คนไทยส่วนใหญ่ในประเทศที่โตขึ้นมาได้ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะนมผงเลี้ยงทารกที่เราต้องสั่งเข้ามาจากเมืองนอกเป็นเวลาหลายปีแล้ว
และอีกไม่นานนี้เด็กไทยจะได้มีโอกาสลิ้มรสนมผงที่ผลิตมาจากเมืองไทยกันบ้าง
และเมื่อนโยบายของรัฐเปลี่ยนไปอย่างนี้ ร้อนถึงบริษัทสั่งเข้านมผงยี่ห้อต่างๆ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นมะลิหรือเนสท์เล่ก็ต้องรีบเปลี่ยนฐานจากการสั่งเข้ามาเป็นตั้งโรงงานผลิตนมผงภายในประเทศกันอุตลุด...
หลังจากที่ตกเป็นข่าวครึกโครมมาเมื่อปีที่แล้วเรื่องนมดิบล้นตลาด เพราะบริษัทเอกชนไม่ยอมรับซื้อนมดิบไปผลิตนมพร้อมดื่ม
จนองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบนมดิบในประเทศ
ต้องกลายเป็นพ่อค้าจำเป็นวิ่งเร่ขายนมดิบเกือบ 3 พันตันให้หมดสต๊อกชนิดหืดขึ้นคอแล้ว
(อ่าน “ผู้จัดการ” เล่มที่ 27 ) ล่วงเข้าปีนี้สถานการณ์ก็พลิกกลับ
บริษัทเอกชนทั้งหลายต่างแย่งกันซื้อนมดิบเพื่อที่จะนำไปป้อนโรงงานนมผงที่จะอนุมัติให้ตั้งขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
จากนมที่เคยทำท่าว่าจะ “บูด” ก็ได้กลายเป็นนมที่หอมมันกันอีกครั้ง
ตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 นั้นมีนโยบายให้เร่งการผลิตนมดิบมากขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าหางนมผงและมันเนย
จึงทำให้นมดิบมีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 21.17% ต่อปีในขณะที่ตลาดมารองรับนมดิบภายในประเทศมีเพียงอย่างเดียวคือการผลิตนมพร้อมดื่มซึ่งมีอัตราการเพิ่มช้ามากเพียง
5-7% ต่อปีเท่านั้น
ในตอนนี้ปริมาณนมดิบที่ผลิตได้ในปี 2529 (ตารางที่ 1) มีประมาณ 175.3 ตันต่อวัน
ขณะที่ปริมาณการผลิตนมพร้อมดื่มมี 136.9 ตันต่อวัน ซึ่งจะทำให้มีน้ำนมดิบส่วนเกินประมาณ
38.4 ตันต่อวัน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มเป็น 63 ตันต่อวันในปี 2531 ซึ่งเป็นปริมาณมากพอที่จะสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ ได้
เมื่อมีการคาดการณ์ว่าน้ำนมดิบจะเหลือนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงระดมนักวิชาการทั้งหลายเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ตั้งโรงงานนมผงขึ้นในประเทศไทยเพื่อเป็นฐานรองรับน้ำนมส่วนที่เหลือนี้เมื่อปี
2526
ทำไมจึงเสนอให้ตั้งโรงงานนมผงเลี้ยงทารกขึ้นทั้งๆ ที่สามารถนำนมดิบไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ
ได้มากมาย ในเรื่องนี้ “ผู้จัดการ” ได้สอบถามไปยังสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งได้รับคำชี้แจงคือ
ในขั้นแรกนั้นสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรมีความคิดที่จะผลักดันน้ำนมดิบส่วนที่เหลือนี้ให้เข้าไปในอุตสาหกรรมนมข้นเพราะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
และสามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ฯลฯ ได้ปีละ 44 ล้านบาท
กรรมวิธีในการผลิตนมข้นนั้นจะใช้หางนมผงเป็นส่วนผสมประมาณ 22% ซึ่งหางนมผงส่วนนี้จะสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ
แต่หลังจากมีการพิจารณากันแล้วโครงการนี้ก็ถูกระงับด้วยเหตุผลที่ว่า “สินค้านมข้นนั้นเป็นอาหารของคนชั้นกลางและคนชั้นล่าง ซึ่งในขณะนี้ถ้าใช้หางนมผงจากนอกมาผลิตจะได้ต้นทุนที่ถูก
แต่ถ้าเราผลักดันให้ใช้น้ำนมดิบในประเทศซึ่งมีราคาแพงกว่าแทนจะทำให้ราคานมข้นหวานสูงขึ้น
ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนด้วย” แหล่งข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรอธิบาย
เมื่อเห็นว่า โครงการนมข้นหวานไม่เหมาะสม ที่ประชุมก็หันมาให้ความสนใจตลาดนมผงในประเทศดูบ้างเพราะอุตสาหกรรมนมภายในประเทศส่วนมากจะต้องใช้หางนมผงทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็นการผลิตนมข้น นมพร้อมดื่ม ไอศกรีมเป็นต้น ดังนั้นแต่ละปีประเทศไทยจึงต้องสั่งเข้าหางนมผงเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท แต่ก็มาติดอุปสรรคด้านราคาเพราะ
“ราคาหางนมของต่างประเทศถูกมาก เพราะรัฐบาลของเขาให้เงินช่วยเหลือชดเชย
จึงทำให้ราคาถูกและสามารถส่งออกมาดัมพ์ราคาตลาดโลกได้ แต่นมดิบของเรามีราคาแพง
ถ้านำไปผลิตหางนมผง แล้วราคาจะต้องสูงกว่ามาก”
ดังนั้นทางที่เหมาะสมที่สุดคือ การตั้งโรงงานนมผง เพราะ
มีการคาดการณ์ว่าต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้า คือปี 2538 (ตารางที่ 1) การนำเข้านมผงธรรมดาและนมผงเลี้ยงทารกจะมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็น 10% ต่อปี และราคานำเข้า (ซีไอเอฟ) จะเพิ่มขึ้น 5% ต่อปี ซึ่งในปี 2538
มูลค่าการนำเข้าจะสูงถึง 4,016.6 ล้านบาท ดังนั้นถ้านำนมดิบส่วนที่เกินไปผลิตนมผงธรรมดาและนมผงเลี้ยงทารกแล้วจะสามารถประหยัดเงินตราได้ถึง 2,797 ล้านบาทในปี 2538 (นมดิบ 8 กิโลกรัมสามารถผลิตเป็นนมผงได้ 1 กิโลกรัม)
และการแปรรูปน้ำนมดิบเป็นนมผงเลี้ยงทารก จะมีผลพลอยได้อีกหลายอย่างตามมาคือ
นมผงเลี้ยงลูกโคและลูกสุกรและหางนมผงซึ่งจะนำไปผลิตเป็นนมข้นทั้งชนิดหวานและชนิดจืด
ซึ่งนมทั้งสองชนิดนี้มีแนวโน้มว่าส่งออกได้มากในอนาคต นอกจากนี้ยังสามารถนำไขมันนมมาทำเป็นเนยได้อีก ซึ่งความต้องการเนยของไทยประมาณปีละ 188.5 ตันและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
เมื่อรวบรวมข้อมูลได้เรียบร้อยแล้ว กระทรวงเกษตรฯ ก็ได้เสนอเรื่องการตั้งโรงงานนมผงให้แก่คณะรัฐมนตรีครั้งหนึ่งเมื่อปี 2526 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์นมดิบเหลือพอดี โดย อสค. จะขอเป็นผู้ดำเนินการตามโครงการนี้เอง
