ผู้บริหารแบงก์นครหลวงไทย ควงแขนที่ปรึกษาและอันเดอร์ไรเตอร์ เดินสายโรดโชว์ 4
ภาค เพื่อเสนอขายหุ้นที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถืออยู่ 370 ล้านหุ้น ดีเดย์วันที่ 5 พ.ย.นี้
ก่อนเปิดให้จองซื้อในวันที่ 20 พ.ย. 2546 ผู้บริหารมั่นใจนักลงทุนสนใจจองซื้อ ขณะที่ราคาหุ้นคาดสรุปประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่
19 พ.ย.นี้
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย เปิดเผยถึง
ความคืบหน้าในการเสนอขายหุ้นของธนาคารที่ถือโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถืออยู่จำนวน
370 ล้านหุ้น ว่า ขณะนี้กำลัง เร่งเตรียมความพร้อมกระจายหุ้นให้นักลงทุน และ เตรียมจัดงานโรดโชว์
4 ภาค เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการขายหุ้นและข้อมูลพื้นฐานของธนาคารฯ แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไป
เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเข้าลงทุนในหุ้นของธนาคาร
สำหรับการโรดโชว์ทั้ง 4 ครั้ง จะเริ่มที่กรุงเทพฯ สำหรับนักลงทุนสถาบัน ในวันที่
5 พฤศจิกายน 2546 ณ โรงแรมอโนมา ส่วนที่เหลืออีก 3 ครั้ง สำหรับนักลงทุนทั่วไป
ในวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่โรงแรมสีมาธานี จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 10 พฤศจิกายน
ที่โรงแรมลีการ์เดนส์ พลาซ่า หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และครั้งสุดท้ายวันที่ 14 พฤศจิกายน
ที่โรงแรมเชอราตัน จังหวัดเชียงใหม่
โดยการชี้แจงข้อมูลครั้งนี้ จะมีผู้บริหารของธนาคารและที่ปรึกษาทางการเงินเป็นผู้ให้ข้อมูล
ประกอบด้วย คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมทีมผู้บริหารของธนาคารฯ
อาทิ ผศ.ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และคุณระเฑียร ศรีมงคล
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องตลาดทุน
รวมทั้งผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการจัดจำหน่าย
3 แห่ง ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้
จำกัด และบริษัท หลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด
"ธนาคารมั่นใจว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจ จองซื้อหุ้นของธนาคารเป็นอย่างดี
เนื่องจากธนาคาร มีผลประกอบการอยู่ในระดับที่ดี และมีผลกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง"
นายอภิศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานล่าสุดประจำ ไตรมาส 3 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา
ธนาคารกำไรสุทธิ 727.44 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.34 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ
487.83 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.23 บาท ขณะที่งวด 9 เดือน กำไรสุทธิ 2,070.21
ล้านบาท กำไร สุทธิต่อหุ้น 0.98 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่กำไรสุทธิ 1,938.36 ล้านบาท
และกำไรสุทธิต่อหุ้น 1.30 บาท
นายอภิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารมีความพร้อมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในความสำเร็จในครั้งนี้
โดยมีแผนการที่จะนำหุ้นของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารออกขาย
ให้แก่ประชาชนทั่วไป มีจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งสิ้น 370 ล้านหุ้นหรือประมาณ 17.5%
ของหุ้นที่กองทุน ฟื้นฟูฯถืออยู่
การเสนอขายแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ประมาณ 148 ล้านหุ้น หรือ 40% ขายให้นักลงทุน
สถาบัน และส่วนที่ 2 ประมาณ 222 ล้านหุ้น หรือ 60% ขายให้นักลงทุนรายย่อย โดยจะเสนอขายเป็น
ชุดจะประกอบไปด้วย 1 หุ้นสามัญ ควบใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Covered Warrant)
2 หน่วย/วอร์แรนต์
สำหรับวอร์แรนต์ดังกล่าวมีอายุ 1 ปี และสามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญได้ หากผู้ถือหุ้นใช้สิทธิ
ตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ครบตามจำนวน จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของกองทุนฟื้นฟูฯ
ลดลง จาก 99.99% เหลือ 47.5% ซึ่งจะทำให้ธนาคารฯ มีสถานะเป็นธนาคารเอกชนต่อไป
โดยราคาขายหุ้นในครั้งนี้ จะเป็นการขายหุ้น เฉพาะนักลงทุนภายในประเทศ โดยการกำหนดราคาเสนอขายหุ้น
จะใช้วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นสามัญตามมูลค่าเชิงเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมที่สามารถอ้างอิงได้
และจะมีการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์จากนักลงทุนประเภทสถาบัน (Book Building)
ประกอบการกำหนดราคาด้วย
"ราคาเสนอขายสุดท้ายจะเป็นการกำหนดร่วมกันระหว่างกองทุนฟื้นฟูฯ กับอันเดอร์ไรเตอร์
และคาดว่าจะประกาศราคาขายสุดท้ายในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ ก่อนจะเปิดให้มีการจองซื้อหุ้นระหว่างวันที่
20-21 และวันที่ 24 พฤศจิกายน และจะนำหุ้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประมาณต้นเดือนธันวาคมปีนี้"
ส่วนวิธีการจองซื้อหุ้นและชำระเงินนั้น ธนาคารจะหักจากบัญชีจากเงินฝากของผู้จองซื้อ
โดยก่อนวันเปิดจองผู้สนใจต้องเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร พร้อมฝากเงินไว้ตามจำนวนหุ้นที่ต้องการซื้อ
และเมื่อได้รับการจัดสรรแล้ว ธนาคาร จะหักเงินจากบัญชี วิธีนี้ลูกค้าจะไม่เสียประโยชน์
และหากไม่ได้รับการจัดสรรหุ้นก็จะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากตามอัตราดอกเบี้ยปกติของธนาคาร
"การจัดสรรหุ้นให้นักลงทุนทั่วไป ธนาคารจะให้ใช้ระบบสุ่มเลือก (Random)
โดยใช้ระบบ Set Trade ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการจัดสรรหุ้น ส่วนผลการจัดสรรหุ้นจะประกาศผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคาร
(www.scib.co.th) และสื่อต่างๆ"
สำหรับแผนงานในปี 2547 หลังจากธนาคาร นำหุ้นกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
เรียบร้อย แล้ว ธนาคารมีความพร้อมที่จะทำธุรกิจในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าระดับกลางและลูกค้ารายย่อย
เนื่องจากเป็นตลาดดังกล่าวมีขนาดใหญ่และมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง