ,ฮิโรชิ โฮริและทาคาชิ
นาคากาวา
พื้นฐานกรรมการผู้จัดการคนใหม่ของไทยคาโอนั้นเป็นนักเคมีวิจัย ที่จบปริญญาโท
วิศกรรมศาสตร์ สาขาเคมีประยุกต์จากมหาวิทยาลัยโอซาก้าและทำงานกับบริษัทคาโอญี่ปุ่นมากกว่า
28 ปี เขาคลุกคลีกับงานห้องแล็บที่โตเกียวและวาคายามานานถึง 18 ปีก่อนที่จะถูกหมุนเวียนไปเป็นผู้บริหารฝ่ายอื่น
ๆ ตามสไตล์การบริหารงานแบบญี่ปุ่นที่ต้องการให้คน ๆ หนึ่งได้เรียนรู้งานมากกว่าหนึ่งก่อนที่จะมารับตำแหน่งนี้อินาโมริเคยเป็นผู้จัดการโรงงานคาโอที่โตเกียวและผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาทรัพยากร
มนุษย์ประจำสำนักงานใหญ่ที่นิฮอมบาชิ,โตเกียวด้วย
ภารกิจที่สำคัญที่อินาโมริต้องสืบสานต่อจากนาคากาวา ก็คือการบริหารการตลาดของบริษัทกิจสยาม
คอมเมอร์เชียลในปีนี้นโยบายการบริหารจะต้อง "MORE AGGRESSIVE"
มากขึ้น ต้องมีการเสริมสร้างระบบ BRAND MANAGEMENT SYSTEM ให้เข้มแข็ง ซึ่งจะเน้นการลดการสูญเปล่าด้านงานเอกสารซึ่งเป็นงาน
ROUTINE ให้มากที่สุดเพื่อให้ BRAND MANAGER คุมสินค้าแต่ละตัวได้อย่างทั่วถึงและสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมการตลาดและการขายได้ด้วย
ระบบ BRAND MANAGEMENT SYSTEM เป็นระบบแบ่งการดูแลผลิตภัณฑ์โดยมี BRAND
MANAGER เป็นผู้รับผิดชอบ โดยทางกิจสยามจะมีระบบการฝึกฝน MAKETING TRAINEE
ให้มีความรู้ในผลิตภัณฑ์และโครงสร้างระบบงานทุกฝ่ายรวมทั้งส่งไปฝึกอบรมที่
ญี่ปุ่นด้วย หลังจากนั้นจะได้รับการส่งเสริมเป็น ASSITANT BRAND MANAGER
เมื่อมีผลงานน่าพอใจจะได้รับแต่งตั้งเป็น BRAND MANAGER และก้าวสู่การเป็น
PRODUCT MANAGER ในที่สุด
ที่จริง BRAND MANAGEMENT SYSTEM นั้นเป็นระบบที่เกิดมานานแล้วและใช้ในบริษัท
พร็อคเตอร์แอนด์แกรมเบิลเป็นครั้งแรก และในเมืองไทยทางลีเวอร์ บราเธอร์ก็ประสบความสำเร็จจากการนำระบบนี้มาใช้
แต่ไทยคาโอเพิ่งจะเริ่มนำ BRAND MANAGEMENT SYSTEM เมื่อ 2 -3 ปีนี้เองในยุคกรรมการผู้จัดการญี่ปุ่นคนที่แล้วคือนาคากาว่า
หลังจากที่เห็นความสำคัญของการเน้นการบริหารตลาดมากขึ้นกว่าเดิมที่เน้นการขายมากกว่า
บทบาทบริหารฝ่ายการตลาดของกิจสยาม จริง ๆ แล้ว ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของพงษ์ศักดิ์
เกษมสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดคนไทยคนแรกของบริษัทกิจสยาม คอมเมอร์เชียลที่ได้รับการแต่งตั้งจากนาคากาวาในปีที่แล้ว
การบริหารการตลาดสไตล์จะยึดหลักความต้องการของผู้บริโภคมาก ๆ เพราะปัจจุบันคลาดของสินค้าได้แบ่งซอยออกเป็น
