อรุณ แสงสว่างวัฒนะ ติดตามความเคลื่อนไหวด้านการแสดงสินค้านานาชาติของหลายๆ ประเทศอย่างจริงจังมานานแล้ว
เอกสารเกี่ยวกับงานแสดงสินค้าไม่ว่าจะเป็นในประเทศอังกฤษ เยอรมนีตะวันตก
ตลอดจนประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำอีกจำนวนมากนั้น อรุณเก็บรวบรวมมาศึกษาจนแทบจะล้นตู้หนังสือในห้องทำงานของเขาทีเดียว
ในจำนวนหลายประเทศที่อรุณทำการศึกษานี้ ดูเหมือนญี่ปุ่นจะให้บทเรียนเกี่ยวกับประโยชน์ของงานแสดงสินค้านานาชาติได้ชัดเจนที่สุด
“ผมคิดอยู่ตลอดเวลาว่าญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ย่อยยับแทบสิ้นเนื้อประดาตัว
แต่ชั่วเวลาเพียง 40 ปี (2528) ญี่ปุ่นกลับฟื้นตัวรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
จนขึ้นหน้าประเทศที่ญี่ปุ่นเคยลอกเลียนสินค้าของเขา ก่อนหน้านี้คนไทยดูถูกว่าของญี่ปุ่นคุณภาพเลว
สู้ของอังกฤษ เยอรมนีหรืออเมริกาไม่ได้ เดี๋ยวนี้ญี่ปุ่นทำได้ไม่แพ้ใคร บางอย่างดีกว่าและถูกกว่าด้วย
“ญี่ปุ่นมีพื้นดินจำกัด ทรัพยากรธรรมชาติไม่ค่อยมี ประชากรก็ล้น เนื้อที่เทียบกับไทยแล้วเรามีพื้นดินและทรัพยากรธรรมชาติมากกว่า ประชากรก็ยังไม่ล้น แต่ผลผลิตรวมของชาติเราแพ้ญี่ปุ่นอย่างน่าอับอาย”
“ผมสนใจศึกษาวิธีการของญี่ปุ่นอย่างจริงจัง ทั้งจากของจริงและเอกสารต่างๆ ได้เห็นวิธีง่ายแต่ฉลาดของญี่ปุ่น ไม่ต้องใช้นักวิชาการสูงๆ หรือใช้เงินมากมายสูญเปล่า คือส่งเสริมให้พลเมืองทั้งประเทศรู้มากเห็นมาก มีหูตากว้างไกล ฉลาดรู้จักประดิษฐ์คิดค้น
ทั้งนี้ด้วยการสนับสนุนให้จัดงานแสดงสินค้านานาชาติ เชิญประเทศต่างๆ จากทั่วโลกนำสินค้ามาแสดงร่วมกับสินค้าของญี่ปุ่น
แล้วหน่วยราชการและวิสาหกิจก็เข้าไปร่วมมือให้เกิดผลสำเร็จยิ่งขึ้น จะเห็นว่าคนที่เป็นรัฐบาลเขาฉลาด
ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณมาก เพียงแต่เข้าไปช่วยอำนวยความสะดวก เช่น ติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะให้ในบริเวณงาน
จัดรถโดยสารประจำทางเพิ่มให้พอเพียง และช่วยให้การจราจรคล่องตัว ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าแก่ผู้ได้รับบัตรเชิญจากกรรมการจัดงาน
และสถานทูตญี่ปุ่นในทุกประเทศประชาสัมพันธ์งานให้ ศุลกากรก็ให้ความสะดวกเต็มที่แก่ประเทศที่ไปร่วมงานแสดงสินค้า”
“งานแสดงสินค้านานาชาติ TOKYO INTERNATIONAL TRADE FAIR ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี
2496 หลังสงครามยุติเพียง 8 ปี อเมริกายังอยู่เต็มเมือง ต่อจากนั้นก็จัดทุกปี
ที่โตเกียวและที่โอซากา ผลัดกันเมืองละปีจนถึงปีนี้”
“ผมจะเล่าเรื่องงานแสดงสินค้านานาชาติที่โตเกียวครั้งที่ 12 เมื่อปี
2520 ให้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นนั้นเขาได้อะไรจากการแสดงสินค้านานาชาติ”
“สถานที่แสดงสินค้านานาชาติที่โตเกียวที่ฮารูมิ มีอาคารแสดง 7 หลัง
เนื้อที่ในอาคาร 50,000 ตารางเมตร ที่แสดงกลางแจ้ง 47,017 ตารางเมตร มีบริเวณทั้งหมด
116,000 ตารางเมตร ปีนั้นจัดงาน 10 วัน มีผู้มาแสดงสินค้า 1,380 ราย รวม
