Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2533
กำนันทรงมีแต่ทรงกับทรุด             
โดย ขุนทอง ลอเสรีวานิช
 


   
search resources

Investment
Agriculture
ทรง องค์ชัยวัฒนะ
ละมัย เป้านงคราญ




ท่าข้าวกำนันทรงเกิดขึ้นมาจากความเหมาะสมของทำเลที่ตั้งซึ่งสอดคล้องกับระบบการขนส่งในขณะนั้น

ในขณะที่ปากน้ำโพคือจุดบรรจบที่แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ไหลมาพบกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาพยุหคีรีก็คือ ปลายทางที่ข้าวเปลือกจากท้องนาในเขตภาคเหนือตอนล่างซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวใหญ่ที่สุดในประเทศถูกลำเลียงมารวมกันก่อนจะกระจายสู่โรงสีในภาคกลาง

ก่อนพ.ศ. 2500 ตลาดข้าวเปลือกตามริมฝั่งแม่น้ำยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากการขนส่งข้าวทางน้ำซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักในสมัยนั้นทำได้เฉพาะฤดูน้ำหลากเท่านั้น ส่วนในฤดูแล้งแม่น้ำเจ้าพระยาตื้นเขินเป็นบางตอนทำให้การขนส่งไม่สะดวก

จนกระทั่งเขื่อนเจ้าพระยาเกิดขึ้นเมื่อปี 2500 ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนในพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดชัยนาทขึ้นไปทางเหนือมีมากพอต่อการคมนาคมทางน้ำ พ่อค้าข้าวจากกรุงเทพและจังหวัดภาคกลางสามารถล่องเรือขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เพื่อหาซื้อข้าวเปลือกได้

แต่จุดที่เรือบรรทุกข้าวจะขึ้นไปได้ไกลสุดก็เพียงอำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์เท่านั้น การขนส่งข้าวเปลือกจากพื้นที่เพาะปลูกเหนือจังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไปจึงต้องใช้รถบรรทุกขนข้าวมาถ่าย ลงเรือที่นครสวรรค์อีกทีหนึ่งเพื่อกระจายข้าวเปลือกไปสู่โรงสีภาคกลาง

ถัดมาทางใต้ของอำเภอโกรกพระคืออำเภอพยุหะคีรี ซึ่งมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เพราะอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาและห่างจากทางหลวงสายเอเชียเพียงหนึ่งกิโลเมตรเท่านั้น

ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระช่วงอำเภอพยุหะคีรีจึงเป็นจุดที่เรื่อข้าวจากภาคกลางมาจอดรับซื้อข้าวเปลือกที่มาจากทางเหนือ เกิดเนตลาดกลางข้าวเปลือกหรือท่าข้าวขึ้นมาโดยธรรมชาติ

ปี 2508 ทรง องค์ชัยวัฒนะ กำนันตำบลเนินมะกอกในอำเภอพยุหะคีรีซึ่งเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของการซื้อขายข้าวเปลือกจากริมตลิ่งบนที่ดินในความครอบครองของตนอยู่หลายปี ประกอบกับตัวเองก็มีอาชีพค้าขายข้าวเปลือกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความเคลื่อนไหวนั้นด้วยพบว่า บ่อยครั้งที่ผู้ซื้อและผู้ขายคุยกันไม่รู้เรื่องต่างฝ่ายต่างกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าเอาเปรียบตั้งแต่เรื่องน้ำหนักข้าวเปลือกที่ซื้อขายกัน การชำระเงินไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนย้ายและเก็บรักษาข้าวเปลือกก็มีไม่เพียงพอ

โดยบทบาทของผู้นำการปกครองในระดับท้องถิ่นซึ่งต้องแก้ไขปัญหาความไม่สงบในท้องถิ่นผสมผสานด้วยสัญชาติญาณของพ่อค้าที่มองหาลู่ทางจากช่องว่างดังกล่าว ประกอบกับตัวเองก็ครอบครองที่ดินริมแม่น้ำซึ่งพ่อค้าซื้อขายข้าวเปลือกต้องผ่านเข้าออกอยู่แล้ว กำนันทรงจึงตั้งท่าข้าวขึ้นมาเพื่อให้บริการทางด้านเครื่องชั่ง การขนย้ายและเก็บข้าวเปลือกตลอดจนการรับประกันการชำระเงินให้กับผู้ขายเอง

ท่าข้าวกำนันทรงไม่ใช่ท่าข้าวแห่งแรกและแห่งเดียวที่เกิดขึ้นมาจากเงื่อนไขตามธรรมชาตินี้ ท่าที่มีมาก่อนคือท่ายายจวน หลังจากเกิดท่ากำนันทรงในปี 2508 แล้ว ในปี 2515 ปริมาณและราคาส่งออกของข้าวไทยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นแรงกระตุ้นให้โรงสีมีความต้องการข้าวเปลือกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ท่าข้าวใหม่ ๆ ที่พยุหะคีรีเพิ่มขึ้นมาอีก 4 เท่าคือ ท่าจำรัส ท่าโรงน้ำปลา ท่าโกโบและท่าเสี่ยเนี้ยว อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน

ทั้งหกท่านี้ท่ากำนันทรงมีขนาดใหญ่ที่สุดคือ มีสัดส่วนปริมาณข้าวเปลือกที่ซื้อขายกันประมาณ60%ของปริมาณการซื้อขายรวมปริมาณข้าวเปลือกที่ผ่านท่า กำนันทรงโดยเฉลี่ยตกประมาณ 2,000 - 2,500 ตันต่อวัน ถ้าเป็นช่วงที่ผลผลิตมากและมีภาวะส่งออกดีเคยขึ้นไปถึง 4,000 ตันต่อวัน ราคาซื้อขายข้าวเปลือกที่ท่านี้เป็นราคามาตรฐาน ที่ประกาศออกไปทั่วประเทศผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการเทียบเคียง สำหรับการซื้อขายในท้องถิ่นอื่น ๆ

แม้ปัจจัยทางด้านการคมนาคมซึ่งเคยเป็นเงื่อนไขของการเกิดท่าข้าวกำนันทรงจะเปลี่ยนไปแล้วกล่าวคือ การขนส่งทางน้ำเริ่มลดบทบาทลงการบรรทุกข้าวเปลือกไปยังโรงสีที่ตั้งอยู่ตามริมแม่น้ำ โดยทางเรือเริ่มหมดไปหันมาใช้รถบรรทุกมากขึ้น แต่บทบาทของท่าข้าวก็ยังคงดำรงอยู่

"ตอนนั้นเรายังวิตกกังวลว่าตลาดข้าวนี้น่าจะสูญไป ชนิดที่เรียกว่าต่อไปจะไม่มีคนมาซื้อข้าวแถวพยุหะแล้ว เนื่องจากการคมนาคมและการสื่อสารสะดวก แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่กลับกลายเป็นว่ายิ่งมีมากขึ้น " กำนันทรงกล่าว