SEGMENT ต่าง ๆ ชัดเจนมากขึ้นตามพฤติกรรมผู้บริโภค และการที่ไทยคาโอจะยึดติดกับสินค้าหลักประเภทแชมพูและครีมนวดผมเพียงประเภทเดียวก็นับว่าเป็นขีดจำกัด
ดังนั้นนโยบายที่จะแตกตัวให้โตไปอย่างดีก็คือการเพิ่มผลิตภัณฑ์หลักขึ้นเพื่อให้ยืนอยู่บนขาที่แข็งแรงหลายตัว
"โครงสร้างของเราเริ่มเปลี่ยนไปจากการเป็น SHAMPOO COMPANY มาเป็นหลาย
ๆ ผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้สมดุลกันระหว่างประเภทสินค้า PERSONAL CARE และ HOUSEHOLD
PRODUCTS โดยในส่วนแรกเราจะขยายหมวดหมู่สินค้าประเภท SHAMPOO, SKINCARE ,
SANITARY ส่วนที่สองเราขยายไปทางด้านผงซักฟอก เราคิดว่าอย่างน้อย ๆเราควรจะมีสินค้าหลัก
ๆสัก 4 อย่างที่แข็ง" พงษ์ศักดิ์เล่าให้ฟัง
พงษ์ศักดิ์ในอดีตเคยอยู่กับลีเวอร์มานาน 8 ปี โดยเป็นผู้บริหารคนหนึ่งในฝ่ายการตลาดและเป็นคนสร้างตลาดยาสีฟัน
"ใกล้ชิด" เจาะตลาดวัยรุ่นด้วยกลยุทธ์การแจกหนังสือเพลงควบคู่กับการขายยาสีฟัน
ก่อนจะลาออกเขาถูกย้ายไปเป็น NATIONAL SALES MANAGER ดูแล PERSONAL CARE
PRODUCT ทั่วประเทศทำอยู่ไดสัก 2 ปีกว่า พงษ์ศักดิ์ก็ย้ายไปอยู่บริษัทยูไนเต็ดฟู้ด
ซึ่งผลิตและขายของขบเคี้ยว (SNACD) ได้ 2 ปี จากนั้นเขาก็มาอยู่กับบริษัทกิจสยามคอมเมอร์เชียล
โดยในครั้งแรกเป็นผู้ช่วย ผู้จัดการฝ่ายขายและต่อมาได้เลื่อนเป็นผู้จัดการฝ่ายขายและผู้จัดการฝ่ายการตลาดในปัจจุบันที่ต้องดูแลทีมงานตลาดผลิตภัณฑ์
2 กลุ่มใหญ่คือ PERSONAL CARE PRODUCTS และ HOUSEHOLD&SANITSRY PRODUCTS
โดยมีผู้จัดการแผนกการตลาดคือ จิรภา ลายสมิตและอนุชา วิริยะชัยซึ่งเคยอยู่ลีเวอร์มาก่อนย้ายมากิจสยามเมื่อสองปีกว่า
ทั้งจิรภาและอนุชาเป็นขุนพลคู่ใจของพงษ์ศักดิ์ที่จะพิชิตเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าปีนี้ต้องได้ไม่ต่ำกว่า
1,800 ล้านบาท
แต่ฝ่ายการตลาดจะบรรลุเป้าหมายได้ก็ต้องอาศัยระบบการขายที่มีประสิทธิภาพ
ในปีนี้อินาโมริมีนโยบายการขยายงานระบบการขายตรงไปทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้สามารถครอบคลุมการขายด้วยเงินสดและเครดิตเดือนได้ทั่วกรุงเทพฯโดยให้นโยบายแก่ผู้จัดการฝ่ายชายคือสิศิษฐ์
รักษ์วิษฐ์วงศ์ ผู้ที่รับผิดชอบด้านนี้ได้ในปีที่แล้ว จากเดิมที่เคยทำอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยพงษ์ศักดิ์ซึ่งขณะนั้นเป็นผจก.ฝ่ายขายอยู่
ระบบการขายตรงได้แยกงานขายออกจากการส่งสินค้าตั้งแต่ปี 2527 เนื่องจากขีดจำกัดด้านหน่วยรถขายที่บรรจุสินค้าไม่พอวิ่งตระเวนขายและขีดจำกัดการคมนาคมที่แออัดสำหรับรถใหญ่
