Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2529
THAI-WAH THE MAN, THE SITUATION AND THE FUTURE             
 

   
related stories

เครือข่าย THE WAH-CHANGE GROUP

   
www resources

ไทยวากรุ๊ป

   
search resources

ไทยวากรุ๊ป
Agriculture
โก ชิง ลี




ไทยวาเป็นธุรกิจแบบเอเชียดั้งเดิมที่มีพัฒนาการไม่ขาดสาย ผูกพันกับสถานการณ์ในลักษณะที่เป็นฝ่ายถูกกระทำมาตลอด ในห้วงเวลาเกือบๆ 40 ปีแล้ว เมื่อปลายปีที่แล้วมีความพยายามอย่างมากของผู้บริหารเพื่อผลักดันไทยวาให้พ้นวิถีดำเนินการเดิมๆ อันจะทำให้มองเห็นอนาคตแจ่มชัดขึ้น วันนี้สิ่งที่คาดหวังเหล่านี้ยังไม่อาจหาคำตอบได้แจ่มชัดนัก

บริษัทไทยวา จำกัด (THAI-WAH CO.,LTD.) ดำเนินธุรกิจอย่างเงียบๆ ลึกๆ รู้กันภายในวงการว่าเป็นผู้บุกเบิก (PINOEER) อุตสาหกรรมแป้งมันอัดเม็ดเพื่อการส่งออก และมีโรงงานวุ้นเส้นที่ใหญ่ที่สุดของโลก....

ต้นปีนี้ ไทยวาทาวเวอร์สูง 23 ชั้นอุบัติขึ้นอย่างห้าวหาญริมถนนสาทร ประจันหน้าตึกสูงที่ผุดขึ้นอย่างมากในบริเวณนั้น เช่น สาทรธานี ของตระกูลหวั่งหลี ตึกซิตี้แบงก์ ไทยวาทาวเวอร์มูลค่าเกือบ 300 ล้านบาทสร้างบนที่ดินกว่า 3 ไร่มูลค่าเพียง 5 แสนบาท ซื้อเมื่อ 30 กว่าปีก่อน...

ปลายปี 2528 ไทยวาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรายล่าสุด ผลประกอบการ ณ สิ้นปี 2528 เป็นที่น่าพอใจ สามารถทำกำไรเพียง 18.6 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนกำไรเพียง 8.2 ล้านบาท และในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นประจำปีเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการมีมติจ่ายเงินปันผล 15 บาท/หุ้น ...

น้อยคนนักจะรู้ว่าไทยวามีความเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับ THE WAH-CHANG INTERNATIONAL GROUP ที่สำนักงานใหญ่สิงคโปร์ อาจจะเรียกว่าเป็นบริษัทแม่ของไทยวาก็ว่า ได้” พิทักษ์ บุญพจน์สุนทร กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยวาพูดอย่างเต็มปากเต็มคำกับ “ผู้จัดการ”

หากไม่มีสองสิ่งประกอบกันอย่างเหมาะเจาะเมื่อประมาณ 40 ปีก่อนย่อมไม่มีบริษัทไทยวาเทรดดิ้งหรือไทยวาที่เติบใหญ่เช่นทุกวันนี้

หนึ่ง-สงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องมาจนถึงสงครามเกาหลีอันเป็นจุดปะทะที่นักล่าอาณานิคมสมัยใหม่มุ่งหวังมีอิทธิพลเหนือทะเลจีน ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงก้าวใหญ่ โดยผลักดันธุรกิจไทยซึ่งเริ่มก่อตัวอย่างมากในห้วงเวลานั้น กระโจนออกมาเกี่ยวพันโดยตรงกับสังคมเศรษฐกิจโลก

ปัจจัยนี้ เป็นเนื้อดินอันอุดมสมบูรณ์ของการเกิดบริษัทไทยวา โดยเป็น “สิ่งที่เล็กที่สุด” สิ่งหนึ่งที่ยืนอยู่ในฝ่ายนักล่าอาณานิคมยุคใหม่นั้น!

สอง-ดร. เคซีลี (DR.K.C. LI) ผู้ก่อตั้งไทยวาเพียงเพื่อประโยชน์ชั่วคราว (โปรดอ่านล้อมกรอบ “ดร.เคซีลี: คนเอเชียกับระบบอาณานิคมตะวันตก”) วีทีลู ผู้บริหารซึ่งคลุกคลีกับไทยวาค่อนชีวิต เรียนรู้การบริหารธุรกิจระหว่างประเทศยุคแรก ๆ และมีน้ำอดน้ำทนไม่ยอมให้ไทยวาตายไปเมื่อหมดภาระหน้าที่ชั่วคราวที่ ดร.เคซีลี มอบหมาย, ยิดวา โฮ เห็นความสำคัญของไทยวาอุ้มไทยวาออกจากวงจรเดิมพร้อมๆ กับการอัดฉีดให้เติบโตและกำหนดทิศทางที่แน่นอนของธุรกิจแบบเอเชียอาคเนย์ และพี่ตั๊ก แซ่เตี๋ย หรือพิทักษ์ บุญพจน์สุนทร หรือปีเตอร์ เตียว ผู้มีส่วนในการเขียนประวัติศาสตร์หน้าแรกๆ ของไทยวา สืบทอดภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ในฐานะมืออาชีพที่ดีคนหนึ่ง

