Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2529
อรุณ แสงสว่างวัฒนะ เป็นใคร?             
 


   
search resources

อรุณ แสงสว่างวัฒนะ




เรื่องราวชีวิตของอรุณ แสงสว่างวัฒนะ นั้นเล่ากันสามวันสามคืนคงไม่จบ หรือถ้าเขียนเป็นหนังสืออย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุมก็คงจะเป็นหนังสือเล่าโตเสียยิ่งกว่านวนิยายเล่มใดๆ ในบรรณพิภพอย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะเพียงแค่ตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ทางธุรกิจ และสังคมอย่างเดียว ก็ดูเหมือนว่าจะต้องใช้หน้ากระดาษเกินกว่า 3 หน้ากระดาษแล้ว

การตอบคำถามว่า “อรุณ แสงสว่างวัฒนะ เป็นใคร” นั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่จะตอบกันได้ง่ายๆ ด้วยคำจำกัดความสั้นๆ

คล้ายๆ กับการที่จะต้องกล่าวถึงคนคนหนึ่งซึ่งสวมหมวกอยู่บนหัวหลายๆ ใบเป็นหมวกที่น่าสนใจพอๆ กันทุกใบเสียด้วย

อย่างเช่นตำแหน่งหน้าที่ต่อไปนี้

สมาชิกสภาเทศบาลเมืองนครสวรรค์

สมาชิกสภาจังหวัดนครสวรรค์

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สมาชิกพฤฒสภา

กรรมการเลขานุการคณะกรรมการผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี

กรรมการเลขานุการคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัย สำนักนายกรัฐมนตรี

กรรมการเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและแผนจัดตั้งชุมชน สำนักนายกรัฐมนตรี

ประธานคณะเยี่ยมข้าราชการและชาวบ้าน สำนักนายกรัฐมนตรี

ที่ปรึกษาพรรคชาติไทย

ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี-พลตรีประมาณ อดิเรกสาร ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ประธานคณะอนุกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการสหกรณ์ สำนักนายกรัฐมนตรี

กรรมการหอการค้าไทย

อุปนายกสมาคม วาย เอ็ม ซี เอ กรุงเทพฯ

นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย

ผู้ก่อตั้งและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจที่ดิน

ผู้ก่อตั้งและอดีตนายกสมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทย

ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศไทย

ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมส่งเสริมสวัสดิภาพจราจร

อุปนายกสมาคมพ่อค้าไทย

และอีกมากนี้ล้วนแล้วแต่เป็นตำแหน่งหน้าที่ที่อรุณ แสงสว่างวัฒนา เคยผ่านมาทั้งสิ้น

ก็น่าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ว่า อรุณ แสงสว่างวัฒนะ นั้นเป็นคนที่ไม่หยุดนิ่งเลยแม้สักน้อยนิดตั้งแต่อายุเพิ่งจะเพียง 16 ปี จน 77 ปีในปัจจุบัน

อรุณ เป็นคนปากน้ำโพ นครสวรรค์ เกิดในครอบครัวชาวนาผู้มีอันจะกิน เมื่อปี 2453

เรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนแถวๆ บ้านเกิด แล้วมาต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ และลาออกจากโรงเรียนเมื่อกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยม 6 ด้วยสาเหตุที่เจ้าตัวเล่ากับ “ผู้จัดการ” ว่า “ผมมันมีความคิดไม่ค่อยเหมือนคนอื่นเขา...”

โดยที่ “ความคิดไม่ค่อยเหมือนคนอื่นเขา” นี้ก็ผุดขึ้นมาในใจตั้งแต่ครั้งยังเรียนอยู่ชั้นประถมแล้ว