ทำให้เกิดระบบการขายตรงที่มีพนักงานขายไปเยี่ยมร้านย่อยตามเส้นทางที่กำหนด
โดยมิได้นำสินค้าติดตัวไปขายด้วย พนักงานจะตรวจเช็คสต๊อคและรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าโดยพนักงานขายแต่ละคนจะมีเครื่อง
POT (PORTANLE ORDERING TERMINAL) เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กบันทึกข้อมูลการขายซึ่งเริ่มเครื่องมือนี้ตั้งแต่ปี
2530 และต่อไปพนักงานไทยคาโอ สามารถนำเครื่อง POT พ่วงกับโทรศัพท์สาธารณะทั่วไปได้ด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานจากนั้นสินค้านั้นจะถูกส่งถึงร้านค้าย่อยภายใน
1- 2 วันโดยพนักงานจะไม่รับเงินสดแต่ขายด้วยเครดิต 14 วัน
และในปีที่แล้วบริษัทกิจสยาม คอมเมอร์เซียลมีปริมาณขายตรงประมาณ 15 - 20
% ของยอดขายทั้งหมด 1,171 ล้านบาทมีพนักงานขายเกือบ 100 คน โดยมีพนักงานขายในกรุงเทพฯ
20 คนที่สามารถคุมพื้นที่ขายตรงในกรุงเทพได้ครบทุกจุดเมื่อปี 2531 ส่วนต่างจังหวัดจะมีหน่วยรถขายประมาณ
50 คัน วิ่งขายร้านค้าย่อย 30,000 กว่าร้านในปัจจุบัน
ขณะเดียวกันทางไทยคาโอก็ไม่ได้พึ่งระบบการขายตรง 100 % เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะในทำพื้นที่ขายทั่วประเทศ
จำเป็นต้องขายผ่านยี่ปั๊วและซาปั๊วซึ่งเป็นระบบดั้งเดิมที่ใช้กันอยู่และในปี
2515 บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายได้ค้นคิดวิธีการบริหารช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆซึ่งไทยคาโอก็ช้ากว่าลีเวอร์ที่เป็นผู้นำระบบสต็อกกิสท์
หรือจ๊อบเบอร์ขึ้นมาใช้รายแรก เพื่อแก้ปัญหาความลำบากในการบริหารยี่ปั๊วใหญ่และกลางที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบ
8,000 รายทั่วประเทศให้ได้ ระบบนี้บริษัทจะโอนถ่ายทอดหน้าที่ความรับผิดชอบส่วนหนึ่งด้านดูแลสต็อกและปล่อยเครดิตให้ทางสต็อกกิส์หรือจ๊อบเบอร์ไปดำเนินการ
หลังจากลีเวอร์ทำสำเร็จ ทางสหพัฒน์,คอลเกต,กิจสยามและจอห์นสันก็ได้ทำบ้าง
การปรับตัวอย่างเชื่องช้าด้านการบริหารตลาดและการขายจนทำให้กิจสยามพลาดท่าเสียทีให้กับคู่แข่งจะเห็นได้ชัดในอดีตสมัยเมื่อช่วงปี
พ.ศ. 2510 - 15 อัตราการใช้ครีมนวดผมในไทยถูกลีเวอร์กุมส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้เพราะเป็นผู้นำเข้าสินค้าต่างประเทศเข้ามาขายก่อนไทยคาโอจะทำ
จนกระทั่งปี 2518 อัตราการใช้ครีมนวดผมสูงขึ้นถึง 17 - 18 % และอีก 2 - 3
ปีเพิ่มกว่า 20 % บริษัทไทยคาโอจึงเพิ่งเล็งเห็นโอกาสวางตลาดครีมนวดผมมาขายบ้าง
