ถ้าหากจะมีการจัดอันดับลูกหนี้เลวเด่นหรือลูกหนี้ยอดแย่แห่งปีเหมือนกับการจัดบุคคลแห่งปีที่กำลังฮิตกันอยู่เวลานี้
บริษัทฟินิคซ พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด ก็คงต้องคว้ารางวัลติดต่อกันหลายปี
จนนับได้ว่าน่าจะเป็น “ลูกหนี้ยอดแย่ในรอบทศวรรษ” ทีเดียว
นี่ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยความจริง เพราะผู้ที่พูดประโยคนี้คือผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งในวงการธนาคารพาณิชย์ของไทย ที่ระบายความอึดอัดใจที่มีกับโครงการนี้ให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
“ความจริงโครงการนี้มันไม่น่าเกิดขึ้นหรอก เพราะในสายตาของแบงก์นั้นมันมีหลายเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ตั้งแต่แรก
และมีอีกหลายเรื่องที่เรามารู้ทีหลังว่ามันไม่เป็นจริงตามที่เขาสตัดดี้เอาไว้..โอเค
ถ้าดูตามสตัดดี้ในตอนนั้นละก้อดูดีไปหมดทีเดียว” คนแบงก์คนเดิมว่า
เริ่มแรกก็ตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบซึ่งตอนที่นายกเกรียงศักดิ์หนุนให้บุญชู
โรจนเสถียร กรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงเทพ และประธานสมาคมธนาคารไทยในขณะเดียวกันมาชักชวนให้สมาชิกทั้ง 16 แบงก์ช่วยกันค้ำประกันหนี้โครงการนี้เพื่อให้โครงการเดินไปได้เสียที (ปี 2521) นั้น ทุกคนรู้ว่าเป็นโรงงานแรกของโลกที่จะผลิตเยื่อกระดาษจากปอแม้ว่าจะมีผลการศึกษาความเป็นไปได้มาดีแค่ไหน
ในสายตาแบงก์ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจอยู่ดี!
ปัญหาต่อมาก็คือเรื่องผลผลิตปอก็ไม่แน่ใจว่าจะมีพอหรือไม่? รวมทั้งราคาปอจะเคลื่อนไหวขึ้นลงแค่ไหน? ความสามารถของฝ่ายจัดการในการประสานงานและร่วมมือกับชาวไร่ก็ยังมองไม่เห็น! ต่อมาก็เรื่องตลาด ผลิตเยื่อกระดาษจากปอขึ้นมาแล้วจะขายได้หรือเปล่า? ไม่มีใครบอกได้
มีแต่ตัวเลขชวนฝันว่าจะขายได้เท่านั้นเท่านี้พร้อมประเมินความต้องการเยื่อกระดาษในประเทศเอาไว้เสียสูงลิ่วกว่าที่เป็นจริง
ซึ่งแน่นอนประเด็นที่เกี่ยวโยงกับเรื่องราคาขายเป็นสำคัญ
อีกปัญหาที่สำคัญก็คือด้านการจัดสรรเงินทุน ซึ่งตอนเริ่มต้นนั้นมีทุนแค่ 400 ล้านบาท ในขณะที่โครงการต้องใช้เงินถึง 2 พันล้านบาท ทั้งๆ ที่โครงการอุตสาหกรรมขนาดนี้แบงก์จะให้กู้ได้ไม่เกิน 2 เท่าของเงินทุนเท่านั้นถ้าหากจะให้ได้ตามโครงการก็ต้องมีทุนมากกว่านี้
