Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2529
สถานแสดงสินค้านานาชาติปรารถนาสุดท้ายของ อรุณ แสงสว่างวัฒนะ             
 


   
search resources

อรุณ แสงสว่างวัฒนะ




สำหรับคนที่อายุ 77 เคยถูกหามเข้าห้องไอซียูเพราะหัวใจหยุดทำงานมาแล้ว 2 ครั้ง และประสบอุบัติเหตุขาหักต้องใส่เหล็กเดินไปไหนต้องใช้ไม้ค้ำยันนั้น ก็คงไม่มีใครตำหนิอย่างแน่นอน ถ้าจะนอนนั่งอยู่ในบ้านเฉยๆ

อรุณ แสงสว่างวัฒนะ มีสภาพเช่นนั้นขณะนี้

ก็คงไม่มีใครว่าอะไรถ้าอรุณจะหยุดพักเสียบ้าง

แต่อรุณคิดว่าเขาคงจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เพราะอรุณยังมีงานอีกชิ้นที่ต้องทำ จะเรียกว่าเป็นปรารถนาสุดท้ายที่เขาต้องการทำให้สำเร็จก่อนชีวิตนี้จะหาไม่ไปแล้วก็ได้

อรุณ เรียกปรารถนาสุดท้ายนี้ว่า

“โครงการจัดตั้งบริษัทส่งเสริมการแสดงสินค้านานาชาติ จำกัด หรือ INTERNATIONAL TRADE PROMOTION CO., LTD. (ITPC) ซึ่งโดยสรุปก็คือโครงการสร้างสถานแสดงสินค้านานาชาติ (INTERNATION TRADE FAIR GROUND) ขึ้นเป็นสถานที่ถาวรแห่งแรกในประเทศไทย”

และเป็นปรารถนาสุดท้ายที่อรุณต้องการให้คนหลายๆ ฝ่ายเข้ามาร่วมกันทำ เพราะ “คุณก็เห็นแล้วว่าผมคงจะออกไปโลดเต้นไม่ได้อีกแล้ว เพราะมันเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องใช้มืออาชีพ ผมจึงอยากจะขายความคิดนี้ ใครสนใจก็เข้ามาร่วมกัน จะทำอย่างไรก็ทำกัน ขอให้มันตั้งขึ้นมาให้ได้ผมเป็นสบายใจนอนตายตาหลับ...” อรุณให้เหตุผล

อรุณจัดพิมพ์เอกสารขึ้นมา 15,000 ชุดเมื่อต้นเดือนกันยายน 2528 เอกสารนี้ได้กล่าวถึงที่มาของแนวความคิดที่อรุณได้พบเห็นมาตลอดระยะเวลากว่า20 ปี มีบทเรียนจากญี่ปุ่นเกี่ยวกับประโยชน์ของการมีสถานที่แสดงสินค้านานาชาติ และการแสดงสินค้านานาชาติ จากนั้นก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการตั้งแต่วัตถุประสงค์ไปจนถึงวิธีดำเนินการให้โครงการนี้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง

เอกสารทั้ง 15,000 ชุดนี้ ถูกส่งไปให้บุคคลแทบทุกวงการทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน

รัฐมนตรีทุกคน ข้าราชการระดับอธิบดีขึ้นไป นักธุรกิจหลายสาขา ล้วนอยู่ในบัญชีรายชื่อที่อรุณได้ส่งเอกสารดังกล่าวนี้ไปให้อ่าน โดยหวังว่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่จะต้องให้ความสนใจและติดต่อกลับมา

วันที่ 8 กันยายน 2528 เอกสารทั้ง 15,000 ชุดถูกส่งไปแล้วเรียบร้อย

วันที่ 9 กันยายน 2528 มีรัฐประหาร “ผิดนัด”

ข่าวรัฐประหารกลายเป็นข่าวใหญ่ทั้งบนหน้าหนังสือพิมพ์และความสนใจของคนไทยทั้งประเทศ

โครงการของอรุณเลยต้องกลายเป็นข่าวตกสำรวจไปอย่างช่วยไม่ได้

อรุณ แสงสว่างวัฒนะ นั้นเป็นคนที่ริเริ่มสร้างสรรค์งานเอาไว้หลายอย่าง

โดยเฉพาะงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทยแล้ว อรุณเป็นคนแรกที่ทำขึ้นมาและก็จับงานนี้ไม่เคยทิ้ง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2506 อรุณซึ่งในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นกรรมการหอการค้าไทย ได้ติดต่อเช่าสวนลุมพินีตรงเนื้อที่เล็กๆ ด้านศาลาจตุรมุขจัดแสดงรถยนต์ วิทยุ และโทรทัศน์ ขึ้น