และในปี 2520 - 25 บริษัทไทยคาโอและลีเวอร์ชิงดำกันในตลาดครีมนวดผม "แฟซ่า"
กับ "ซันซิล" ปรากฎว่า ลีเวอร์ ชนะด้วยกลยุทธ์การตลาดด้วยการจับสลากชิงโชคและแถมของใช้ที่จูงใจลูกค้ามากกว่า
ขณะที่ค่ายไทยคาโอ จะให้เป็นของแถมซึ่งเป็นตัวอย่างสินค้าที่ตนผลิตเท่านั้น
จนเป็นเหตุให้ส่วนแบ่งตลาดของไทยคาโอ ที่เคยสูงถึง 20 % ตกลง เหลือเพียง
13 % เท่านั้นในปี 2526
ความเสียเปรียบอีกข้อหนึ่งที่ไทยคาโอสู้คู่แข่ง ไม่ได้ก็คือด้านราคาต้นทุน
ในอดีตสินค้าหลายตัวต้องล้มหายตายจากไปเพราะเสียเปรียบด้านภาษีศุลกากรนำเข้า
เช่นผงซักฟอกยี่ห้อ "อัศจรรย์"ที่เกิดในปี 2504 และล้มตายในปี
2512 เพราะทนขาดทุน ไม่ไหว แผนการที่จะวางขาย ประมาณเดือนละ 5 พันหีบก็ล้มเหลวเพราะอัตราภาษีน้ำเข้าวัติถุดิบ
4.40 บาทต่อกิโลกรัมภาษีพลาสติกทำถุงอีก 20 % และน้ำหอมก็ต้องเสียภาษีบริษัทตาดทุนปีละ
1.38 ล้านบาท และไม่สามารถต่อกรกับกลยุทธ์แจกแถมของ "แฟ้บ" ของคอลเกตหรือ
"บรีส" ของลีเวอร์ซึ่งได้ตั้งโรงงานผลิตในไทยในปี 2505 และ 2506
ตามลำดับ แต่ที่ให้บทเรียนเจ็บปวดสำหรับผู้บริหารญี่ปุ่นอิสุมิ ก็คือการแก้ปัญหาโดยจะขอซื้อผงวัตถุดิบจากลีเวอร์นั้นถูปฏิเสธสิ้นเชิง
และอีก 5 ปีต่อมาไทยคาโอถึงมีการผลิตผงวัตถุดิบไนไทย
จริง ๆแล้วคาโอญี่ปุ่นเคยคิดจะลงทุนขยายกิจการไปสู่ BACKWARD INTEGRATION
ในยุคแรก ๆ เมื่อปี 2507 โดยคิดจะผลิตผงวัตถุดิบ แต่เมื่อตรวจสอบดูก็พบว่ารัฐบาลในสมัยจอมพลถนอม
กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่อนุญาตให้สร้างโรงงานผลิตผงวัตถุดิบขึ้นใหม่
เหตุผลคือตอนที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้ลีเวอร์บราเธอร์และบริษัทคอลเกตปาล์มโอลีฟสร้างโรงงานผลิตอัลคินเบนซินซัลเฟต
(ALKYL BENZENE) นั้น รัฐบาลได้ไห้คำมั่นว่าจะไม่อนุญาตให้บริษัทอื่น ตั้งโรงงานประเภทเดียวกันในระยะ
5 ปี เพื่อให้บริษัททั้งสองมีโอกาสเติบโตขึ้น ด้วยเหตุนี้ทำให้แผนการผลิตผงวัตถุดิบของบริษัทไทยคาโอช้ากว่าคู่แข่ง
ไทยคาโอเพิ่งได้ในปี 2512
และความผิดพลาดด้านการผลิตส่วนหนึ่งนี้เองที่ทำให้ส่วนแบ่งตลาดผงซักฟอกของไทยคาโอ
ยี่ฟ้อ "บิ๊ค" ที่ออกวางตลาดตั้งแต่พฤษภาคมปี 2516 ตลาดไม่เติบโตเท่าที่ควร
แม้ว่าจะขายได้ใน PRODUCT CONCEPT ที่เน้นความประหยัดโดยบรรจุใน PACKAGING
เป็นถุงใหญ่ก็ตามเพราะการผลิต "บิ๊ค" ไม่ใช่เป้าหมายหลักเพื่อหวังส่วนแบ่งตลาดเป็นแต่เพียง
"บิ๊ค" เป็นกำลังการผลิตที่เหลือ ( BY PRODUCT) จากการผลิตยาสระผม
ถึงแม้ "บิ๊ค" จะขายดีแต่ไทยคาโอก็ไม่สามารถ ลดการผลิตยาสระผมลงได้