ไทยวาเป็นบริษัทเดียวที่มีลักษณะพิเศษ คือมีความต่อเนื่องไปขาดสาย แตกต่างจากบริษัทใน WAH-CHANG INTERNATIONAL GROUP ซึ่งล้มคลุกคลานเปิดๆ ปิดๆ แม้กระทั่งสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ อันเป็นศูนย์บัญชาการของกลุ่มนั้นยังเกิดหลังไทยวากว่า 20 ปี

ดร.เคซีลี ส่งผู้ช่วย-ไวทีฮวง มาดำเนินการจัดตั้งบริษัทไทยวาเทรดดิ้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2490 ทุนจดทะเบียนครั้งแรกเพียง 5 แสนบาท โดยฝ่าย ดร.เคซีลี ถือหุ้น 80%

ดร.ลี ประธานบริษัทวาชัง สหรัฐอเมริกา มีสัญญาจัดหาแร่ดีบุกและแร่วุลเฟรมป้อนโรงงานผลิตอาวุธ ซึ่งผลิตให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ นัยว่าแร่วุลเฟรมเป็นวัตถุดิบที่สำคัญมากทางยุทธศาสตร์ โดยใช้ผลิตหัวจรวดและชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องบิน ดังนั้น ไทยวาเทรดดิ้งจึงมีหน้าที่เพียงประการเดียว คือเป็นตัวแทนรับซื้อแร่จากประเทศไทยและพม่าส่งไปให้บริษัทวาชัง รายได้ของบริษัทก็มีเพียงทางเดียวเช่นกัน จากค่านายหน้าประมาณ 3% ของมูลค่าแร่ส่งออก

จะเป็นเพราะความโชคดีหรือ CONNECTION ของคนจีนสาย “ก๊กมินตั๋ง” หรือทั้งสองอย่างก็เหลือเดา ไวทีฮวง พบวีทีลู ซึ่งเป็นคนจีนฮ่อ สาย “ก๊กมินตั๋ง” คนหนึ่งในไทย วีทีลูเกิดที่ยูนนานเช่นเดียวกับ ดร.ลี ว่ากันว่าจะเป็นญาติกันด้วย อพยพเข้าเมืองไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 วีทีลูซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโลห์ โลหอุ่นจิตร (บิดาของ ดร.เจษฎา โลหอุ่นจิตร แห่งไอเอฟซีที) ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการไทยวาเทรดดิ้งตั้งแต่เริ่มดำเนินการยาวนานมาประมาณ 30 ปี

วีทีลูผู้มีภารกิจของความเป็นจีนอีกปีหนึ่งที่ไม่สิ้นสุดในประเทศไทย โดยถือแผ่นดินไทยเป็นเรือนตาย เขาย่อมมีความคิดแตกต่างไปจาก ดร.ลี ซึ่งถือไทยวาเทรดดิ้งเป็นเพียงสาขาของบริษัทวาชังปฏิบัติหน้าที่มอบหมายให้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น

ความต่อเนื่องของไทยวาเทรดดิ้งย่อมเป็นผลจากการทำงานด้วยน้ำอดน้ำทนของวีทีลูด้วย แต่กว่าความตั้งใจจะบรรลุเขาต้องเผชิญอุปสรรคนานาประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศแปรปรวน

ส่วนไวทีฮวง ประธานบริษัทนั้น รับนโยบายจากบริษัทแม่ที่สหรัฐฯ ก็ใช้ความพยายามทุกวิถีทางหาซื้อแร่ในจำนวนที่มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ วิธีแรก-เปิดสาขาตั้งศูนย์รับซื้อแร่ในจุดที่มีการทำเหมืองเพื่อสะดวกในการจัดซื้อ และจะปิดทันทีเมื่อไม่มีความจำเป็น

“เพื่อให้กิจการเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปอีก บริษัทฯ ได้มีสัญญาร่วมค้ากับบริษัทเวสตินเทรดเดอร์ โดยบริษัทเวสตินเทรดเดอร์เป็นฝ่ายจัดหาสินค้า และบริษัทไทยวาเทรดดิ้งเป็นฝ่ายส่งสินค้าที่ซื้อมาได้ส่งออก ..ผลกำไรทั้งหมดที่ได้นั้นแบ่งคนละครึ่งกับบริษัทเวสตินเทรดเดอร์ ผลกำไรครึ่งหนึ่งถือเป็นของบริษัทวาชัง ส่วนบริษัทไทยวาเทรดดิ้งได้ค่านายหน้า 3% จากจำนวนสินค้าทั้งสิ้นที่ซื้อและส่งออกไปขาย” บันทึกรายงานการประชุมของบริษัทเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2492 ระบุถึงวิธีจัดหาแร่อีกวิธีหนึ่งของบริษัทไทยวาเทรดดิ้ง ขณะนั้นสงครามเกาหลีระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงพร้อมๆ กับแร่อันเป็นยุทธปัจจัยจากไทยถูกส่งไปยังสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก ไทยวาเทรดดิ้งเปิดสาขาขึ้นหลายแห่งเพื่อกว้านซื้อแร่ที่ภูเก็ต หาดใหญ่ ยะลา และที่ย่างกุ้ง ประเทศพม่า