แม้ว่ากลุ่มแบงก์จะมองเห็นปัญหาชัดเจนอย่างนี้พร้อมๆ กับมีบางแบงก์หันไปสนับสนุนอย่างแจ้งชัดในการตั้งโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากไม้ไผ่ของกลุ่มศรีเฟื่องฟุ้ง-บูรณศิริ-เตชะไพบูลย์
ซึ่งมีธนาคารศรีนครดันหลังอยู่และเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน ด้วยเหตุผลว่าโครงการของกลุ่มหลังนี้มีความเป็นไปได้มากกว่า
“แต่คุณสมศักดิ์ก็ฉลาดพอที่จะเข้าหาผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ให้ช่วยผลักดันโครงการแทนพร้อมๆ กับหาช่องทางเข้ามาเป็นเลขาธิการสมาคมเยื่อและกระดาษ
ซึ่งเป็นที่รวมของบรรดาพ่อค้ากระดาษและโรงงานกระดาษทั้งหมดซึ่งทำให้ภาพพจน์ของตัวคุณสมศักดิ์และโครงการฟินิคซฯ เองมีน้ำหนักมากขึ้น” พ่อค้ากระดาษคนหนึ่งเล่าเหตุการณ์ช่วงนั้นให้ฟัง
ซึ่งท่านนายกเกรียงศักดิ์เองก็กำลังมองหาโครงการขนาดใหญ่ที่จะช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาได้มากๆ
อยู่แล้วอาจจะเพราะหวังผลทางการเมืองด้วย เมื่อไปเปรียบกับโครงการผลิตเยื่อกระดาษจากไผ่ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ดูจะหาง่ายกว่าปอและเกี่ยวข้องกับชาวบ้านน้อยกว่าปอ นายกเกรียงศักดิ์ก็เลยเปิดไฟเขียวให้ฟินิคซฯ เต็มที่
“เมื่อเป็นอย่างนั้นโครงการของกลุ่มแบงก์ศรีนครก็ต้องพับเก็บไว้ก่อน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างโรงงานเยื่อกระดาษขึ้นมาพร้อมกันทีเดียว 2 โรง ก็สร้างความผิดหวังให้กลุ่มศรีนครไม่น้อยเหมือนกัน” คนแบงก์คนเดิมกล่าว
และเมื่อแบงก์ไทยการันตีหนี้ต่างประเทศจำนวน 940 ล้านบาทให้โครงการนี้ก็เริ่มลงหลักปักฐานได้จริงๆ
จนถึงเดือนเมษายน 2525 ก็เริ่มผลิตเยื่อกระดาษจากปอได้
นับแต่นั้นปัญหาต่างๆ ก็เริ่มโหมกระหน่ำฟินิคซฯ ระลอกแล้วระลอกเล่าทันที
เริ่มด้วยความบกพร่องของเครื่องจักรที่ผลิตได้เพียง 55% ทำให้ผลผลิตน้อย
แต่ต้นทุนคงที่ทุกอย่างเดินหน้าการจัดซื้อปอก็มีการโกงกินกันอย่างมโหฬาร
เพียงแต่เดินเครื่องไปได้เพียง 5 เดือนคือถึง 30 ก.ย. 25 อันเป็นรอบระยะบัญชีของฟินิคซฯ ก็โชว์ตัวแดงเกิดขึ้นแล้ว 225.918 ล้านบาท