ความยิ่งใหญ่ของท่าข้าวกำนันทรงสืบเนื่องมาจากภาวการณ์ปลดคู่แข่ง ท่าข้าวที่เกิดขึ้นมาในระยะใกล้เคียงกันก็มีขนาดเล็กกว่ามากในขณะที่ปริมาณการซื้อขายก็มีมากพอที่จะแบ่งปันกันระหว่างท่าข้าวต่าง ๆ

แม้ระบบการขนส่งจะเปลี่ยนจากทางน้ำมาเป็นทางบกมากขึ้น ความสำคัญของท่าข้าวยังคงมีอยู่ในฐานะแหล่งรวบรวมข้าวเปลือกที่จะป้อนไปให้กับโรงสี

โรงสีส่วนใหญ่จะกระจายกันอยู่ในที่ราบลุ่มแถบภาคกลาง ข้าวเปลือกจากท้องนาในภาคกลางจะไหลเข้าสู่โรงสีโดยตรง ทั้งผ่านพ่อค้าท้องถิ่นและเกษตรกรนำไปขายเองเพราะความสะดวกในด้านคมนาคมและระยะทางจากแหล่งเพาะปลูกไปยังโรงสีก็ไม่ไกลนัก ถึงกระนั้นปริมาณข้าวก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการเพราะโรงสีในภาคกลาง มีขนาดใหญ่และมีจำนวนมาก จำเป็นต้องอาศัยข้าวจากพื้นที่ทางเหนือด้วย

นอกจากนั้นข้าวเปลือกจากภาคกลางเป็นข้าวเปลือกพันธ์ดี สีได้ข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ในสัดส่วนสูง จึงต้องนำข้าวเปลือกจากภาคเหนือ ตอนล่างซึ่งมีคุณภาพรองลงมา ราคาถูกกว่าไปสีปนกับข้าวเปลือกพันธ์ดีเพื่อลดต้นทุน

ในแง่ของผู้ซื้อซึ่งมีทั้งผู้ซื้อที่มาจากโรงสีในภาคกลางโดยตรง และผู้ซื้อที่เป็นพ่อค้าคนกลางซื้อข้าวเปลือกไปขายให้กับโรงสีอีกทีหนึ่ง การมีท่าข้าวทำให้ไม่ต้องเดินทางไปซื้อข้าวถึงแหล่งเพาะปลูกในหมู่บ้าน ซึ่งนอกจากจะเสียเวลาตระเวนไปหลาย ๆ ที่กว่าจะได้ข้าวในปริมาณที่มากพอกับความต้องการแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องประเภทคุณภาพของข้าวแต่ละแหล่งที่ไม่เหมือนกันด้วย แต่ถ้าซื้อจากท่าข้าวจะมีข้าวเปลือกในปริมาณมาก และหลายคุณภาพให้เลือกตามความต้องการได้

ในแง่ของผู้ขายซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าท้องถิ่นรับซื้อข้าวจากชาวนา นอกจากจะไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงโรงสีในภาคกลางแล้ว ยังมีอำนาจในการต่อรองราคาได้ในระดับหนึ่งจากระบบผู้ซื้อและผู้ขายหลายรายในท่าข้าวแทนที่จะต้องเป็นฝ่ายยอมรับราคาที่โรงสีเป็นผู้ตั้งแต่เพียงฝ่ายเดียว

ท่าข้าวจึงเป็นจุดพบกันครึ่งทางระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย และเป็นจุดที่ราคาข้าวเปลือกถูกกำหนดขึ้นด้วยกลไกตลาดอย่างแท้จริง จากการต่อรองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายหลาย ๆ ราย เมื่อผู้ขายขนข้าวเปลือกมาถึงท่าข้าวจะมีการตรวจสอบคุณภาพรวมทั้งประเภทของข้าวเปลือกด้วยวิธีการบดเพื่อดูเปอร์เซ็นต์ข้าวที่หักและการวัดความชื้น หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายจะต่อรองราคาซื้อขายกัน

ผู้ซื้อจะต้องตั้งราคาซื้อโดยอิงกับราคาข้าวสารส่งออกจากผู้ส่งออกในกรุงเทพฯเป็นหลัก แล้วคำนวณย้อนกลับมาว่าข้าวเปลือกชนิดนั้นจะสีเป็นข้าวสารออกมาได้ในปริมาณเท่าไรและจะขายได้ในราคาไหนเพื่อตั้งเป็นราคารับซื้อข้าวเปลือกอีกทีหนึ่ง

ทางด้านผู้ขายถ้าเป็นพ่อค้าด้วยกันแล้ว ก็จะมีวิธีคำนวณราคาเช่นเดียวกัน ถ้าเป็นเกษตรกรนำมาขายเองหรือพ่อค้ารายย่อยจะตั้งราคาโดยอิงกับราคาซื้อขายในช่วงนั้น ๆ ทางท่าข้าวจะให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภาวะการส่งออก ราคาข้าวสารในกรุงเทพซึ่งเป็นข้อมูลจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์และข้อมูลราคาซื้อขายข้าวเปลือกของวันที่ผ่านมา ณ ท่าข้าวเอง

การมีผู้ซื้อหลายรายในท่าข้าว ทำให้มีการแข่งขันกันซื้อข้าวเปลือก เพื่อให้ได้ครบตามจำนวนที่จะต้องส่งมอบให้กับโรงสีทำให้ผู้ขายมีสิทธิที่จะเลือกขายตามราคาที่ตนพอใจ การแข่งขันกันในระหว่างผู้ซื้อจะใช้วิธีการประมูลและส่งมอบกันทันที

ท่าข้าวจึงเป็นตัวสะท้อนราคาซื้อขายข้าวเปลือกที่แท้จริง ไม่ใช่ผู้กำหนดราคาเสียเอง

หลังจากปี 2522 ซึ่งรัฐบาลเปรมหนึ่งพยายามโฆษณารณรงค์ให้มีการจัดตั้งตลาดกลางสำหรับพืชผลเกษตรขึ้นทั่วประเทศตามเป้าหมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ท่าข้าวกำนันทรงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแบบอย่างแนวทางให้เดินตาม

การรณรงค์ในครั้งนั้นไม่สามารถผลักดันให้เกิดตลาดกลางพืชผลเกษตรขึ้นมาได้ เพราะความแตกต่างของสินค้าพืชไร่อื่นกับข้าวเปลือกและความไม่เข้าใจในเงื่อนไข รายละเอียดของการจัดตั้งตลาดกลางข้าวเปลือกอย่างแท้จริง แต่ท่าข้าวกำนันทรงซึ่งมีบทบาทอย่างเงียบ ๆมาหลายปีก็เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นจากการประชาสัมพันธ์ของรัฐ