ปลายปี 2492 หลังจากที่บริษัทไทยวาเทรดดิ้งดำเนินกิจการมาเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รู้ฐานะการเงินของตนเลย ก็เปิดประชุมรับรองงบดุลเป็นครั้งแรก “การตกลงเกี่ยวกับค่านายหน้าที่จะได้รับจากบริษัทวาชังยังมิได้มีการเจรจาให้สำเร็จลงได้ เพราะตัวประธานกรรมการบริษัทวาชัง (ดร.ลี) ซึ่งเป็นผู้ทราบเรื่องราวเหล่านี้ไม่อยู่ ออกไปสำรวจการค้าระหว่างประเทศ” นั่นคือรายงานการประชุมที่อ้างถึงสาเหตุของความล่าช้าของงบดุล

สงครามเกาหลีรุนแรงต่อเนื่อง สหรัฐฯ เป็นจ่าฝูงพาเหรดนำทหารหลายชาติรุมสกรัมเกาหลีเหนือ ซึ่งมีจีนแดงหนุนหลังเต็มตัว กลางปี 2493 ราคาดีบุกและวุลเฟรมทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ไทยวาเทรดดิ้งประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากค่านายหน้าอันน้อยนิดไม่เพียงพอจะระดมซื้อแร่ วีทีลู กรรมการผู้จัดการ รายงานในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2493 ว่า “...บริษัทได้ติดต่อขอร้องให้บริษัทวาชังได้ช่วยขึ้นอัตราค่าป่วยการให้สูงขึ้นกว่าเดิมสักเล็กน้อย ในการนี้ผู้จัดการบริษัทวาชังก็ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจมายังบริษัทเป็นอันดี ในฐานะที่บริษัทตั้งหน้าทำประโยชน์ให้แก่บริษัทวาชังมาด้วยดี ผู้จัดการบริษัทวาชังจึงยินดีที่จะขึ้นอัตราค่าป่วยการให้กับบริษัทจาก 3% เป็น 4% แต่ทั้งนี้ยังไม่กล้ายืนยันเป็นหลักฐานที่แน่นอนว่าจะได้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทวาชัง...”

ในตอนนั้นมีคนเสนอว่าหากมีรายได้ทางเดียวเช่นนี้บริษัทไทยวาเทรดดิ้งจะลำบากมาก คณะกรรมการจึงวางโครงการจะเปิดแผนกงานต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก เช่น แผนกเดินเรือ แผนกประกันภัย แผนกคลังสินค้า และแผนกให้กู้ยืมเงิน

ปี 2494 ราคาแร่สูงขึ้นอีก คนไทยเริ่มหันมาสนใจค้าแร่กันมากขึ้น เจ้าของเหมืองแร่หลายรายทำการส่งออกเองโดยไม่ยอมผ่านคนกลาง ด้วยเหตุนี้ไทยวาเทรดดิ้งจึงหาซื้อแร่ส่งให้บริษัทวาชังได้น้อยมาก ต้องยุบสาขาหาดใหญ่ ยะลา และย่างกุ้ง และหันมาเปิดใหม่ที่ระนองแทน ความคิดที่จะส่งออกสินค้าอื่นเริ่มผุดในสมองของผู้บริหารบริษัทแล้ว

ปี 2495 สหรัฐฯ แพ้สงครามเกาหลี เศรษฐกิจของโลกเริ่มตกต่ำ ราคาแร่ในประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว บริษัทวาชังสหรัฐอเมริกาลดการซื้อลงอย่างมาก

“นอกจากนี้ยังติดต่อขอลดค่าป่วยการซื้อแร่จาก 4% เหลือเพียง 3% บริษัทได้ขอให้ประธานกรรมการของบริษัทไปติดต่อทาบทามขอให้ได้อัตราเดิม แต่ได้รับยืนยันมาว่าให้ได้อัตราเดิมจะให้ค่าป่วยการเพียง 3.5% เท่านั้น โดยบริษัทวาชังอ้างว่า ถ้าบริษัทจะต้องเสียค่าป่วยการมากมายเช่นนั้น บริษัทติดต่อขอซื้อจากบริษัทที่เป็นเจ้าของแร่โดยตรงอาจจะได้ราคาต่ำกว่าเสียอีก เรื่องนี้บริษัทเห็นว่าถ้าขืนดื้อดึงไป ถ้าบริษัทวาชังไม่รับซื้อแร่ บริษัทจะอยู่ในฐานะลำบากทั้งราคาแร่ก็ตกต่ำมากมายเช่นนี้” บันทึกรายงานการประชุมอันแสดงถึงความเจ็บปวดของบริษัทไทยวาเทรดดิ้ง กล่าวไว้เมื่อ 8 กรกฎาคม 2495

เหตุการณ์ได้เลวร้ายมาเรื่อยจนถึงขีดสุด ตั้งแต่เดือนกันยายน 2495 บริษัทไทยวาเทรดดิ้งยังคงส่งแร่ไปให้บริษัทวาชังอยู่ แต่ทว่าไม่ได้รับค่าป่วยการ เนื่องจากได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นตัวแทนเป็นการซื้อขายทั่วไป “บริษัทจะต้องทำการเสี่ยงอยู่บ้าง แต่บริษัทไหนให้ราคาดีเราก็ขายให้บริษัทนั้น การเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ก็เพราะราคาแร่ตกต่ำ บริษัทยังอ้างว่าไม่อาจสู้ราคาและค่าใช้จ่ายในลักษณะเดิมได้”

ไทยวาเทรดดิ้งพยายามดิ้นรนโดยนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายแต่ก็ล้มเหลวอีกเช่นกัน ทำให้บริษัทประสบการขาดทุนทับทวี เกินครึ่งของเงินทุนถึงกับมีข้อเสนอในที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2496 ว่า “สมควรจะดำเนินการค้าต่อไปหรือไม่ ?”