ยิ่งยาสระผมขายดีการผลิต "บิ๊ค" ก็ยิ่งถูกจำกัดเช่นในปี 2523 ส่วนแบ่ง
ตลาดของผงซักฟอกค่ายคาโอเพียงแค่ 1 % ของมูลค่ารวมทั้งหมด จนในที่สุดก็ยกเลิกการผลิตไปในปี
32
จากปรัชญาการแตกตัวโครงสร้าง บริษัทจากแชมพูไปสู่ผลิตภัณฑ์หลักอื่น ๆ ผงซักฟอกก็เป็นตัวหลักตัวหนึ่งที่ไทยคาโอมองเห็นช่องว่างในตลาดที่สามารถแทรกเข้าไม่ได้ด้วยเทคโนโลยีใหม่
ๆ และทำอย่างจริงจังไม่เหมือนในอดีต ราวต้นปี 2533 ไทยคาโอได้วางตลาดผงซักฟอก
" แอทแทค" ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาโดยทุ่มงบสิบล้านให้บริษัทเดนสีโฆษณาความแตกต่างจากผงซักฟอกอื่นว่า
"เพียงช้อนเดียวก็ทำให้ซักผ้าขาวจนคุณตลึง" งานนี้ผู้บริหารคนเก่าคือนาคากาวาและทีมงานของพงษ์ศักดิ์เกษม
สุวรรณผู้จัดการฝ่ายการตลาดได้วางแผนเตรียมงานด้านสำรวจวิจัยความต้องการแม่บ้านไทยเป็นปี
ๆ กว่า จะวางสินค้าตัวนี้ได้ เมื่อวันที่ 10 มกราคม ปีนี้และตั้งเป้าขายไม่ต่ำกว่า
110 ล้านในปีแรก
ความหวังที่ครองส่วนแบ่งตลาดผงซักฟอกด้วยเครื่องที่มีมูลค่า 280 กว่าล้านบาทดูท่าจะมีอนาคตสดใส
เพราะ PRODUCT DIFFERENTIATE ของผงซักฟอก "แอทแทค" เจาะตลาดได้สำเร็จด้วยความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพใน
"สารไบโอเทค" ซึ่งให้ความเข้มข้นในการขจัดสิ่งสกปรกในเนื้อผ้าอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยการใช้
"แอทแทค" เพียงช้อนเดียว ขณะที่ผงซักฟอกทั่วไปต้องใช้เป็น 4 เท่า
นอกจากนี้การที่มี PACKAGING DIFFERENTIATE ด้วยขนาดกล่องเล็กสะดวกสำหรับแม่บ้านที่สามารถหิ้วผงซักฟอกที่มีขนาดแค่
1 ใน 5 ของกล่องผงซักฟอกแบบเก่า ทำให้ผู้ซื้อไม่ต้องมีปัญหากับน้ำหนักกล่องผงซักฟอกที่ใหญ่เกินไป
แต่ให้ปริมาณการซักเท่ากับแอทแทคที่ใช้เพียงช้อนเดียว
นอกจากนี้ขนาดกล่องยังสร้างความพอใจให้กับร้านค้าที่ไม่ต้องเปลืองที่วางขายและเก็บผงซักฟอก
"แอทแทค" ด้วย
"แอทแทคเป็นสินค้าหลักที่สำคัญอีกตัวหนึ่งของเรามันเป็นสัญญาที่บ่งบอกให้ตลาดรู้ว่าเราต้องการ
RESHAPE การผลิตของเราไปสู่สินค้าที่หลากหลายมากขึ้นอย่างจริงจัง และแอทแทคทำท่าจะเข้าไปในตลาดผงซักฟอกด้วยมือ
แต่เรายังไม่ FULLY ANNOUNCEMENT ว่าตัวเราเข้าไป เรายังยึดจุด PRODUCT POSITIONINGเป็นผงซักฟอกสำหรับเครื่องอยู่
ทำให้เรายังไม่โฆษณาตูมตามออกไปว่าซักมือได้เรายังไม่พร้อมถึงขนาดนั้น"
ผู้บริหารการตลาด กล่าวอย่างถ่อมตัวขณะที่ตัวเลขรายงานเข้ามาเป็นระยะว่ายอดขายบางแห่งได้ถึง
400 หีบ
การรุกล้ำเข้าไปกินแดนส่วนแบ่งการตลาดผงซักฟอกด้วยมือซึ่งวิศิษฐ์ รักษ์วิศิษฐ์วงศ์
