"จีเอ็มเอ็ม"ประกาศแผนขึ้นปีที่ 21 เดินหน้าเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทรัพย์สินซ่อนเร้นอย่างเป็นรูปธรรม
จัดตั้งหน่วยงาน "จีไอพี" เป็นศูนย์กลางดูแลบริหารลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาทุกแขนงที่มีอยู่
คุยปีหน้ารีดทรัพย์ได้กว่า 1,000 ล้านบาท จากการขยายตัวเทคโนโลยี มือถือ ทั้งริงโทน
คาราโอเกะ โลโก้หน้าจอ เปิดโครงการสร้างเลือดใหม่ อากู๋ลงสนามฝึกคนรุ่นใหม่ ธุรกิจเพลง
มั่นใจปีหน้า กสช.เกิดแน่ เตรียมแผนลงทุนกลุ่มทีวี สนทั้งเคเบิลทีวีและฟรีทีวี
นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
เปิดเผยวานนี้ (11 พ.ย.) ถึงทิศทางการบริหารงานในวาระก้าวขึ้นปีที่ 21 ของจีเอ็มเอ็ม
ว่านโยบาย การบริหารงานในปีหน้าจะนำทรัพย์สินที่เป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาที่ จีเอ็มเอ็มสร้าง
สมมาตลอดเวลา 20 ปี มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะทรัพย์สินซ่อนเร้น (Hidden
Asset) ที่มีอยู่จำนวนมาก และบริษัทไม่ได้ ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้
คือเพลงรวมฮิตที่ค่ายแกรมมี่ บิ๊กเป็นผู้บริหาร ขณะนี้ทำรายได้เป็นสัดส่วนถึง 30%
ของรายได้บริษัท
การดำเนินงานตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้จีเอ็มเอ็มมีลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
โดยเฉพาะในช่วง 6-7 ปีก่อน ที่ได้แยกการทำงานเป็นบิสซิเนส ยูนิต ทำให้มีบริษัทในเครือกว่า
20 บริษัท แยกย้ายกันไปผลิตผลงานในทุกแขนงของวงการ
บันเทิงทั้งเพลง วิทยุ ภาพยนตร์
ถึงวันนี้จีเอ็มเอ็มเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงกว่า 10,000 เพลง และลิขสิทธิ์อื่นๆ
อีกเป็นจำนวน มาก และจากเทคโนโลยีความก้าวหน้าของโทรศัพท์มือถือ ที่ลิขสิทธิ์เพลงและภาพโลโก้ของ
ศิลปินสามารถหารายได้จากเทคโนโลยีนี้ได้มากขึ้น ขณะนี้บริษัทได้จัดตั้งหน่วยงาน
GIP หรือ Grammy Intellectual Property ขึ้นมา เพื่อเป็นหน่วยงานกลางที่บริหารทรัพย์สินทางปัญญา
ทั้งการขายและจัดเก็บลิขสิทธิ์ทุกอย่างของ จีเอ็มเอ็ม ในลักษณะ One Stop Shop
ตั้งบริษัทใหม่รีดทรัพย์ซ่อนเร้น
นอกจากนี้ยังได้เตรียมจัดตั้งบริษัทขึ้นมาดูแลลิขสิทธิ์งานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ
จีเอ็มเอ็มอีกหลายแห่ง เช่น บริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์ เพลงจากสถานีวิทยุ และสถานที่อื่นๆ
ที่นำผลงาน เพลงของจีเอ็มเอ็มไปใช้ เช่นเดียวกับที่โฟรโนไรท์ จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงสากลอยู่ในปัจจุบัน
โดยจะมีหน่วยงานไปจัดเก็บถึงสถานที่ รวมทั้งจัดตั้งบริษัทดูแลลิขสิทธิ์ภาพยนตร์
ละคร และรายการที่กลุ่มจีเอ็มเอ็มผลิตขึ้น
โดยส่วนที่สำคัญที่สุดและจะเป็นรายได้ใน อนาคต คือ บริษัทที่จะมาดูแลลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้อง
กับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ ที่ขณะนี้เริ่มมีรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำมากขึ้น ตัวอย่างเช่นธุรกิจริงโทน
ที่ปีนี้จะทำรายได้ประมาณ 100 ล้าน บาท ส่วนปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
ปัจจุบันเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ มีอีกหลากหลายรูปแบบที่สามารถสร้างเป็นรายได้
ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ คือ คาราโอเกะ และการใช้ภาพของศิลปินเป็นโลโก้แสดงบนจอมือถือ
ซึ่งจะเป็นลิขสิทธิ์ที่สร้างรายได้ให้จีเอ็มเอ็มในปีหน้า นอกจากนี้ยังจัดตั้งบริษัทที่มาดูแลและบริหารการแสดงโชว์
และคอนเสิร์ต ซึ่ง เป็นงานที่จีเอ็มเอ็มมีความชำนาญ และบุคลากรมีความพร้อม โดยในแต่ละปีได้จัดแสดงคอนเสิร์ต
กว่า 200 รายการ
"การนำลิขสิทธิ์ทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ มาจัดเก็บอย่างเป็นรูปธรรมนี้ จะก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น
ขณะที่มีต้นทุนต่ำมาก โดยจีเอ็มเอ็มจะทำหน้าที่เป็นไลเซนซอร์ ที่จะบริหารทรัพย์สิน
ที่มีอยู่ในเกิดประโยชน์สูงสุด"
ที่ผ่านมาจีเอ็มเอ็มได้เริ่มหาประโยชน์จากลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ไประดับหนึ่งเท่านั้น
แต่ปีหน้าเป็นต้นไป จะเข้ามาหาประโยชน์จากทรัพย์สินซ่อนเร้นทั้งหมดอย่างเต็มที่
คาดว่าหากดำเนินการ ได้อย่างเป็นระบบจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้าน บาท
ปัจจุบัน จีเอ็มเอ็มมีรายได้จากต้นทุนคงที่ โดยเฉพาะเงินเดือนพนักงานปีละประมาณ
1,000 ล้านบาท ดังนั้น หากบริษัทสามารถบริหารทรัพย์สินซ่อนเร้นให้เกิดประโยชน์ตามเป้าหมาย
จริง จะทำให้จีเอ็มเอ็มเป็นบริษัทที่มีฐานะแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากไม่สร้างงานใหม่ขึ้นมาเพิ่มเติม
ก็จะมีรายได้จากทรัพย์สินซ่อนเร้นมาใช้จ่าย แต่จีเอ็มเอ็มยังคงเป็นบริษัทที่สร้างสรรค์ผลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง
แต่ละปีจะมีงานเพลงใหม่ประมาณ 1,000 เพลง
ให้ลิขสิทธิ์สินค้า
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่าจีเอ็มเอ็มในฐานะที่ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งจากเพลง
ละคร ภาพยนตร์ ได้มองหาลู่ทางที่จะนำลิขสิทธิ์ดังกล่าวไปหาประโยชน์มากที่สุด โดยสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
คือ การนำโลโก้ของลิขสิทธิ์งานเพลง ภาพยนตร์ ไปทำเป็นคอลเลกชั่นเสื้อผ้าแฟชั่น
โดยโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ คือ การ ให้ลิขสิทธิ์โลโก้ Little Rock
ที่เป็นอัลบั้มเพลงของวงไมโคร แต่นำกลับมาร้องใหม่โดย 7 วง ร็อกวัยรุ่นชื่อดังในยุคนี้
กับผู้ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ "เอทูแซด"ไปผลิตเป็นคอลเลกชั่นเสื้อผ้า เพื่อจำหน่ายในร้านเอทูแซด
ปีหน้าจีเอ็มเอ็มจะให้ลิขสิทธิ์กับสินค้าหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ในธุรกิจเมอร์เชนไดส์
โดยใช้ศิลปินของค่ายจีเอ็มเอ็มเป็นจุดขาย
ส่วนธุรกิจเพลงในปีหน้าบริษัทจะผลิตผลงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะมากขึ้น
ซึ่งจะทำให้ราคาของซีดีเพลงไม่จำเป็นต้องขายราคาเดียวกันตลอดเวลา แผนการดำเนินงานต่างๆ
ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าจะทำให้รายได้ของจีเอ็มเอ็มเติบโตอย่างก้าวกระโดด
เปิดอบรมเลือดใหม่