ยิดวาโฮ เป็นคนจีนเกิดในสิงคโปร์เดินทางติดตามปู่กลับเมืองจีนและเริ่มเรียนหนังสือที่นั่น จนจบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์การเกษตร ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับทุนจากรัฐบาลจีนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล, นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่คอร์แนลเขาพบสาวน้อยที่เรียนปริญญาตรีด้านวรรณคดีอังกฤษ อันเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ชีวิตเขาหักเหในเวลาต่อมา โฮ มาทำงานกับบริษัทไทยวา ที่สาขาย่างกุ้ง ประเทศพม่า ใกล้บ้านเกิดเมืองนอน สาวน้อยคนนั้นต่อมาก็คือภรรยาของเขาที่หนุนส่งให้เขาเป็นนักธุรกิจผู้ยิ่งยงคนหนึ่งในเอเชียอาคเนย์

ผู้หญิงคนนั้นคือลูกสาว ดร.ลี ผู้ให้กำเนิดบริษัทวาชังในสหรัฐฯ และบริษัทไทยวาเทรดดิ้งในประเทศไทยนั่นเอง !

เมื่อยิดวาโฮ เข้ามา ไทยวาเทรดดิ้งก็เริ่มส่งออกสินค้าหลากหลายชนิดมากขึ้นโดยเฉพาะแป้งมันสำปะหลัง พิทักษ์ บุญพจน์สุนทร กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยวาคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นพนักงาน 1 ใน 6 คนแรกเล่าความเป็นมาช่วงนั้นให้ “ผู้จัดการ” ฟังว่า “เราสนใจแป้งมันสำปะหลังซึ่งสมัยนั้นไม่มีใครสนใจเลย และไม่มีการส่งออกด้วย เราเริ่มส่งออกปีละไม่ถึง 100 ตัน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยซื้อแป้งจากชาวบ้านคนหนึ่งทำได้ไม่กี่ตัน คุณภาพต่ำมาก มีกลิ่นไม่ถูกสุขอนามัย ดีที่เราส่งไปสหรัฐฯ ไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม”

ปี 2502 ไทยวาเทรดดิ้งภายใต้การนำของยิดวาโฮ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด เพิ่มทุนรวดเดียวจาก 5 แสนบาทเป็น 20 ล้านบาท (โปรดอ่าน ล้อมกรอบ “ยังเข็ดจนทุกวันนี้...”)

ว่ากันว่า ภรรยาของยิดวาโฮ หรือลูกสาวของ ดร.ลี เลียนฟุงโฮ ได้รับมรดกจาก ดร.ลี ภายหลังการแต่งงาน และมีความเห็นดีเห็นงาม ขนเงินมาลงทุนในประเทศไทย ยิดวาโฮกับภรรยาถือหุ้นประมาณ 50%

จุดเปลี่ยนตรงนี้ชี้นัยสำคัญบางประการ 1) ไทยวาเทรดดิ้งพ้นพันธะจากการเป็นสาขาของวาชังอย่างสิ้นเชิง ดำเนินกิจการอย่างเอกเทศในประเทศไทย อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิดวาโฮปักหลักในประเทศไทยเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี 2) เลิกค้าแร่อย่างเด็ดขาด โดยมุ่งทำการค้าที่ไทยวาเทรดดิ้งบุกเบิกไว้ก่อนหน้านั้น

การลงทุนครั้งนี้ พิทักษ์ บุญพจน์สุนทร ได้เข้ามาเป็นกรรมการบริษัท หลังจากทำงานกับบริษัทนี้มาแล้วถึง 10 ปี

พิทักษ์ หรือพีตั๊ก เกิดที่ซัวเถา อพยพตามบิดามาเมืองไทยตั้งแต่เด็กๆ เรียนจบแค่ ม. 2 ที่โรงเรียนมงฟอร์ด เชียงใหม่ มาสมัครงานในตำแหน่งพนักงานพิมพ์ดีดของไทยวาเทรดดิ้ง “ผมเริ่มทำงานตอนนั้นยังนุ่งกางเกงขาสั้น สำนักงานมีคนงานเพียง 6 คน ผมทำงานแทบทุกอย่าง จึงเรียนรู้งานทุกด้านของบริษัท จนมาเป็นเลขาฯ นายห้างโฮ” เขาฟื้นความหลังที่นานกว่า 2 ใน 3 ของชีวิตเขากับ “ผู้จัดการ”

พิทักษ์เล่าว่าโรงงานแป้งมันของไทยวาเทรดดิ้ง ต้องซื้อเครื่องจักรส่วนสำคัญมาจากต่างประเทศมาเป็นชิ้นๆ มาประกอบในเมืองไทย “หัวใจของเครื่องจักรนั้นก็คือ SEPERATER แม้แต่ขณะนี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศอยู่ SEPERATER เป็นเครื่องที่ทำการแยกแป้งออกจากหัวมัน” เขาบรรยายเป็นความรู้ประกอบ

เพราะการที่มีการส่งออกแป้งนั่นเองจึงมีส่วนกระตุ้นโดยตรงต่อการเพิ่มพื้นที่การปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทย ทว่าตลาดส่งออกแป้งมันยังแคบมาก ไทยวาเทรดดิ้งจึงต้องบุกเบิกตลาดใหม่ๆ ออกไปจากสหรัฐอเมริกามุ่งสู่ยุโรป แหล่งเลี้ยงสัตว์แหล่งใหญ่ของโลก เพียงแต่ว่าแป้งมันที่ไทยวาเทรดดิ้งผลิตได้นั้นมีคุณภาพดีเกินไป

