Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2533
สมองกลเสื่อม ที่ตลาดหุ้น             
โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
 


   
search resources

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สุรัตน์ พลาลิขิต
มารวย ผดุงสิทธิ์
Computer
Stock Exchange
สรรเสริญ วิสุวรรณ




ย้อนไปก่อนปี 2530 ตลาดหลักทรัพย์ไทย ยังไม่เติบใหญ่มีมูลค่าการซื้อขายหุ้นต่อวันเป็นพันล้านบาท อย่างปัจจุบันดัชนีราคาหุ้นไต่อยู่ที่ระดับแค่ 200 กว่าปริมาณบริษัทจดทะเบียนและรับอนุญาตมีไม่ถึง 100 แห่ง นั่นหมายถึงปริมาณข้อมูลที่ตลาดฯ ต้องจัดเก็บรวบรวมยังไม่มีมากนัก

เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตลาดฯ เอาเข้ามาใช้งานส่วน BACK OFFICE ในเวลานั้นมีเครื่อง WANG เพียงตัวเดียว ซึ่งก็ไม่ได้ใช้งานอะไรมากมายนัก ผู้รู้อธิบายว่า "มันเป็นเครื่องมินิสมัยโบราณ การเข้าสู่ไฟล์(FILE) ต่างๆค่อนข้างช้า ใช้เวลานาน และระบบที่ทำมาเดิมนี้เป็นระบบที่ต้องมีการเข้าไปแก้ไขโปรแกรมอยู่ตลอดเวลา" ปริมาณงานในตลาดหลักทรัพย์มีเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มระยะยาวว่าการเติบโตในตลาดทุนจะไปได้ดี ตลาดฯตัดสินใจที่จะขยายงานด้านคอมพิวเตอร์มากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต

ในส่วนของบุคลากรคอมพิวเตอร์ ตลาดฯได้รับเอาอาจารย์จากศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) มาบุกเบิกงานประมาณเดือนมีนาคม 2529 ทั้งนี้ผู้ที่แนะนำ ดร.สรรเสริญ วิสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ มอ.ให้กับดรมารวย ผดุงสิทธิ์ ก็คือ ดร.วัลลภ วิมลวณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์แห่งเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) และเป็นที่ปรึกษาด้านคอมพิวเตอร์แก่ตลาดหลักทรัพย์ด้วย

ดร.สรรเสริญ เล่าให้"ผู้จัดการ"ฟังว่า"ที่จริงนั้น ดร.วัลลภชวนผมมาอยู่ที่ซีพี แต่เผอิญตอนนั้น ตลาดหลักทรัพย์กำลังจะเปลี่ยนระบบใหม่ แกก็เลยเชิญผมมาช่วยที่ตลาดฯ และแนะนำให้รู้จักกับอาจารย์มารวย"

ส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นมีการพิจารณากันว่า หากจะใช้เครื่อง WANG ต่อก็ต้องมีการขยายเครื่องและต้องให้เป็นเครื่องรุ่นใกล้เคียงกับระบบที่ใช้อยู่เดิม ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณมากพอสมควรเพื่อที่จะ UPGRADE เครื่องและเปลี่ยนระบบใหม่

จังหวะที่ดร.สรรเสริญเข้ามารับงานในตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นจังหวะที่มีการประมูลเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบใหม่เข้ามาใช้งานแทน WANG ระบบ ที่มี SPEC ตรงตามการประมูลครั้งนั้นคือ เครื่อง VAX 8200 ของ บริษัทบางกอกด้าต้าเซนเตอร์(BDC)

ว่ากันว่า BDC มีปัญหาในเรื่องซอฟท์แวร์ คือต้องทำโปรแกรมงานทะเบียนหุ้นให้ตลาดฯพิจารณาถึง 4-54 แบบ ทำการปรับปรุงแก้ไขหลายครั้งหลายหน ทั้งนี้เพราะฝ่ายคอมพิวเตอร์คาดหมายว่าจะเอางานทะเบียนหุ้นทั้งหมดเข้าไปไว้ในเครื่อง VAX 8200 ได้ รังสรรค์ เฉลิมศรี อดีตหัวหน้าส่วนปฏิบัติการฝ่ายคอมพิวเตอร์ มอ.เช่นเดียวกับ ดร.สรรเสริญ แต่ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์ของ บลง.แอ็คคินซันบอกกับ"ผู้จัดการ"ว่า"เพราะพอเข้าไปได้ไม่กี่บริษัทเครื่องก็ชักเริ่มมีปัญหา อืด ทำงานช้าลงและเนื้อที่ทำการเก็บข้อมูลไม่พอต้องมีการขยาย"

รังสรรค์เท้าความไปในปลายปี 2530 ว่า"ฝ่ายคอมพิวเตอร์ในช่วงนั้น มีผมกับ อ.สรรเสริญและเจ้าหน้าที่เก่าอีก 2-3 คนที่คอยให้ข้อมูลจังหวะที่มีการปรับโปรแกรมเรื่องทะเบียนหุ้นในเครื่อง VAX 8200อยู่นี่ เรามองกันว่ามันมีข้อมูลมหาศาลทีเดียวซึ่งคงไม่สามารถ CONVERSE เข้าเครื่อง VAX 8200ทั้งหมดได้ พอดีกับว่าระบบในศูนย์ข้อมูลธุรกิจหลักทรัพย์ที่เราทำอยู่ก็เป็น LAN ซึ่งใช้งานได้ไม่มีปัญหาอะไรเลย เราจึงคิดว่าน่าจะลองศึกษาอันนี้อย่างจริงจัง เป็นไปได้ไหมว่าจะเอา LAN มาใช้ในงานทะเบียนหุ้นด้วย

ข้อดีในการเอาระบบ LAN มาใช้นั้นรังสรรค์ อธิบายว่า "ประการแรกคือ ราคาถูก ผมมองอันนี้เป็นปันดับแรก อีกอย่างคือมันมีความคล่องตัวยืดหยุ่นสุงกว่าเครื่องใหญ่มาก เวลาจะขยายระบบนี่ทำได้ง่าย แต่มันก็มีข้อเสียสำคัญอย่างหนึ่ง คือเราต้องการคนที่มีความรู้กับระบบนี้ มีความระเอียดรอบคอบที่จะคอยเอาใจใส่ ยิ่งมีอุปกรณ์มาเชื่อมมากนี่ ยิ่งต้องมีคนคอยดูแลระบบนี้ให้ดี"

กว่างานทะเบียนหุ้นทั้งหมดจะถูกเก็บเข้าไว้ในระบบ LAN ได้เรียบร้อยก็ตกประมาณเดือน ธันวาคม 2531 ล่าช้ากว่าที่วางแผนกันไว้ว่าจะให้เสร็จในเดือน สิงหาคม 2531 และกว่าจะใช้งานได้นั้นก็ล่วงเข้าปีถัดมา คือ 2532

โปรแกรมในเรื่องทะเบียนหุ้นมีมากมายแต่ในงานหลักๆ ก็มีงานโอนหุ้น งานรายงานหุ้น งานดูข้อมูล งานพิมพ์ กระจายหุ้น งานเพิ่มทุน งานรับหลักทรัพย์ใหม่ ทั้งนี้ข้อมูลทั้งหมดได้ CONVERSE ลงไปใน PC LAN เป็นส่วนมาก แต่ยังมีอีกราวกว่า 10 บริษัทที่ค้างอยู่บนเครื่อง VAX 8200 เช่นธนาคารทหารไทย เป็นต้น

อันที่จริงการขยายงานคอมพิวเตอร์ในตลาดหลักทรัพย์นั้น เป้าหมายใหญ่อยู่ที่โครงการ ซื้อขายหุ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นงานในส่วนของ FRONT OFFICE ตลาดฯมีแนวคิดในเรื่องนี้มาเป็นเวลานานแล้ว ดร.ดนัย มิลินทวณิช กรรมการบริษัทไมโครเนติกเล่าให้"ผู้จัดการ" ฟังว่า "ทางไมโครเนติคเข้าไปติดต่อกับตลาดตั้งแต่ปี 2529 เราต้องเข้าไปสำรวจดูว่าต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งตลาดฯในช่วงนั้นเป็นเหมือนเด็กอ่อน เราจึงคิดว่าควรจะหาพาร์ทเนอร์มาร่วมกันทำโครงการนี้"

ไมโครเนติคติดต่อกับตลาดหลักทรัพย์มิดเวสต์เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ได้มีการสาธิตให้ผู้บริหารระดับสูงของตลาดฯ ชมครั้งแรกที่โรงแรมรีเจนท์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2531 และยังได้เชิญให้ผู้บริหารของตลาดฯไปดูเทคโนโลยีของ DIGITAL EQUIPMENT CORP ในงาน WORLD DEC ที่เมืองคานส์ในประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอแลนด์ ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์ล่าสุดที่มิดเวสต์ และ DEC ร่วมกันติดตั้งระบบซื้อขายหุ้น