ด้วยการใช้เงินกู้จากรัฐบาลเดนมาร์ก แต่ก็มีเสียงคัดค้านกันมากว่าจะทำไม่ได้
โครงการนี้จึงต้องพับฐานกันไป และหันไปมุ่งแก้เรื่องนมเหลือด้วยการออกมาตรการให้เอกชนซื้อนมดิบในประเทศเพิ่มขึ้นแทนการใช้หางนม
แต่มาตอนนี้ก็ได้มีการนำเอาแนวความคิดนี้มาปัดฝุ่นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากใกล้จะถึงสภาวะนมดิบเหลือจริงๆ แล้ว
ในครั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ก็เป็นโต้โผอีกครั้งหนึ่ง โดยได้มีหนังสือเสนอไปทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2528 เพื่อขอให้พิจารณาให้การตั้งโรงงานนมผงเป็นกิจการที่ควรจะได้รับการส่งเสริม เพื่อเป็นการจูงใจและเร่งเร้าให้เกิดการลงทุนขึ้นซึ่งขณะนี้บีโอไอกำลังประชุมกันในระดับคณะกรรมการอยู่
และคาดว่า คงจะมีการอนุมัติในกลางเดือนเมษายนนี้
ขณะที่ข่าวการตั้งโรงงานครั้งใหม่ดูทีท่าว่าจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมานั้น
บริษัทเอกชนทั้งหลาย ที่สั่งนำเข้านมผงจากต่างประเทศก็เริ่มเคลื่อนไหวกันคึกคัก
นักการตลาดวิเคราะห์ว่า บริษัทเอกชนจะต้องโดดเข้าขานรับโครงการนี้อย่างแน่นอน
โดยกล่าวว่า “ที่แต่ก่อนไม่คิด ก็เพราะส่วนหนึ่งคิดว่าน้ำนมดิบคงจะไม่พออยู่แล้ว
พอกระทรวงเกษตรฯ ประกาศว่ามีน้ำนมดิบเหลือเขาก็ตื่นตัวกัน พอมาคำนวณเรื่องราคาต่างๆ ดู ประกอบกับแนวโน้มราคาของต่างประเทศจะสูงขึ้นและมองดูว่าคู่แข่งจะเอาแล้วถ้าตัวเองไม่คิดก็จะต้องเสียตลาดในอนาคต”
และหลังจากกดเครื่องคิดเลขกันเสร็จสรรพแล้ว บริษัทเอกชนทั้งหลายคงเห็นว่าศึกครั้งนี้เห็นทีจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว ด้วยเหตุผลหลายประการ
ประการแรกสุด คือมีข่าวจากวงการผู้สั่งเข้านมทั้งหลายคาดการณ์กันว่าราคานมในต่างประเทศ
โดยเฉพาะในประเทศสมาชิกประชาคมยุโรปมีแนวโน้มว่าราคาจะสูงขึ้น เพราะตามปกติราคาต้นทุนการผลิตของประเทศเหล่านี้สูงมากอยู่แล้ว
แต่รัฐบาลของเขาให้เงินสนับสนุนชดเชยเพื่อให้สามารถส่งผลิตภัณฑ์นมออกมาขายแข่งกับตลาดโลกได้
และก็มีข่าวมาว่าอีกไม่นานรัฐบาลของประเทศเหล่านี้จะเลิกให้การส่งเสริมด้านนี้
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงราคาผลิตภัณฑ์นมในตลาดโลกจะต้องสูงขึ้นอย่างแน่นอน
ดังนั้นถ้าเปรียบเทียบราคานำเข้านมผงจากต่างประเทศกับต้นทุนการผลิตนมผงในประเทศแล้วจะใกล้เคียงกัน
หรือการผลิตในประเทศอาจจะถูกกว่าในด้านแรงงานที่ถูก
โดยคิดจากราคานำเข้านมผงเลี้ยงทารกปัจจุบันประมาณกิโลกรัมละ 100 บาท (รวมภาษี)
ถ้าเทียบกับการผลิตภายในประเทศโดยใช้น้ำนมดิบราคากิโลกรัมละ 7 บาทจำนวน 8
กิโลกรัมจะสามารถทำเป็นนมผงได้ 1 กิโลกรัม คิดเป็น 56 บาท และรวมกับต้นทุนอื่นๆ
เข้าไปด้วยก็คงจะมีราคาใกล้เคียงกัน