“เราเอามันตากแห้ง ป่นเป็นผงบรรจุกระสอบส่งไปขายยุโรป แต่เนื่องจากมันมันป่นมาก น้ำหนักเบา เมื่อคำนวณค่าขนส่งต่อเที่ยวแล้วไม่คุ้ม ผู้ซื้อรายหนึ่งของเราจึงเสนอให้ทำเป็นมันอัดเม็ด” พิทักษ์เล่าถึงมันสำปะหลังชนิดใหม่ที่ไทยวาส่งไปขายให้โรงงานอาหารสัตว์ในยุโรป

ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายนั้นก็คือ WAREN IMPORT GESELISCHAFT KRONE&CO หรือเรียกสั้น ๆ ว่า KROHN

เวลานั้นไทยวาเทรดดิ้ง มีโรงงานแป้งมันอีก 2 โรง ที่อำเภอบางปะกง ฉะเชิงเทรา ยิดวาโฮจึงตัดสินใจติดตั้งเครื่องจักรผลิตมันอัดเม็ด (PELLETS) ราคา 3.5 แสนมาร์ก (ราคาตอนนั้น) ที่โรงที่สอง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตมันอัดเม็ดไปตลาดยุโรปนับย้อนจากวันนี้ที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายกำลังถกและแก้ปัญหาการส่งออกมันอัดเม็ดไปอีอีซีอย่างหนัก ราว ๆ 2 ทศวรรษ

โครห์น-ยักษ์ใหญ่คอมอดิตี้ของโลกสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮัมบรูก เยอรมนีเข้ามาเมืองไทยครั้งแรกในตอนนั้นจนฝังรากลึก หากินในเมืองไทยต่อเนื่องมา ต่อมากลายเป็น PARTNER ที่อยากถอนตัวแต่ถอนไม่ออกของบริษัทเจ้าพระยาพืชไร่ กลุ่มศรีกรุงวัฒนา ของสว่าง เลาหทัย

ยิดวาโฮ ผู้มี BACK ดี เริ่มขยายฐานธุรกิจในไทยมากขึ้น ต่อมาตั้งโรงงานผลิตวุ้นเส้นที่ใหญ่มาก โดยใช้ชื่อว่าบริษัทวาลัญ จำกัด บริษัทนี้ในครั้งแรกยิดวาโฮและครอบครัวถือหุ้นทั้งหมด ในทางกฎหมายนั้นไม่ขึ้นกับไทยวา แต่ความเป็นจริงผู้บริหารชุดเดียวกัน พิทักษ์บอกว่าเพิ่มเมื่อไม่นานมานี้ที่ไทยวาเขาถือหุ้นประมาณ 30%

โรงงานวุ้นเส้นแห่งนี้ปัจจุบันมีกำลังมากกว่า 3,000 ตัน/ปี กล่าวกันว่าเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก !

ที่ยิดวาโฮมุ่งหนักบุกเบิกอุตสาหกรรมอาหารหนัก เพราะภรรยาของเขาจบการศึกษาด้านเคมีจาก MILK COLLEGE (ก่อนจะมาเรียนต่อที่คอร์แนล) เป็นกำลังใจและมีส่วนช่วยแก้ปัญหา เกี่ยวกับปัญหาคุณภาพแป้งมาก ยิดวาโฮเป็นคนรักภรรยา เขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงความดีของภรรยาเขากับหนังสือพิมพ์ธุรกิจในเมืองไทยฉบับหนึ่งว่า “ตลอดชีวิตของผม ภรรยาผมมีส่วนช่วยด้านธุรกิจต่างๆ ของผมมาก ช่วยมากว่า 20 ปีแล้ว”

อยู่ในเมืองไทยนานเข้า ยิดวาโฮย่อมรู้จักนักธุรกิจไทยใหญ่ยุคนั้นเกือบทุกคน สุริยน ไรวา นักธุรกิจผู้ยิ่งยงคนหนึ่งในยุคนั้น เป็นเพื่อนของเขา สุริยนเป็นนักธุรกิจที่มีกิจการแขนงต่างๆ มากมาย แต่แทบจะไม่ประสบความสำเร็จสักอย่างเอาเสียเลย อุตสาหกรรมแป้งสาลี เป็นอีกแขนงหนึ่งที่สุริยน ไรวา เป็นคนบุกเบิก โดยใช้ชื่อว่าบริษัทยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ โรงงานผลิตแป้งสาลีรายแรกของประเทศไทยนี้เกิดขึ้นประมาณปี 2504 ยังไม่ทันจะดำเนินกิจการสุริยนต้องแจ้นมาหายิดวาโฮให้ช่วยเหลือ ยิดวาโฮจึงเข้า TAKE OVER ดำเนินกิจการมาด้วยดี จนมาถึงปี 2522 จึงได้ขายออกไปให้กับกลุ่มศรีกรุงวัฒนาของเสี่ยสว่าง เลาหทัย (อ่านล้อมกรอบ “เมื่อยิดวาโฮ ทำให้เพื่อน (หวั่งหลี) โกรธแต่เสี่ยหว่างยิ้มร่า”)

ไทยวาเทรดดิ้งเปลี่ยนชื่อเป็นไทยวาเมื่อปี 2509 ก่อนเวลา 1 ปีที่ยิดวาโฮต้องจากเมืองไทยไป!