ผู้บริหารตลาดฯ ที่เดินทางไปในครั้งนั้น มี ดร.วีรศักดิ์ สุขอาณารักษ์ รองผู้จัดการตลาดฯ และดร.สรรเสริญ ผอ.ฝ่ายคอมพิวเตอร์

ดร.สรรเสริญนั้นมีแนวคิดอยู่ตลอดเวลาว่า คนไทยสามารถคิดเรื่องการทำซื้อขายหุ้นด้วยคอมพิวเตอร์ได้เอง ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเสาะหาเทคโนโลยีจากต่างชาติซึ่งมีราคาสูงกว่าหลายเทาตัว กล่าวกันว่า ดร.สรรเสริญสามารถพัฒนา ระบบได้ในวงเงินที่ต่ำกว่าซื้อระบบจากต่างประเทศถึง 3-4 เท่าตัว

ปัญหาการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ได้อยู่ที่เรื่องราคาเป็นด้านหลัก เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีการพัฒนาก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา ประเด็นสำคัญที่ตลาดฯต้องคำนึงถึงอย่างมากในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้คือความรวดเร็วแม่นยำในการให้บริการ

ดร.ดนัย ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่เรื่องประสบการณ์ อเมริกาใช้คอมพิวเตอร์ในการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นเจอเนอเรชั่นที่ 3 หรือ 4 แล้วมันผ่านขั้นตอนการเรียนรู้ต่างๆมากมาย อย่างที่อัมสเตอร์ดัมก็ยังล้าหลังอยู่มาก เพราะเพิ่งใช้ได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ถ้าเราทำเองแล้วเกิด มีปัญหาขึ้นมาใครจะรับผิดชอบผมไม่ได้คิดว่าคนไทย ทำไม่ได้ แต่ความต้องการของคณะกรรมการตลาดฯ ในเวลานั้นต้องการระบบที่เร็วที่สุด"

รังสรรค์เล่าให้"ผู้จัดการ" ฟังถึงแนวคิดของ ดร.สรรเสริญ เรื่องบันทึกคำสั่งซื้อขายหุ้น ซึ่งคิดค้นขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยพัฒนาระบบการซื้อขายหุ้นส่วนของโบรกเกอร์ว่า "การพัฒนานี้ทำได้โดยหาโปรแกรมสักอันหนึ่งที่จะช่วยโบรกเกอร์ จัดรูปแบบของข้อมูลคำสั่งซื้อขาย ที่จะส่งไปที่บูทของตัวเองในตลาดฯ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โปรแกรมนี้มีหน้าที่รับคำสั่งซื้อขายหุ้นจากนักลงทุนให้พนักงานคีย์เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บริษัทโปรกเกอร์ แล้วส่งมาด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ มายังเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บูทของโปรกกอร์แต่ละราย แล้วเทรดเดอร์ก็ฉีกเอาคำสั่งซื้อขายนั้นไปทำ พอเสร็จก็ทำยันยืนคำสั่งซื่อขายโดยคีย์ข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ของโปรกเกอร์ในห้องค้า และทำการส่งข้อมูลนี้กลับไปที่บริษัทด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง อาจจะใช้สายโทรศัพท์หรือสัญญาณดาวเทียมก็ได้

อธิบายให้ง่ายขึ้นก็คือการนำเอาระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้แทนการสั่งซื้อขายทางโทรศัพท์ "ข้อดีคือหากทุกรายมีระบบนี้เหมือนกันหมด มีรูปแบบคำสั่งเหมือนกัน ใช้โปรแกรมเดียวกันนี่ ขั้นต่อไปก็ง่ายมากที่จะติดตั้งระบบการซื้อขายของตลาดฯ เพียงแค่หาคอมพิวเตอร์มาอีกชุดหนึ่งแล้วต่อข้อมูลตรงนี้เข้าไปเท่านั้น"

นี่เป็นระบบที่ ดร.สรรเสริญ คิดจะทำในตอนแรก แต่สิ่งที่ออกไปคือ ฝ่ายคอมพิวเตอร์พยายามเอา PC LAN เข้ามาใช้ระบบการซื้อขายหุ้น ซึ่งมันทำให้มองเห็นว่า "กระจอก" ไป

รังสรรค์เล่าว่า "พูดจริงๆ คือประเด็นภาพพจน์ของตลาดหลักทรัพย์ ผมเสียดายเงิน ผมคิดว่าคนไทยน่าจะทำงานนี้ได้ แต่ปรากฏว่าเราต้องไปจ้างต่างประเทศทำ แล้วคิดดูว่าต่างประเทศเขาไม่รู้ลักษณะการซื้อขายในบ้านเรา พอเขาเข้ามาทำ เท่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้คือ เขาต้องมานั่งซักถามข้อมูลจากเรา ว่าระบบเป็นอย่างไร แล้วคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง มีช่องว่างทางภาษา ข้อความที่จะสื่อกันก็ลำบากมาก"

ฝ่ายคอมพิวเตอร์จึงคัดค้านเรื่องนี้อย่างมากๆ รังสรรค์ประกาศว่า "เราอยากให้คนไทยทำเราพยายามเสนอ PC LAN แต่ถ้าจะเอาระบบอื่น เราคงต้-องยอมแม้เราอยากให้คนไทยทำเองก็ตาม"

นี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งมวล ในงานคอมพิวเตอร์ ของตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ มันเป็นเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างทีมคอมพิวเตอร์ซึ่งนำโดย ดร.สรรเสริญและรังสรรค์ กับฝ่ายบริหารระดับสูงของตลาดหลักทรัพย์

วิโรจน์กล่าวกับ"ผู้จัดการ"ว่า "ผมเคยตอบโต้ ดร.มารวย และดรสรรเสริญมาแล้วครั้งหนึ่งในราวปี 2530 เพราะทั้งสองคนออกมาพูดว่าจะทำ ON LINE PRICING ในเดือนมีนาคม และทำTRADING SYSTEM ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ได้ในเดือนพฤษภาคมผมว่ามันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จะมาพูดอย่างนี้ เพราะเมื่อพูดออกมา บรรดาโบรกเกอร์ก็ต้องไปเตรียมหาแล้วว่าตลาดฯใช้เครื่องอะไร จะเตรียมรับมือกันอย่างไร ทั้งที่โดยโนว์ฮาว เทคโนโลยีและโปรแกรมเมอร์ของตลาดฯยังทำไม่ได้ ก็มีบุคลากรกันแค่ 2 คนเอง"

นั่นเท่ากับเป็นการปฏิเสธแนวคิดของดร.สรรเสริญ ขณะที่แนวโน้มการซื้อระบบจากต่างประเทศมีมากขึ้น

หลังจากที่ไมโครเนติค และตลาดหลักทรัพย์มิดเวสต์ ทำการสาธิตครั้งแรกไปแล้ว ผู้เสนอตัวรายอื่นๆ เริ่มมีมากขึ้น คู่แข่งที่เข้ามาติดต่อกับตลาดหุ้นไทยรายต่อมา คือ TANDEM ซึ่งมีบริษัท PHILIP เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องและมีข้อเสนอว่าจะให้ซอฟท์แวร์ที่ใช้ในตลาดหลักทรัพย์ไทเปฟรีด้วย

รายต่อมาเป็น IBM โดยมีบริษัท STC เป็นผู้ขายเครื่อง และมีการร่วมมือกับ SOFTWARE HOUSE ที่ออกแบบโปรแกรมเพื่อการค้าหลักทรัพย์ ให้ตลาดหลักทรัพย์แวนคูเวอร์

การสาธิตเครื่องโดยจำลองสภาพการซื้อขายจริงเป็นไปอย่างดุเดือดเข้มข้นระหว่างไมโครเนติค และมิดเวสต์ฝ่ายหนึ่ง กับ SCT และแวนคูเวอร์อีกฝ่ายหนึ่ง โดย TRADEM นั้นตกไปแต่รอบแรกเพราะวิธีการซื้อขายยังมีบางส่วนที่ใช้พนักงานทำ โดยเฉพาะเรื่องการ MATCHING ราคา ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ตรงตามที่คณะกรรมการต้องการ คือต้องการระบบที่เป็น AUTO MATIC MACHINE ทั้งหมด

การแข่งขันระหว่างไมโครเนติคและ SCT เป็นไปอย่างดุเดือด กระทั่งว่าในบรรดาผู้เข้าแข่งไม่กี่รายที่มีอยู่ มีผู้

ถูกต้องตามเงื่อนไขทุกอย่างอยู่รายดียวคือ ไมโครเนติค ซึ่งก็เท่ากับว่าควรจะได้รับการพิจารณา แต่การกลับเป็นว่าการประมูลครั้งนั้นต้องยกเลิก และให้ทำการซื้อขายด้วยวิธีพิเศษแทน

ดร.ดนัย เปิดเผยกับ"ผู้จัดการ" ว่า"เท่าที่ผมเคยแข่งขันกับ IBM มา ก็รู้ว่าเป็นคู่แข่งที่ไม่เคยยอมแพ้ไม่เคยยอมปล่อย เพราะโครงการนี้เป็นโคตรงการที่สองที่ผมชนะเขา"

