บง.ธนชาติ ยังไม่มีบทสรุปในการควบรวมกิจการ กับธนาคารธนชาต เหตุต้องรอความชัดเจนแผนแม่บทการเงินจากแบงก์ชาติ-คลังก่อน
ด้าน "บันเทิง ตันติวิท" โวสินทรัพย์หลังควบกิจการรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท
พร้อมยืนยันไม่มีการเพิ่มทุนอีกภายในระยะเวลา 3 ปี แต่ระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้
3 หมื่นล้านบาทแทน
นายบันเทิง ตันติวิท ประธาน กรรมการ บริษัทเงินทุน (บง.) ธนชาติ จำกัด (มหาชน)
กล่าวถึง กรณี การควบรวมกิจการระหว่างบง.ธนชาติ กับธนาคารธนชาต ว่า บริษัทมีแผนควบรวมกิจการทั้ง
2 แห่งอย่างแน่นอน แต่จะต้องรอแผนแม่บทพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ Financial Master
Plan ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังที่จะประกาศ ออกมาอย่างเป็นทางการ
เพื่อความ ชัดเจนในการดำเนินการ
"หากแผนแม่บทประกาศเป็น ที่แน่นอนแล้ว ธนชาติพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าว
อย่างรวดเร็ว โดยจะพิจารณาแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและการดำเนินธุรกิจให้มากที่สุด
และนำเสนอต่อผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณา อนุมัติต่อไป"
นายบันเทิง กล่าวว่า ขณะที่แผนแม่บทยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ บริษัทเงินทุนไม่มีปัญหาในการดำเนินงานขยายสินเชื่อแต่อย่างใด
เนื่องจากเงินกองทุนมีเพียงพอและไม่มี ความจำเป็นต้องเพิ่มทุน และในการดำเนินการตามแผนแม่บทนี้
บริษัทไม่มีความจำเป็นต้องควบรวมกับบริษัทเงินทุนอื่นแต่อย่างใด
สำหรับแนวทางการควบรวมกิจการนั้น นายบันเทิง กล่าวว่า บริษัทมีแนวทางในการควบรวมกิจการ
3 แนวทางคือ แนวทางที่ 1 ใช้วิธีการเช่นเดียวกับที่ธนาคารไทยธนาคารควบรวมกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
หรือ IFCT คือ ควบรวมแล้วตั้งเป็นบริษัทใหม่ ซึ่งบริษัทใหม่ดังกล่าวจะต้องรับทั้งสินทรัพย์และหนี้สิน
อาจจะใช้ชื่อใหม่หรือชื่อเดิมก็ได้ โดยที่จะต้องมีกฎหมายออกมารองรับวิธีการดังกล่าว
แนวทางที่ 2 คือ ให้บริษัทแม่โอนธุรกิจเกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์ไปให้กับบริษัทลูก
คือธนาคารธนชาต และบริษัทแม่จะเป็นเพียงแค่ผู้ถือหุ้นเท่านั้น และแนวทางที่ 3 คือการยุบบริษัท
เงินทุนทั้งหมด และไปถือหุ้นในธนาคารธนชาต ดังนั้น การดำเนินการในการควบรวมหรือการ
สวอปหุ้น ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างไร
"ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาว่าจะใช้วิธีใดในการควบรวมกิจการ แต่ทั้งนี้จะต้องรอแผนแม่บทที่ทางธปท.และกระทรวงการคลัง
จะประกาศ นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและการดำเนินธุรกิจให้มาก
ซึ่ง 3 แนวทางดังกล่าวบริษัทสนใจที่จะใช้แนว ทางที่ 1 กับ 2 มากกว่า"
อย่างไรก็ตาม หากมีการควบรวมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะทำให้อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง
หรือ BIS Ratio ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2546 อยู่ในระดับ 15% ซึ่งในปัจจุบัน BIS Ratio
ของบริษัทเงินทุนอยู่ที่ 10% และของธนาคารอยู่ที่ 30.73% ขณะที่เงินกองทุนของทั้ง
2 บริษัท มีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง คือ ณ 30 กันยายน 2546 บริษัทเงินทุนธนชาติ
มีส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งสิ้นจำนวน 19,236.8 ล้านบาท และธนาคารธนชาต มีส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน
9,152 ล้านบาท
เตรียมออกหุ้นกู้ 3 หมื่นล้านบาท
สำหรับแผนการเพิ่มทุนนั้น นายบันเทิง กล่าวว่า บริษัทยังไม่มีนโยบายที่จะทำการเพิ่มทุน
ในขณะนี้ แต่จะทำการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้จำนวน 30,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับอนุมัติจาก
ผู้ถือหุ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่การออกหุ้นในครั้งนี้จะเป็นการทยอยออกหุ้นกู้ล็อตแรกจำนวน
2,000-5,000 ล้านบาท ภายในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากนั้นจะทยอยออกให้ครบจำนวนที่ขอไว้กับผู้ถือหุ้น
โดยหุ้นกู้ดังกล่าวมีอายุ 5-7 ปี สำหรับ เงินทุนดังกล่าวจะสามารถรองรับการขยายธุรกิจ
ของบริษัทในระยะ 2 เดือน
ในส่วนของบริษัทเงินทุนมีฐานลูกค้าเช่าซื้อ จำนวน 200,000 ราย และในส่วนของลูกค้าเงินฝากมีจำนวน
20,000 ราย ซึ่งเป็นลูกค้าทั้งบริษัท เงินทุนและธนาคารรวมกัน โดยที่มีจำนวนเงินฝากทั้งหมดจำนวน
112,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินฝากของลูกค้าบริษัทเงินทุนจำนวน 71,000 ล้านบาท และลูกค้าธนาคารจำนวน
41,000 ล้านบาท
ปี 47 รุกขยายสินเชื่อรายย่อยเพิ่ม
ส่วนแนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2547 มีแผนที่จะขยายสินเชื่อรายย่อยให้เพิ่มมากขึ้น
โดยผ่านทางสาขาที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลัง ซึ่งในส่วนของธนาคารได้รับอนุมัติให้เปิดอีก
18 สาขา ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจากเดิมมีจำนวน 5 สาขา และสำหรับบริษัทเงินทุนซึ่งปัจจุบันมีสำนักอำนวยสินเชื่อจำนวน
13 แห่ง ซึ่งจะไปขยายในต่างจังหวัด เช่น ในจังหวัดภูเก็ตที่มีการเตรียมความพร้อมที่จะขยายธุรกิจของบริษัทในเครือทั้งธนาคาร
บริษัทประกันชีวิต ควบคู่ไปกับบริษัทเงินทุน ในส่วนของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้
หรือเอ็นพีแอล ของบริษัทเงินทุนนั้นอยู่ในระดับ 0.7% และสำหรับของธนาคารอยู่ในระดับ
3-4% ส่วนใหญ่เป็นหนี้เก่าที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ แต่สำหรับหนี้ใหม่เกือบจะไม่มีปัญหาของเอ็นพีแอล