“เมื่อเล็กๆ บ้านผมอยู่แพ ก็ต้องนั่งเรือจากแพมาที่ตลาด จากตลาดก็ต้องเดินต่ออีกจึงจะถึงโรงเรียน มันไกลและลำบากมาก เผอิญแม่ผมค้าขายจนรู้จักกับคนจีนเจ้าของร้านขายของชำในตลาด แม่ก็เอามาผมมาฝากไว้กับร้านคนจีนคนนี้เพื่อจะได้ไปโรงเรียนสะดวกขึ้น ผมอยู่กับร้านชำนี้ 2 ปีเห็นวิธีการค้าขายของเขาละเอียดทุกซอกทุกมุมก็มานั่งคิดว่าเขาเป็นคนจีนแท้ๆ ไม่รู้หนังสือไทยด้วยซ้ำ แต่เขาก็รวยได้ เรื่องนี้ก็ฝังใจมาเรื่อย จนเมื่อมาเรียนที่บ้านสมเด็จ ตอนนั้นดูเหมือนจะอายุ 13-14 แถวบ้านผมเขาก็มีรถรับจ้างไถนา ปิดเทอมผมก็ไปดูเขาทำงาน เขารับจ้างไถไร่ละ 4 บาท ก็สนใจ พอกลับมากรุงเทพฯ โรงเรียนเปิดเทอมผมอ่านประกาศขายพวกรถแทรกเตอร์ รถไถนาที่ไหนผมจดหมายไปขอแค็ตตาล็อกเขามาอ่านดู พอเรียนมัธยม 6 ผมก็ตัดสินใจเด็ดขาด ไม่เอาวะ ออกไปทำมาหากินดีกว่า” อรุณเล่าให้ฟัง

ก็คงเดาออกกระมังว่า อรุณออกจากโรงเรียนมาทำอะไร?

“ผมตั้งใจแน่นนอนว่าจะต้องหาซื้อรถแทรกเตอร์สักคันมารับจ้างไถนาก็ขอเงินแม่มาได้ 2,000 กว่าบาท สมัยนั้นก็มากโขอยู่ แต่แทรกเตอร์มันคันละ 4,600 บาท ก็ไม่รู้จะซื้ออย่างไร”

ดูเหมือนปัญหานี้แหละที่เขาเริ่มฉายแววความเป็นพ่อค้าและพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง

“ผมกำเงิน 2,000 กว่าบาทไปที่ห้างวินเซอร์แอนด์โก เอเย่นต์ขายรถแลนด์แทรกเตอร์ ห้างนี้ชาวบ้านชอบเรียกว่าห้าง 4 ตา ผมไปคุยกับฝรั่งเยอรมันชื่อ ซีเกอร์ เป็นหัวหน้าแผนกขายเครื่องจักรกล ผมก็ขอแค็ตตาล็อกเขา อ่านสักพักแล้วผมก็ถามเขาว่า รถของคุณทำงานได้ตามที่ระบุไว้ทุกอย่างใช่ไหม ซีเกอร์ก็ตอบว่าใช่ ซึ่งก็ต้องตอบอย่างนั้นอยู่แล้ว ผมก็บอกว่าที่บ้านมีรถไถนาอยู่แล้วคันหนึ่ง ได้ค่าจ้างไถไร่ละ 4 บาท เพราะฉะนั้น ถ้าเอารถที่ห้างขายอยู่นี้ไปรับจ้างไถก็จะมีรายได้วันละเท่านั้นๆ หักค่าโสหุ้ยแล้วจะเหลือเท่านี้ๆ คิดออกมาเป็นตัวเลขเปะๆ แล้วถามซีเกอร์ว่าใช่ไหม เขาก็บอกว่าใช่ ผมก็เลยพูดกับเขาแบบตรงไปตรงมาว่าผมมีเงินอยู่ 2,000 กว่าบาท ถ้าเขายอมให้ผมเอาเงินจำนวนนี้วางดาวน์แล้วเอารถออกไป ภายในปีเดียวผมสามารถผ่อนส่วนที่เหลือได้หมดจะได้ไหม ซีเกอร์ยิ้ม บอกว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เขาตัดสินใจเองไม่ได้ พรุ่งนี้ให้ผมไปหาเขาใหม่ เขาจะพาไปคุยกับนายห้างของเขา รุ่งขึ้นผมก็ไป ซีเกอร์ก็พาไปพบกับนายห้างเขาก็คุยกันเป็นภาษาเยอรมันพักหนึ่ง นายห้างฟังไปก็หันมายิ้มให้ผมเป็นระยะ แล้วผมก็ได้รถออกมารับจ้างไถนาที่นครสวรรค์…” อรุณเล่ากลเม็ดของเขาซึ่งเขาเน้นนักเน้นหนาว่าเป็นเรื่องของ “โชค” ด้วย