อย่างไรก็ดี ด้วยคุณสมบัติของระบบและเงื่อนไขทางการเงินที่ดีกว่า ไมโครเนติคและมิดเวสต์จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลในเดือนกรกฎาคม 2532

กว่าจะได้เครื่อง VAX และระบบของมิดเวสต์มาในคราวนั้นก็เล่นเอาวิโรจน์ในฐานะรองประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ต้องออกแรงอย่างหนัก ถึงขั้นประกาศกลางที่ประชุมว่าถ้าใครเลือก IBM ซึ่งมีข้อเสนอทำมาพียงไม่กี่ข้อกระดาษ แต่ VAX นี้มีข้อเสนอหนาปึ้ก "ผมจะเดินออกจากที่ประชุมแล้วต่อไปนี้คุณทุกคนมาซัดกับผม"

กล่าวได้ว่าการประมูลระบบคอมพิวเตอร์สำหรับงานค้าหลักทรัพย์ซึ่งเป็น FRONT OFFICE ครั้งนั้นทำให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ในตลาดหลักทรัพย์แตกแยกกันเป็นเสี่ยงๆ แทบจะทุกคนทุกฝ่ายทะเลาะขัดแย้งกันอีรุงตุงนังไปหมด

วิโรจน์ให้ความสนับสนุนการซื้อระบบค้าหลักทรัพย์ของต่างประเทศ และระบบที่ดีของวิโรจน์คือระบบของมิดเวสต์ซึ่งทำงานบนเครื่อง VAX

ดร.สรรเสริญไม่สนับสนุนการซื้อระบบจากต่างประเทศ มีความเห็นว่าคนไทยสามารถทำได้เองในราคาที่ถูกกว่า ประหยัดงบประมาณกว่ามาก ระบบที่ ดร.สรรเสริญตั้งใจจะใช้คือ PC LAN

ดร.สุรัตน์ พลาลิขิต อดีตผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์ธนาคารมหานคร และถูก ดร.วีรศักดิ์ เพื่อนสนิท ดึงตัวเข้ามาร่วมให้คำแนะนำโครงการนี้ด้วยเมื่อปลายปี 2531 ให้การสนับสนุน IBM อย่างสุดชีวิต โต้แย้งกับวิโรจน์มาตลอดในการประมูล แต่ในที่สุดก็มานั่งแป้นเป็นผู้จัดการศูนย์คอมพิวเตอร์แทนที่ ดร.สรรเสริญ กับทั้งต้องรับผิดชอบดูแลการ ติดตั้งและดำเนินงานซื้อขายหุ้นด้วยระบบของมิดเวสต์บนเครื่อง VAX ต่อไป

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมีความเห็นแตกต่างกันขนาดไหน แต่ทุกคนก็ยังอยู่ร่วมกันภายใต้โครงสร้างและบทบาทที่ถูกกำหนดไว้แล้ว จะว่าไปมันก็เป็นโครงสร้างที่แปลกประหลาดไม่น้อย

หลังจากจบเรื่องการซื้อระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อมาใช้ในส่วนงาน FRONT OFFICE ทุกฝ่ายก็ตั้งตารอดูการ ติดตั้งและทดลองใช้ซึ่งจะเริ่มขึ้นในปลายปี 2533 แต่แล้วจู่ๆ ก็ปรากฏข่าวเรื่อง ความไม่เป็นธรรมในการให้บริการข้อมูลขณะทำการซื้อขายและการโจร-กรรมข้อมูลตลาดหลักทรัพย์

ปัญหาทั้งหลายวกกลับมาที่ความเป็นไปในฝ่ายคอมพิวเตอร์ซึ่งรับผิดชอบงานคอมพิวเตอร์ใน BACK OFFICE ทั้งหลายคืองานทะเบียนหุ้น ศูนย์รับฝากใบหุ้น ศูนย์ข้อมูลธุรกิจหลักทรัพย์

ดร.สรรเสริญ เปิดเผยผลงานในอดีตเกือบ 4 ปีเต็มในฝ่ายคอมพิวเตอร์ให้"ผู้จัดการ" ฟังว่า "เราพยายามพัฒนาเขียนโปรแกรมและรวบรวมข้อมูลต่างๆ เข้ามาเพื่อที่จะเปิดบริการให้มีการเผยแพร่ข้อมูล เราต้องการเป็นแหล่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ให้บริการได้อย่างทั่วถึง ทันต่อเวลาและถูกต้องแม่นยำ"

งานบริการที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์ทำมีอยู่ 4 โครงการคือ

ระบบศูนย์ข้อมูลธุรกิจ เป็นโครงการดั้งเดิมที่ ดร.มารวยเป็นผู้ริเริ่มก่อร่าง ข้อมูลที่ให้บริการคือรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์ (ในอดีตถึงปัจจุบัน) รายงานข้อมูลบริษัทจดทะเบียนและบริษัทรับอนุญาตข่าวสารประกอบการวิเคราะห์เพื่อลงทุน ข่าวสารรายงานสิทธิประโยชน์ต่างๆ ข่าวประกาศจากห้องค้า

ลักษณะของการให้บริการเป็นการส่งผ่านข้อมูลระหว่างระบบคอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ไปยังจอภาพ (TERMINAL) ของผู้รับบริการ หรือนัยหนึ่งคือ ON LINE COMPUTER โดยผ่านคู่สายโทรศัพท์มาตรฐาน

ผู้รับบริการศูนย์ข้อมูลธุรกิจได้แก่บริษัทสมาชิกหรือโบรกเกอร์ทุกราย ยกเว้น บงล. เอ็มซีซี ผู้รับบริการเหล่านี้จะได้ซอฟท์แวร์จากตลาดหลักทรัพย์ เมื่อมีการติดตั้งคู่สายโทรศัพท์เรียบร้อย พวกเขาก็สามารถใช้โปรแกรมเรียกข้อมูลต่างๆ ได้ทันที เพราะฝ่ายคอมพิวเตอร์ได้ตั้งระบบให้เป็นการสื่อสาร 2 ทาง (TWO WAYS COMMUNICATION)

ระบบงานบริการข้อมูล เป็นการบริการข้อมูลดิบให้แก่ผู้สนใจทั่วไปเพื่อนำไปประมวลผลและทำการวิเคราะห์เพื่อการลงทุน ได้แก่ข้อมูลในเอกสาร "หัวม่วง" ของตลาดหลักทรัพย์ สรุปสภาพการซื้อขายประจำวัน สรุปสถิติเบื้องต้นประจำวันของบริษัทจดทะเบียน ข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ในอดีตข้อมูลการซื้อขายในห้องค้าของแต่ละสมาชิก

ลักษณะของการบริการเป็นแบบเดียวกับการให้บริการในศูนย์ข้อมูลธุรกิจ คือการส่งผ่านข้อมูลทางคู่สายโทรศัพท์มาตรฐาน ผู้รับบริการมีประมาณ 40 ราย นอกจากโบรกเกอร์แล้วยังมีผู้ลงทุนรายย่อยและหนังสือพิมพ์บางฉบับด้วย

ระบบงานตรวจสอบสถานะของใบหลักทรัพย์ เป็นงานบริการเพื่อประโยชน์ ในการตรวจสอบสถานะของใบหุ้น ว่ามีการติดจำนวนหรืออายัดหรือไม่ กี่ใบโดยตรวจสอบได้จากเลขที่ใบหุ้น ชื่อหุ้น และวันที่ที่มีการแจ้งจำนำหรืออายัด

ลักษณะการให้บริการเป็นแบบเดียวกับในศูนย์ข้อมูลธุรกิจคือ ส่งผ่านข้อมูลทางคู่สายโทรศัพท์มาตรฐาน และให้ซอฟท์แวร์โปรแกรมแก่ผู้ใช้บริการซึ่งมีโบรกเกอร์สนใจใช้เพียง 3 รายเท่านั้น

ระบบรายงานซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นการส่งผ่านข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ภายในห้องค้าของตลาดหลักทรัพย์ขณะทำการได้ในทันที (REAL TIME PRICING) ให้กับผู้บริการ ซึ่งยังไม่มีการพิจารณาว่าจะให้บริการแก่ลูกค้าประเภทไหน เพราะยังเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการทดลอง และเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมในการบริการและการโจรกรรม ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์

ความเป็นมาของโครงการรายงานราคาซื้อขายหลักทรัพย์เป็นเรื่องที่มีประวัติน่าพิศวงกว่าโครงการอื่นๆ ดร.ดนัย กล่าวกับ"ผู้จัดการ" ว่า"ในสัญญาที่ตลาดหลักทรัพย์ทำกับมิดเวสต์นั้น เราก็จะมีโปรแกรมข้อมูลหลักทรัพย์ขณะทำการซื้อขายให้ด้วยเป็น DATA BROADCAST คือตลาดเป็นผู้ส่งข้อมูลให้ผู้รับบริการ และผู้รับบริการก็ทำได้แต่เพียงรับข้อมูลจากตลาดฯ เหมือนกับเปิดฟังวิทยุกระจายเสียงหรือเครื่องรับโทรทัศน์ ไม่สามารถต่อเข้ามาดึงข้อมูลจากตลาดฯได้"

ในเมื่อมิดเวสต์ก็จะมีโปรแกรมนี้มาให้แล้ว ทำไมฝ่ายคอมพิวเตอร์จึงต้องคิดทำโปรแกรมนี้ขึ้นมาอีก??