ทุก ๆ ปีท่าข้าวกำนันทรงจะเป็นสถานที่ศึกษาดูงานทำวิจัยเกี่ยวกับตลาดพืชผลเกษตรของนักศึกษานักวิชาการ ข้าราชการและเกษตรกรที่มาจากทั่วรวมทั้งชาวต่างประเทศด้วย

ตัวกำนันทรงเองก็มีภาระหน้าที่ใหม่คือการเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องท่าข้าวให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมและรับเชิญไปดูดตามหน่วยงานต่าง ๆทั้งเอกชนและรัฐบาล

ความยิ่งใหญ่ของท่าข้าวกำนันทรงเป็นความเย้ายวนใจที่กระตุ้นให้นักธุรกิจหลายรายหันมาให้ความสนใจกับกิจการท่าข้าวเพิ่มขึ้น

นับตั้งแต่ต้นปี 2530 เป็นต้นมาบนทางหลวงสายนครสวรรค์ - พิษณุโลกซึ่งมีความยาวประมาณ 130 กิโลเมตรมีท่าข้าวใหม่ ๆ เกิดขึ้นมามากมายหลายแห่ง นับตั้งแต่ท่าข้าวบริเวณสี่แยกเก้เลี้ยวที่ห่างจากตัวจังหวัดนครสวรรค์ไม่ไกลนัก ถัดขึ้นไปคือท่าข้าวโพธิ์ไทรงาม ท่าข้าววังแดง และตลาดกลางพืชผลพิษณุโลกที่รู้จักกันในชื่อว่าท่าละมัย บริเวณสามแยกต้นหว้า ทางเข้าจังหวัดพิษณุโลก

ในเขตจังหวัดพิจิตรเองและอำเภออื่นของพิษณุโลกเช่นบางระกำและพรหมพิรามก็มีท่าข้าวเกิดขึ้นมาเช่นเดียวกัน

" ในรัศมี 50 กิโลเมตรจากสามแยกต้นหว้านี้มีท่าข้าวเกิดขึ้นมาประมาณ 30 แห่ง " คนท้องถิ่นรายหนึ่งให้ภาพความเฟื่องฟูของธุรกิจนี้

ความตื่นตัวในเรื่องท่าข้าวเป็นผลโดยตรงจากการขยายตัวของการส่งออกข้าวของไทยที่เคยอยู่ในระดับ 4 ล้านตันต่อปีซึ่งถือว่ามากแล้ว เพิ่มขึ้นเป็น 4.3 , 4.8 จนถึง 6 ล้านตันในปี 2530 , 31และ 32 ตามลำดับ

การขยายตัวของการส่งออกทำให้ความต้องการข้าวเปลือกเพื่อสีเป็นข้าวสารเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณข้าวเปลือกอยู่ในระดับคงที่เนื่องจากความจำกัดของพื้นที่นาส่วนหนึ่งถูกแปรสภาพไปเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัยและรีสอร์ทรวมทั้งการซื้อขายเปลี่ยนมือตามกระแสการเก็งกำไรจากที่ดินด้วย

ประสิทธิภาพของโรงสีขนาดใหญ่ในภาคกลางที่สามารถสีข้าวได้มากขึ้นโดยใช้เวลาสั้นลงก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งความต้องการข้าวเปลือกให้เกิดมากขึ้น " โรงสีที่สุพรรณบุรีถ้าสีเฉพาะข้าวเปลือกในจังหวัดเพียงเดือนเดียวก็หมดแล้ว " แหล่งข่าวในวงการโรงสียกตัวอย่าง

ความต้องการข้าวเปลือกจึงพุ่งไปสู่บริเวณภาคเหนือตอนล่างมากขึ้นเพื่อหาวัตถุดิบมาป้อนให้กับโรงสีในภาคกลางอย่างต่อเนื่อง ท่าข้าวถาวรรัตน์ในอำเภอพรหมพิราม พิษณุโลกเป็นตัวอย่างหนึ่งในกรณีนี้ที่ทำโรงสื่อไทยถาวรในจังหวัดสระบุรีอยู่ก่อนแล้วข้ามถิ่นมาตังท่าข้าวในพิษณุโลก เมื่อสามปีที่แล้วเพื่อหาข้าวเปลือกไปป้อนโรงสีของตัวเองและโรงสีอื่นในสระบุรี ลพบุรี

การเพิ่มขึ้นของความต้องการข้าวเปลือกยังเป็นปัจจัยทำให้ราคาข้าวเปลือกในช่วง สามสี่ปีที่ผ่านมาสูงขึ้น โรงสีบางแห่งและพ่อค้าท้องถิ่นที่เคยปักหลักซื้อขายข้าวเปลือกเก็บไว้เก็งกำไรขายในราคาแพงขึ้น

ปัจจัยทางด้านความต้องการและการเก็งกำไรราคาข้าวเปลือก ก่อตัวขึ้นเป็นเงื่อนไขของการก่อเกิดท่าข้าวใหม่ ๆ ในแถบจังหวัดพิษณุโลก พิจิตรและนครสวรรค์ ในขณะเดียวกันการประชาสัมพันธ์จากรัฐ ให้เกษตรกรขายผลิตผลของตนสู่ผู้บริโภคโดยตรงให้มากที่สุด การจัดตลาดนัดข้าวเปลือกที่เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2529 จากการริเริ่มของสมาคมโรงสี กรมการค้าภายใน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรทำให้แนวความคิดในเรื่องตลาดกลางมีคำอธิบายที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ล้วนเป็นแรงกระตุ้นทางอ้อมที่ทำให้ท่าข้าวเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น

ท่าข้าวใหม่ ๆ เหล่านี้คือคู่แข่งโดยตรงที่ขึ้นมาทาบรัศมีกับท่าข้าวกำนันทรง !!