สำหรับเอกชนที่กล้าทำเช่นนี้ในยุค 22 ปีที่แล้วซึ่งก็เพิ่งจะเป็นคนแรกและครั้งแรกนั้น ก็สมควรอยู่หรอกที่จะต้องถูกหัวเราะเยาะหาว่า “เป็นคนคิดบ้าๆ ที่แส่หาเรื่องขาดทุน”

เพราะยุคนั้นงานแสดงสินค้าที่เห็นทำกันพอจะสำเร็จบ้าง ก็มีแต่งานฉลองรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จัด ส่วนเอกชนจะไปเอาศักยภาพจากไหนมาชักชวนให้บริษัทห้างร้านต่างๆ เสียเงินเอาสินค้ามาแสดง นี่ยังไม่ต้องพูดกันว่าจะมีคนมาเดินชมงานหรือไม่

นอกจากนี้สถานที่คือสวนลุมพินีสมัยนั้นก็ถือว่าห่างไกลจากกลางใจเมืองมาก ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับงานฉลองรัฐธรรมนูญ งานกาชาด และงานวชิราวุธ 3 งานใหญ่ประจำชาติซึ่งใช้สวนสราญรมย์ สวนอัมพร และถนนราชดำเนิน เป็นสถานที่จัดงานด้วยแล้วก็ดูจะยิ่งไม่น่าจะเป็นไปได้

แต่อรุณ แสงสว่างวัฒนะ ก็จัดขึ้นมาจนได้ งานครั้งแรกนี้อรุณเชิญเกษม ศรีพยัคฆ์ รัฐมนตรีพาณิชย์มาเป็นประธานเปิดงาน

และก็เป็นงานที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งในด้านจำนวนผู้นำสินค้ามาแสดงและจำนวนผู้เข้าชมงาน

ก็เลยต้องจัดต่อมาอีก 3 ปีติดต่อกัน โดยขยายพื้นที่ในสวนลุมพินีขึ้นเป็นลำดับ

“มีหลายประเทศส่งสินค้ามาร่วมแสดง งานใหญ่ไม่แพ้งานฉลองรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลจัด จนฝรั่งต้องให้ฉายาผมว่า มิสเตอร์เทรดแฟร์ สำหรับชื่องานผมใช้อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดแฟร์ ทุกครั้ง” อรุณเล่าให้ฟังอย่างชื่นมื่น

ก็น่าจะกล่าวได้ว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้สำหรับอรุณแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่เป็นเพราะความบังเอิญ มันเป็นสิ่งที่อรุณเชื่อมั่นอยู่ตลอดเวลาว่าทำสำเร็จแน่ๆ และมันก็เป็นความคิดที่เกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้วด้วย

“ผมมีความคิดมาตั้งแต่ปี 2502 เมื่อผมไปเห็นความเจริญก้าวหน้าของญี่ป่นในการค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีจากการจัดแสดงสินค้านานาชาติที่โตเกียว (TOKYO INTERNATIONAL TRADE FAIR) และที่โอซากา (OSAKA INTERNATIONAL TRADE FAIR) ตอนนั้นผมเป็นกรรมการหอการค้าไทยได้เสนอให้หอการค้าไทยจัดแสดงสินค้าแบบหอการค้าต่าง ๆ ของญี่ปุ่นบ้าง โดยจัดเป็นงานเทรดแฟร์ขึ้นปีละครั้งตามอย่างเขา แต่กรรมการหอการค้าสมัยนั้นไม่ได้ทำ ต่อมาได้ไปดูการจัดงานแสดงสินค้าอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะที่ฮ่องกง โตเกียว โอซากา หลายครั้งเพราะผมจัดนำเที่ยวฮ่องกง-ญี่ปุ่นด้วย ตามแบบคุณเกษมสุข ยันตรโกวิทนักเรียนญี่ปุ่น ซึ่งจัดเป็นคนแรกหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติแล้ว เห็นกันได้ชัดว่าประเทศญี่ปุ่นนั้นแม้ว่าจะแพ้สงครามอย่างย่อยยับ อเมริกาเข้าไปยึดครอง แต่ญี่ปุ่นไม่หยุดยั้งการกอบกู้ประเทศทางการค้าและอุตสาหกรรมด้วยการจัดแสดงสินค้าทั้งเทรดเซ็นเตอร์และเทรดแฟร์ ซึ่งเป็นตัวที่ช่วยกระตุ้นการค้าและอุตสาหกรรมของเขา ผมด้วยเลือดรักชาติและเลือดนักการเมืองผมก็ต้องการจะให้ประเทศไทยไม่น้อยหน้าญี่ปุ่น ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องกระตุ้นเรื่องเทรดแฟร์กันบ้าง เพื่อให้มันมีผลไปถึงการค้าและอุตสาหกรรมของเรา” อรุณร่ายยาวกับ “ผู้จัดการ”

