ปัญหาการขาดแคลนวิศวกรเพื่อรองรับกับความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ
ได้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ มีการประเมินว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน
วิศวกรขาดแคลนถึง 20,000 คน แต่ในสถาบันการศึกษาทั้งในภาครัฐและเอกชนสามารถผลิตบุคลากรด้านนี้ได้เพียงปีละ
2,000 คน เท่านั้น
การลงทุนเพื่อการสร้างวิศวกรรุ่นใหม่ๆจึงเป็นช่องว่างในทางการตลาดที่กว้างใหญ่ไพศาลเสียจริงๆ
ขณะเดียวกัน การสร้างสถาบันทางการศึกษาเพื่อสร้างวิศวกรขึ้นมาโดยเฉพาะ
อีกทั้งเป็นสถาบันที่มีที่มีคุณภาพเป็นเลิศและเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระหว่างประเทศ
อาจเป็นเรื่องที่น่าท้าทายเสียยิ่งกว่า!
วิทยาลัยมหานครจึงเกิดขึ้นด้วยปัจจัยที่สอดรับกันเช่นนี้
"ความมุ่งมั่นแต่ประการเดียวของเราก็คือ การได้ชื่อว่าเป็นสถาบันที่เป็นเลิศทัดเทียมกับมาตรฐานต่างประเทศในการผลิตวิศวกรชั้นเยี่ยม"
ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม อธิการวิทยาลัยมหานครกล่าว
เดิมดร.สิทธิชัยจบการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์
ออสเตรเลีย และเคยเป็นอาจารย์ ณ มหาวิทยาลัยแห่งนั้นชั่วระยะหนึ่ง จนกลับมาเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยี
พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นเวลาถึง 14 ปี เคยเป็นคณะบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะบดีคณะบัณฑิตวิทยาลัย
เป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกมาก่อตั้งวิทยาลัยมหานคร
ลำพังดร.สิทธิชัยคนเดียวย่อมไม่มีทางผลักดันวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งต้องการกำลังทรัพย์มหาศาลมาลงทุนดำเนินการอย่างแน่นอนผู้สนับสนุนคนสำคัญของวิทยาลัยมีด้วยกันสองคน
คนแรกคือยงศักดิ์ คณาธนะวนิชย์ เจ้าของบริษัทแหลมทองสหการ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่
และธุรกิจการเกษตรครบวงจร
อีกคนคือทางด้านครอบครัวปลัดกระทรวงมหาดไทยคนล่าสุดคืออนันต์ อนันตกูล
โดยเฉพาะที่ดินจำนวน 20 ไร่ที่หนองจอกอันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยนั้นเป็นของคุณพ่อของปลัดอนันต์นั่นเอง
ผู้สนับสนุนทั้งสองคนรู้จักกับ ดร.สิทธิชัยมาเก่าแก่โดยเฉพาะยงศักดิ์นั้นมีกิจการต้องพึ่งพาวิศวกรเป็นจำนวนมาก
ซึ่งย่อมจะต้องเข้าใจถึงความจำเป็นในการลงทุนเพื่อสร้างบุคลากรด้านนี้เป็นอย่างดี
"เราไม่ได้มองถึงเรื่องระยะคืนทุนหรือกำไรเป็นปัจจัยหลัก เพราะหากมองเรื่องนั้นเป็นสำคัญ
ก็น่าจะไปลงทุนด้านอื่นดีกว่า" ดร.เลอเกียรติ วงศ์สารพิกูล ผู้จะรับหน้าที่เป็นคณะบดี
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ของวิทยาลัยกล่าว
การลงทุนในเบื้องต้นคือ 140 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสร้างอาคารเรียน ห้องสมุด
ห้องแลบและเตรียมการด้านอื่น ซึ่งการก่อสร้างเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วทันเปิดเทอมในเดือนมิถุนายนนี้
โดยเฉพาะห้องสมุดนั้น ดร.เลอเกียรติกล่าวว่า ทางวิทยาลัยตั้งใจจะให้เป็นแหล่งรวมตำราวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบแห่งหนึ่งของไทย
ส่วนหลักสูตรการเรียนการสอนนั้น ก็ผ่านการรับรองจากทบวงมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว
รวมไปถึงมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ด้วยเช่นกัน ซึ่งหมายความว่า เมื่อนักศึกษาเรียนจบจากวิทยาลัยมหานครแล้ว
จะสามารถโอนหน่วยกิตไปศึกษาต่อที่ออสเตรเลียได้ทันที ส่วนนักศึกษาที่จะรับในงวดแรกคือ
200 คน
"ค่าใช้จ่ายของนักศึกษาต่อหัวต่อปีก็ประมาณ 3 หมื่นบาท ซึ่งจริงๆ
แล้วเป็นอัตราค่าใช้จ่ายในการผลิตวิศวโดยทั่วไป เพียงแต่ในมหาวิทยาลัยของรัฐนั้น
นักศึกษาเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าหน่วยกิตเพียง 1-2 พันบาทต่อปี ที่เหลือนั้นเป็นภาระของรัฐไป"
ดร.เลอเกียรติอธิบาย
ทางด้านอาจารย์นั้น นอกเหนือจาก ดร.สิทธิชัยและ ดร.เลอเกียรติซึ่งมาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร
ลาดกระบังแล้ว ยังมีอาจารย์จากสถาบันเดียวกันมาร่วมทีมอีก 3-4 คน และอาจารย์จากที่อื่นๆ
อีก 5-6 คนซึ่งพียงพอต่อการเริ่มต้นในระยะแรก นอกจากนั้นก็มีลูกสาวของยงศักดิ์
1 คนและลูกสาวของอนันต์อีก 2 คนมาเป็นกรรมการสภาวิทยาลัยอีกด้วย
"ปัญหาขาดแคลนอาจารย์ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ก็รุนแรงพอๆ กับขาดแคลน
บัณฑิตวิศวะนั่นแหละ ก็คุณคิดดูนะอาจารย์จบปริญญาตรีเงินเดือน 4-5 พัน ถ้าจบปริญญาเอกอย่างเก่งก็
8 พันบาท อาจารย์ก็เลยลาออกไปสู่ภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก ทางวิทยาลัยของเราก็เห็นปัญหานี้อัตราเงินเดือนที่เราให้ก็ย่อมจะให้มากกว่าพอสมควรตามวุฒิ
และประสบการณ์และอาจจะเปิดโอกาสให้อาจารย์ไปทำงานวิจัยภายนอกได้ภายแต่ต้องตกลงเรื่องชั่วโมงทำงานให้ชัดเจน"
ดร.เลอเกียรติกล่าว
เรื่องความนิยม และความยอมรับ ในสายตาคนทั่วไปต่อสถาบัน ซึ่งวิทยาลัยเอกชนย่อมจะสู้
มหาวิทยาลัยของรัฐไม่ได้นั้น ดร.เลอเกียรติ กล่าว
"มหาวิทยาลัยของรัฐมีระยะเวลาสะสมประสบการณ์และชื่อเสียงมาเป็นเวลานาน
ย่อมได้เปรียบ แต่ผมก็เชื่อว่าด้วยการทุ่มเททั้งด้านบุคลากรและอุปกรณ์การเรียนการสอน
เราอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก แต่ก็เชื่อว่านักศึกษาของเราจะต้องมีคุณภาพ
และเป็นที่ยอมรับในสายตาคนทั่วไปอย่างแน่นอน"
นักศึกษารุ่นแรกที่จะจบในอีก 4 ปีข้างหน้า ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ดีที่สุด!