ดร.สรรเสริญ เรียกโครงการเจ้าปัญหานี้ว่า "ยึกยักโปรเจค" เป็นโครงการที่มีการคิดขึ้นตั้งแต่ปี 2531 ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จุดมุ่งหมายก็คือ "เราอยากพัฒนาระบบนี้เพื่อให้มันเป็นข้อมูลขณะทำการซื้อขายจริงๆ และมันอยู่ในขีดความสามารถของเราที่จะพัฒนาได้ และเป็นการช่วยการทำงานของโปรกเกอร์ได้อย่างมาก

ฝ่ายคอมพิวเตอร์ทำโครงการนี้ขึ้นมา และเสนอเข้าไปในคณะกรรมการตลาดฯ แต่ไม่ผ่าน ดร.สรรเสริญกล่าวว่า "เราไม่ผ่านการอนุมัติ ด้วยเหตุผลที่เราไม่ทราบเหมือนกัน เพราะเราไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปรับฟัง"

อย่างไรก็ดี ฝ่ายคอมพิวเตอร์ก็ยังไม่หมดกำลังใจเพราะโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างมาก จากดร.มารวย ดร.สรรเสริญ เล่าต่อว่า"ดร.มารวยแนะว่าเราลองหาเสียงสนับสนุนได้ไหม โดยออกแบบสอบถามไปยังบริษัทสมาชิก ซึ่งพอเราทำออกไปก็ปรากฏว่ามีบริษัทสมาชิก 24 รายเห็นพ้องว่าควรจะทำระบบนี้ 4 รายไม่เห็นด้วย ที่เหลือไม่ออกความเห็น พอมีเสียงสนับสนุนเราก็ทำเรื่องเสนอเข้าไปอีก ก็ปรากฏไม่ผ่านอีกเป็นคำรบสอง"

ฝ่ายคอมพิวเตอร์ก็ไม่ละความพยายาม และด้วยแรงสนับสนุนจาก ดร.มารวย ซึ่งมองว่าเหตุผลประกอบโครงการอาจจะยังไม่หนักแน่นพอ จึงให้มีการออกแบบสอบถามอีก ครั้นฝ่ายคอมพิวเตอร์เสนอเซ็นเพื่อให้หนังสืออก กลับมีคำสั่งยับยั้งว่าไม่ต้องออกแบบสอบถามแล้ว โครงการนี้จึงมีอันต้องระงับไปหลังจากพยายามกันมาถึง 3 ครั้ง 3 หน

ดร.สรรเสริญ อ้างว่าเหตุผลที่ระงับครั้งหลังสุดนี้เพราะต้องการให้รอระบบซื้อขายใหม่ด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีระบบรายงานราคาซื้อขายรวมอยู่ด้วย

ครั้นต้นปี 2532 กลับปรากฏว่าตลาดฯมีโครงการจะทำระบบรายงานราคาร่วมกับ บงล.ภัทรฯ โดยมอบหมายให้ ดร.วีรศักดิ์ได้ให้รังสรรค์ซึ่งในเวลานั้นเป็นหัวหน้าส่วนปฏิบัติการเป็นผู้ประสานงานโครงการนี้ร่วมกับ วีรสิทธิ์ สฤษดิพันธ์ และประสิทธิ์ อ้วนเจริญ เจ้าหน้าที่ของภัทรฯ ศึกษาเรื่องการทำระบบงานราคา

ก็ในเมื่อกรรมการการตลาดเพิ่งจะปฏิเสธไม่ให้ฝ่ายคอมพิวเตอร์ทำไปสดๆ ร้อนๆ ทำไมจึงอนุมัติให้ทำขึ้นมาใหม่โดยใช้ระบบของทางภัทรฯ

ดร.สรรเสริญแย้มความรู้สึกว่า "นโยบายเหล่านี้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ พวกเราไม่ได้ยุ่งวุ่นวายอะไร ถือว่าเป็นการตัดสินใจของผู้ใหญ่ เราเชื่อมั่นในตัวของอาจารย์มารวย ท่านเป็นคนทำอะไรมีเหตุผล เรารู้ว่าท่านอยากให้มันเกิดแต่ว่ามีอุปสรรคหลายอย่างที่ทำไม่ได้ ซึ่งผมก็ไม่เคยไปถามอาจารย์ว่าทำไม ผมเชื่อว่าผู้บริหารทุกคนมีเหตุผลในการตัดสินใจและเราเคารพเหตุผลท่าน"

23 กุมภาพันธ์ 2532 รังสรรค์ทำหนังสือรายงานผลการศึกษาร่วมกับทางภัทรฯ และหนังสือแจกแจงอุปกรณ์ที่ตลาดฯต้องหามาเพิ่มเติมเพื่อทำระบบรายงานราคา หนังสือ 2 ฉบับนี้ส่งถึง ดร.สรรเสริญ ผู้อำนวยการฝ่ายฯ ในเวลานั้น ซึ่งก็ได้บันทึกความเห็นของตนลงแนบท้ายหนังสือและส่งขึ้นไปตามลำดับขั้นให้แก่นิตย์ จงดี ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดฯ

ดร.สรรเสริญ เล่าว่า "หลังจากทำเรื่องบันทึกขึ้นไปแล้ว ปรากฏว่าโครงการนี้ก็หยุดไปโดยที่ผมก็ไม่ทราบสาเหตุเหมือนกัน"

โครงการนี้ไม่เคยมีการแถลงต่อสื่อมวลชน มันกลายมาเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกเปิดเผยขึ้นหลังจากมีข่าวฉาวโฉ่เรื่องความไม่เป็นธรรมในการให้บริการระบบรายงานราคา

"ยึกยักโปรเจค" มาโผล่ขึ้นอีกครั้งหลังจากที่มีการอนุมัติให้ทีวีช่อง 7 ทำการถ่ายทอดสด ราคาหลักทรัพย์ขณะทำการซื้อขายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2532 ดร.สรรเสริญ อ้างว่า "เรื่องทีวีช่อง 7 นี่อาจารย์มารวย มองว่ามันอาจจะเป็นเหตุผลอันหนึ่งที่บอร์ดจะยอมให้โปรเจคของเราผ่านได้ พูดจริงๆ คือเอาช่อง 7 บังหน้า เป็นเหตุผลทางการเมืองนิดหน่อย ซึ่งที่จริงผมก็คิดว่าเรื่องนี้ไม่เสียหายอะไรแทนที่เราจะเลี้ยวซ้ายทีเดียวแต่เราต้องเลี้ยวขวา 3 ที เพื่อจะเดินไปถึงจุดหมายนั้น"

ดร.สรรเสริญยอมเดินเลี้ยวขวา 3 ทีและได้ไปถึงจุดหมายสมใจนึก !!

ระบบรายงานราคาขณะทำการซื้อขายถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง และเนื่องจากการส่งข้อมูลผ่านคู่สายโทรศัพท์ค่อนข้างมีปัญหายุ่งยากหลายประการ จึงได้มีความพยายามที่จะส่งผ่านระบบสื่อสารอื่น เช่น ดาวเทียม

ในการนี้ฝ่ายคอมพิวเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ได้มีโอกาสรู้จักกับบริษัทสามารถเทเลคอมในงานนิทรรศการงานสื่อสารที่เซ็นทรัล และได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการส่งข้อมูลระบบรายงานราคาผ่านดาวเทียม จนถึงขั้นมีการทดลองติดตั้งจานส่งที่ตลาดฯ เพื่อส่งไปเข้าจานรับของสามารถฯ ที่รังสิต

ผลการทดลองปรากฏว่าใช้งานได้ แต่โปรแกรมค่อนข้างจะช้า ต้องทำการปรับปรุงแก้ไขการทดลองส่งไปต่างจังหวัดเริ่มเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2532 โดยติดตั้งสถานีรับที่หาดใหญ่ และในเดือนพฤศจิกายนก็มาทดลองที่ บงล.สินเอเซีย ถนนพระราม 4 ซึ่งปรากฏว่าใช้งานได้อย่างน่าพอใจ

รังสรรค์เล่าว่า "ดร.สรรเสริญทำรายงานผลการทดลองโดยผ่านสื่อดาวเทียมขึ้นไปให้กรรมการตลาดฯ แต่ปรากฏว่าเรื่องก็เงียบอีกเราก็มานั่งดูว่าเราก็มีข้อมูลอยู่แล้ว หากรอให้ตลาดฯอนุมัตินี่คงต้องรออีกชาติหนึ่งแน่ๆ คงอีกนานแล้วก็ไม่รู้ว่าออกหัวออกก้อยอย่างไร"

