Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2533
โชบุน ซึกิกาว่า โตเกียวคอนเนคชั่นในเชียงใหม่             
 


   
search resources

Commercial and business
Retail
โชบุน ซึกิกาวา
แกรนด์ไฟว์ คอร์เปอเรชั่น




เมื่อปีที่แล้วโชบุนเป็นนักธุรกิจพ่อม่ายชาวญี่ปุ่นผู้เดินทางมาแสวงหาโชคที่เชียงใหม่ ที่ซึ่งขณะนี้อำนวยโชคให้เขาได้ร่ำรวยและมีความสุขมากกว่าการเป็นเจ้าของสตูดิโอเล็กๆในโตเกียว ทั้งๆที่พื้นฐานครอบครัวของโชบุนนั้นเป็นคหบดีที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในสิบคนของเศรษฐีแห่งเกาะชิวกิว พ่อของโชบุนเป็นเจ้าของโรงพยาบาลที่เมืองนางาซากิซึ่งเป็นบ้านเกิด โชบุนเกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2487 เมื่อเขาอายุได้สองขวบได้เกิดระเบิดปรมาณูครั้งร้ายแรงที่สุดในโลกที่เมืองนี้ "ดังนั้น ทุกวันนี้ผมจึงเป็นคนอาภัพเส้นผม ก็เพราะเหตุนี้กระมัง?" โชบุนพูดด้วยอารมณ์ขันแฝงขณะเล่าชีวิตให้ฟัง

โชบุนเรียนจบไฮสกูลที่นางาซากิ และเข้ามาเรียนต่อที่กรุงโตเกียวระยะหนึ่งเขาก็หันเหไปเรียนหลักสูตรการบริหารธุรกิจระยะสั้น 10 เดือนที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จากนั้นก็ไปหาประสบการณ์ที่สต็อกโฮล์มประเทศสวีเดนสักพักหนึ่ง ก่อนจะบินกลับมาญี่ปุ่นเพื่อเริ่มธุรกิจตัวเองโดยเปิด สตูดิโอรับจ้างถ่ายภาพให้เอเยนซี่โฆษณา แต่หลังจากการหย่าร่างในชีวิตคู่ โชบุนได้เริ่มแสวงหาหนทางชีวิตใหม่ในโลกกว้าง และราวปี 2525 เขาก็ได้เดินทางมาที่ประเทศไทยตามคำชักชานของเพื่อนที่ทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งแนะนำให้เขาไปเที่ยวพักผ่อนที่เชียงใหม่

"หลังจากรู้จักเชียงใหม่ได้ 3 วัน คนไทยคนแรกที่ผมรู้จักคือ เล็ก (เดชพล เชวงศักดิสงคราม หุ้นส่วนคนไทยคนสำคัญของกลุ่มแกรมไฟว์คอร์เปอเรชั่น) เราถูกชะตากันมากและไดคิดทำธุรกิจด้วยกันโดยค้ากระเทียมเป็นครั้งแรก ตอนนั้นผมมีทุนเริ่มแรกประมาณ 5-6 ล้านบาท" โชบุนเล่าให้ฟัง

แต่ในปี 2528ธุรกิจค้ากระเทียมของโชบุนก็ต้องพับฐานไปเพราะขาดทุนมหาศาลจากการเก็งตลาดผิด โชบุนต้องการจะรอขายในราคาสูงถึงกิโลละ 75 บาท ขณะที่ราคาขายกระเทียมทั่วไปราคากิโลละ 55 บาท ทั้งๆที่เขารับซื้อมาด้วยต้นทุนเพียงกิโลกรัมละ 20 บาท เท่านั้น ในที่สุดความไม่แน่นอนก็เกิดขึ้น ราคากระเทียมกลับตกลงมาเหลือแค่กิโลละ 12 บาทเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้โชบุนกล่าวว่า "การค้ากระเทียมค่อนข้างเสี่ยงมาก"

อีกครั้งหนึ่งที่เขาต้องกลับญี่ปุ่นเพื่อนำทุนก้อนใหม่จากน้องชายชื่อ "โซโห" ซึ่งปัจจุบันร่ำรวยจากกิจการภัตตาคารในโตเกียวถึง 9 แห่ง มาลงทุนที่เชียงใหม่ ด้วยเงินทุนใหม่ครั้งนี้โชบุนได้จับการค้าส่งออกพลอยและหยกแถบแม่สาย จังหวัดเชียงราย เขาทำจนประสบความสำเร็จและไดขยายไปค่านมผึ้ง ซึ่งเป็นสินค้าที่ชาวญี่ปุ่นนิยมบริโภคเพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรง นมผึ้งโดยธรรมชาติมีลักษณะเป็นครีมของเหลวที่ผึ้งทหารคายมาป้อนนางพญาผึ้ง