จะด้วยเหตุผลใดก็ตามแม้ว่าหุ้นส่วนใหญ่คือบัลลาเปอร์ อินดัสตรี และ VOEST ALPINE จะรับประกันและแก้ไขทุกอย่างให้ได้เต็มประสิทธิภาพตามสัญญาโดยไม่คิดมูลค่าก็ตาม
แต่นี่ก็เท่ากับทำให้ฟินิคซฯ เสีย TIMING ที่ดีในการทำธุรกิจและผลประโยชน์ที่เสียไปเป็นเงินอีกหลายร้อยล้านบาททีเดียว
แต่ไม่มีฝ่ายจัดการคนไหน เรียกค่าเสียหายในเรื่องนี้กับบริษัททั้ง 2 ซึ่งอีกสถานะหนึ่งก็คือหุ้นส่วนใหญ่ของฟินิคซฯ นั้นเอง
นี่เป็นจุดอ่อนอันแรกที่แบงก์คอมเมนต์ไว้และก็เป็นจริง แต่แบงก์ก็ยังใจอ่อนเพราะเห็นแก่หน้าว่าเป็นโครงการแห่งชาติ (ตามที่ผู้โปรโมตโครงการพยายามผลักดันมาแต่ต้น)
ต่อไปก็ผลผลิตปอซึ่งมันก็เป็นลูกโซ่นั่นเอง เมื่อฝ่ายจัดการไร้ฝีมือที่จะจัดสรรเงินหมุนเวียนในการซื้อปอ
เกิดการโกงน้ำหนัก ชักหัวคิว ก็รับซื้อปอได้เพียงปีแรกเท่านั้น พอถึงหน้าปอปี 25 ซึ่งโรงงานจำเป็นต้องใช้ปอจำนวนมาก แต่ฟินิคซฯ ก็ขาดเงินสดหมุนเวียนเสียแล้วถึงขนาดต้องประกาศทางวิทยุให้ชาวไร่นำตั๋วมารับเงินกันเป็นงวดๆ ได้บ้างไม่ได้บ้างไปตามเรื่อง
เมื่อเครดิตเสีย ปีต่อไปชาวไร่ก็ไม่ปลูกปอส่งให้โรงงานอีก จะมีก็เพียงส่วนน้อย จนกระทั่งโรงงานต้องดิ้นรนมาหาทางออกเอาเองที่ไม้ไผ่
จนเดี๋ยวนี้ฟินิคซฯ กลายเป็นโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากไม้ไผ่ไปเสียแล้ว!!
ถัดจากเรื่องวัตถุดิบก็มาถึงเรื่องตลาด สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ยืนยันว่าโครงการนี้ตอนแรกแจ๋วมากเพราะราคาเยื่อกระดาษตอนเริ่มโครงการ
650 เหรียญ/ตัน แต่น้ำมัน 12 เหรียญ/บาร์เรล พอเริ่มสร้างโรงงานไปได้แค่ 18
เดือน ราคาเยื่อเหลือ 280 เหรียญ/ตัน แต่น้ำมันขึ้นไป 30 เหรียญ/บาร์เรล
“แล้วคุณลองคิดดูซิ จะให้ฝ่ายจัดการเก่งยังไง มันก็ต้องขาดทุนกันอย่างมโหฬารจนได้”
สมบูรณ์ว่า
แต่ในความเป็นจริงนั้นกลายเป็นว่าเรามองตลาดผิวเผินเกินไป เพราะเมืองไทยไม่เคยซื้อเยื่อกระดาษในลักษณะสัญญาระยะยาวเลยซึ่งจะกำหนดราคาคงที่ตลอดอายุสัญญา
แต่กลับซื้ออยู่ในสปอร์ตมาร์เก็ตเท่านั้น ซึ่งตลาดบ้านเราก็แป็นเพียง DUMANG
MARKET หรือตลาดสำหรับระบายสินค้าส่วนเกินเท่านั้น ราคาที่เห็นถูกเป็นพิเศษจึงเป็นราคาชั่วคราว
แต่นี่คือสิ่งที่ผู้วิเคราะห์โครงการต้องเจาะให้ถึงว่าผู้ใช้เมืองไทยนั้นต้องการของราคาถูกเป็นเกณฑ์
และไม่ได้สนใจคุณภาพเท่าใดนัก?