เมื่อประสบผลสำเร็จในการทดลองผ่านสื่อดาวเทียม ทีมคอมพิวเตอร์ก็หันมาดูเรื่องคู่สายโทรศัพท์ โดยลดความเร็วจากที่ตั้งไว้เดิม 9,600 BAUD/SECOND และใช้ระบบใหญ่รุ่มร่ามเพื่อรองรับช่วงเปิดตลาด/ปิดตลาด ลดลงมาเป็นความเร็วที่ 2,400 BAUD/SECOND คงรูปแบบเดิมเปลี่ยนรายละเอียดเล็กน้อย

บงล.ที่ถูกเลือกขึ้นมาทดลองระบบรายงานราคาขณะทำการซื้อขาย คือ เฟิร์สท์แปซิฟิค (FPA) ส่วนบริษัทสำนักข่าวบิสนิวส์นั้นติดต่อเข้ามานานแล้ว ตั้งแต่ขอพัฒนาระบบเองแต่ตลาดฯ ไม่อนุญาต เพราะมีโครงการที่จะทำอยู่แล้ว ก็เลยขอเป็นผู้รับบริการ และขอเริ่มด้วยการทดลองร่วมด้วยในครั้งนี้

รังสรรค์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "เราบอก FORMAT ทางบิสนิวส์ไป แล้วเขาก็เขียนโปรแกรมรับของเขาเอง เพราะเขาไม่ได้ใช้ระบบ LAN พอเขียนเสร็จก็มาขอทดลองใช้แต่มันมีปัญหาว่าเราเสีย WORK STATION 1เครื่องเพื่อทดลองกับ FPA แล้ว ทางบิสนิวส์ก็ยินดีที่จะเอาเครื่องของเขามาทดลองเอง ผมก็บอก SPEC ไป เขาก็ยกเครื่องโมเด็มมาทดลองเอง"

หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงบางประการเพราะรังสรรค์พบว่ามีโมเด็มที่สามารถวิ่งด้วยความเร็ว 9,600 BAUD/SECOND ได้ในสายโทรศัพท์ฝ่ายคอมพิวเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ก็อยากจะทดลองแต่ไม่มีงบประมาณ จึงมีการบอกไปทาง FPA และบิสนิวส์ ซึ่งทั้งคู่ก็ไปเสาะหาโมเด็มนี้มาทดลองและปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจ

อย่างไรก็ตาม หากจะเปิดให้บริการโดยใช้โมเด็มตัวนี้ ก็เท่ากับจะต้องหา WORK STATION สำหรับลูกค้า 1 ราย 1 เครื่อง ผู้รับบริการคงไม่มีปัญหาในการหาเครื่องคอมพิวเตอร์มาติดตั้งในตลาดฯ แต่ตลาดฯเองต้องมีปัญหาเรื่องไม่มีสถานที่สำหรับติดตั้งเครื่องเหล่านั้นอย่างเพียงพอ

ฝ่ายคอมพิวเตอร์พยายามแก้ไขปัญหานี้โดยคิดสร้างวงจรอีเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาอันหนึ่ง เรียกว่า CHANNEL DISTRIBUTOR คือจาก CHANNEL ที่เข้าไปสามารถกระจายออกมาเป็นหลาย CHANNEL ได้ นั่นหมายความว่าจะเสียเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงตัวเดียวเพื่อเป็น WORKSTATION แต่สามารถกระจายออกได้หลาย CHANNELแต่ลักษณะการส่งข้อมูลยังคงเป็นแบบกระจายที่เรียกว่า BROADCAST

ในขั้นทดลองประมาณเดือนธันวาคม 2532 ฝ่ายคอมพิวเตอร์ทำต้นแบบ (PORTOTYPE) ขึ้นมาให้ใช้ 4 รายก่อน คือ 1 CHANNEL ใช้ได้ 4 รายและได้ ทดลองให้กับ FPA และบิสนิวส์ ซึ่งอยู่ในโครงการ ต่อเนื่องกันมาและปรากฏผลการทดลองว่าใช้ได้ดี

เหลืออีก 2 รายที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์มองว่าน่าจะมาทดลองให้เต็ม จึงยอมให้ทาง บลง.สินเอเซีย เข้ามาติดตั้งทดลอง หลังจากที่ทำเรื่องขอร่วมโครงการมาหลายครั้งหลายหน ส่วนรายสุดท้ายได้มีการเสนอให้กับบงล.พาราพัฒนา แต่ไม่ได้รับความสนใจตอบกลับมา จึงให้กับทางบงล.ธนชาติ ซึ่งมีโครงการจะทำศูนย์ข้อมูลของตัวเองและขอเข้ามาดูงานคอมพิวเตอร์ในตลาดในช่วงเวลานั้นพอดี

รังสรรค์เปิดเผยเหตุผลในการพิจารณาให้ 4 บงล.เหล่านี้เข้ามาร่วมทดลองว่า "เรามองว่ามันเป็นโครงการที่ ทำต่อเนื่องกันมา ในบางรายก็มองว่าเขาเป็นลูกค้าทางตลาดฯอยู่แล้วซึ่งเท่ากับมีความร่วมมือกันเป็นอย่างดี การที่จะให้เขารายงานผลการทดลองและปัญหาต่างๆอย่างละเอียด คงจะทำได้ง่ายขึ้น"

ดร.สรรเสริญ กล่าวถึงประเด็นที่นำพาไปสู่การโจมตีว่าก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการค้าหลักทรัพย์ว่า "ที่เราเลือก 4 บงล.นี้เพราะเงื่อนไขทางด้าน HARDWARE คือบงล.เหล่านี้ใช้อุปกรณ์ที่เราไปติดตั้งไว้ คือเราเป็นผู้ส่งข้อมูลก็จริง แต่ถ้าเราต้องการรู้ว่าเราส่งได้ผลหรือเปล่า เราก็ต้องเขียนโปรแกรมทดสอบอันหนึ่งเป็นโปรแกรมรับ เราทำแค่เป็นตัวอย่างเท่านั้นเพราะเราถือว่าโปรแกรมส่วนนี้ไม่ใช้หน้าที่ของเราแต่ถ้าเราทำก็ต้องให้สอดคล้องกับอุปกรณ์ที่เราใช้อยู่ในตลาดฯ คือเราใช้ PC LAN ซึ่งบงล.เหล่านี้ใช้ระบบ LAN อยู่และสามารถเอาไปใช้งานได้เลย

ทั้งนี้ในส่วนของสำนักข่าวบิสนิวส์ไม่ได้ใช้ระบบ PC LAN จึงต้องมีการเขียนโปรแกรมรับขึ้นมาเอง ซึ่งทางบิสนิวส์ก็ยอมเขียนเองโดยได้รับ FORMAT จากที่ตลาดฯให้

นอกจากนี้ดร.สรรเสริญก็อ้างประเด็นในเรื่องของความต้องการการประสานงานที่ดีพอ ซึ่งบงล. เหล่านี้ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และประเด็นที่สำคัญคือการทดลองเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทางผู้บริหารระดับสูงรับทราบแล้ว

ดร.สรรเสริญกล่าวว่า "การทดสอบนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคซึ่งอาจารย์มารวยได้ให้สิทธิ์เราในการเลือกคนที่จะมาขอรับบริการ ท่านให้เกียรติเราและเราก็รักษาเกียรติพอที่จะไม่ทำในสิ่งที่คนอื่นโจมตี"

ดร.สรรเสริญกล่าวแฝงอารมณ์เสียใจว่านอกจากดร.มารวยจะรับทราบแล้ว ดร.สุรัตน์ ซึ่งเพิ่งเข้ามาเป็นผู้จัดการศูนย์คอมพิวเตอร์เมื่อ 1พฤศจิกายน 2532 ก็รับทราบโครงการทดลองเหล่านี้ด้วย

ทำไมจึงไม่มีใครคัดค้านหรือท้วงติงในปัญหาที่บานปลายขึ้นมาหลังจากทีมคอมพิวเตอร์ชุดนี้ลาออกจากตลาดหลักทรัพย์?

หรือแม้แต่วิโรจน์ซึ่งอ้างว่าได้มีการทำหนังสือขอร่วมทดลองในโครงการนี้ด้วย แต่ไม่ได้รับการพิจารณาให้ร่วมโครงการ หนังสือลงวันที่ 26 ธันวาคม 2532 นั้นทำไมจึงไม่ "โวย" ตั้งแต่นั้น ทำไมจึงมาพูดเอาเมื่อเวลาล่วงมาเนิ่นนาน เช่นนี้ ??!!