" ผมไม่ได้ไปแข่งกับใครผมบอกได้ง่าย ๆ ว่าตลาดกลางข้าวในเมืองไทยจริง ๆ แล้วมีผมทำอยู่คนเดียว นอกนั้นไม่ใช่ตลาดกลางสักตลาดเดียวเลย " กำนันทรงพูดอย่างไม่อินังขังขอบกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่าง ช้า ๆ

ความหมายของคำว่าตลาดกลางนั้นคือ ท่าข้าวที่มีผู้ซื้อและผู้ขายมากรายเพื่อจะได้มีการแข่งขันต่อรองราคากันอย่างเสรี แนวความคิดที่สำคัญข้อหนึ่งคือผู้ที่เป็นเจ้าของตลาดกลางหรือท่าข้าวจะต้องไม่เข้าไปเป็นผู้ซื้อแข่งกับผู้ซื้อรายอื่น ๆ

"เว้นแต่ตอนเปิดใหม่ ๆ ที่เจ้าของตลาดอาจจะต้องเข้าไปรับซื้อเพราะยังไม่มีผู้ซื้อมากพอ เพื่อดึงให้คนมาขาย" แหล่งข่าวในวงการโรงสีรายหนึ่งพูดถึงข้อยกเว้น

การที่เจ้าของตลาดเข้าไปเป็นผู้ซื้อเสียเองอาจจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมเช่นในกรณีของเครื่องชั่งซึ่งเจ้าของตลาด เป็นผู้จัดหามาผู้ขายจะไม่มั่นใจว่าเจ้าของตลาด จะตั้งเครื่องชั่งอย่างเที่ยงตรง หรืออาจจะเกรงอกเกรงใจไม่กล้าสู้ราคากับเจ้าของตลาดที่กระโดดลงมาเป็นคนซื้อเสียเอง

ความนิยมของผู้ซื้อและผู้ขายข้าวเปลือกจะมีต่อท่าข้าวนั้น ส่วนสำคัญขึ้นอยู่กับความไว้ใจเชื่อถือในตัวเจ้าของท่าว่ามีความเป็นธรรมให้กับทุกๆฝ่าย สาเหตุหนึ่งที่ท่าข้าวกำนันทรงอยู่มาได้ก็เพราะว่าไม่ได้เข้าไปเป็นผู้ซื้อด้วย ในขณะที่ท่าอื่นๆที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันเจ้าของท่าเข้าไปซื้อข้าวเปลือกแข่งกับผู้ซื้อรายอื่นๆ ด้วย

"ผมไม่เคยซื้อข้าวและไม่เคยขายด้วย แต่ท่าอื่น ๆถ้าไม่ซื้อไม่ขายอยู่ไม่ได้กรอก เพราะว่ารายได้ไม่พอกับรายจ่าย" กำนันทรงกล่าว

รายได้ของธุรกิจท่าข้าว คือ ค่าบริการ ซึ่งประกอบด้วยค่าชั่งน้ำหนักครั้งละ 5 บาทค่ารถตักและแรงงานสำหรับตักข้าวและเทข้าวขึ้นลงจากรถบรรทุกตันละ 16 บาท หักค่าน้ำมันรถตักและค่าแรงกรรมกรแล้วจะเหลือรายได้สุทธิแค่ 11 บาทต่อตันเท่านั้น

การลงทุนสำหรับท่าข้าวขนาดเล็กๆเนื้อที่ 10 ไร่ ต้องใช้เงินอย่างต่ำ 5 ล้านบาทซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการเทลานซิเมนต์ซึ่งต้องเทหนาเพราะต้องรับน้ำหนักรถสิบล้อที่จะเข้ามารับข้าว

"เงินห้าล้านบาทนี้กำลงไปเฉยๆนะครับ ได้แค่ลานอย่างเดียว รายได้จากค่าบริการนั้นอย่างไรก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะมองไม่เห็นเลย" แหล่งข่าวกล่าว "เป็นธุรกิจที่ไม่น่าลงทุนถ้าจะหวังรายได้จากค่าบริการอย่างเดียว"

ท่าข้าวใหม่ๆที่เกิดขึ้นมาในช่วงสองปีมานี้เกือบทั้งหมดจึงมีลักษณะที่เจ้าของท่าเป็นผู้รับซื้อแต่เพียงผู้เดียว ถ้าจะมีผู้ซื้อรายอื่นบ้างก็เพียงสองสามรายเท่านั้น รายได้จากท่าข้าวลักษณะนี้คือการซื้อถูกขายแพงในรูปของการเก็งกำไร ท้าข้าวในลักษณะนี้จึงอยู่ในรูปแบบของจุดรับซื้อมากกว่าจะเป็นตลาดกลางในความหมายที่แท้จริง

แล้วทำไมท่าข้าวกำนันทรงถึงอยู่มาได้?

"ผมทำแบบตั้นทุนไม่มีแล้ว ที่ลงทุนไปทั้งหมดผมเก็บมาหมดแล้ว" กำนันทรงเปิดเผย

ท่าข้าวกำนันทรงเกิดขึ้นโดยธรรมชาติก่อนหลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ขยายตัวไปตามปริมาณการซื้อขายข้าวเปลือกที่เพิ่มขึ้น ที่ดินอันเป็นที่ตั้งของท่าข้าวเนื้อที่ 80 ไร่ในปัจจุบันนั้นเป็นที่ดินของกรมทางหลวงซึ่งกำนันทรงครอบครองมาตั้งแต่แรก และไม่เคยเสียค่าเช่าเลยจนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้เกิดคดีฟ้องร้องกันระหว่างกรมทางหลวงและกำนันทรงในเรื่องกรรมสิทธิ์ ปรากฏว่ากำนันทรงเป็นฝ่ายแพ้ต้องทำสัญญาเช่ากันเป็นกิจจะลักษณะแต่ก็เสียค่าเช่าในอัตราที่ถูกมาก

การลงทุนเท่าที่ปรากฏมีเพียงการเทลานซิเมนต์ เครื่องชั่งขนาดใหญ่ 2 เครื่องและรถตักข้าวนั้นผู้ซื้อข้าวที่ประจำอยู่กับท่าข้าวเป็นผู้ลงทุนสร้างขึ้นมาเอง

การลงทุนที่ต่ำและระยะเวลาที่ยาวนานถึง 25 ปีทำให้ท่าข้าวกำนันทรงเปรียบเสมือนทรัพย์สินสำหรับเก็บกินโดยไม่มีต้นทุนเลย

แต่รายได้จากค่าบริการนี้ก็นับว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับรายได้แฝงอีกตัวหนึ่งซึ่งทำกำไรอย่างมหาศาลให้กับกำนันทรง

" ธุรกิจที่แท้จริงของกำนันทรงคือ การค้าเงิน " แหล่งข่าววงการการเงินในจังหวัดนครสวรรค์เปิดเผยถึงรายได้ที่แท้จริงของท่าข้าวแห่งนี้

ระบบการซื้อขายข้าวเปลือกในท่าข้าว ฝ่ายผู้ซื้อต้องนำเงินมาวางไว้กับเจ้าของท่าก่อน เพื่อป้องกันปัญหาว่าซื้อไปแล้วจ่ายเงินให้กับผู้ขายไม่ครบหลังจากที่ตกลงซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว เจ้าของท่าจะจ่ายเงินที่ผู้ซื้อนำมาวางไว้ให้กับผู้ขายเอง

ในกรณีที่เงินไม่พอทางท่าข้าวจะเป็นฝ่ายออกให้ก่อน รอให้ผู้ซื้อส่งข้าวเปลือกไปให้โรงสี และได้เงินมาแล้วถึงมาหักหนี้กัน บริการด้านเงินกู้จากท่าข้าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะดึงผู้ซื้อขายมาซื้อขายข้าวเปลือกที่ท่าข้าว