กิจการรับจ้างไถนาตอนนั้นก็ทำเอาหนุ่มน้อยวัย 16 อย่างอรุณร่ำรวยมากๆ และก็กลายเป็นคนมีหน้ามีตาของปากน้ำโพเมื่ออายุเพิ่งจะ 20 เศษๆ เท่านั้น

หลังจากนั้นก็มาตั้งร้านขายปืนขึ้นที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ ร้านนี้ชื่อสั้นๆ ว่า “อรุณ” ซึ่งก็เป็นร้านที่ได้มาเพราะ “โชค” ช่วยอีกเหมือนกัน

“ตามธรรมดาสมัยนั้นอำเภอหนึ่งเขาให้มีร้านปืนได้ไม่เกิน 2 ร้าน ทีนี้ที่ปากน้ำโพมีร้านหนึ่งแล้วชื่ออิ่วซังแต่ไอ้อิ่วซังอยากเปิดอีกร้านหนึ่งเขาก็ไปให้เพื่อนขออนุญาต ตอนนั้นหลวงประชานุศาสตร์เป็นนายอำเภอ ท่านผู้นี้เป็นคนตรงมาก อิ่วซังเอาเงินเอาทองไปให้ ท่านก็โกรธ พอดีท่านสนิทกับผม วันหนึ่งท่านก็ถามลอยๆ ว่าคุณอรุณตั้งร้านขายปืนเถอะ ผมก็งงท่านก็พาขึ้นไปอำเภอให้เสมียนเอาคำร้องมาให้ผมเซ็น แล้วสั่งเสมียนตราให้มาสอบปากคำผมเรื่องจะขออนุญาตตั้งร้านขายปืน โดยท่านกำชับว่าสอบเสร็จให้เอามาให้ท่าน ไม่ต้องกรอกวันที่ หลังจากนั้นผมก็ลืมไปสนิทจนหนึ่งปีให้หลัง ท่านก็มาบอกว่า ใบอนุญาตตั้งร้านปืนได้แล้วนะ ผมงงไปหมด คือเรื่องของเรื่องก็คือ ท่านแทงหนังสือขึ้นไปจังหวัดทั้งคำขอของผมและของอิ่วซังพร้อมกันโดยมีความเห็นว่า ผู้ร้องหลักฐานดีความประพฤติดี สมควรอนุญาตเหมือนกันทั้งสองรายทางจังหวัดก็ต้องแทงเรื่องไปกระทรวง กระทรวงก็ตัดสินอนุญาตให้ผมเพราะถือว่ายื่นคำร้องก่อน ซึ่งที่ยื่นคำร้องก่อนก็เพราะนายอำเภอท่านกรอกวันที่ให้ก่อนคำขอของอิ่วซังเสร็จสรรพ”

นี่ก็คงจะต้องเป็น “โชค” อย่างไม่ต้องสงสัย

การเป็นเจ้าของร้านขายปืนนั้นก็เป็นธรรมดาที่จะต้องใกล้ชิดสนิทสนมกับบรรดากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะผู้ที่จะต้องพาลูกบ้านมาซื้ออาวุธไว้คุ้มครองทรัพย์สิน

และเผอิญอรุณเป็นเจ้าของร้านขายปืนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีเยี่ยมอยู่ด้วย

ในไม่ช้าชื่อเสียงของอรุณก็เป็นที่รู้จักกันดีของคนปากน้ำโพรวมทั้งต่างอำเภอเช่นกัน

เมื่อปี 2476 ขณะอายุ 23 ปีก็เลยลองเล่นการเมืองระดับท้องถิ่นและก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองนครสวรรค์

อายุ 27 ก้าวขึ้นมาเล่นการเมืองระดับชาติด้วยการสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้แทนจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งมีอายุน้อยที่สุดในสภาฯ ยุคนั้น

อีก 9 ปีต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกพฤฒสภา สมัยรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์

ส่วนด้านธุรกิจนั้น เขายกกิจการร้านปืนที่นครสวรรค์ให้น้องชายแล้วมาตั้งร้านขายปืนขึ้นใหม่ที่กรุงเทพฯ ชื่อร้านแสงอรุณ ซึ่งบรรดานักเลงปืนทั้งหลายในอดีตรู้จักชื่อเสียงกันดี