คำถามทุกคำถามไม่จำเป็นต้องได้รับการตอบเหมือนทำข้อสอบส่งครู มันเป็นปริศนาที่ทุกคนมีสิทธิใช้วิจารณญาณเลือกคำตอบที่แต่ละคนพึงพอใจ

ทำไมดร.สรรเสริญจึงพยายามที่จะทดลองระบบรายงานซื้อขายหลักทรัพย์นี้ให้ได้ ทั้งที่เมื่อถูกปฏิเสธจากคณะกรรมการตลาดฯครั้งที่ 3 นั้นมันก็มีเหตุผลเพียงพออยู่ในแง่ที่ว่าอย่างไรเสียทาง มิดเวสต์ก็จะพัฒนาระบบโปรแกรมนี้อยู่แล้ว ทำไมจึงต้องรีบร้อนผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ ก่อนที่ทีมคอมพิวเตอร์ชุดเก่าจะลาออก??

หากจะถามกันให้ลึกเข้าไปอีกก็คือ ดร.สรรเสริญ ไม่รู้หรือว่าข้อมูลราคาขณะทำการซื้อขายเหล่านี้มีความหมายต่อนักลงทุนอย่างมากๆ ขนาดว่าได้-เสียกันก็ตรงนี้แหละ การเลือกเอาบงล.บางรายขึ้นมาทำการทดลองเป็นการเสี่ยงที่จะถูก กล่าวหาว่าสร้างความไม่เป็นธรรมขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

ถ้าจะทำการทดลองโดยไม่ให้มีการได้-เสียและอย่างเป็นธรรมก็อาจจะทำได้ โดยไม่ต้องใช้ข้อมูลขณะทำการซื้อขายจริงๆ

ในแง่ของเหตุผลเรื่องเทคนิค LAN ดร.ดนัยให้แง่คิดกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ที่จริงแล้วโบรกเกอร์ 35 รายในตลาดเวลานี้มีที่ใช้เครื่อง VAX อยู่ 20 ราย ใช้ NEC อยู่ 11 ราย ใช้ IBM อยู่ 3 ราย อีก 1 รายใช้ระบบ LAN คอมพิวเตอร์อื่นๆ ก็สามารถคุยกันได้ ฉะนั้น การที่บอกว่าเลือกบริษัทที่ใช้ LAN ผมคิดว่าไม่ MAKE SENSE ถ้าจะทดลองให้สำเร็จจริงๆ ควรจะทดลองกับ คอมพิวเตอร์แต่ละแบบๆละรายให้ทั่วถึงกัน คือให้พิสูจน์ได้ว่ามันสามารถติดต่อได้กับทุกคน"

คำถามทำไม?ถูกตั้งขึ้นมาเป็นชุดๆ มิใช่เพื่อจะหาคำตอบ แต่เพื่อให้ฉุกใจคิดกันอย่างเป็นธรรมและรอบคอบ

หากมองในแง่ที่ว่ามีโปรกเกอร์บางรายได้รับข้อมูลราคาหลักทรัพย์ขณะทำการซื้อขายจริงขณะที่บางรายไม่ได้ ก็เท่ากับมีความได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้น แต่ผลจากความได้เปรียบเสียเปรียบครั้งนี้เป็นเรื่องที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ ทั้งนี้โบรกเกอร์ที่ไดข้อมูลจากโครงการทดลอง นี้ไปก็เป็นโบรกเกอร์ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงติดอันดับ 1 ใน 10 อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นธนชาติ เฟิร์สท์แปซิฟิกสินเอเชียก็ตาม

หลังจากประสบผลสำเร็จในการทดลองทั้งทางสื่อดาวเทียมและคู่สายโทรศัพท์แล้ว ดร.สรรเสริญเปิดเผยว่าได้มีการ ทำสรุปผลเป็นบันทึกถึงผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อทราบ และรายงานด้วยว่าโครงการดังกล่าวพร้อมที่จะเปิดให้บริการแก่บริษัทสมาชิกและผู้สนใจทั่วไป จึงขอรับทราบนโยบายเพื่อกำหนดการให้บริการ

แต่เรื่องก็เงียบหายอีก เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมาเมื่อฝ่ายคอมพิวเตอร์สื่อสารขึ้นไปยังระดับบริหาร เกิดอะไรขึ้นในการบริหาร เกิดอะไรขึ้นในการบริหารงานระดับสูงของ ตลาดหลักทรัพย์?

ก่อนที่จะเข้าสู่คำถามที่หาคำตอบได้ไม่ง่ายนักอันนี้ "ผู้จัดการ" ขอกล่าวถึงประเด็นเรื่องการโจรกรรมข้อมูลต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นประเด็นที่ค่อนข้าง "ล่อแหลม" อย่างมากในเวลานี้

ปัญหาแรกคือ SOURCE PROGRAM หรือโปรแกรมคำสั่งแม่บทใน PC LAN หายไปจากตลาดหลักทรัพย์จริงหรือไม่?

ดร.สรรเสริญอธิบายว่าโปรแกรมคำสั่งแม่บท หมายถึงโปรแกรมที่เขียนในลักษณะที่มนุษย์สามารถอ่านเข้าได้โดยสะดวก แต่โปรแกรมประเภทนี้จะนำไปใช้ในเครื่องโดยตรงไม่ได้ ต้องผ่านกระบวนการแปลให้เป็นภาษาที่เครื่องสามารถเข้าใจและรับเข้าดำเนินการต่อไปได้

ในการดำเนินงานของฝ่ายคอมพิวเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ โปรแกรมเมอร์ได้เขียน SOURCE PROGRAM ขึ้นมาใช้งานหลายภาษา ที่ใช้มากที่สุดคือ FOXBASE และ CLIPPER นอกจากนั้นก็มีการใช้ภาษาอื่นๆ เช่น ASSEMBLY,PASCAL,C

เมื่อเขียน SOURCE PRO-GRAMขึ้นมาแล้วก็จะนำไปแปลเป็น OBJECT PROGRAM คือโปรแกรมที่เป็นภาษาเครื่องและพร้อมที่จะใช้งานเพื่อสั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้

OBJECT PROGRAM จะถูกส่งมอบให้แก่ผู้ใช้(USER) นำไปใช้งานใน PRODUCTION LINE ต่อไป ส่วน SOUREC PROGRAM นั้นจะถูกแยกเก็บไว้ในส่วนของ DEVELOPMENT LINE ผืที่จะเข้าไปแก้ไข SOURCE PROGRAM ต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ที่พัฒนาโปรแกรมนั้นขึ้นมา หรือผู้ที่เข้าใจโครงสร้างของระบบงานอย่างแท้จริง ซึ่งต้องอยู่ในระดับอย่าง NETWORK MANAGER หรือในบางหน่วยงานเรียก SUPERVISOR, DATABASE ADMINISTRATOR,SYSTEM ANALYST

ดร.สรรเสริญกล่าวย้ำยืนยันหลายครั้งว่า"ไม่มีการขโมย SOURCE PROGRAM ออกจากตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใด ผู้พัฒนาโปรแกรมที่ลาออกไปได้ทิ้ง SOURCE ไว้ให้ครบใน DEVELOPMENT LINE แต่หลังการลาออกไปแล้วไม่สามารถยืนยันได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารดูแลของผู้รับผิดชอบชุดใหม่"

รังสรรค์กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่พนักงานคอมพิวเตอร์ชุดใหม่หา SOURCE PROGRAM ไม่เจอว่า "อาจมีการลบทิ้งโดยบังเอิญก็เป็นได้ เพราะพนักงานชุดใหม่อาจะยังไม่คุ้นเคยกับระบบ PC LAN มากพอ "

ดร.ดนัยให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ "ว่า "ถ้า SOURCE PROGRAM หายไป ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในฝ่ายคอมพิวเตอร์คือถ้าต้องการแก้ไขโปรแกรมนั้น ๆ จะไม่สามารถทำได้เลย เพราะการแก้ไขจะต้องทำในตัวแม่บท หรือหากจะแก้ไขได้ก็ต้องให้คนที่มีความชำนาญด้านโปรแกรมอย่างสูง มาแกะรอยโปรแกรมแม่บทออกมา ซึ่งใช้เวลานานมาก สู้เขียนขึ้นมาใหม่จะดีกว่า "

หากโปรแกรมแม่บทหายไปจากตลาด ฯ จริง มันก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะการจะใช้ได้จริง ๆ ก็คือต้องใช้งานในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น !