ผู้จัดการฝ่ายธุรการขายของกิจสยามกว่าวว่าจ้าวตลาดขณะนี้ "บรีส"
ที่มีส่วนแบ่งตลาด 30 - 40 % รองลงมาก็คือ "เปา" แชร์ 30 % และอันดับสามคือ
" แฟ้บ" ที่มีแชร์ 20 %
การเข้ามาของ "แอทแทค" ทำให้เป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดและจะต้องมีวิธีการปกป้องแชร์จากคู่แข่งอย่างลีเวอร์และคอลเกตออกมาสู้แน่นอนส่วนสหพัฒนพิบูลได้ชิงตัดหน้าออก
"เปาคอมแพ็ค" ใน PRODUCT CONCEPT เดียวกับแอทแทคมาได้ครึ่งปีแล้วและ
" เปาคอมแพ็ค" ในช่วงแรกได้ตั้งเป้าหมายส่วนแบ่งตลาดประเภทผงซักฟอกสำหรับเครื่องประมาณ
5 %
ศึกครั้งนี้ใครดีได้เค้กชิ้นใหญ่มูลค่ารวมทั้งหมดประมาณ 3,350 ล้านบาท
และถ้าแอทแทคสามารถครองตลาดได้มากตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 110 ล้านบาท นั่นย่อมหมายถึงว่าครองส่วนแบ่งตลาดได้เกือบครึ่งหนึ่งของตลาดผงซักฟอกด้วยครื่องที่มีมูลค่ารวม268
ล้านบาทหรือ 8 % ของมูลค่ารวมทั้งหมด
อย่างไรก็ตามปัญหาเล็กๆ จากการใช้กลยุทธ์ราคาในช่วงแนะนำส่งเสริมให้คนทดลอง
ใช้แอทแทค (TRAIL CAMPAIGN) ก็เกิดขึ้นอย่างที่ผู้บริหารไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
นั่นคือในช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมามีบางห้างสรรพสินค้าใหญ่บางแห่งได้ตัดราคาขายแอทแทคต่ำลงมาชนิดครึ่งต่อครึ่ง
เช่น แอทแทคขนาด 1500 กรัมขายเพียงแค่กล่องละ 63บาท จากราคาหน้ากล่อง 120
บาท กล่าวกันว่า GIMMICKนี้ทำเอาผู้บริหารกิจสยามปั่นป่วนไปหมด
เพราะในช่วงแนะนำนั้นแอทแทค ขนาด 300 กรัม จะลดราคาเหลือเพียง 20 บาทและฝากล่องยังมีมูลค่าอีก
20 บาทไปแลกซื้อแอคแทคขนาด 1500 กรัมซึ่งราคาหน้ากล่อง 120 บาทแต่ทางห้างได้ตั้งราคาขายไว้ต่ำกว่าตลาดคือ
83 บาทเมื่อเอาคูปอง ไปแลกก็จึงลดเหลือแค่ 63 บาทต่อกล่องเพื่อส่งเสริมการขายของห้างแต่ไม่เป็นผลดีต่อตลาดรวมทั้งหมด
เมื่อพูดถึงการเกิดของแอคแทคสินค้าตัวหนึ่ง ก็ตายไปนั่นคือแชมพูผง "แฟซ่า"
ที่มีตำนานอายุยืนยาวนับ 30 ปี นับตั้งแต่ชื่อแฟซ่าที่กลายเป็น GEBERUC BANE
สำหรับเรียกแชมพูในสมัยหนึ่งและเป็น MARKET LEADER ที่ครองความเป็นหนึ่งโดยมีแชมพูผง
"ไลอ้อน" เป็นคู่แข่งแต่เมื่อแชมพูน้ำเริ่มเข้า มามีบทบาทและมีอิทธิพลเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค
ก็ทำให้จุดจบของแชมพูผงเกิดขึ้น
"แฟซ่าผงเป็นเรื่องของยุคสมัยมากกว่า เราตัดสินใจจะเลิกในหลายปีมาแล้ว
เพราะมันไม่ COMMERCIALIZE แต่ระหว่างกำลังตัดสินใจอยู่นั้นทางไลอ้านเขาก็เลิกก่อน
