"บิ๊กหมง" หวั่นการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอล่าช้า หลังพนักงานไม่ให้ความร่วมมือให้ข้อมูลแก่บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและเทคนิค
ทำให้การสรุปผลศึกษาเสร็จไม่ทันสิ้นปีนี้ ยืนยัน 4 แบงก์เตรียมให้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน
170 ล้านดอลลาร์ภายในเดือนนี้ ขณะที่การเจรจาลดดอกเบี้ยจ่ายยังไร้ข้อยุติ
นายพละ สุขเวช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด
(มหาชน)(TPI) ในฐานะตัวแทนจากกระทรวงการคลังที่ได้รับแต่งตั้งเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฯ
เปิดเผยว่า ขณะนี้สถาบันการเงินทั้ง 4 แห่งได้เสนอสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนจำนวน
170 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้บริษัทฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
ทำให้บริษัทฯมีสภาพคล่อง ดีขึ้น
สถาบันการเงินที่จะให้เงินทุนหมุนเวียน คือ ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ให้เงินทุนหมุน
เวียน 50-80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารเพื่อการ ส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย
และธนาคารกรุงเทพ ปล่อยกู้แบงก์ละ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ทีพีไอ กล่าวว่า ก่อนทำสัญญาสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน
170 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ จำเป็นต้องยื่นเสนอต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อมีคำสั่งเห็นชอบด้วย
หากพบแบงก์ใดมีความ พร้อมก็จะเสนอขออนุมัติจากศาลก่อน ไม่จำเป็น ต้องรอพร้อมกัน
ส่วนรายละเอียดสัญญานั้น ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเพราะจะมีการกำหนดสิทธิของเจ้าหนี้ที่
ได้รับเงินกู้คืนแตกต่างกันไป
ปัจจุบันทีพีไอมีดอกเบี้ยค้างจ่ายประมาณ 30-40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากบริษัทได้หยุด
พักการชำระดอกเบี้ยมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางผู้บริหารแผนฯอยู่ระหว่างการเจรจาขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยจ่ายในปัจจุบันและดอกเบี้ยค้างจ่ายลงเหลือ
MLR-1 และ Libor+1 ยังไม่มีข้อสรุป แม้ว่าเจ้าหนี้จะยอมรับในหลักการก็ตาม
วอนพนง.ให้ข้อมูลบ.ที่ปรึกษาฯ
วานนี้ (4 พ.ย.) พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ประธานคณะผู้บริหารแผน บริษัท อุตสาหกรรม
ปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน)(TPI) นำทีมคณะผู้บริหารแผนทั้ง 5 และทีมที่ปรึกษาคณะผู้บริหารแผน
ชี้แจงการดำเนินงานที่ผ่านมานับตั้งแต่เข้ามาบริหารแผนฯ ให้เจ้าหน้าที่บริษัทตั้งแต่ระดับผู้จัดการฝ่ายในส่วนกรุงเทพ
และส่วนโรงงาน รวมทั้งผู้แทนจากสหภาพฯ
โดยผู้บริหารแผนฯได้ขอความร่วมมือจาก พนักงานทีพีไอ ในการให้ข้อมูลต่างๆในทีพีไอ
ต่อ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินทั้ง 2 แห่ง คือ บล. ไทยพาณิชย์ และบริษัท มอร์แกนสแตนเลย์
และที่ปรึกษาทางด้านเทคนิค คือ บริษัท เอบีบี จำกัดหลังจากที่ปรึกษาดังกล่าวไม่ได้รับความร่วมมือจากพนักงานทีพีไอเท่าที่ควรในช่วงที่ผ่าน
มา จนอาจทำให้ผลสรุปการศึกษา เพื่อใช้ในการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการอาจล่าช้าออกไป
จากเดิมที่จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2546
พล.อ.มงคล กล่าวว่า หากที่ปรึกษาไม่สามารถสรุปผลการศึกษาได้เสร็จทันภายในสิ้นปีนี้
