ศึกชาเขียวเปลี่ยนมุม จับตาดีทแฮล์มขายชาเขียวสองแบรนด์ อยู่ในมือ ทั้งโออิชิและทิปโก้
ทั้งที่เป็นคู่แข่งกัน วงในคาดทิปโก้กรีนทีต้องเร่งเคลียร์ กับดีทแฮล์มแน่ โออิชิออกรสชาติใหม่
พร้อมลุยแบบกล่องยูเอชที เผยอีก 4 ปีตลาดชาเขียวพุ่งถึง 27,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากวงการตลาด กล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ขณะนี้ทราบมาว่าทาง
ผู้บริหารของบริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด เจ้าของชาเขียวยี่ห้อทิปโก้กรีนที อยู่ระหว่างการเจรจากับทางผู้บริหารของบริษัท
ดีทแฮล์ม จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายน้ำดื่มผลไม้และชาเขียวยี่ห้อทิปโก้ เกี่ยวกับการดำเนินงานในอนาคตว่าจะทำอย่างไร
จากกรณีที่ทางดีทแฮล์มได้เข้าไปเป็นผู้จัดจำหน่ายชาเขียวโออิชิอีกยี่ห้อหนึ่ง
ทั้งนี้ถือว่าดีทแฮล์มกลายเป็นผู้จัดจำหน่ายรายเดียวที่ทำสินค้าคู่แข่งอยู่ในมือ
เพราะทั้งโออิชิ กับทิปโก้กรีนทีถือเป็นสินค้าในตลาดกลุ่มเดียวกันอยู่แล้ว การที่มีผู้จัดจำหน่ายรายเดียวทำทั้งสองยี่ห้อไม่น่าจะมีความเหมาะสมแต่อย่างใด
เพราะว่าข้อมูลอาจจะมีการรั่วไหลกันได้
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของดีทแฮล์ม เคยกล่าวไว้ว่า การทำงานจะแยกกันออกเป็นสองทีมอย่างเด็ดขาดไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
โดยทีมที่ถนนหลวงจะดูแลชาเขียวโออิชิกับ น้ำผลไม้เด็กยี่ห้อเกอร์เบอร์ ส่วนดีทแฮล์มที่ถนนสุขุมวิทจะรับผิดชอบขาเขียวและน้ำผลไม้ยี่ห้อทิปโก้
ขณะที่แหล่งข่าวจาก ทิปโก้ฟูดส์ กล่าวกับ ผู้จัดการรายวัน ว่า ทิปโก้กับดีทแฮล์มมีความ
สัมพันธ์กันมานานแล้วเป็นผู้จัดจำหน่ายน้ำผลไม้ ทิปโก้ตั้งแต่เริ่มแรกและต่อด้วยชาเขียว
ซึ่งขณะนี้ก็ยังจัดจำหน่ายอยู่ อย่างไรก็ตาม การทำโปรโมชั่นมีการแยกกันบ้างเช่น
ดีทแฮล์มจะทำร่วม กับค้าปลีกหรือห้างสรรพสินค้า ส่วนบริษัทฯจะทำแล้วแต่กรณีพิเศษเช่นล่าสุดทำกับปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์และบัตรอเมริกันเอ็กซ์เพรส
เมื่อเดือนที่แล้วทิปโก้ได้ออก 2 รสชาติใหม่ คือ เก๊กฮวยกรีนทีและโนซูการ์ พร้อมกับการออก
ขนาด 1 ลิตรในรสชาติเก๊กฮวยกับรสชาติเก่าคือ จัสมิน จากเดิมที่มีขนาดเดียวคือ 225
มิลลิลิตร
ส่วนทางด้านยูนิฟกรีนที ล่าสุดได้ออก ชาเขียวนมถั่วเหลือง ซึ่งถือเป็นการเปิดเมนูใหม่แตกต่างจากคู่แข่ง
ขายแพกละประมาณ 53 บาท ต่อ 6 กล่องขนาด 180 มิลลิลิตรและยังมีชาเขียว ใส่นมด้วย
ซึ่งเป็นรสชาติเดียวกับที่บีทาเก้นเคยวางตลาดแล้ว
นายตัน ภาสกรนที ประธานกรรมการ บริหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทใช้งบลงทุนกว่า
500 ล้านบาท สร้างโรงงาน เพิ่มอีก 1 แห่ง ที่ นวนคร โดยส่วนหนึ่งได้สั่งเครื่องจักรผลิตโออิชิ
กรีนที ในรูปแบบยูเอชที 400,000 กล่องต่อเดือน และชนิดขวดทอปฟิวส์ 400,000 ขวดต่อเดือน
และจะมีการผลิตแบบซอง ในอนาคตด้วย
การลงทุนในโรงงานดังกล่าวยังเป็นการเพิ่ม กำลังการผลิตให้กับโออิชิกรุ๊ปทุกร้านเพื่อรองรับอัตราการเติบโต
และยังสามารถขยายธุรกิจไปสู่ อาหารแช่แข็ง อาหารแช่เย็น และข้าวปั้น ซึ่ง คาดว่าจะดำเนินธุรกิจอย่างเต็มตัวในปีหน้านี้
ในเบื้องต้นวางแผนที่จะจำหน่ายตามร้านค้าสะดวกซื้อทั่วไป
ล่าสุดบริษัทได้เปิดตัวรสชาติใหม่อีก 2 รส ชาติ คือ ชาเขียวรสน้ำผึ้งผสมมะนาว
และสูตรไม่มีน้ำตาล จากเดิมที่มีรสต้นตำรับเพียงรสชาติเดียว ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีสินค้า
6 รายการ สำหรับงบในการทำตลาดโออิชิ กรีนที บริษัทวางไว้ที่ 40 ล้านบาทจนถึงไตรมาสสอง
พร้อมกันนี้ในปีหน้าจะเพิ่มขนาดเป็นขวดลิตรครึ่ง และ แบบกล่อง 1000 มล. โดยคาดว่ายอดขายชาเขียว
โออิชิในสิ้นปีหน้าจะมีถึง 500 ล้านบาท จากปัจจุบันยอดขาย 240 ล้านบาท
"ขณะนี้โรงงานใหม่ยังไม่เสร็จดี ซึ่งหากโรงงานมีความพร้อมเมื่อไหร่ บริษัทจะรุกขยายตลาดชาเขียวโออิชิไปยังต่างประเทศมากขึ้น
โดยจะกลับไปเจรจากับผู้ประกอบการในจีนและผู้ประกอบการรายอื่นๆเพิ่มอีก ทั้งนี้ก่อนหน้านี้บริษัทเคยจะไปลงทุนในประเทศจีนมาก่อนแต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส
ทำให้ต้องมีการชะลอแผนไปก่อน" นายตัน กล่าว
สำหรับตลาดชาเขียวในประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสูง จากเมื่อปีที่ผ่านมาตลาดชาเขียวมีมูลค่า
400 ล้านบาท และในปีนี้มูลค่าตลาด 1,400 ล้านบาท และคาดว่าอีก 4 ปี ข้างหน้านี้มูลค่าตลาดชาจะเพิ่มขึ้นถึง
27,000 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด ส่วนปัจจุบันตลาดชาเขียวมียูนิฟเป็นผู้นำตลาดครองส่วนแบ่ง
65% ทิปโก้ 10% และอื่น 25%