แต่ถ้าบ้านนี้เมืองนี้ล้วนมีคนที่คิดอย่างเดียวกับอรุณ แสงสว่างวัฒนะ กันเป็นส่วนใหญ่ บ้านนี้เมืองนี้ก็คงไม่ต้องจมปลักมีหนี้ท่วมหัวและแก้ปัญหาดุลการค้าขาดดุลกันไม่ตกอย่างเช่นทุกวันนี้เป็นแน่แท้

นอกจากจะไม่คิดเหมือนกันแล้วก็ยังมีอิจฉากันเสียอีก

ด้วยความที่เห็นอรุณ แสงสว่างวัฒนะ จัดงาน 3 ครั้งประสบความสำเร็จงดงามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กรรมการหอการค้าไทยบางคนซึ่งตอนนี้ก็นั่งเป็นนายแบงก์ใหญ่โตและเคยเป็นคนสนิทใกล้ชิดจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เลยจัดการ “ประชุมเพลิง” ให้เข้าหูจอมพลสฤษดิ์ด้วยข้อกล่าวหาหลายข้อหา ผลก็คือท่านจอมพลผ้าขะม้าแดงสั่งการด่วนลงไปที่ท่านนายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพฯ-ชำนาญ ยุวบูรณ์ ให้ยุติการอนุญาตให้เอกชนเช่าสวนลุมพินีจัดงานใดๆ ทั้งสิ้น เพราะต้องการจะให้หญ้าเจริญงอกงามเป็นที่เจริญหูเจริญตากับประชาชนที่เข้าไปพักผ่อนหย่อนใจ

เป็นอันว่างานแสดงสินค้านานาชาติของอรุณ แสงสว่างวัฒนะ ที่ใช้สวนลุมพินีจัดมา 3 ปีติดต่อกัน ก็จะใช้จัดกันต่อไปไม่ได้แล้ว

ดูเหมือนความคิดที่จะสร้างสถานแสดงสินค้านานาชาติเป็นการถาวรได้เกิดขึ้นในความคิดของอรุณ ตอนนี้นี่เองซึ่งอย่างแรกที่จะต้องทำก็คือการมองหาที่ดินผืนงามๆ สักแห่ง

“ผมขับรถไปตามถนนพหลโยธิน เพชรเกษม และสุขุมวิท หลายครั้ง ทั้งเช้ากลางวันเย็น เพื่อประกอบการตัดสินใจ แล้วในที่สุดผมก็เลือกแถวๆ บางปู เพราะถือว่าความเจริญนั้นมันลงมาทางทะเลมากกว่าจะขึ้นเขา” อรุณ เล่ากับ “ผู้จัดการ”

ที่ดินที่บางปูนี้มีเนื้อที่ 100 ไร่ อยู่ตรงกิโลเมตรที่ 35 ของถนนสุขุมวิทด้านหน้าติดคลองชลประทานและถนนสุขุมวิท โดยมีความกว้าง 200 เมตร ด้านซ้ายติดกับโรงงานอลูมิเนียมอัลแคน ลึกเข้าไปอีก 800 เมตรจดคลองแม่หุ่น อรุณ ตั้งชื่อที่ดินผืนนี้ว่า “สวนวัฒนา”

ตอนที่ซื้อที่ดินที่บางปูเป็นปี 2509 และคนที่ช่วยเหลือให้ความร่วมมืออย่างมากๆ จนได้ที่ดินผืนนี้มาก็คือ ชะลอ ธรรมศิริ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายอำเภอเมืองสมุทรปราการอยู่

“ตอนนั้นก็ซื้อมาเป็นเงินแสนเท่านั้น ผมก็ลงทุนสร้างสะพาน ทำถนน ปรับที่ปลูกต้นไม้เอิกเกริกใหญ่โตมาก จนอื้อจือเหลียงสนใจแอบไปดูผมทำงาน แล้วก็ซื้อที่โอบข้างหลังที่ของผม ตอนนี้ก็กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมบางปูของคุณอุเทน เตชะไพบูลย์ อีกคนคือเสี่ยเล็ก เจ้าของบริษัทธนบุรีพาณิชย์ตัวแทนขายรถเบนซ์ก็ไปซื้อที่ใกล้ๆ กันแล้วต่อมาก็สร้างเป็นเมืองโบราณ ความเจริญมันก็วิ่งไปหามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นจริงอย่างที่ผมคาดการณ์ไว้ทุกอย่าง...” อรุณกล่าวอีกตอนหนึ่ง