ในเรื่องราคานมผงนั้น “ผู้จัดการ” ได้รับการอธิบายจากบีโอไอว่า
“ตามนโยบายจะไม่ห้ามการนำเข้า ดังนั้นใครจะนำเข้าเท่าไหร่ก็ได้ ถ้าหากโรงงานเขาคิดแพงเกินไปเขาจะสู้ราคานำเข้าไม่ได้
และที่เรายังไม่ห้ามการนำเข้าเพราะกำลังผลิตของเรายังไม่เพียงพอ อีกประการคือไม่อยากให้ผู้บริโภคเดือดร้อนโดยผู้ผลิตถือโอกาสขึ้นราคา
ก็ต้องให้มีการแข่งขันกันเพื่อผู้ผลิตจะได้รู้ว่าเขาจะต้องทำราคาให้สู้กับข้างนอกได้
ถ้าต้นทุนของโรงงานสูงไปก็ไม่ควรจะตั้งโรงงานขึ้น”
และขณะนี้การส่งนมผงจากประเทศไทยไปขายยังต่างประเทศนั้นอยู่ในรูปของการส่งต่อ
(RE-EXPORT) ซึ่งต่อไปถ้าราคานมผงในตลาดโลกสูงขึ้น โอกาสที่จะส่งนมผงจากไทยไปขายแข่งก็จะมีมากขึ้น
เมื่อหันมาดูนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไปจากการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกมาเป็นอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า
ดังนั้นแม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีนโยบายห้ามนำเข้าเพื่อการทดแทนก็จริง เพราะเนื่องจากกำลังการผลิตภายในยังมีน้อยอยู่
แต่ต่อไปภายหน้าถ้ามีกำลังผลิตที่มากพอแล้วถ้าเอกชนเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือก็คงจะมีการทดแทนการนำเข้าได้
และถ้าเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นแล้วบริษัทใดก็ตามที่ได้รับอนุมัติให้ตั้งโรงงานผลิตนมผงได้ก็จะสามารถแย่งส่วนการครองนมผงของบริษัทที่สั่งเข้าจากนอกไปได้
และประการสำคัญคือจำนวนน้ำนมดิบที่เหลือนั้นอาจจะไม่เพียงพอที่จะป้อนให้กับหลายโรงงานได้
จากตารางที่ 1 คาดว่าปี 2531 จะมีน้ำนมดิบเหลือประมาณ 63 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนพอที่จะสามารถป้อนให้โรงงานผลิตนมผงได้เพียง 1 โรงเท่านั้น ทั้งนี้เพราะตามประกาศของนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องอุตสาหกรรมนมผงนั้นมีเงื่อนไขคือ
โรงงานที่ประกอบการเกี่ยวกับการผลิตนมผงต้องรับซื้อนมดิบที่ผลิตได้ภายในประเทศจาก
อสค.
โรงงานผลิตนมนี้จะต้องรับซื้อน้ำนมดิบที่ผลิตได้ในประเทศไม่ต่ำกว่าวันละ
50 ตันในปีแรกที่เริ่มดำเนินการผลิต และต้องเพิ่มปริมาณการรับซื้อและใช้น้ำนมดิบในอัตราส่วนร้อยละ
20 ตัน/ปีทุกปี
และถ้าเกิดกรณีโรงงานนมผงในประเทศใช้นมดิบหมดแล้ว โอกาสที่จะอนุมัติให้ตั้งโรงงานเพิ่มคงจะต้องรอเวลาไปอีกจนกว่าจะมีนมดิบเหลือมากพออีกครั้ง
เมื่อเป็นเช่นนี้บริษัทใดก็ตามที่ได้รับอนุมัติให้ตั้งโรงงานนมผงขึ้นก่อนก็จะได้เปรียบด้านนมดิบกว่าบริษัทที่ได้รับอนุมัติทีหลัง
ดังนั้นเมื่อมีข่าวว่าจะเสนอให้มีการตั้งโรงงานนมผงขึ้น บริษัทผู้สั่งเข้านมผงทั้งหลายก็คอยจดๆ จ้องๆ ดูเชิงกันมาตลอด
บริษัทอุตสาหกรรมนมไทย ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ของตลาดนมข้นหวาน ยี่ห้อ “มะลิ”