ทำให้ตลาดทั้งหมดมาลงที่เราโดยยอดขายเราเพิ่มขึ้น 100 % จากเดิมแค่ 50 ต่อ
50 เราก็ทนต่อมาได้สักปีกว่า ๆ แนวโน้มก็ลงมาเรื่อยๆ ประกอบกับเราต้องใช้
PRODUCT CAPACITY ที่ทำแชมพูมาทำแอทแทคก็จึงถึงเวลาเลิกไปเลย" พงษ์ศักดิ์เล่าให้ฟัง
แต่วันนี้สินค้าหลักที่ทำกำไรให้ไทยคาโอก็คือแชมพูที่ครองตลาดได้มากเป็นอันดับสอง
รองจากลีเวอร์ โดยมี "ซันซิล" เป็นผู้นำตลาดบิวตี้แชมพูและคาโอเป็นที่สองทั้งสองกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ครองส่วนแบ่งถึง
70 % ของมูลค่ากว่า 1,600 ล้านบาท
และในปีที่แล้ว ตลาดแชมพูมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเพราะต้นปีที่แล้วการเข้ามาเจาะตลาด
SEGMENT ใหม่ของพรอคเตอร์ แอนด์แกมเบิลโดยใช้ "รีจอยส์" แชมพูผสมครีมนวดผมทำให้ลีเวอร์ต้องป้องกันความเป็นเจ้าตลาดตนเองเต็มที่ด้วยการออก
"ไดเมนชั่น ทู อินวัน" ขณะที่ค่ายคาโอก็หยุดนิ่งไม่ได้ต้องออก
"ซิโฟเน่" เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด 20 % หรือ 286 ล้านบาทนี้ด้วยโดยซิโฟเน่ออกโฆษณาพร้อมๆกับมาเลเซียและสิงคโปร์
กิจสยามเทงบให้ตัวใหม่นี้ไม่อั้นปีที่แล้วอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทเพื่อให้เดนสึทำโฆษณาและส่งเสริมการขายเพื่อดึงส่วนแบ่งตลาดให้ได้มาก
"คาโอเขามีความเชื่อว่าสินค้าของเขามีการวิจัยและพัฒนาจนแตกต่างกว่าคนอื่น
และโฆษณาคุณภาพ ขณะที่ค่ายลีเวอร์จะเก่งจับจุดการตลาดถูกเช่นโฆษณาไดเมนชั่นก็เน้นความเป็นผู้หญิงวันนี้ที่ใช้
2 IN 1 เป็นแฟชั่นสำหรับคนสมัยใหม่ แต่ไม่เน้นเส้นผมนุ่มสวยเหมือนรีจอยส์หรือซิโฟเน่ที่มีการวิจัยพัฒนาอย่างดีแล้ว"
ภาพพจน์ของผู้นำ % R & D ในผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้ผลดีต่อการเจาะตลาดประเภทสินค้าอื่นๆเช่น
SANITARY SEGMENT คาโอท้าชิงคู่แข่งในตลาดผ้าอนามัยเพราะ "ลอรีเอะ"
ได้ไต่บันไดรวดเร็วในปีที่แล้วครองแชร์อันดับที่สอง คือแชร์ 10.2% จากเดิม
4.4 % ในปีที่แล้วรองจาก เจ้าตลาด "โมเดส" ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
และใน SANITARY SEGMENT นี้ผ้าอ้อมเด็กยี่ห้อ "เมรีส์" (MERRIES)
ก็ได้ถูกนำเข้ามาทดลองตลาดเมื่อปลายปีที่แล้วนี้เอง แต่โครงการในอนาคต ที่จะผลิตสินค้าตัวนี้นั้นคงเป็นไปได้ยากเพราะปริมาณการใช้ยังมีน้อยมากในกลุ่มเป้าหมายทำให้ไม่คุ้มกับการลงทุนมหาศาลถึง
500 - 600 ล้านบาท
ปัจจุบันการทำกำไรอยู่ที่จะทำอย่างไรเพื่อให้ต้นทุนต่ำที่สุดเพื่อให้ได้เปรียบเชิงแข่งขันได้ดีในตลาด