นอกจากนี้กระดาษยังเป็นสินค้าที่ถูกรัฐบาลคุมราคาอยู่ด้วย การขึ้นราคาที่แท้จริงจึงทำไม่ได้ตาม
MARKET FORCE
จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่เรามักได้ยินข่าวกระดาษขาดแคลนตอนหน้าร้อน แต่ไปหลบอยู่หลังร้านในราคาที่แพงขึ้นอย่างที่ผู้ซื้อไม่มีทางต่อรอง...แถมต้องเงินสดด้วยนะ
นี่คืออีกจุดที่ฟินิคซฯ พลาด
เรื่องสุดท้ายที่บรรดาแบงก์เจ้าหนี้ทั้งหลายระอากันมาก และก็เป็นตัวแปรสำคัญมากๆ ก็คือความประพฤติของฝ่ายจัดการโครงการนี่เอง ซึ่งพูดได้ว่ามีส่วนอย่างมากในการทำให้อาการของฟินิคซฯ เข้าขั้นโคม่าอย่างนี้
“โครงการใหญ่อย่างนี้ฝ่ายจัดการจะต้องมีความรับผิดชอบเต็มที่เมื่อเกิดความสูญเสียขึ้นมา
แต่นี่เขามีข้ออ้างอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ดินฟ้าอากาศไล่ดะไปเลย จะแก้ปัญหาแต่ละเรื่องต้องเอาเงินแบงก์ให้ได้
แต่เงินทุนที่จะลงมาเพิ่มไม่มี กว่าจะเพิ่มทุนได้แต่ละคราว เรื่องมากกันจริงๆ โอ้เอ้อยู่นั่นแหละเรื่องที่ควรจะทำเสร็จและแก้ไขตั้งแต่ปี 26 ก็เลยต้องยืดเยื้อมาถึงเดี๋ยวนี้ไง”
ผู้ใหญ่ในวงการแบงก์บ่นอย่างเอือมระอาเต็มที
“คุณเป็นผู้ลงทุน ถ้าคุณกำไรคุณก็ได้ผลประโยชน์ไปเต็มที่ คุณแบ่งกำไรให้แบงก์หรือเปล่า
แต่พอคุณมีปัญหา จะเรียกร้องให้แบงก์ช่วยฝ่ายเดียวได้ยังไง แล้วแบงก์น่ะเขาก็หากินด้วยดอกเบี้ยเท่านั้นเอง
ถ้าคุณไม่ส่งทั้งต้นทั้งดอกมาตั้ง 3 ปีแล้วอย่างนี้ แบงก์ก็ทนไปได้อีกไม่นานหรอก”
ว่ากันว่าที่ฟินิคซฯ เบี้ยวไม่จ่ายทั้งต้นทั้งดอกในวงเงินหมุนเวียนที่กู้จากสมาคมธนาคารมา
300 ล้านบาทนั้น ก็เป็นการกระทำทดแทนกับที่บางธนาคารคือแบงก์กรุงไทยกับแบงก์กรุงเทพฯ พาณิชยการไม่ยอมส่งเงินไปช่วย รวมทั้งบางแบงก์ที่ส่งให้แต่ก็ไม่เต็มตามโควตาในส่วนของตัว
แต่คนที่เจ็บตัวจริงๆ ก็คือแบงก์กรุงเทพกับแหลมทองที่แบกหนี้อยู่คนละ 112.5 ล้านและ 37.5 ล้านบาท ซึ่งรวมกันครึ่งหนึ่งของยอดหนี้ 300 ล้านบาท โดยยังไม่รวมยอดวงเงินค้ำประกันหนี้ของโครงการนี้อีกต่างหาก
ส่วนแบงก์ต่างประเทศที่เข้ามาร่วมรับชะตากรรมอันนี้ก็มีอีกประมาณไม่ต่ำกว่า 24 แบงก์ทั้งในออสเตรีย อินเดีย ฮ่องกง และสิงคโปร์
โดยเฉพาะ 2 กลุ่มหลังนี้จะรับบทหนักมากกว่า 2 กลุ่มแรก และหนึ่งในนั้นที่กำลังปวดหัวอยู่เพราะถลำตัวเข้าไปไม่น้อยในฐานะที่มีสาขาอยู่ในเมืองไทย ก็ยูโรเปียน เอเชียน แบงก์ ว่ากันว่า ผู้ใหญ่ที่นั่นกำลังหาทาง WRITE OFF ลูกหนี้รายนี้อยู่เสียด้วย