2,150 ร้าน ประเทศที่มาร่วมแสดง 48 ประเทศ ผู้เข้าชมงาน 747,020 คน เป็นชาวต่างประเทศ
7,004 คน ตกลงซื้อขายสินค้ากันระหว่างงาน 63,630 ราย เป็นมูลค่ารวม 63,662,990,000
เยน (ปีนั้นเยนละประมาณ 7 สตางค์) หรือประมาณ 445,360,300 บาท
“สถานแสดงสินค้าถาวรของโตเกียว (TOKYO INTERNATIONAL TRADE FAIR GROUP)
นอกจากจะจัดแสดงสินค้านานาชาติ โดยเชิญประเทศต่างๆ เข้าร่วมแสดงปีละครั้งแล้ว
สมาคมอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ และสถาบันการค้า บริษัทหนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ ยังเช่าจัดนิทรรศการอยู่เสมอๆ อย่างในปี 2528 มีกำหนดการแสดงถึง 105 งาน คิดดูก็แล้วกันครับว่า สถานแสดงสินค้าถาวรที่ใหญ่โตระดับชาตินี้มีประโยชน์ในการส่งเสริมความรู้ความคิดให้เห็นมากฉลาดมากของพลเมืองอย่างไรบ้าง”
“ไม่แต่เท่านั้น ญี่ปุ่นยังมีศูนย์แสดงสินค้าที่ญี่ปุ่นทำได้จัดแสดงประจำตลอดปี
มีของจากโรงงานมากกว่า 600 โรงงานจำนวนกว่า 24,000 ชิ้น”
“ศูนย์แสดงสินค้านี้เป็นประโยชน์ทั้งของผู้ผลิตสินค้าและผู้ค้าจากต่างประเทศมาก รวมทั้งผู้ค้าผู้ใช้ในประเทศด้วย ไปที่ศูนย์นี้แห่งเดียวทราบเกือบหมดว่าญี่ปุ่นทำอะไรบ้าง
บริษัทอะไรอยู่ที่ไหนเป็นผู้ทำ ไม่ต้องตระเวนหา เฉพาะผู้ค้าต่างประเทศเจ้าหน้าที่จะช่วยเหลือติดต่อผู้ผลิตให้ได้พบปะหารือกัน
ส่วนผู้ผลิตของญี่ปุ่นรายใหม่ก็จะแสวงหาความรู้รูปแบบและความคิดใหม่จากศูนย์นี้
โดยปรึกษากับเจ้าหน้าที่และได้เห็นของจริงในสินค้าอย่างเดียวกันจากผู้ผลิตในสินค้าอย่างเดียวกันจากผู้ผลิตหลายบริษัท
ซึ่งประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายมาก”
“เรามัวแต่คิดจะขายวัตถุดิบ มันสำปะหลัง ข้าว ถั่ว ฯลฯ และขายได้ในราคาต่ำ
เหมือนลูกจ้างปลูกให้เขา เพราะเราไม่มีความรู้เทคโนโลยีที่จะเพิ่มผลผลิตหรือแปรรูปวัตถุดิบเหล่านั้นเป็นสินค้าที่ราคาสูงกว่า
และยังจะได้เกิดประโยชน์อื่นๆ ต่อไปอีก หนังสือพิมพ์หลายฉบับเสนอความเห็นว่า
เราขายข้าว 100 เกวียน จึงจะซื้อรถยนต์ได้ 1 คัน ก็มิได้ทำให้เกิดความคิดเปลี่ยนแปลงใดๆ
ขึ้น ทั้งๆ ที่เรามีสินแร่ต่างๆ และน้ำมันหรือแก๊สอยู่ไม่น้อยที่จะทำให้ประเทศโชติช่วงชัชวาล”
“เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการค้า การอุตสาหกรรมนั้น เป็นเรื่องของพลเมืองทุกคนทำ
ไม่ใช่รัฐบาลจะทำเอง รัฐบาลจะต้องช่วยส่งเสริมให้พลเมืองฉลาดรู้มาก เห็นมาก รู้จักคิด รู้จักทำ กันทั่วหน้าแบบญี่ปุ่น
แล้วคอยสนับสนุนให้ความสะดวกต่างๆ ไม่ใช่คอยออกกฎข้อบังคับออกระเบียบกันให้ยุ่งยากหรือรีดภาษี
(เป็นต้นว่าขณะนี้คำสั่งคณะปฏิวัติที่ห้ามเอกชนจัดงานแสดงสินค้าหากไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก็ยังเป็นกฏหมายที่บังคับใช้อยู่
ไม่ได้ยกเลิก ซึ่งเท่ากับเป็นเครื่องปิดกั้นเอกชน) เมื่อพลเมืองฉลาดทำ ประเทศก็เจริญก้าวหน้าได้
แท้จริงนั้นทุกประเทศที่ก้าวหน้า เพราะพลเมืองเป็นผู้ทำ รัฐบาลเป็นเพียงผู้ช่วยเหลืออำนวยความสะดวก”
“ผมได้บทเรียนจากญี่ปุ่นดังนี้มา 20 กว่าปีแล้วครับ”