? เป็นคำถามที่ท้าทายอินาโมริ การรมการผู้จัดการคนใหม่ ซึ่งเคยมีประสบการณ์การบริหารโรงงานคาโอที่โตเกียวมาก่อน
"การลดต้นทุนการผลิตในโรงงานเราจะเน้นแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพดีและราคาถูก
ซึ่งมีอยู่ในประเทศไทยมาใช้เพิ่มขึ้น และมีการนำเอาเทคโนโลยีที่คิดค้นจากหน่วยวิจัยและพัฒนาโดยคนไทย
รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการดูแลรักษาบำรุงเครื่องจักรและลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด
นี่คือแนวทางการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด" แหล่งข่าวในโรงงานไทยคาโอที่พระประแดงเล่าให้ฟัง
ทุกวันนี้อินาโมริจะต้องเดินทางสัปดาห์ละสองครั้งจากกิจสยามไปประชุมวางแผนการผลิตร่วมกันกับผู้จัดการโรงงานคือรุจน์
บัตรพรรธนะซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ต่อจาก ยูสุรุคุ โบตะเมื่อต้นปีนี้เองตามนโยบายของนาคากาว่ากรรมการผู้จัดการคนเก่าที่ต้องการให้เกิดระบบบริหารโดยคนไทยเพื่อคนไทย
หลังจากที่พงษ์ศักดิ์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดคนไทยคนแรกไปแล้วเมื่อปีที่แล้ว
ปัจจุบันที่โรงงานมีคนงานประมาณ 280 คนโดยเป็นการจ้างงานแบบ SUBCONTRACTOR
ประมาณ 100 คน
จากการทำงานที่ผ่านมารูปแบบการบริหารสไตล์ไทยคาโอ จะเป็นรูปของการทำตามคำสั่งจากเบื้องบนเป็นหลัก
แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการตลาดและการขายและขยายประเภทสินค้ามากขึ้น
ระบบการทำงานก็เปลี่ยนรูป เป็นพนักงาน ส่วนล่างเสนอขึ้นข้างบน โดยผู้บริหารระดับสูง
ชาวญี่ปุ่นจะรับทราบ ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจเนื่องจากที่นี่การตัดสินใจ มีลักษณะเป็นทีมและให้ผู้บริหารระดับสูง
คนไทยมีการลงทุนทำโครงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสำหรับผู้บริหารเพื่อให้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจได้รวดเร็วและทันเกมมากขึ้นในอนาคต
ปีนี้ไทยคาโอจะเดินนโยบายทั้งภายในและภายนอกบริษัทใหม่ที่จะ MORE AGGRESSIVE
ดังกล่าวข้างต้นนั้นสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าการปรับตัวเชิงการตลาด
เชิงรุกได้เร็วขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ? และการวางแผนผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เจาะตลาดความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริงได้หรือไม่?
นี่คือหน้าที่ของไทยคาโอที่จะหาหนทางรอดอยู่บนเวทีแข่งขันอันดุเดือดในยุคเศรษฐกิจเช่นนี้