ความร่ำรวยของกำนันทรงที่ใคร ๆ เข้าใจว่ามาจากการดำเนินกิจการท่าข้าวนั้นเป็นความจริง แต่แหล่งรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำไม่ได้มาจากค่าบริการหากเป็นรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปล่อยให้กับผู้ซื้อข้าวเปลือกนั่นเอง

" ผมก็บวกดอกเบี้ยตามอัตราที่แบงก์คิด " กำนันทรงพูดอ้อม ๆ ให้ไปตีความเอาเองว่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่คิดจากผู้มาใช้บริการนี้ของตนเป็นเท่าไร

" หมื่นละเจ็ดบาท ต่อวันนะครับ " ผู้ซื้อข้าวเปลือกรายหนึ่งซึ่งใช้เครดิตจากกำนันทรงด้วยเปิดเผยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงซึ่งสูงถึง 25.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

" ลองคิดกันอย่างคร่าว ๆ โดยใช้ตัวเลขขั้นต่ำมาคำนวณ ปีหนึ่งมีข้าวผ่านท่ากำนันทรงห้าแสนตัน ๆ ละ 3,000 บาท ถ้าเพียงแค่หนึ่งในห้าเป็นการซื้อที่ต้องใช้เงินกู้หมื่นละเจ็ดบาทต่อวันของกำนันปีหนึ่งๆ กำนันจะมีรายได้ที่ยังไม่หักต้นทุนจากธนาคารปีละ 25 ล้านบาทโดยนั่งอยู่เฉย ๆ นี่คิดกันแบบขั้นต่ำที่สุดแล้วนะ " แหล่งข่าวรายเดิมให้ภาพรายได้แฝงอันมหาศาลของท่าข้าวกำนันทรง

โดยข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ซื้อข้าวประจำท่าข้าวกำนันทรงประมาณเกือบ 100 รายส่วนใหญ่จะเป็นลูกหนี้กำนันทรงรายละ 1 - 2 ล้านบาท เป็นหนี้สินหมุนเวียนระยะเพียง 4 - 5 วัน เมื่อขายข้าวเปลือกให้โรงสีได้แล้วก็จะนำเงินมาคืน

กำนันทรงมีบัญชีอยู่กับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ รวม 22 สาขาใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เช็คกำนันทรงไม่เคยเด้งไม่ว่าจะเป็นจำนวนเงินแค่ไหนและไม่ว่าจะไปขึ้นเงินที่ใด

แหล่งข่าววงการเงินในนครสวรรค์รายหนึ่งเปิดเผยว่า ธนาคารที่มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นมาเป็นเวลายาวนานกับกำนันทรงคือธนาคารกสิกรไทย สาขานครสวรรค์ มีข้อตกลงระหว่างกำนันทรงกับธนาคารว่าเช็คกำนันทรงทุกใบที่วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทสามารถขึ้นเงินกับธนาคารกสิกรไทยในจังหวัดพิจิตร สุโขทัย พิษณุโลกและนครสวรรค์ได้ทันที

" เขาว่ากันว่าเงินที่แกปล่อยกู้ไปนั้นเป็นเงินของแกทั้งนั้น ไม่ได้กู้จากแบงก์เลย พอสองสามวันก็ CLEARING กันทีกับแบงก์ " แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว

หลักประกันเพื่อป้องกันหนี้สูญของกำนันทรงคือ ผู้กู้ต้องเขียนเช็คเท่ากับจำนวนเงินที่กู้มอบให้กำนัน และต้องเก็บข้าวเปลือกที่ซื้อมาไว้ในฉาง ที่อยู่ท่าข้าวจะขนข้าวออกไปได้ ก็ต่อเมื่อชำระเงินคืนแล้ว นำเงินมาจ่ายคืนเท่าใดก็ขนข้าวออกไปได้ในมูลค่าเท่ากับเงินที่นำมาชำระเท่านั้น

ระบบการปล่อยเงินกู้แบบนี้ทำกันทุกท่าข้าวเพราะนอกจากจะเป็นบริการที่จำเป็นสำหรับผู้ซื้อข้าวแล้ว อัตราดอกเบี้ยหมื่นละเจ็ดบาทต่อวันยังเป็นรายได้ที่แท้จริงซึ่งแฝงมากับธุรกิจท่าข้าวด้วย

ในบรรดาท่าข้าวที่เกิดขึ้นใหม่ ท่าข้าวที่เป็นดาวรุ่งและมีแนวโน้มที่จะเป็นคู่แข่งสำคัญของท่าข้าวกำนันทรงคือท่าข้าวของบริษัทตลาดกลางสินค้าเกษตร จังหวัดพิษณุโลก จำกัด หรือเรียกกันว่าท่าข้าวละมัยตามชื่อเจ้าของคือละมัย เป้านงคราญ

ละมัยเป็นคนอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลกจากคำบอกเล่าของเจ้าตัวมีพื้นเพที่ขลุกอยู่กันสินค้าเกษตรมาตลอดนับตั้งแต่กำเนิดที่เป็นลูกชาวนามาเป็นแม่ค้าเร่ซื้อข้าวเปลือกก่อนที่จะมาทำท่าข้าว

สามีละมัยชื่อ อุดมศักดิ์ กิจบรรณราษฎร์หรือโกสุ่ม เป็นคนพิจิตร มีอาชีพเดิมเป็นหลงจู๊ของโรงสีทักษิณไพศาลที่ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัยซึ่งต้องออกซื้อข้าวจากชาวนา พ่อค้าท้องถิ่นในพิษณุโลก และสุโขทัย ประมาณสิบปีที่แล้วจึงตั้งโกดังรับซื้อข้าวเปลือกของตัวเองขึ้นในตัวจังหวัดพิษณุโลก แต่ไม่ประสบความสำเร็จต้องล้มเลิกไปในเวลาต่อมา

หลังจากนั้นอุดมศักดิ์ก็หายหน้าหายตาไปจากสังคมท้องถิ่น ปล่อยให้ภรรยาเป็นคนออกหน้าในการทำธุรกิจพืชไร่ในชื่อบริษัทพิษณุโลกพืชผล จำกัดโดยตัวเองคุมการบริหารงานภายในเอง

ปี 2530 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ดำเนินโครงการปรับโครงสร้างการตลาดสินค้าเกษตร ด้วยการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตรเพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งที่จะขายสินค้าของตนโดยผ่านพ่อค้าคนกลางให้น้อยที่สุด

ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก บริษัทพิษณุพืชผล จำกัด ขอรับการส่งเสริมจากกรมการค้าภายในเพื่อตั้งตลาดกลางข้าวเปลือกขึ้นโดยเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทตลาดกลางสินค้าเกษตรจังหวัดพิษณุโลก จำกัด

"เราส่งเสริมทุกแห่ง แต่ไม่มีใครเชื่อมือราชการ" อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงพาณิชย์ท่านหนึ่งตอบคำถามที่ว่าทำไมถึงมีตลาดกลางพิษณุโลกเกิดขึ้นเพียงแห่งเดียว

"ครั้งแรกเราคิดว่า คงจะได้รับการช่วยเหลือจากทางการอย่าง เช่น ในเรื่องเงินทุนดอกเบี้ยถูกบ้าง แต่ทุกวันนี้ก็ได้แค่ชื่อว่าเป็นตลาดกลางที่ได้รับการส่งเสริม ทางกระทรวงพาณิชย์ก็ช่วย ประสัมพันธ์ให้บ้าง นอกนั้นก็ไม่ได้อะไร" ละมัยว่าราวกับจะผิดหวังที่เข้าไปขอรับการส่งเสริม

แต่การที่ได้รับการส่งเสริมนี่แหละที่เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความคึกคักให้กับท่าข้าวแห่งนี้ ก่อนหน้านั้นละมัยได้เริ่มทำท่าข้าวขึ้นมาแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เมื่อชื่อท่าข้าวกำนันทรงยังดังอยู่แต่เพียงเจ้าเดียว จนเมื่อได้รับการส่งเสริมจากกรมการค้าภายในแล้ว ทางกรมการค้าภายในให้ความช่วยเหลือด้านประชาสัมพันธ์ในหมู่พ่อค้า เกษตรกรผ่านทางวิทยุท้องถิ่น รวมทั้งการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกขึ้นปีละครั้ง ชื่อของท่าข้าวแห่งนี้ที่มีข้อความต่อท้ายว่า "ในความส่งเสริมของกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์และจังหวัดพิษณุโลก" จึงเริ่มเป็นที่รู้จักและเชื่อถือกันมากขึ้น

เงื่อนไขข้อหนึ่งของการส่งเสริม คือทุกวันทางท่าข้าวจะต้องประกาศราคารับซื้อขั้นต่ำ โดยทางท่าข้าวเป็นคนตั้งเองจากภาวะตลาด ราคานี้จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้จนกว่าจะถึงเที่ยงคืนของวันนั้น

ถ้าผู้ซื้อรายอื่นๆในท่าข้าวเสนอราคาซื้อต่ำกว่าราคาประกาศทางเจ้าของท่าข้าวจะต้องเป็นผู้รับซื้อเองทั้งหมด

"อาจจะสวนทางกับความหมายของตลาดกลางในทางทฤษฎีบ้าง แต่ที่กำหนดเงื่อนไขไว้อย่างน้อยเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ขายโดยเฉพาะผู้ขายที่เป็นเกษตรกรซึ่งเมื่อได้ยินประกาศราคาของท่าข้าวแล้วขนข้าวเปลือกมาขาย ถ้าเกิดผู้ซื้อให้ราคาต่ำกว่าราคาประกาศจะเป็นการเข้าทำนองผีถึงป่าช้า ที่คนขายไม่มีทางเลือกต้องขายในราคาต่ำ เพราะไม่มีใครหรอกที่ขนข้าวมาขายแล้วจะขนกลับไป" อดีตข้าราชการายเดิมแจงเหตุผลที่ต้องกำหนดให้เจ้าของท่าข้าวประกันราคาขั้นต่ำด้วย

นอกเหนือจากการซื้อเองตามเงื่อนไขประกันราคาขั้นต่ำแล้ว ละมัยยังรับซื้อข้าวเปลือกเป็นการส่วนตัวด้วย "หุ้นส่วนของบริษัทเป็นคนซื้อ กำไรเท่าไรก็มาแบ่งกันเอง ไม่ได้ซื้อในนามบริษัท" ละมัยบอก

จะแตกต่างกันตรงไหนระหว่างหุ้นส่วนซื้อในนามส่วนตัวกับซื้อนามบริษัทที่ตัวเองมีหุ้นส่วนอยู่ ข้อเท็จจริงก็คือ การซื้อถูกขายแพงเพื่อหารายได้ละมัยเองยอมรับว่า ลำพังค่าบริการท่าข้าวนั้นไม่คุ้มตลาดกลางพิษณุโลกนอกจากทำท่าข้าแล้วยังรับซื้อพืชไร่และขายปุ๋ยเป็นธุรกิจอีกทางหนึ่งด้วย

ที่ขาดไม่ได้คือ ระบบเงินกู้ที่มีเพดานดอกเบี้ยสูงลิ่ว เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของท่าข้าวเปิดเผยว่าอัตราดอกเบี้ยนั้นคิดเท่ากับท่าข้าวกำนันทรงคือ หมื่นละเจ็ดบาทต่อวัน แต่จากการสอบถามกับผู้ซื้อข้าวคือ หมื่นละ สิบบาทต่อวัน โดยมีธนาคารเอเชียสาขาพิษณุโลกเป็นการเงิน

บนเนื้อที่ 40 ไร่ของท่าข้าวละมัยนั้นมีผู้ซื้อประมาณ 20 ราย ปริมาณข้าวเปลือกที่มีการซื้อขายตกวันละ 1,000 ตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ต่อตันหลังช่วงฤดูเก็บเกี่ยวใหม่ ๆ

ในทางกลับกันปริมาณการซื้อขายที่ท่าละมัยนี้บวกกับที่ซื้อขายกันตามท่าอื่น ๆ คือส่วนที่หายไปจากท่าข้าวกำนันทรง

"เรื่องกระเทือนมันก็มีบ้าง บางทีคนจากท่าผมก็วิ่งไปซื้อที่อื่น" กำนันยอมรับถึงผลที่เกิดขึ้นจากการมีคู่แข่งรายใหม่

ความแตกต่างกันทางด้านการบริการของท่าข้าวแทบจะไม่มี เพราะมีลักษณะของการบริการคล้ายกันค่าบริการก็เท่ากัน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือน ๆ กัน

ในเรื่องของข่าวสารข้อมูลราคาก็ไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ทั้งท่ากำนันทรงและท่าละมัยต่างก็เป็นข้อมูลชุดเดียวกันจากกรมการค้าภายใน ถึงแม้ว่าท่าละมัยตั้งป้ายติดประกาศความเคลื่อนไหวของราคาเป็นที่เห็นเด่นชัดอยู่หน้าท่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว พ่อค้าที่ซื้อข้าวแต่ละรายะมีการติดต่อสอบถามความเคลื่อนไหวของโรงสีเจ้าประจำของตนอยู่ตลอดเวลาทางโทรศัพท์อยู่แล้ว การบริการด้านข้อมูลจึงไม่มีผลต่อการแข่งขันระหว่างท่ามากนัก