ส่วนด้านการเมืองนั้นหยุดไม่ได้อยู่แล้ว

เมื่อปี 2517 ขณะที่กลุ่มนักการเมืองแห่ง “ซอยราชครู” กำลังจะก่อตั้งพรรคชาติไทยขึ้นมานั้น พลตรีประมาณ อดิเรกสาร ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคได้ทาบทามให้อรุณ แสงสว่างวัฒนะ ลงสมัคร ส.ส. ภายใต้เสื้อคลุมพรรคชาติไทยที่จังหวัดนครสวรรค์

แต่อรุณปฏิเสธ

“คุณประมาณก็ส่งคนมาทาบทามหลายครั้ง ผมก็เลยบอกคุณประมาณว่าพรรคชาติไทยนั้นตัวคุณประมาณลงสมัครที่สระบุรี คุณชาติชายลงที่โคราช ส่วนคุณศิริ สิริโยธิน ลงชลบุรีแล้ว แบบนี้จะเอาใครไว้เฝ้าบ้าน สำหรับผมแล้ว ผมมีความเห็นว่า คนเก่งๆ เราต้องเก็บเอาไว้ข้างหลัง ส่วนพวกที่จะลงสมัคร ส.ส. ให้เอาพวกหนุ่มๆ ที่ฝีปากดีๆ คนเก่งคอนป้อนความคิดให้คนหนุ่มที่เป็นกองหน้า ไม่ใช่เอาคนเก่งๆ ไปขึ้นเขียงให้คนเขาสับโขกบนเวทีหาเสียงเลือกตั้ง ก็เลยตกลงว่าผมจะไม่ลงสมัคร ส.ส. แต่ก็จะให้คำปรึกษา”

ครั้นทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพรรคชาติไทยแล้ว

รัฐบาลทุกชุดที่มีพรรคชาติไทยเข้าร่วมเป็นรัฐบาล ก็จะมีอรุณ แสงสว่างวัฒนะ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอยู่ไม่เคยขาด

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อปี 2518-2519 หรือรัฐบาลเปรม 1 และ 2 เมื่อปี 2523-2525 ซึ่งพรรคชาติไทยเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลอยู่ด้วยพรรคหนึ่ง

แต่มนุษย์เรานั้นก็คงจะไม่ใช่เหล็กไหลมาจากไหน

ไม่กี่ปีมานี้อรุณถูกหามเข้าห้องไอซียูและหัวใจหยุดทำงานมาแล้ว 2 ครั้งซ้อนๆ แต่ก็คงเป็นเพราะ “โชค” สิ่งที่คนอย่างอรุณมักจะได้มาอย่างไม่คาดฝันเป็นประจำอีกนั่นแหละ อรุณจึงยังเป็นอรุณอยู่ได้โดยไม่ด่วนลาโลกไปเสียก่อน

หลังจากพักอยู่ในห้องไอซียูจนแพทย์ถือว่าพ้นขีดอันตรายแล้ว อรุณก็กลับมาพักรักษาตัวที่บ้าน มีพยาบาลดูแลใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

วันหนึ่งเขาเป็นลมล้มลงใกล้ๆ โต๊ะอาหารซึ่งยกพื้นขึ้นไปสูง ขาของเขาหักต้องเข้าเฝือกและทำให้การเคลื่อนไหวของเขาจำเป็นต้องจำกัดอยู่เพียงเนื้อที่แคบๆ ในห้องทำงาน

แต่สมองของเขายังสมบูรณ์ ความจำยังดีเยี่ยมและกำลังใจนั้นคงหาคนเทียบได้ยากมากๆ

อรุณ ยังมีความหวังที่จะทำงานอีกชิ้นหนึ่งให้สำเร็จ อาจจะเป็นชิ้นสุดท้ายสำหรับเขาก็ได้

มันเป็นงานที่บุกเบิกมา 20 กว่าปีแล้ว

อรุณ เรียกมันว่า “โครงการจัดตั้งบริษัทส่งเสริมการแสดงสินค้านานาชาติ จำกัด”

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us