ประเด็นต่อมาเป็นเรื่องของการโจรกรรมข้อมูลซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่อง SOURCE PROGRAM หายหรือไม่หายจากตลาดหลักทรัพย์ เพราะการโจรกรรมไม่ได้ทำผ่าน SOURCE PROGRAM แต่จะทำได้ มีวิธีอยู่ 2 ทางคือ

ผ่านคู่สายโทรศัพท์ ซึ่งกรณีนี้มีความเป็นไปได้ในหลายบริษัทที่ใช้บริการข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์อยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในศูนย์ข้อมูลธุรกิจหลักทรัพย์ ระบบงานค้าหลักทรัพย์ฝ่ายสมาชิก และระบบ รายงานราคาซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งเพิ่งยกเลิกการให้บริการ "ขั้นทดลอง""เมื่อต้นเดือนเมษายน 2533 นี่เอง

การโจรกรรมข้อมูลผ่านคู่สายโทรศัพท์ทำได้ ในกรณีที่บริษัทผู้รับข้อมูลเหล่านี้เป็น USER ของตลาด ฯ รู้ PASSWORD และUTILITIES หรือรหัสผ่านที่จะเข้าไปสู่ข้อมูลต่าง ๆ ได้

อย่างไรก็ดี PC LAN มีระบบการป้องกันอยู่อย่างหนึ่งที่สร้างขึ้นโดย NETWORK MANAGER คน ๆ นี้จะเป็นผู้กำหนดสิทธิของUSER ในการเข้าถึงข้อมูล กำหนด PASS WORD ให้ผู้ใช้ และหากมีการใช้งานที่ผิดปกติ ก็อาจทำการเปลี่ยนแปลงสิทธิของผู้ใช้ได้ ดังนั้น USER แต่ละราย จะใช้ข้อมูลได้เฉพาะในส่วนที่ขอรับบริการแต่ละประเภทเท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปเกะกะเพ่นพ่านในโปรแกรม งานอื่น ๆ ได้

นอกจากนี้ NETWORK MANAGER เป็นผู้ควบคุมการใช้เครื่อง (WORKSTATION) จึงสามารถกำหนดให้ผู้ใช้เข้าทำงานได้เพียงบางเครื่อง ในบางเวลาเท่านั้น ทั้งนี้ สมัยที่ทีมของ ดร.สรรเสริญรับผิด ชอบเรื่องระบบ LAN อยู่นั้น ผู้ที่เป็น NETWORK MANAGER ตอนนั้นคือรังสรรค์

ดร.สรรเสริญกล่าวว่า "เรื่องระบบงานทั้งหมด ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในระบบงานของ NETWORK MANAGER เพราะเป็นคนที่สามารถเข้าไปดูของคนอื่นได้หมด ไปให้สิทธิและตัดสิทธิในการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์กับชาวบ้านได้ เขาเป็นคนที่เราไว้ใจมาก NETWORK MANAGER ทุกคนต้องรักศักดิ์ศรีเพราะว่าเขาได้รับมอบหมายงานที่มีเกียรติอันนี้"

ในส่วนของการให้บริการที่เป็นแบบการ การะจายข้อมูลหรือ BROADCAST ผู้รับบริการยิ่งไม่สามารถเรียกกลับมาที่ตลาดหลักทรัพย์เพื่อล้วงข้อมูลอื่นๆ ไปได้ทำได้แต่เพียงรับข้อมูลที่ตลาดฯส่งมา ให้เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าในระบบ BROADCAST นั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการโจรกรรมข้อมูล

นั้นเท่ากับว่าไม่มีการโจรกรรมข้อมูลราคาซื้อขายหลักทรัพย์ขณะทำการดังที่เป็นข่าว!!

เว้นเสียแต่ว่าระบบที่ใช้ในการส่งผ่านข้อมูลไม่ใช่ระบบ BROADCAST จริงดังที่ดร.สรรเสริญยืนยันการจะพิสูจน์ให้กระจ่างก็โดยการเรียก DIAGRAM CHART จากตลาดหลักทรัพย์มาดูเท่านั้น !!

วิธีการโจรกรรมข้อมูลในแบบที่สองคือในระบบสื่อสารของหน่วยงานบางแห่งจะมีเบอร์โทรศัพท์ไว้ให้หมุนได้ เพื่อให้คอมพิวเตอร์ระหว่างหน่วยงานพูดคุยกันได้ เมื่อหมุนเบอร์นั้น คอมพิวเตอร์จะเริ่มคุยกัน ครั้นเสร็จงาน พนักงานก็วางหูโทรศัพท์ไป

ในกรณีนี้ผู้อื่นสามารถใช้เบอร์โทรศัพท์นี้เพื่อให้คอมพิวเตอร์ของตัวได้ต่อเข้าไปกับคอมพิวเตอร์ในตลาดหลักทรัพย์ได้ วิธีนี้เรียก DIAL UP หรือการต่อทางสายโทรศัพท์

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชายในวงการคอมพิวเตอร์ให้ความเห็นกับ"ผู้จัดการ"ว่า "การมี SOURCE PROGRAM ก็ให้ประโยชน์อย่างหนึ่งคือ ทำให้เรารู้ว่าโปรแกรมในตลาดหลักทรัพย์ทำงานอย่างไรบ้าง ก็จะรู้ว่าข้อมูลอยู่ตรงไหน ถ้ามี SOURCE PROGRAM แล้วต่อผ่านผู้รับบริการบางรายซึ่งมีคู่สายอยู่ก็สามารถต่อเข้าไปได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในบริษัทนั้นๆ และเจ้าหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ด้วย"

นั่นหมายความว่าการโจรกรรมข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์มีความเป็นไปได้สูง!!!

อย่างไรก็ตาม "ผู้จัดการ" มองว่า นั่นเป็นเรื่องของอนาคต เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นลางบอกเหตุ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ควรให้ความสนใจกับการบริหารงานคอมพิวเตอร์และระบบการป้องกันข้อมูลในงานคอมพิวเตอร์ให้มากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน!!

ผู้บริหารตลาดฯควรให้ความสนใจว่าระบบป้องกันที่มีอยู่ใน LAN ปัจจุบันเพียงพอหรือไม่ แม้ ดร.สรรเสริญจะกล่าวว่าระบบดังกล่าวมีขีดความสามารถเทียบเท่าหรืออาจจะเหนือกว่า MINICOMPUTER บางยี่ห้อก็ตาม

ข้ออ่อนประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการที่จะกำหนดให้ USER ใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนไหน เวลาใด นั่นเป็นเรื่องของ NETWORK MANAGER ที่จะเป็นผู้กำหนดลงในโปรแกรม ซึ่งเท่ากับว่าโปรแกรมเองมีระบบป้องกันตัวของมัน

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องคอมพิวเตอร์ให้ความเห็นว่า "LAN เป็นระบบเชื่อมที่ทำให้เกิดเป็นข่ายงานขึ้นมาเท่านั้น ตัวมันเองไม่มีระบบป้องกันใดๆ ทั้งสิ้น การป้องกันจึงขึ้นอยู่กับโปรแกรมที่เราสร้างขึ้นมาไว้ข้างใน LAN ก็ดี ดาวเทียมก็ดีถือเป็น MEDIUM ตัวหนึ่งในการเชื่อมเท่านั้น การป้องกันขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบ"

ปัญหาวกกลับมาที่เรื่องบุคลากรอีกนั่นเอง!!

"ผู้จัดการ" ก็เห็นว่าเครื่องสมองกลนั้นไม่ได้เป็นตัวปัญหาแต่อย่างใด ผู้ใช้งานและผู้บริหารคอมพิวเตอร์ต่างหากที่เป็นตัวปัญหาที่แท้จริง!!

ดร.สรรเสริญมีความเห็นสอดคล้องกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมเห็นว่าทุกระบบเลยนะ การที่เครื่องจะทำได้ดี บริหารเครื่องดีหรือเปล่า มันขึ้นอยู่กับคน"

โครงสร้างงานคอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์นั้น ฝ่ายคอมพิวเตอร์อยู่ภายใต้การดูแลของผู้ช่วยผู้จัดการและในฝ่ายคอมพิวเตอร์เองแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วนคือส่วนพัฒนาระบบงานและส่วนปฏิบัติการ

ดร.สรรเสริญเล่าถึงโครงสร้างในอดีตก่อนการเปลี่ยนแปลงเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2532 ว่า "ทีมงานคอมพิวเตอร์ของเราที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นี่ผมเชื่อว่าเป็นทีมงานที่มีประสิทธิภาพมาก หัวหน้าส่วนของเราจบปริญญาเอกด้าน COMPUTER SCIENCE คือดร.วิวัฒน์ คนที่ดูแลเรื่องซอฟแวร์ของเราจบปริญญาเอกส่วนหัวหน้าที่ดูแลฮาร์ดแวร์ก็จบปริญญาโทคือ อาจารย์รังสรรค์และมีปริญญาโทด้านวิศวกรรมไฟฟ้าอีกคนหนึ่งที่ดูแลงานทางด้านการสื่อสารคืออาจารย์สมศักดิ์"

งานคอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมาเป็นงานที่หนักอย่างมาก ๆ ทั้งในแง่ของปริมาณงานที่มีมากมายมหาศาล เรื่องกลับบ้านดึก ๆ ของพนักงานเป็นเรื่องธรรมดาอยู่เป็นแรมปีไม้ต้องพูดถึงการไม่ได้ลาพักร้อนของพนักงาน

มีเรื่องเล่าอยู่ครั้งหนึ่งในระหว่างสิ้นปี 2531 ขึ้นปีใหม่ 2532 บรรดาฝ่ายคอมพิวเตอร์กำลังง่วนอยู่กับการเขียนโปรแกรมสำหรับงานทะเบียนหุ้นครั้นเขียนเสร็จก็พอดีช่วงปีใหม่ พนักงานมีการวางแผนจะไปเที่ยวกันหลังจากที่ตรากตรำงานมาอย่างหนัก