จุดแข่งขันระหว่างท่าข้าวข้อแรก คือ ความศรัทธา เชื่อถือที่ผู้ซื้อขายมีต่อเจ้าของท่าว่าจะให้ความเป็นธรรม ไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง

กำนันทรงอาจจะเป็นต่อในข้อนี้ที่มีชื่อเสียงมานานในเรื่องความเป็นกลางเที่ยงธรรม แต่ท่าละมัยก็ใช่ว่าจะเคยมีเรื่องเสียหายจนต้องตกเป็นรองในการแข่งขัน

ท่าข้าวใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจะตั้งอยู่ริมถนนสายพิษณุโลก - นครสวรรค์ รวมทั้งท่าละมัยด้วย ในขณะที่ท่ากำนันทรงอยู่ห่างจากถนนเข้าไปอีกประมาณหนึ่งกิโลเมตร เคยมีคนใกล้ชิดบอกกำนันทรงให้ย้ายท่าข้าวซึ่งอยู่ริมน้ำออกมาตั้งริมถนนซึ่งเป็นที่ดินของกำนันเองแต่ทำเป็นปั๊มน้ำมันและร้านอาหาร แต่กำนันทรงไม่เอาด้วยเพราะต้องลงทุนใหม่เป็นเงินหลายสิบล้าน

"ไม่ย้าย ย้ายก็เจ๊ง ต้องลงทุนใหม่ซึ่งไม่คุ้มค่าบริการ" กำนันทรงให้เหตุผล

ระยะใกล้ไกลจากถนนใหญ่อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งที่มีผลมากในเรื่องทำเลที่ตั้งนี้ คือท่าละมัยซึ่งตั้งอยู่ที่สามแยกต้นหว้า ทางเข้าจังหวัดพิษณุโลกนั้นอยู่ในทำเลที่ข้าวเปลือกซึ่งมาจากทางเหนือคืออุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก รวมทั้งพิจิตรจะต้องผ่าน

ราคาข้าวเปลือกไม่ว่าจะซื้อขายกันที่พิษณุโลกหรือพยุหะคีรีไม่แตกต่างกัน เพราะคิดจากต้นทางที่กรุงเทพฯเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างกันคือต้นทุนค่าขนส่งระยะทางประมาณ 150 กิโลกเมตรจากพิษณุโลกถึงพยุหะคีรีนั้นทำให้ต้นทุนลดลงประมาณ 50 บาทต่อตัน ซึ่งทำให้ราคาข้าวเปลือกที่ผู้ขายจะบวกต้นทุนค่าขนส่งเข้าไปด้วยต่ำกว่าราคาที่ท่าข้าวกำนันทรง

ระยะทางที่ใกล้กว่าจากผู้ขายมายังท่าข้าวแม้จะชดเชยกันได้กับระยะทางที่ยาวขึ้นจากผู้ซื้อที่ท่าข้าวไปยังโรงสีในภาคกลาง แต่ต้นทุนค่าขนส่งไม่ได้หักลบกันในลักษณะนี้ด้วย

"ในระยะทาง 100 กิโลเมตรถ้าขนข้าวไป 50 กิโล แล้วต่ออีกคันหนึ่งไป 50 กิโล เปรียบเทียบกับการไป 80 กิโลแล้วต่อไปอีก 20 กิโล ค่าใช้จ่ายแบบแรกจะถูกกว่า" สิงห์รถบรรทุกรายหนึ่งยกตัวเลขอธิบายวิธีการประเมินค่าขนส่ง

ความได้เปรียบในเรื่องทำเลอีกข้อหนึ่งคือใกล้กับแหล่งผลิต ผู้ขายสามารถวิ่งรถไปซื้อข้าวเพื่อมาขายได้ถึง 2 เที่ยวต่อวัน แต่ถ้าไปขายที่ท่ากำนันทรงแล้วจะได้เพียงวันละหนึ่งเที่ยวเท่านั้น

ในขณะที่ผู้ซื้อที่ต้องบรรทุกข้าวสารมาส่งให้โรงสีไปภาคกลาง จะวิ่งจากท่ากำนันทรง หรือจากท่าข้าวพิษณุโลก ซึ่งมีระยะทางเพิ่มขึ้น 150 กิโลเมตรก็ยังคงวิ่งได้คืนละหนึ่งเที่ยวเท่านั้น

ทำเลที่ใกล้ไกลแหล่งผลิตต่างกันซึ่งมีผลต่อปริมาณทางธุรกิจไปด้วย

ความแตกต่างที่สำคัญในด้านผู้ขาย ที่มาขายข้าวเปลือกที่ท่าข้าวกำนันทรงกับผู้ขายที่ท่า ละมัยคือผู้ขายที่ท่าข้าวกำนันทรงนั้นส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าคนกลางที่ไปตระเวนซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาหรือพ่อค้าท้องถิ่น เมื่อรวบรวมได้เต็มคันรถสิบล้อแล้วก็บรรทุกมาขายให้กับผู้ซื้อที่ท่าข้าว

การซื้อขายข้าวเปลือกแต่ละครั้งที่ท่ากำนันทรงจึงมีปริมาณสูงคันรถละ 10 - 20 ตัน

ในขณะที่ผู้ขายข้าวเปลือกที่ท่าละมัย 80% จะเป็นเกษตรกรนำมาขายเอง เพราะอยู่ใกล้ในรัศมีเพียง 30 - 40 กิโลเมตรจากท่าข้าวระบบการสื่อสาร โดยเฉพาะวิทยุที่เข้าไปถึงทุกครัวเรือนในชนบทได้กระจายข่าวสารเรื่องราคาไปอย่างทั่วถึงทำให้เกษตรกรมีข้อมูลที่จะตั้งราคราขายของ ตนเองได้แทนที่จะปล่อยให้ทางพ่อค้าท้องถิ่นตั้งราคาแต่เพียงฝ่ายเดียว

และด้วยระบบถนนหนทางที่ทั่วถึงกับการมีแหล่งรับซื้อซึ่งมีผู้ซื้อมากรายอยู่ใกล้ทำให้ชาวนาขาวไร่สามารถขนข้าวเปลือกใส่รถอีแต๋นไปต่อรองราคากับผู้ซื้อที่ข้าวได้ แทนที่จะต้องรอให้ผู้ซื้อมาตวงข้าวเปลือกถึงยุ้งโดยที่ไม่มีสิทธิเกี่ยงงอนในเรื่องราคาเหมือนดังแต่ก่อน

เมื่อเกษตรกรนำข้าวเปลือกมาขายที่ท่าข้าก็ดึงให้ผู้รับซื้อเข้ามาที่ท่าข้าวด้วยเพราะเป็นแหล่งที่มีข้าวเปลือกปริมาณมากและหลายประเภทให้เลือก