แม้เขาจำต้องจากเมืองไทย แต่เป็นการจากไปที่มีความมั่นใจว่าธุรกิจของเขาในเมืองไทยมั่นคง กลุ่มประชาคมยุโรป (อีอีซี) รับซื้อผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยไม่อั้น ไทยวาเป็นหัวแถวผู้ส่งออกที่เริ่มเติบโตตามแรงดีมานด์นั้น ด้านภายในประเทศ โรงงานวุ้นเส้นของบริษัทวาลัญนั้นเล่าก็ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 50% เข้าไปแล้ว

โลห์ โลหอุ่นจิตร และพิทักษ์ บุญพจน์สุนทร หรือทั้งคู่ก็เป็นงาน เขาเพียงยืนคุมอยู่ห่างๆ ไทยวาก็ไปโลด

ยิดวาโฮ (RIH HAW HO) จากไปรับใช้ชาติซึ่งเขาฝันไว้นานแล้วว่าสักวันหนึ่งจะต้องกลับไปสิงคโปร์บ้านเกิด เพราะเหตุผลนี้เองเมื่อเขาสมัครงานกับบริษัทวาชังสหรัฐฯ เมื่อปี 2492 จึงตัดสินใจมาประจำที่ประเทศไทย “ผมกะไว้ในใจแล้วว่า เมื่อผมมาทำงานในไทย ผมจะมีตั๋วฟรีมาเมืองไทยซึ่งอยู่ใกล้ๆ สิงคโปร์” เขาเคยกล่าวไว้

ยิดวาโฮกลับสิงคโปร์อย่างสมเกียรติ !

ปี 2508 สิงคโปร์ได้รับเอกราชจากอังกฤษ 2510 นายกรัฐมนตรีลีกวนยูเชิญยิดวาโฮกลับประเทศและแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำที่ประเทศไทย 3 ปีครึ่งที่ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป เขาหอบหิ้วครอบครัวกลับสิงคโปร์พร้อมๆ กับการตั้งบริษัทวาชัง อินเตอร์เนชั่นแนลขึ้นในปีนั้น

“พอดีช่วงนั้นภรรยานายห้างไปรับช่วงงานที่อเมริกา เพราะ ดร.ลีมาเสียในระยะเดียวกับที่นายห้างตั้งบริษัทในสิงคโปร์ขึ้นมาอีก ขณะนั้นเวลาส่วนใหญ่ของเขาอยู่ที่สิงคโปร์ แต่ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไทยวา โดยจะเดินทางมาทุกเดือน เดือนละ 2-3 วัน” พิทักษ์ บุญพจน์สุนทร กรรมการผู้จัดการไทยวา ผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ยิดวาโฮรักและไว้วางใจมากที่สุด เล่าให้ฟัง

แม้ไม่มียิดวาโฮ ไทยวาก็เดินหน้าไปเรื่อยๆ เพราะสถานการณ์การค้าผลิตภัณฑ์สำปะหลังหนุนส่งอย่างยิ่ง การเติบโตเป็นไปอย่างมั่นคงจนมาถึงปี 2525 ที่ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปได้จำกัดปริมาณการนำเข้าในขณะที่ประเทศไทยขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอย่างยั้งไม่อยู่ ผู้ส่งออกมันอัดเม็ดเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ก่อให้เกิดผลผลิตส่วนเกินอย่างมากมาย ซึ่งไทยวาถอยไม่ได้เสียแล้ว !

เพราะมีโรงงานผลิตมันอัดเม็ด 2 โรงกำลังการผลิตประมาณ 1,200 ตัน/วัน มีโกดังเก็บสินค้า 4 แห่ง บรรจุสินค้าได้ 140,000 ตัน

ส่วนธุรกิจส่งออกแป้งมันนั้น ไทยวามีโรงงานผลิต 3 โรง กำลังการผลิตรวมกัน 330 ตัน/วัน แต่ดีหน่อยที่ถึงแม้คู่แข่งส่งออกจะมาก แต่ไม่มีใครแซงไทยวาได้เลยไทยวาครองแชมป์การส่งออกแป้งมันตั้งแต่วันแรกที่ส่งออกจนถึงทุกวันนี้ ทว่า มูลค่าน้อยกว่าการส่งออกมันอัดเม็ดอยู่มาก

ปี 2524-2525 เป็นปีที่ยอดขายไทยวาทะยานขึ้นไปถึง 1,500 ล้านบาท ครั้นพอมาถึงปี 2525 กราฟได้ปักหัวลงเหลือประมาณ 1 พันล้านบาทเท่านั้น (ดูแผนภูมิประกอบ)

ปี 2526 จนถึงปัจจุบันคือห้วงเวลาที่ไทยวาพยายามยืนอยู่ในเพดานเดิม

พิทักษ์เปิดใจกับ “ผู้จัดการ” ว่าเมื่อการค้าผลิตภัณฑ์สำปะหลังและสินค้าพืชไร่ตัวอื่น เช่น ปอ ซบเซา ไทยวาก็เริ่มมองหาธุรกิจอื่น “ทีแรกเราไม่ได้ตั้งใจจะทำธุรกิจ REAL ESTATE เสียทีเดียว เพียงแต่คิดในครั้งแรกว่าจะสร้างสำนักงานบริษัทของตนเองขึ้นมา ที่ดินก็มีอยู่แล้วที่ถนนสาทรหรือสำนักงานเดิม”