"ผมไม่เคยมีความรู้เกี่ยวกับนมผึ้งมาก่อน แต่เพื่อนผมที่ญี่ปุ่นชอบฝากซื้อ บ่อยเข้าผมก็เห็นลู่ทางการส่งออก เพราะคนเดี๋ยวนี้สนใจสุขภาพมากขึ้น ทำอยู่ได้สักสองปีเราก็ขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศที่ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และในเดือนหน้านี้จะขยายไปยังสหรัฐอเมริกาโดยไปเปิดที่นิวยอร์กและนิวเจอร์ซี่ และต่อไปจะไปเปิดที่ฮาวายและปารีสด้วย" โชบุนเล่าให้ฟัง

และเมื่อกิจการค้าเริ่มดำเนินไปได้ดีทั้งการส่งออกนมผึ้งและจิวเวลรี่ นับตั้งแต่ปี 2531 ราวเดือนมีนาคมโชบุนได้ตั้งบริษัทแกรนด์ไฟว์ คอร์ปเปอเรชั่นขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียนสองล้านบาทเป็นบรษัทแม่ที่ดูแลบริษัทในเครืออีก 18 แห่งที่ได้เปิดตามมาทั่วเชียงใหม่ เช่น บริษัทเชียงใหม่รอแยล เจลลี่ซึ่งส่งออก นมผึ้งแก่ตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก,บริษัทโชบุนแอนด์สิทธิชัย ซึ่งร่วมลงทุนกับผู้จัดการไนท์บา-ซาร์ เพื่อค้าและส่งออกผ้าไหม, บริษัทเชียงใหม่คังโคทัวร์ ซึ่งทำกิจการทัวร์ท่องเที่ยว โดยมีสำนักงานใหญ่ที่โตเกียว, บริษัทเซฟรอน คอร์เปอเรชั่น(ประเทศไทย) ซึ่งขายอาหารและเครื่องดื่ม, บริษัท โซโห(ประเทศไทย) ซึ่งเป็นกิจการของน้องโชบุนที่มาลงทุนด้านภัตตาคารในเชียงใหม่, บริษัทลักกี้เซเว่นซึ่งจดทะเบียนด้วยทุนล้านบาท จะเปิดทำซูปเปอร์มาร์เก็ตในลักษณะ CONVENIENT STORE ขายตลอด 24 ชั่วโมง,บริษัททริคิ ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาททำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

การเติบโตอย่างรวดเร็วของแกรนด์ไฟว์กรุ๊ปซึ่งมีโชบุนและเดชพล เชวงศักดิ์สงครามเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทำให้เป็นที่จับตาแก่นักธุรกิจไทยในเชียงใหม่มากในระยะเริ่มต้น ซึ่งเรื่องนี้โชบุนเล่าให้ฟังว่า

"ธุรกิจเราร้อยร้อยล้านบาท และเรามีหุ้นส่วนคนไทยและต่างชาติประมาณ 15 คน บริษัทของเราที่มีทั้งหมด 19 แห่งที่ยังไม่ได้กำไรและคนไทยก็ถือหุ้นใหญ่ 51 % การที่เราเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วเพราะมีนักลงทุนจากญี่ปุ่นมาร่วมกับเรามาก โดยผมจะเป็นคนติดต่อนักลงทุนจากญี่ปุ่น ส่วนเดชพลจะเป็นผู้ติดต่อกับนักลงทุนฝ่ายไทย เรามีหลักฐานทุกอย่างที่ใครสงสัยก็สามารถเช็คได้ที่สถานทูตหรือแบงค์ ผมใช้บริการของแบงค์ไทยพาณิชย์สาขาศรีนครพิงค์เป็นหลัก"

โชบุนยังกล่าวอีกว่าการลงทุนโดยคอนเนกชั่นระหว่างโชบุนกับนักลงทุนชาวญี่ปุ่นนั้น จะเน้นอยู่ในธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีลักษณะการค้าปลีกมากกว่าจะเป็นลักษณะผู้ผลิตหรือโรงงานขนาดใหญ่ และบทบาทของโชบุนและเดชพลหุ้นที่ดิน,ด้านกฎหมายการลงทุนและการบริหารมากกว่า โดยให้คนไทยถือหุ้น 51% และชาวญี่ปุ่นถือ 49% และการซื้อที่ดินก็จะถือในสนามของบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาดังกล่าว

"ธุรกิจหลักของเราคือเน้นด้านการส่งออกนมผึ้ง และเครื่องประดับอัญมณีเป็นหลัก และเพิ่งเริ่มจะทำทัวร์สำหรับชาวญี่ปุ่นได้แค่ปีกว่านี้เองซึ่งแนวโน้มนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจะเข้ามาในเมืองไทยเป็นทวีคูณทุกปี ผมกล้าพูดได้เลยว่าผมเป็นคนหนึ่งที่นักธุรกิจญี่ปุ่นเขาเชื่อถือ และผมจะเป็นคนแนะนำลู่ทางการลงทุนที่ดีๆ ให้แก่เขาโดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการบริหาร การจัดการบริษัทในระยะเริ่มแรก (BUSINESS CONSULTANT) และเราจะให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจในเมืองไทยว่าต้องให้ความยุติธรรมและเข้าใจ คนไทยเป็นคนฉลาดที่ไม่พูดมากถ้าหากไปบีบบังคับมากจะทำให้ผิดใจกันเปล่าๆ" โชบุนเล่าให้ฟัง

การเป็นสะพานเชื่อมโยงทางธุรกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ทำให้ทัศนะการมองการลงทุน ทั้งด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจการค้าที่ดินในเชียงใหม่ตามสายตานักธุรกิจญี่ปุ่นอย่างโชบุน เป็นเรื่องที่น่าสนใจ โชบุนให้ความเห็นว่า

"ผมคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุน และการท่องเที่ยว ปัจจุบันไต้หวัน,ฮ่องกงและญี่ปุ่น เริ่มเดินทางเข้ามาตั้งโรงงานที่นิคมอุสาหกรรมลำพูนมากขึ้น โดยมีอีก 15 บริษัทที่ตกลงใจจะมาเพิ่มอีก เช่น อุตสาหกรรมคอนเดนเซอร์, เซรามิก และชุดเสื้อผ้าเครื่องหนัง และค่าแรงงานก็ถูกกว่ากรุงเทพฯ 50% ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพฯ ที่ดินราคาสูงมากและค่าแรงงานก็เพิ่มสูงขึ้น แต่ที่เชียงใหม่เพิ่งจะเริ่มเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินมากในช่วง 2 ปีมานี้ แต่คิดว่าก็ยังน่าลงทุนมากกว่ากรุงเทพฯ ซึ่งเต็มไปด้วยมลพิษและวุ่นวาย"

ส่วนทางด้านการท่องเที่ยว ในปีที่แล้วจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นถึง 21% จากตัวเลขปี 2530 ซึ่งมีชาวญี่ปุ่นมา 449,086 คน เป็น 546,967 คน และจำนวนนี้มีผู้ที่เข้ามาเที่ยวเชียงใหม่ 33,165 คน โดยเฉลี่ยคนหนึ่งจะใช้จ่ายค่าอาหารและที่พักวันละประมาณ 4,224 บาท ทำให้ปีที่แล้วรายได้รวมจากนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เข้าประเทศไทยสูงถึง 10,583ล้าน

"ช่วงฤดูกาลที่จะมีนักท่องเที่ยวมาทัวร์เชียงใหม่มากราวเดือนกรกฎาคม จนถึงธันวาคม นอกนั้นก็มีม้าเรื่อยๆ ไม่เงียบเหงาแม้จะไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวก็ตาม ไม่เหมือนเมื่อ 5 ปีก่อนที่พอถึงหน้า LOW SEASON จะเงียบเหงามาก แต่ทุกวันนี้เครื่องบินเต็มทุกเที่ยวบินและโรงแรมในเชียงใหม่ก็เต็มไปด้วย ปัญหาด้านราคาห้องพักโรงแรมไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเขาสามารถจ่ายได้ในราคาตั้งแต่ห้องละ 1,200-2,000 บาทต่อคืน ค่าใช้จ่ายสำหรับแขกของคังโคทัวร์ซึ่งเป็นอีกธุรกิจหนึ่งของเรา เท่าที่สังเกตเขาจะจ่ายค่าอาหารและที่พักรวมทั้งของที่ระลึกประมาณ 50,000-60,000 บาท ต่อการพัก 5 วันต่อคน ผมคิดว่าอนาคตการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ไปได้ดีมาก" โชบุนให้ทัศนะ

วันนี้อาณาจักรแกรนด์ไฟว์คอร์เปอเรชั่น ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ของกลุ่มประมาณ 150 ล้านบาท โดยมีรายได้หลักจากยอดส่งออกนมผึ้ง 15 ล้านบาทในปีที่แล้ว และยอดขายจิวเวลรี่ประมาณ 12 ล้านบาท โชบุนได้สร้างชื่อเสียงของเขาขึ้นมาได้เติบใหญ่ในเชียงใหม่ และกำลังจะแตกกิ่งก้านสาขาออกไปสู่ธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็ก ระหว่างประเทศนับว่าเป็นการมองเห็นโอกาสช่องว่างทางธุรกิจที่ทำให้โชบุนก้าวขึ้นมาสู่จุดนี้ได้ และน่าจับตามองการลงทุนใหม่ๆ ในอนาคตที่กลุ่มนี้กำลังจะรุกคืบสู่กรุงเทพฯ ว่าโตเกียวคอนเนคชันของโชบุนจะสร้างอะไรให้เกิดขึ้นในธุรกิจเมืองไทยบ้าง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us