ก็กระโดดข้ามประเภทมาขอแข่งด้วย โดยเริ่มเดินเครื่องเป็นเจ้าแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์
2528 ด้วยการเสนอหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ เพื่อขอตั้งโรงงานผลิตนมผงธรรมดา
และนมผงใช้เลี้ยงทารกโดยมีเงื่อนไขคือ จะใช้น้ำนมดิบ 100% ในการผลิต และขอสิทธิ์เป็นผู้รับอนุญาตตั้งโรงงานนมผงแห่งเดียวในประเทศไทยเป็นเวลา 10 ปี
การที่นมมะลิขอผูกขาดเพียงผู้เดียวนั้น เซียนในวงการวิเคราะห์กันว่าเพราะนมมะลิเพิ่งจะเข้ามาในตลาดนมผงไม่นานมานี้เอง
จึงเสียเปรียบด้านการตลาด การที่ต้องขอผูกขาดเป็นผู้ผลิตแต่ผู้เดียวเพราะเชื่อว่าจะมีนมดิบเหลือเพียงพอที่จะป้อนได้เพียงแห่งเดียวเพื่อเป็นหลักประกันในการลงทุน
แม้ว่าการใช้นมดิบ 100% นั้น ในระยะแรกจะมีไม่เพียงพอกับกำลังผลิต เป็นการยอมขาดทุนในช่วงแรกและจะตีทุนคืนในภายหลัง
สำหรับความคิดเห็นของวงการเกษตรนั้นพอใจที่นมมะลิใช้นมดิบ 100% เพราะเป็นการให้หลักประกันในการเร่งรัดการผลิตน้ำนมดิบได้
แต่จะมีข้อเสียตรงที่ข้อ เสนอขอผูกขาด 10 ปี เพราะเกรงกันว่าถ้ามะลิไม่สามารถรับซื้อนมดิบได้ในภายหลังจะทำให้นมเหลือได้
ส่วนบริษัทเนสท์เล่ ยักษ์ใหญ่วงการนมระดับโลก ซึ่งมีส่วนการครองตลาดนมผงในประเทศไทยเกินครึ่งหนึ่งของตลาดทั้งหมด เริ่มอุ่นเครื่องด้วยการไปทาบทามเจรจากับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
เพื่อขอรับการส่งเสริมการลงทุน
“ทางเนสท์เล่เคยมาคุยกับบีโอไอเหมือนกัน แต่มีปัญหาตรงที่ตามกฎข้อหนึ่งของบีโอไอที่จะให้มีการส่งเสริมนั้น
ในเรื่องการร่วมทุนโครงการประเภทอุตสาหกรรมที่จะจำหน่ายในประเทศจะต้องมีหุ้นคนไทยอย่างน้อย
51% เนสท์เล่เป็นบริษัทข้ามชาติของสวิสทั้งหมดถ้าจะขอรับการส่งเสริมก็จะต้องไปลดทุนลงเพื่อให้คนไทยถือหุ้น”
แหล่งข่าวจากบีโอไอชี้แจงเหตุผลให้ทราบ
และด้วยเลือดของชาวสวิสที่เข้มข้นจนหยดสุดท้าย บริษัทเนสท์เล่จึงถอนทัพออกจากบีโอไอทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมประเภทนี้ควรที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอมาก
เพื่อลดต้นทุนในการผลิตเพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ลงทุนสูงมาก ถ้าได้รับการส่งเสริมจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีการนำเข้าเครื่องจักรและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
หลังจากอกหักจากบีโอไอแล้วเนสท์เล่ก็เริ่มเล็งหาที่ใหม่ต่อไป ยิ่งได้รู้ว่ามะลิก็ให้ความสนใจอยู่เหมือนกัน
เนสท์เล่จึงไม่นิ่งนอนใจ เรื่องนี้นักธุรกิจในวงการนมพูดกันเป็นเสียงเดียวว่าเนสท์เล่ต้องขอตั้งโรงงานแน่นอน
และคงทุ่มสุดตัวเลยเพราะต้องการเป็นเจ้าตลาดในวงการนมอยู่แล้ว
แหล่งต่อไปที่เนสท์เล่หวังไปพึ่งก็คือกรมโรงงานกระทรวงอุตสาหกรรม