แต่แล้วแผนการก็กระจุยกระจาย เมื่อทุกคนรู้ว่าจะต้อง CONVERSE ข้อมูลงานทะเบียนหุ้นจากเครื่อง WANG ขึ้นมาที่ PC LAN เพราะ ดร.สรรเสริญเกรงว่าใกล้จะถึงช่วงปิดสมุดทะเบียน ถ้ายังไม่มีการทดลอง CONVERSE ข้อมูล เกิดปัญหาในระหว่างนั้นจะทำให้การปิดสมุดล่าช้า

กระนั้นพนักงานก็หยุดไปเที่ยวกัน รังสรรค์ย้อนความเช้าอกเช้าใจในฝ่าย ฯ ให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "ผมก็เห็นใจเด็ก พวกเขาหนีไปเที่ยวกันเราก็น้อยใจแต่ตอนหลังเขาก็เข้าใจเรา มาขอโทษ มันก็ผ่านไปด้วยดี"

บรรยากาศการทำงานในระหว่างกลุ่มอาจารย์และลูกศิษย์ซึ่งส่วนมากมาจากศูนย์คอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่เป็นไปด้วยความร่วมแรงร่วมใจ รักใคร่กลมเกลียวดร.สรรเสริญเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "หลายต่อหลายอย่างที่ผมกล้าทำ และทำขึ้นมาได้สำเร็จเป็นเพราะผมมั่นใจในทีมงานของผมมากทีเดี่ยว เราทำงานด้วยความสนุกสนาน ที่เราออกมานี่ผมเสียดายมากไม่ใช่เสียดายตลาดหลักทรัพย์นะแต่เสียดายทีมงาน"

ไม่ใช่แค่เรื่องงาน หนักแต่เพียงอย่างเดียวค่าจ้างแรงงามที่พนักงานได้รับก็ยังน้อยอย่างมาก ๆ เมื่อเทียบกับในภาคเอกชน พนักงานระดับปริญญาโทเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าเขาต้องเป็นลูกจ้างชั่วคราวในตำแหน่ง SYSTEM ANALYSE อยู่เป็นแรมปีด้วยอัตราค่าจ้างเพียง 7000 บาท ครั้นได้ตำแหน่งประจำเงินเดือนกลับได้น้อยกว่าเมื่อเป็นลูกจ้างชั่วคราว "อาจารย์สรรเสริญ ต้องหาเบี้ยเลี้ยงโน่นนี่มาบวกให้ผม ถึงได้มามากกว่าสมัยเป็นลูกจ้างชั่วคราวสักไม่กี่ร้อยบาท"

แม้ว่าอัตราเงินเดือนของพนักงานในตลาดหลักทรัพย์แต่ละฝ่ายจะไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ แต่อัตราที่แตกต่างในสายงานอาชีพเดียวกันกับหน่วยงานอื่น ๆก็บ่งชี้ได้อย่างหนึ่งว่าคนเหล่านี้ร่วมงานกันได้ด้วยใจและด้วยความเคารพเชื่อถือซึ่งกันและกันเพราะต่างเป็นลูกศิษย์และอาจารย์

จะว่าเป็นข้อเด่นของทีมงานคอมพิวเตอร์ก็อาจจะกล่าวได้ ทั้งนี้คุณสมบัติที่ดีประการหนึ่งที่บรรดานักเทคนิค ควรจะมีคือความกลมเกลียว ร่วมแรงร่วมใจใน การทำงานการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น โดยเฉพาะความเห็นที่ต่างออกไปจากของตน

เพราะลักษณะที่พบได้ทั่วไปในนักเทคนิคคือความยึดถือเชื่อมั่นในตัวเองอย่างสูง(EGOIST) หลายๆ คนแทบจะมองไม่เห็นผู้อื่นอยู่ในสายตา บุคลิกเช่นนี้ก่อให้เกิดปัญหาในการทำงานได้ง่าย ๆ

ความกลมเกลียวสมานฉันท์ในทีมคอมพิวเตอร์ชุดเก่าทำให้ประสานงานกันได้อย่างราบรื่นมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนแม้กระทั่งการลาออก ก็พากันไปแทบจะทั้งทีม

แม้ว่าทีมคอมพิวเตอร์ที่นำโดยดร.สรรเสริญจะร่วมแรงร่วมใจกันสร้างผลงานได้ดีแต่ข้ออ่อนประการหนึ่งที่ถือเป็นความบกพร่องอย่าง มหันต์ซึ่งมาปรากฎในภายหลังคือพวกเขาไม่เคยใช้ระบบงานมาตรฐานที่ถือปฏิบัติกันในหน่วยงานคอมพิวเตอร์ทั่วไป

หมายความว่าฝ่ายคอมพิวเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ไม่เคยมีคู่มือปฏิบัติงาน (MANUAL) เพื่อใช้ในหมู่พนักงานเลย แม้เรื่อง นี้จะไม่สร้างปัญหาในทีมดร.สรรเสริญ แต่เมื่อพวกเขาลาออกไป และมีการรับพนักงานใหม่เข้ามา กระบวนการถ่ายทอดงานระหว่างทีมเก่ากับพนักงานใหม่มีปัญหามาโดยตลอด

กรณีที่สะท้อน อย่างชัดเจนคงหนีไม่ พ้นเรื่อง SOURCE PROGRAM หาย ซึ่งไม่ว่าจะหายจริงหรือหาไม่พบก็ตาม แต่มันก็เป็นการสะท้อนให้เห็นความหละหลวม บางประการในความเป็นปึกแผ่นแน่นแฟ้นของทีมงานชุดเก่า

ธรรมเนียมปฏิบัติของศูนย์คอมพิวเตอร์ที่ได้มาตรฐานแห่งใดก็ตาม ต้องมึการ BACK UP โปรแกรมที่สำคัญเก็บไว้ที่ธนาคาร เผื่อกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ใหญ่ก็อาจจะถ่ายเก็บลงในเทป ถ้าเป็น PC LAN ก็ต้องเก็บลง ในฟล้อปปี้ดีสก์ให้ชื่อไฟล์ไว้อย่างชัดเจน

นักคอมพิวเตอร์รายหนึ่งให้ความเห็นกับ"ผู้จัดการ"ว่า การที่พูดว่า SOURCE PROGRAM หายไปนั้น อาจจะเพราะไม่ทราบชื่อไฟล์ ซึ่งก็เป็นไปได้และแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานนั้นเละเทะขนาดไหน

การบริหารงานในหน่วยคอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์อาจ จะถึงขั้นวิกฤติขนาด นั้นได้ หากไม่มีการแก้ไขให้เข้าสู่ธรรมเนียมการปฏิบัติงานตามมาตรฐานอย่างแท้จริงให้ความสำคัญกับ"ระบบงาน"มากกว่า "ตัวบุคคล"

เพราะบุคลากรนั้น จะเปลี่ยนแปลงกันเมื่อไหร่อย่างไรก็ได้แต่หน่วยงานและระบบงานต้องคงอยู่เสมอไป!!

ปัญหาวุ่นที่เกิดขึ้นในหน่วยงานคอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้สะท้อน ชัดถึงความบกพร่องหละหลวมของระบบบริหาร และบุคลิกภาพของผู้นำในตลาดหลักทรัพย์ได้ชัดเจนมาก

ทุกคนไม่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงซุกอยู่ตรงไหนภายใต้ข่าวสารที่พัดสะพือไปทั่ว คำว่า "โจรกรรม" เป็นหัวข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่ทำให้หลายคนงงงวย กระนั้นตลาดหลักทรัพย์ก็ยังไม่ยอมแถลงอะไรให้แจ่มแจ้ง

ดร.มารวยทำราวกับว่าสิ่งที่เป็นข่าวอยู่ในเวลานั้นเป็น ไ เรื่องที่ไม่น่าเป็นเรื่อง" จนกระทั้งเวลานี้ลักษณะประนีประนอมอย่างสูงก็ยังไม่ช่วยคลี่คลาย"ข่าว "ที่เกิดขึ้นได้ การตั้งคณะกรรมการสอบสวนปัญหานี้มาจากแรงผลักดันภายนอก ที่แทบจะไม่เกี่ยวกับประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

การคลี่คลายปัญหาไม่น่าจบอยู่เพียงบทสรุปที่คณะกรรมการสอบสวนจะไปควานหาแต่ตัวตลาดหลักทรัพย์เองต่างหากที่ต้องหันมาพิจารณาระบบบริหารภายในกันเสียบ้าง

อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ระบบซื้อขายหุ้นโดยคอมพิวเตอร์ก็จะเริ่มดำเนินการแล้ว คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ควรจะเร่งหามาตรการดูแลงานคอมพิวเตอร์ให้เป็นระบบรัดกุมมากขึ้นก่อนที่จะเกิดสมองกลเสื่อมขึ้นอีกเป็นคำรบถัดไป!!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us