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่าปีหน้าได้ปรับโครง สร้างบริษัทใหม่ ด้วยการเร่งพัฒนาบุคลากรเดิม
และอยู่กับองค์กรมาเป็นเวลานานให้ก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารงาน และพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์มากขึ้น
รวมทั้งจะนำกลยุทธ์ใหม่ๆ มาพัฒนาลิขสิทธิ์ตัวสินค้า และบริการที่จีเอ็มเอ็มมีอยู่ให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้นและตอบสนองลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับแผนการพัฒนาบุคลากรคนรุ่นใหม่ จะดำเนินการภายใต้โครงการ สร้างคนรุ่นใหม่
โดยจะเปิดรับสมัครนักศึกษาจบใหม่ที่สนใจวงการบันเทิงทุกแขนง ซึ่งบุคลากรมืออาชีพที่อยู่ในจีเอ็มเอ็มทุกสาขาอาชีพจะเป็นผู้อบรมให้
ซึ่งรวมถึงตนเองด้วยที่จะลงมาฝึกอบรมคนรุ่นใหม่ให้เป็นเลือดใหม่ของจีเอ็มเอ็ม โดยจะฝึกในกลุ่มธุรกิจเพลง
แผนการพัฒนาบุคลากรคนรุ่นใหม่นี้ จีเอ็มเอ็มได้พัฒนามาเป็นระยะๆ แต่ไม่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมอย่างโครงการที่เตรียมจะจัดทำขึ้นนี้
เพราะสมัยเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ๆ มีบุคลากรเพียง 20-30 คนเท่านั้น แต่ขณะนี้มีประมาณ
3,000 คน ปีหน้าจีเอ็มเอ็มจะถือเป็นปีแห่งการสร้างเลือดใหม่ เหตุผลสำคัญมาจากบุคลากรที่เป็นรุ่นก่อตั้งบริษัทเมื่อ
20 ปีก่อนมีอายุขึ้นทุกวัน ทำให้จีเอ็มเอ็มต้องสร้างบุคลากร รุ่นใหม่มาสานงานต่อ
ขณะนี้ได้สร้างนักบริหารระดับกลาง หรือ Middle Management ขึ้นมา แล้วบางส่วน แต่ยังไม่เพียงพอกับการขยายงานในอนาคตของบริษัท
ปีหน้า กสช.เกิดหวังเป็นเจ้าของทีวี
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า โครงการสร้างคน รุ่นใหม่นี้ เป็นหนึ่งในแผนงานที่จะเข้ามารองรับการขยายธุรกิจทีวีของจีเอ็มเอ็ม
โดยมั่นใจว่าปี 2547 การจัดตั้ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์แห่งชาติ
หรือ กสช. จะเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งจะทำให้เกิดการจัดสรร บริหารคลื่นวิทยุ และโทรทัศน์ใหม่
แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อน คือ การอนุญาตให้เคเบิลทีวีมีโฆษณาได้ หลังจากนั้นจะนำไปสู่การปรับอัตราการเก็บสัมปทานของผู้ประกอบการสถานีทีวีทุกช่องให้มีความเท่าเทียมกัน
โดยเฉพาะสัมปทานของช่องไอทีวี ที่มีอัตราสูงกว่าทุกสถานี ให้มาอยู่ในระดับเดียวกัน
เพื่อสร้างความยุติธรรมในการแข่งขัน
ทั้งนี้ เมื่อเกิดการจัดสรรคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ใหม่แล้ว จีเอ็มเอ็มยังยืนยันเจตนารมณ์
เดิมที่ต้องการบริหารธุรกิจทีวี ด้วยการเป็นเจ้าของ สถานีทีวี หรือการเข้าไปรับบริหารช่องเคเบิลทีวี
ซึ่งจีเอ็มเอ็มมีบุคลากรที่มีความพร้อมด้านการผลิตรายการอยู่แล้ว เพราะปัจจุบันรายการที่บริษัทในเครือผลิต
และออกอากาศอยู่ในสถานีช่องต่างๆ เป็นรายการที่ได้รับความนิยมอย่างสูง
"การเป็นเจ้าของสถานีฟรีทีวี หรือบริหารช่องเคเบิลทีวี จีเอ็มเอ็มจะดำเนินการภายใต้กฎระเบียบของ
กสช.เท่านั้น โดยจะไม่ดำเนินการเพื่อขยายธุรกิจทีวีในลักษณะที่แหกกฎ กสช. เด็ดขาด"
นายไพบูลย์กล่าว