เดิมไทยวามีสำนักงานอยู่ที่เลขที่ 21 ถนนสาทร บนที่ดินสร้างไทยวาทาวเวอร์ปัจจุบัน ต่อมาเมื่อกิจการขยายที่เดิมคับแคบจนต้องไปเช่าอาคารเคี่ยนหงวน ถนนวิทยุ

“เป็นจังหวะเหมาะที่ กทม.แก้ไขเทศบัญญัติให้สร้างตึกสูงบริเวณนั้นได้ แต่ก่อนให้สร้างเฉพาะที่อยู่อาศัย อีกประการหนึ่งที่ดินตรงนั้น เราซื้อมากว่า 30 ปีราคาถูกมาก หากจะสร้างเป็นอาคารชุดให้เช่าน่าจะเป็นไปได้” พิทักษ์บอก

สิ่งที่พิทักษ์ปฏิเสธไม่ได้คือ การตัดสินใจสร้างไทยวาทาวเวอร์ 23 ชั้นนั้น ได้รับการกระตุ้นจากช่วงที่ CONDOMINIUM บูมอย่างมากๆ ในปี 2525-27

“หากโครงการนี้สำเร็จด้วยดี เราก็จะจับ REAL ESTATE ต่อไป ปัจจุบันเรามีที่ประมาณ 13 ไร่ที่บางนาพอจะทำคอนโดมิเนียมได้อีกจุดหนึ่งได้ซื้อที่ที่ภูเก็ตไว้หลายร้อยไร่มีโครงการที่จะทำโรงแรมแบบรีสอร์ต” พิทักษ์เล่าถึงแผนการ DIVERSIFIED อย่างไม่ได้ตั้งใจ

จนมาถึงการก่อสร้างตึกสูง หรือ OFFICE CONDOMINIUM เริ่มซบเซา ไทยวาก็เริ่มคิดหนัก โครงการสร้างรีสอร์ตที่ภูเก็ตจึงต้องชะลอมาเรื่อยๆ พิทักษ์หรือปีเตอร์ยอมรับว่า ไทยวาและบริษัทแม่วาชัง อินเตอร์เนชั่นแนล ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลย “หากจะทำจริงๆ จะต้องร่วมทุนกับคนอื่น ตอนนี้กำลังหาพาร์ตเนอร์อยู่”

อย่างไรก็ตาม เพราะมีไทยวาทาวเวอร์รายได้ของไทยวาจึงไม่ลดลงมากกว่าที่ควรจะเป็นเนื่องจากยอดการขายไทยวาทาวเวอร์ 2 ปีที่ผ่านมาก็นับสิบๆ ล้านบาทเหมือนกัน และเมื่อบวกกับดอกเบี้ยแล้วจึงทำให้รายได้ยันอยู่ในระดับ 900 กว่าล้านบาท/ปี ในปี 2527 และปี 2528

เพราะไทยวามีความ “สัมพันธ์” กับวาชัง อินเตอร์เนชั่นแนล โดยเฉพาะสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สิงคโปร์เผชิญวิกฤตรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ผลนั้นย่อมส่งต่อมาถึงไทยวาด้วย!

“เราก็ไม่ได้ช่วยอะไรโดยตรง แต่หากว่าเขาสามารถหาตลาดสินค้าที่เราเคยขายได้เราก็จะให้เขาส่งมอบ หรือไม่ก็ส่งธุรกิจบางอย่างมาหางานในเมืองไทย” พิทักษ์ ไม่ยอมรับตรงๆ

สิ่งที่พิทักษ์พูดนั้น วงการค้าแป้งมันพูดกันมาตั้งแต่ปี 2528 แล้ว “ผมแปลกใจทำไมออเดอร์แป้งมันของไทยวาลดลงไปมาก โดยเฉพาะจากรัสเซียซึ่งผูกขาดกับไทยวาตลอดมา เคยซื้อปีละเป็นแสนตัน แต่กลับไปซื้อจากสิงคโปร์ ไม่มีแป้งมันส่งออกเอง” จุดนี้เอง “ผู้จัดการ” วิเคราะห์ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยอดขายของไทยวาลดลงไป

ปี 2528 ไทยวาตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา 2 บริษัท-บริษัทวาชัง อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) คอร์เปอเรชั่น จำกัด และบริษัทยูไนเต็ด อินซุเลชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัทแรกนำเข้าฉนวนกันความร้อนประเภทใยหินและแร่กัดกร่อน (จากสิงคโปร์) บริษัทหลังออกแบบและติดตั้งฉนวนกันความร้อน “เราทำงานประสานกันเนื่องจากว่างานเหล่านี้ที่สิงคโปร์ไม่มี ขณะเดียวกันเราเห็นว่าที่เมืองไทยพอมีก็ตั้งบริษัทเหล่านี้ขึ้นมาหางาน” แต่เมื่อถามพิทักษ์ว่าประสบความสำเร็จตามที่คาดหรือไม่ เขาตอบ “ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะเมืองไทยก็เศรษฐกิจไม่ดีเหมือนกัน”

ภาพรวมของไทยวาตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปัจจุบันนั้นแสดงความอึดอัดพอสมควร กล่าวคือมีเงินมีทรัพย์สิน (ดูแผนภูมิการเพิ่มทุนประกอบ) แต่แปรสภาพเป็นผลผลิต เป็นกำไรเป็นกอบเป็นกำอย่างลำบาก แต่นี่ยังดีกว่า วาชังอินเตอร์เนชั่นแนล ที่สิงคโปร์ (อ่านล้อมกรอบ “เครือข่าย THE WAH-CHANG INTERNATIONAL GROUP)