นอกเหนือจากท่าข้าวละมัยและท่าข้าวอื่น ๆ บนเส้นทางสายนครสวรรค์ - พิษณุโลกแล้ว ใกล้ ๆ กับท่ากำนันทรงเองบนถนนสายนครสวรรค์ - พยุหะ - คีรียังมีท่าข้าวกรุงไทยและท่าข้าวการเกษตรของกำนันเล็ก เจียมศรีชัย จากจังหวัดพิจิตรมาตั้งอยู่ใกล้ ๆ ด้วย

กำนันทรงเองยอมรับว่ามีผู้ซื้อหลายรายจากท่าของตนไปซื้อข้าวจากท่าอื่นด้วยซึ่งเป็นปกติวิสัยของพ่อค้าซื้อข้าวเปลือกที่จะไม่ซื้อข้าวเฉพาะท่าใดท่าหนึ่งเพียงท่าเดียว แต่จะแวะเวียนไปตามท่าข้าวที่มีข้าวมาก ๆ บางรายใช้เงินกู้จากกำนันทรงแต่ไปซื้อข้าวที่ท่าอื่น ซื้อมาแล้วยังไม่ขายก็ขนมาเก็บไว้ในยุ้งที่ท่ากำนันทรง

"ปัจจุบัน ยุ้งในที่ดินของท่าข้าวกำนันทรงกลายเป็นที่เก็บข้าวเปลือกสำหรับการเก็งกำไรมากกว่า" แหล่งข่าวรายหนึ่งให้ความเห็น

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับท่าข้าวกำนันทรงนั้นเป็นผลจากความหยุดนิ่งของตัวกำนันทรงเองในขณะที่สถานแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว กำนันทรงยังเชื่อว่าท่าข้าวของตัวเองในขณะนี้เป็นตลาดกลางข้าวเปลือกในความหมายที่แท้จริงที่ผู้เป็นเจ้าของท่าไม่เข้าไปรับซื้อข้าวเปลือกเองด้วย

ในความเป็นจริงการเป็นตลาดกลางที่แท้จริงนั้นมีความสำคัญเพียงแค่การเอ่ยอ้างถึงด้วยความภาคภูมิใจในความเป็นสถาบันเท่านั้น ในสภาพที่มีการแข่งขันเกิดขึ้นความเป็นตลาดกลางไม่ได้เกื้อหนุนในทางธุรกิจมากนัก กรณีของท่าข้าวละมัยเป็นตัวอย่างที่แม้เจ้าของท่าจะเข้ามาซื้อข้าวเปลือกด้วย แต่ก็มีผู้ซื้อรายอื่นและผู้ขายจำนวนมากมาร่วมซื้อขายด้วย

กำนันทรงไม่เชื่อว่าทำเลที่ตั้งของท่าข้าวจะเป็นเรื่องจำเป็น แต่เชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือความเชื่อถือที่ผู้มาใช้บริการมีต่อเจ้าของท่าข้าว ซึ่งในความเป็นจริงท่าข้าวอื่น ๆก็สามารถสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาได้เหมือนกัน

ความหยุดนิ่งของกำนันทรงนั้นยังเกิดจากภาวะไร้แรงกดดันที่จะต้องแข่งขัน เพื่อให้อยู่รอดดังเช่นท่าข้าวใหม่ๆที่เกิดขึ้นทาในระยะหลังการดำเนินกิจการท่าข้าวแบบไม่มีต้นทุนเลยแต่มีรายได้แฝงจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงลิ่ว กับการที่จะต้องไปลงทุนใหม่ในธุรกิจที่มีไม่ทางจะคุ้มทุนถ้าพึ่งค่าบริการเพียงอย่างเดียว ทำให้กำนันทรงไม่คิดที่จะทำอะไรเพื่อรักษาความเป็นท่าข้าวที่ใหญ่ที่สุดเอาไว้

"เราทำกันสบายๆ เหมือนกับรถยนต์ที่ผ่อนไปหมดแล้ว รถก็ยังใช้งานได้ดีจะวิ่งมั่งไม่วิ่งมั่งก็ช่างหัวมัน" กำนันทรงเปรียบเทียบความรู้สึกของตนเองกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

"ผมเชื่อว่าท่าข้าวกำนันทรงจะต้องเล็กลงไปเรื่อยๆ เพราะว่ามีคู่แข่งมากขึ้น แต่ว่าโอกาสที่ปริมาณข้าวเปลือกจะเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นไปได้ยากเพราะพื้นที่เพาะปลูกไม่สามารถขยายได้แล้ว" แหล่งข่าวในกระทรวงพาณิชย์ทำนายอนาคตของท่าข้าวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแห่งนี้

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับท่าข้าวกำนันทรงในวันนี้เพิ่งจะเริ่มต้นและดำเนินไปย่างช้าๆ โดยเนื้อแท้แล้วการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งสะท้อนถึงโครงสร้างการตลาดของการค้าข้าวเปลือก ระบบการคมนาคมและการสื่อสารที่กระจายไปอย่างทั่วถึงมีผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาโครงสร้างนี้ จากเดิมที่การเดินทางของข้าวเปลือกจากแหล่งผลิตไปสู่โรงสีต้องผ่านขั้นตอนพ่อค้าคนกลางหลายทอดโดยที่ชาวนาไม่มีอำนาจต่อรองในการตั้งราคา ถนนหนทางทำให้ชาวนานำข้าวเปลือกออกไปขายได้ง่ายขึ้นแทนที่จะต้องรอให้คนกลางเข้าไปซื้อถึงที่ ระบบข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและทั่วถึงผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์ทำให้ชาวนามีโอกาสรับรู้ข้อมูลอย่างเพียงพอที่จะกำหนดราคาที่ตนพอใจได้ และท่าข้าวหรือตลาดกลางคือแหล่งที่ชาวนาจะใช้อำนาจต่อรองสร้างราคาที่ดีที่สุดให้กับสินค้าของตน

ท่าข้าวกำนันทรง คือเวทีต่อรองระหว่างพ่อค้ากับพ่อค้า ในขณะที่ท่าข้าวใหม่ๆซึ่งไม่ไกลจากแหล่งผลิตอย่างท่าละมัยคือเวทีของพ่อค้ากับชาวนา การหยุดนิ่งของท่ากำนันทรงคือผลของการเปลี่ยนโครงสร้างการตลาดข้าวเปลือกที่ได้เริ่มขึ้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงจะยิ่งมีมากขึ้นหากมีท่าข้าวใหม่ๆเกิดขึ้นมารองรับและท่าข้าวกำนันทรงก็จะยิ่งบทบาทลดลงไปเรื่อยๆ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us