“ในสมัยรัฐมนตรีอบอยู่นั้นเนสท์เล่ก็มาเสนอโครงการขอตั้งโรงงานนมผง โดยมีการลงทุนค่อนข้างสูงมาก ในหลักการแล้วท่านรัฐมนตรีก็เห็นด้วย เพราะเป็นการลงทุนที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ และสร้างแรงงานด้วย” แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
หลังจากมีการปรึกษากันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงเกษตรฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติ และรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ แล้ว ปลายปี 2528 จึงได้อนุมัติให้เนสท์เล่ตั้งโรงงานผลิตนมผงขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
ด้วยเหตุผลที่ เจน บุญส่ง รองอธิบดีกรมโรงงานให้เหตุผลว่า
“มีเนสท์เล่บริษัทเดียวที่เสนอขอตั้งมายังกรมเรา และที่เราอนุมัติก็ด้วยสาเหตุคือ
เป็นโรงงานที่จะรองรับน้ำนมดิบจากเกษตรกรภายในประเทศ และในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีเช่นนี้มีการตั้งโรงงานขึ้นก็มีการจ้างแรงงานเป็นการสร้างบรรยากาศในการลงทุนต่างๆ”
โดยเนสท์เล่จะใช้เงินลงทุน 650 ล้านบาท มีกำลังการผลิตสูงสุดประมาณปีละ
12,000 ตันต่อปี สามารถสร้างงานได้ 150 คน
สำหรับเงื่อนไขที่เนสท์เล่ได้ตกลงร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมคือขอตั้งโรงงานผลิตนมผงธรรมดาและนมผงใช้เลี้ยงทารก โดยใช้นมดิบวันละ 50 ตัน และจะซื้อเพิ่มขึ้นปีละ 20% จนกว่าจะเต็มกำลังการผลิตและในขณะที่มีน้ำนมดิบป้อนให้ไม่เต็มกำลังการผลิตนั้น
เนสท์เล่สามารถนำหางนมผงมาผสมเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต
และไม่ขอผูกขาดในการตั้งโรงงานนมผง
เซียนวงการนมได้วิเคราะห์ข้อเสนอของเนสท์เล่ว่า การที่เนสท์เล่ไม่ขอผูกขาดนั้นคงจะเชื่อมั่นในชื่อเสียงของบริษัทด้วยและเนสท์เล่ทำก็เพื่อต้องการรักษาสัดส่วนครองตลาด
(MARKET SHARE) เท่านั้น เพื่อกันไม่ให้โรงงานอื่นมาแย่งตลาดไป
ส่วนวงการเกษตรกรได้วิเคราะห์ไว้ว่าข้อเสนอที่จะใช้นมดิบวันละ 50 ตันนั้นเป็นข้อเสียที่ทำให้เกษตรกรไม่กล้าจะเร่งรัดการผลิตนมดิบให้ได้เต็มที่
เพราะถ้าผลิตนมดิบมากเกินกว่าที่กำหนดแล้วเนสท์เล่อาจจะไม่ซื้อก็ได้
ส่วน อสค. ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมการผลิตและรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรทั่วประเทศนั้น
หลังจากที่เคยเสนอโครงการขอตั้งโรงงานนมผงไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2526 และถูกระงับไปเรียบร้อยแล้ว
แต่เมื่อมีข่าวการตั้งโรงงานนมผงขึ้นมาอีกก็กลับฟิตขึ้นมาใหม่
ผู้บริหารท่านหนึ่งของ อสค. ได้ให้เหตุผลในความจำเป็นที่ อสค.จะต้องตั้งโรงงานนมผงว่า
“เรามีเหตุผลตั้งแต่แรกว่าเราต้องการจะขยายการเลี้ยงโคนมเพื่อทดแทนการนำเข้า