“สวนวัฒนา” ถูกใช้จัดงานแสดงสินค้า 2 ครั้ง แล้วก็เลิก

เพราะสถานที่ใกล้เกินไป

อรุณ แสงสว่างวัฒนะ จึงต้องเก็บความคิดเรื่องการสร้างสถานแสดงสินค้านานาชาติของเขาไว้เงียบๆ

และมาเริ่มเคลื่อนไหวอย่างหนักอีกครั้งในช่วงใกล้ๆ นี้

ก่อนหน้าที่อรุณจะจัดพิมพ์เอกสาร 15,000 ชุด แจกจ่ายออกไปยังบุคคลในวงการต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนนั้น เขาได้มอบให้บริษัทอินเตอร์ดีไซน์ของเจตกำจร พรหมโยธี ออกแบบสิ่งที่จะต้องก่อสร้างเอาไว้แล้วคร่าวๆ

ถ้าใครได้เห็นแบบก็อาจจะตกใจเพราะลองคิดคำนวณดูก็น่าจะเป็นโครงการที่ต้องใช้ทุนนับเป็นร้อยล้านบาทขึ้นไป

แต่อรุณกลับยืนยันว่าใช้ทุนอย่างมากไม่เกิน 30 ล้านบาท เท่ากับทุนจดทะเบียนของบริษัทที่กำลังจะตั้งขึ้นและขณะนี้เปิดให้จองหุ้นแล้ว

“แบบที่ออกมามันเป็นโครงสร้างที่ครบถ้วนแล้ว แต่ในทางปฏิบัติเราสามารถทยอยสร้างไปได้เป็นเฟสๆ อย่างเช่นเฟสแรกนี้ก็สร้างเฉพาะถนนที่จอดรถ สะพานคอนกรีต อาคารศูนย์กลางและฮอล 1 กับฮอล 2 ที่ใช้แสดงสินค้า เจตนาของผมนั้นต้องการให้โครงการนี้ มันสตาร์ตให้ได้เสียก่อน และทำให้ทันปี 2530 เพื่อที่เราจะได้ใช้เงื่อนไขที่ปี 2530 เป็นปีเฉลิมฉลองในหลวงมีพระชนม์ 60 พรรษา จัดงานใหญ่ขึ้นมาเป็นครั้งแรก จากนั้นปีต่อๆ ไปเมื่อมีเงินมีทองแล้วก็สร้างเพิ่มไปเรื่อยๆ” อรุณชี้แจงผ่าน “ผู้จัดการ”

นอกจากนี้ค่าที่ดินก็ไม่ต้องไปหาซื้อให้เปลืองเงิน เพราะอรุณตั้งใจแน่นอนแล้วที่จะให้เช่าที่ดินทั้ง 100 ไร่ของ “สวนวัฒนา” ระยะเวลายาวนานแค่ไหนก็ได้ ค่าเช่าจะให้เท่าไรก็ยังตกลงกันได้อีกด้วย

บริษัทส่งเสริมการแสดงสินค้านานาชาติขณะนี้ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนบริษัท เพราะความตั้งใจของอรุณก็คือต้องการให้บุคคลหลายๆ ฝ่ายได้แสดงความจำนงเข้าร่วมถือหุ้นเสียก่อน จากขั้นนี้แล้วอรุณจะดูรายชื่อผู้จองหุ้นและเชิญบุคคลจำนวนหนึ่งให้มาเป็นคณะผู้ก่อตั้ง แล้วจึงจะไปถึงขั้นดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท แต่งตั้งกรรมการและเริ่มดำเนินโครงการเป็นขั้นตอนสุดท้าย

“เมื่อตั้งกรรมการบริษัทแล้ว ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการบริษัทที่จะจัดการกันต่อไป จะเอาใครมาบริหารหรือจะทำอย่างไรก็ว่ากันไป ผมก็คงเป็นเพียงผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง ผมถือว่าถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว มันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ผมหมดภาระแล้ว” อรุณเปิดเผยความในใจ

สำหรับอรุณแล้ว ตอนนี้ก็รอผลอยู่ 2 อย่าง

อย่างแรกก็คือ ความสนใจของบุคคลวงการต่างๆ ที่จะแสดงความจำนงเข้ามาร่วมถือหุ้น

ส่วนอีกอย่างก็คือการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งอรุณ แสงสว่างวัฒนะ มีหนังสือไปถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แล้วหลายฉบับ

ให้ตายเถอะ...อย่างแรกอรุณไม่เป็นห่วงเลยแม้แต่น้อย

แต่อย่างหลังนี่สิ มีแต่คนทำ “ซื่อบื้อ” ไม่รู้ไม่ชี้กันทุกคน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us