ว่ากันว่า ยิดวาโฮ ประธานไทยวาปัจจุบันนั้นเชื่อมือพิทักษ์ บุญพจน์สุนทร และทีมงานคนหนุ่ม ว่าสามารถจะบริหารกิจการไทยวาในประเทศไทยไปได้ โดยมีข้อแม้ว่า ต้องมีคนอย่างเขาคุมทิศทางอยู่ โฮ มีประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่น้อยเกี่ยวกับผู้สืบทอด

เรื่องสร้างคน โดยเฉพาะคนที่มองการณ์ไกล เป็นภาระหน้าที่เร่งด่วนของไทยวา เรื่องนี้ ยิดวาโฮคิดหนัก แม้แต่พิทักษ์ บุญพจน์สุนทร ยังยอมรับกับ “ผู้จัดการ” ว่าเขาเองก็ให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษในปัจจุบัน

กิจการวาชังสหรัฐอเมริกาที่ ดร.ลีก่อตั้งนั้น เมื่อ 30-40 ปีก่อนเป็นปราการที่เข้มแข็งที่สุดของ THE WAH-CHANG GROUP แต่เมื่อขาด ดร.ลี ปัจจุบันกิจการในสหรัฐฯ ของกลุ่มฯ เหลือน้อยนิด ส่วนกิจการในสิงคโปร์นั้น เขารู้สึกเบาใจขึ้นมาบ้าง เมื่อกวาง ปิง โฮ ลูกชายของเขาเข้ามาคุมงานในขณะที่เขาเป็นพี่เลี้ยงได้และยังแข็งแรงอยู่

ในไทยก็เหมือนกัน เขาควรจะทำอะไรบางอย่างให้เรียบร้อย ซึ่งเมื่อเขาไม่มีชีวิตแล้ว กิจการที่เขาสร้างขึ้นจะไปล้มตามไปด้วย!

การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ของไทยวาจึงเป็นทางออกที่สำคัญทางหนึ่ง

“เป็นคำถามที่ดีมาก” พิทักษ์รู้สึกพอใจมากเมื่อ “ผู้จัดการ” ถามเหตุผลที่ไทยวาต้องเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย

“นายห้างโฮเขามาตั้งตัวในเมืองไทยเริ่มตั้งแต่ค้าแร่เป็นต้นไป และเปลี่ยนมาเรื่อยๆ นับว่ากิจการเจริญพอสมควร ในเมื่อเขาจากไปสิงคโปร์ เขาก็คิดถึงลูกน้องอย่างผมเป็นต้น ให้โอกาสเรารับซื้อหุ้นจากบริษัทในราคาถูก เขาคิดว่าในเมื่อบริษัทไทยวาเจริญในเมืองไทยก็ควรเป็นของคนไทย” พิทักษ์ให้เหตุผลประการแรก

“อีกประการหนึ่ง เมื่อนายห้างไม่ได้ประจำในเมืองไทยแล้ว ลูกหลานเขาก็อยู่สิงคโปร์ เขาคิดว่าหากจะให้บริษัทเจริญควรจะมีบุคคลภายนอกมาร่วมบริหาร และอยู่ในรูปของบริษัทมหาชน ให้โอกาสคนที่มีความสามารถเข้ามาบริหารบริษัทได้ อันนี้เป็นดำริของนายห้างโฮ เขาบอกว่าควรทำเสียตั้งแต่เขายังมีชีวิตอยู่ เขามีประสบการณ์ว่า ตระกูลของเขาเองเคยสร้างบริษัทใหญ่ๆ ขึ้นมา เช่นในนิวยอร์ก เนื่องจากไม่มีใครสืบทอด ก็ไม่เจริญและยุบไป...” พิทักษ์แน้นถึงสิ่งนี้ในทำนองว่าการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของไทยวานั้น กากระทำเพื่ออนาคตและอาจจะเรียกได้ว่าเป็นเจตนารมณ์สุดท้ายของยิดวาโฮ

“แม้ในทางความเป็นจริงไทยวาจะเป็นบริษัทลูกของวาชัง แต่ในทางกฎหมายเราเป็นบริษัทของคนไทยที่ดำเนินกิจการอย่างอิสระแล้ว” กรรมการผู้จัดการวัย 55 ปี ของไทยวากล่าวเป็นประโยคสุดท้าย

ยิดวาโฮ มองการณ์ไกลสมกับเป็นนักการทูตและเป็นปัญญาชน ซึ่งเขามีประสบการณ์สำคัญอย่างหนึ่งว่า ไทยวาเกิดขึ้นจากสถานการณ์ การเติบโตและ DIVERSIFIED ล้วนถูกสถานการณ์บีบมาตลอด หากไม่มีเขาหรือผู้บริหารที่มองการณ์ไกลด้วยแล้ว อนาคตของไทยวาไม่มีใครมองออก แต่เมื่อไทยวาเป็นบริษัทมหาชนเมื่อปลายปี 2528 แล้ว

ยิดวาโฮ คิดว่าเขาไม่ได้ย่ำรอยเท้าเดิมของ ดร.เคซีลีผู้เป็นพ่อตาอีกต่อไปแล้ว!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us