ปัจจุบันตลาดนมพร้อมดื่มก็ใกล้จะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว แต่นมผงยังมีช่องว่างอีกมาก ซึ่งดูจากสถิติการนำเข้า
เนื่องจากเห็นว่าตลาดมันดี เราก็เลยอยากจะตั้งโรงงานเพื่อผลิตนมมารองรับตลาด
เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคนม เป็นหลักประกันให้กับเกษตรกร ทางเรากลัวว่าอีกหน่อยถ้าเกิดนมเหลือขึ้นมาต้องไปขอร้องให้ฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ช่วยซื้อนมอีก
แต่ถ้าเรามีโรงงานเอง ถ้ามีนมเหลือก็เข้าโรงงานเราได้เลย”
แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากวงการนมกันมากในเรื่องนี้เพราะ
รัฐบาลมีนโยบายไม่ให้รัฐวิสาหกิจแข่งขันทำกิจการที่เอกชนสามารถทำได้
และอีกประการคือถ้า อสค. จะทำโรงงานนมผงนี้คงจะต้องขอกู้ปลอดดอกเบี้ยถึง
25 ปีก็ตาม แต่รัฐวิสาหกิจต่างๆ เป็นหนี้ต่างชาติมากจนถึงเพดานเงินกู้แล้ว
โอกาสที่คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติคงจะค่อนข้างยาก
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจาก อสค. ก็ยังยืนยันกับ “ผู้จัดการ” ในเรื่องสร้างโรงงานนมผงว่า
“เท่าที่เราคุยกันอยู่นั้น เราอยากจะช่วยเกษตรกรที่ยากจนแถวๆ อีสาน ซึ่งถ้าปล่อยต่อไปอีกอีสานจะไม่มีอะไรอีกแล้วนอกจากมันสำปะหลังที่เริ่มจะลดพื้นที่การเพาะปลูกลง
จะต้องเอาที่ที่ปลูกมันสำปะหลังไปปลูกหญ้า แล้วเราก็ตั้งโรงงานนมผงที่นั่น
แล้วส่งเสริมให้เขาเลี้ยงวัวนม รีดนมมาขายโรงงานนมผง ทำเป็นนมผงใส่ถุงเอามาขายที่กรุงเทพฯ
ให้โรงงานนมพร้อมดื่ม”
นอกจาก 3 รายที่เผยความในใจในเรื่องการตั้งโรงงานนมผงออกมาแล้ว ก็ยังมีรายอื่นๆ ที่ไปจีบบีโอไอเงียบ ๆ เหมือนกัน
“โอสภสภาฯ ก็สนใจจะตั้งเหมือนกัน โดยจะร่วมทุนกับญี่ปุ่น คงเป็นการทาบทามในระดับผู้ใหญ่
แต่มาตอนหลังญี่ปุ่นเขาไม่สนับสนุนที่จะให้ตั้งโรงงานในประเทศไทย เพราะถ้าประเทศไทยสามารถผลิตนมผงได้แล้วก็คงไม่ซื้อนมจากประเทศของเขา
แล้วเขาคงคิดว่า ถ้าตั้งโรงงานที่ญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นก็มีงานทำ แต่ถ้ามาสร้างโรงงานในประเทศไทยก็กลายเป็นคนไทยมีงานทำ
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผย
ส่วนอีกรายเป็นข่าวคือ บริษัท เชียงใหม่แดรี่ฟาร์ม ซึ่งได้ยื่นโครงการขอทำฟาร์มโคนมแบบครบวงจร
และโครงการผลิตนมผงรวม 2 โครงการ โดยเสนอเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,531 ล้านบาท
แต่บีโอไอเห็นว่าโครงการที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งในแง่การลงทุนที่สูงมากและด้านการตลาด