ต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนมกราคม 2547 ทาง คณะผู้บริหารแผนฯ คงจำเป็นต้องเลื่อนการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่ออกไปเช่นเดียวกัน
"ขณะนี้มีความไม่เข้าใจกันในบางส่วน จึงอยากขอให้พนักงานทีพีไอทุกคนให้ความร่วมมือกับที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษาทางเทคนิค
เพื่อทำให้การปรับปรุงแผนการฟื้นฟูกิจการฯแล้วเสร็จตามกำหนด"
พล.อ.มงคล กล่าวต่อว่า จุดมุ่งหมายของผู้บริหารแผนฯต้องการแก้ปัญหาทีพีไอให้ได้
โดย คงความเป็นบริษัทของคนไทย ที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ต่อไป
ส่วนแนวทางการตัดขายธุรกิจรอง (Non-Core) ตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับเดิมนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะขายกิจการใดออกไปทั้งโรงไฟฟ้าและท่าเรือ
แต่จะหาแนวทางในการเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินที่มีอยู่เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ เช่น กิจการท่าเรือ
เป็นต้น
"เราไม่ได้บอกว่าจะไม่ขาย Asset แต่ต้อง ดูรายละเอียดว่าควรจะขายหรือไม่
ซึ่งท่าเรือ 1 มีความจำเป็นเพื่อใช้ขนส่งน้ำมันดิบ ขณะที่ท่าเรือ 2 จำเป็นต้องหาแนวทางเพิ่มรายได้
จากปัจจุบัน ที่มีการใช้ท่าเรือเพียง 10% ทำให้เจ้าหนี้มองว่าไม่คุ้มค่า ทำให้มีการกำหนดให้ตัดขายออกไป"
นายพละ กล่าว
ขณะที่โรงไฟฟ้าก็ผลิตไฟไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในกลุ่มธุรกิจ ทำให้บริษัทฯต้อง
ซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เดือน ละกว่า 100 ล้านบาท และมีปัญหาไฟดับบ่อย
คง ต้องพิจารณาว่าจะมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มหรือไม่ โดยพิจารณาจากความคุ้มค่าการลงทุน
สำหรับที่ดินว่างเปล่าจำนวน 2,000 ไร่ อาจ สร้างเป็นนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้เงินเข้ามา
ยังบริษัท
ขณะนี้โรงกลั่นทีพีไอได้ปิดซ่อมบำรุงบางส่วนในเดือนนี้เป็นเวลา 20-30 วันทำให้กำลังการ
ผลิตลดเหลือ 80,000 บาร์เรล/วัน โดยกำลังกลั่นจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 150,000 บาร์เรล/วัน
ในเดือนธันวาคมนี้ หากแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้นคงต้องกลับมาพิจารณาว่าจะเพิ่มกำลังการกลั่นอีกหรือไม่
เนื่องจากปัจจุบันกำลังกลั่นทีพีไออยู่ที่ 215,000 บาร์เรล/วัน
บิ๊กหมงขออยู่บริหารแผนจนเสร็จ
พล.อ.มงคล กล่าวว่า คณะผู้บริหารแผนฯ จะทำหน้าที่นานเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ
ซึ่งการฟื้นฟูกิจการทีพีไอมีอายุ 5 ปี ต่ออายุได้ 2 ครั้งๆ ละ 1 ปี หาก สิ้นสุดเวลาดังกล่าวแล้วการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟู
ใกล้สำเร็จ อาจขออนุญาตต่อศาลเป็นกรณีพิเศษ เพื่ออยู่บริหารแผนฟื้นฟูต่อจนกว่าจะแล้วเสร็จ
นอกจากนี้ ทางผู้บริหารแผนฯไม่เห็นด้วยกับการว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินที่กลุ่มเจ้าหนี้ได้จัดจ้างขึ้น
เพราะซ้ำซ้อนกับที่ปรึกษาทางการเงินที่ทีพีไอว่าจ้างก่อนหน้านี้ หากเจ้าหนี้ยังยืนยันก็ให้เป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายเอง
รวมทั้งปฏิเสธ ชำระเงินค่าที่ปรึกษาทางกฎหมายของเจ้าหนี้ จำนวน 32 ล้านบาท เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง
ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการบริหารแผนทีพีไอชุดใหม่ รวมทั้งสิ้น 290 ล้านบาท ต่ำกว่าได้กำหนดไว้
500 ล้านบาท นับเป็นค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าผู้บริหารแผน เดิม (อีพีแอล) ถึง 227 ล้านบาท