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทรายเล็กที่สั่งเข้านมผงมาจำหน่ายในประเทศ ยังไม่มีทีท่าจะมาร่วมรายการตั้งโรงงานด้วยเลย ซึ่งเรื่องนี้วงการวิเคราะห์ว่า “พวกนี้เป็นบริษัทเล็กๆ ฐานคงจะไม่แน่นพอเพราะเป็นการลงทุนที่สูงมาก มะลิกับเนสท์เล่ทำได้เพราะเขามีผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มและนมข้นอยู่แล้ว
เรียกว่าฐานการตลาดและการเงินของพวกเขาแน่นพออยู่แล้ว”
อย่างไรก็ตาม บริษัทเนสท์เลเมื่อได้รับอนุมัติให้สร้างโรงงานเป็นรายแรกและรายเดียวในขณะนี้ก็นอนรอได้แล้ว เพราะกว่าจะสร้างโรงงานที่นวนครเสร็จสามารถเดินเครื่องได้และรอนมดิบที่จะมาป้อนให้โรงงานก็ต้องเป็นปี 2531
ส่วนวงการนมก็เก็งกันว่านมมะลินั้นคงจะซุ่มดูเหตุการณ์ก่อนในตอนนี้ แต่คงจะไม่รีบร้อนถอนทัพกลับก่อน เพราะหลังจากที่ไม่ได้รับการอนุมัติให้ตั้งโรงงานในครั้งแรกแล้ว มะลิก็เริ่มเดินเครื่องใหม่ด้วยการสั่งนมผงจากออสเตรเลียเข้ามาขายโดยใช้ยี่ห้อมะลิเจ้าเก่าเมื่อปลายปี
2528 และดูท่าทีว่าจะไปโลดด้วย เพราะยอดขายทะลุเป้ากว่า 50% จากที่ตั้งไว้
หรือคิดเป็น 5% ของตลาดนมผงทั้งหมด ซึ่งต้องนับเป็นคลื่นลูกใหม่ที่มาแรงพอสมควร
จากยอดขายนี้คาดว่าทางมะลิคงจะไม่ยอมถอยแน่นอน เพราะเห็นทางชนะด้านการตลาดใสๆ อยู่แล้ว แต่ก็คงจะต้องใช้เวลาทบทวนเงื่อนไขกันใหม่ก่อนที่จะเริ่มรุกอีกครั้ง
โดยเฉพาะเรื่องการขอผูกขาดซึ่งเป็นไปไม่ได้แล้วในตอนนี้เพราะเนสท์เล่ได้รับอนุมัติไปแล้ว
มะลิอาจจะจับมือกับ อสค.ร่วมกันทำโครงการนมผงก็ได้เพราะ อสค. เป็นผู้ครองนมดิบเกือบ
80% ของนมดิบที่ผลิตได้ในประเทศ ซึ่งดูท่าทีของ อสค.ก็มีความสนใจมะลิอยู่ไม่น้อย
เมื่อถึงเวลานั้นอาจจะเกิดปัญหาใหม่ตามมาคือน้ำนมดิบอาจจะไม่พอที่จะส่งให้โรงงานนมผงก็ได้
ในเรื่องนี้ “ผู้จัดการ” ได้สอบถามไปยัง อสค. ที่รับผิดชอบเรื่องนมดิบอยู่และได้รับคำยืนยันมาว่า
“ตอนนี้เรามีสมาชิกพร้อมอยู่แล้วตามศูนย์ต่างๆ แล้วเราก็มีการปรับปรุงศูนย์เพื่อรับน้ำนมการผลิตและการส่งเสริมของทางเราตอนนี้ไม่มีปัญหา
แต่จะมีปัญหาตรงที่หน่วยงานที่จะมาซัปพอร์ตเรา เช่น ต้องมีสัตว์แพทย์เพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเพิ่มขึ้น สิ่งนี้จะต้องพร้อมไปกับเราด้วย”
ศึกการช่วงชิงขออนุมัติตั้งโรงงานนมผงในครั้งนี้ ไม่ว่าจะมีบริษัทใดก็ตามที่ได้รับอนุมัติก็คงจะไม่น่าจะเป็นห่วงเพราะนี่คือวิถีทางของระบบการค้าเสรีที่ต้องมีการแข่งขัน
แล้วผู้บริโภคก็จะได้รับผลประโยชน์จากการแข่งขันนั้น
ผลพลอยได้จากการตั้งโรงงานนมผงในครั้งนี้คงจะได้ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้มากไม่ว่าจะเป็นเรื่องดุลการค้าของประเทศ
ช่วยสร้างแรงงานในประเทศ และยังสามารถช่วยวงการเกษตรกรรมที่กำลังมีปัญหาในตอนนี้ เรื่องการปลูกพืชบางอย่างที่ไม่ได้ราคาก็ให้หันมาเลี้ยงโคนมแทน
และก็นับเป็นนิมิตหมายอันดีของการพัฒนาอุตสาหกรรมนมให้สามารถขยายขอบเขตผลิตภัณฑ์นมให้กว้างขวางออกไปอีก...