คดีในศาลแรงงานระหว่างสุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุล กับบริษัทโกดัก (ประเทศไทย)
ถึงขณะนี้ยังไม่สิ้นสุด
แต่ในที่สุดก่อนการสิ้นสุดนั้นก็คือ คดีอาญาอีกหนึ่งคดีที่สุวัฒน์จำต้องเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทโกดัก
(ประเทศไทย) เป็นจำเลยที่ 1 เจ ซี สมิธ เป็นจำเลยที่ 2 ณรงค์ จิวังกูร เป็นจำเลยที่
3 และรชนี วนกุล ผู้จัดการแผนกพนักงานสัมพันธ์เป็นจำเลยที่ 4
ข้อหาทำและใช้เอกสารปลอม, ปลอมเอกสารสิทธิ, ใช้หรืออ้างเอกสารปลอม, นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี
(ในศาลแรงงานที่สุวัฒน์เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทโกดักผู้เป็นนายจ้าง) ซึ่งสุวัฒน์
แดงพิบูลย์ ในฐานะโจทก์ก็ได้อ้างเหตุแห่งความผิดคือ
ประการที่หนึ่ง-จำเลยทั้ง 4 นี้ได้ร่วมกันทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับอันเป็นเอกสารการประเมินผลการปฏิบัติงานของสุวัฒน์
(โจทก์) ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม
2527 โดยณรงค์ จิวังกูร (จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของโจทก์)
ได้กรอกข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษระบุว่า สุวัฒน์ทำงานอยู่ในระดับ
"E" ซึ่งมีความหมายว่า ผลการทำงานต่ำกว่าที่ควร แสดงถึงความประสงค์ในการทำงาน
แต่ได้ผลงานต่ำกว่าที่ต้องการเนื่องจากขาดประสบการณ์ เอกสารการประเมินผลการปฏิบัติงานนี้ณรงค์
จิวังกูร ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ควบคุม ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2527 และ
เจ ซี สมิธ ในฐานะผู้จัดการใหญ่ได้ลงลายมือชื่อในช่องถัดมาลงวันที่ 20 พฤศจิกายน
2527
ประการที่สอง-เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2528 ก็ยังได้ร่วมกันถ่ายสำเนาเอกสารการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ทำปลอมขึ้นนำไปแสดงต่อศาลแรงงานกลาง
โดยมอบหมายให้ทนายจำเลยแนบเป็นเอกสารท้ายคำให้การ และฟ้องแย้งหมายเลข 1 ทนายยื่นบัญชีระบุพยานเอกสารฉบับนี้เป็นพยานเอกสารของฝ่ายจำเลย
ส่วนทางโจทก์ (สุวัฒน์) ก็ได้ระบุพยานอ้างเอกสารต้นฉบับที่เป็นฉบับแท้จริงอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้ง
4 แต่เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2528 จำเลยทั้ง 4 กลับมอบหมายให้จำเลยที่ 2 (เจ
ซี สมิธ) มีหนังสือนำส่งเอกสารการประเมินผลการปฏิบัติงานฉบับปลอม และมีข้อความเป็นเท็จต่อศาลแรงงาน
หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เอกสารฉบับเดียวกับที่จำเลยทั้ง 4 ใช้อ้างเป็นพยานเอกสารท้ายคำให้การและฟ้องแย้งหมายเลข
1 ของจำเลยทั้ง 4 นั่นเอง
ประการที่สาม-นอกจากเอกสารการประเมินผลการปฏิบัติงานนี้แล้ว จำเลยทั้ง
4 ก็ได้สมคบกันทำเอกสารสิทธิปลอมขึ้นทั้งฉบับอันเป็นเอกสารหนังสือตั้งผู้แทนลูกจ้างฉบับลงวันที่
20 ตุลาคม 2526 ซึ่งเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่จำเลยประสงค์แสดงให้ศาลหรือบุคคลอื่นหลงเชื่อเป็นเอกสารที่แท้จริงว่า
เมื่อเดือนตุลาคม 2526พนักงานของบริษัทโกดักจำนวน 205 คน รวมทั้งสุวัฒน์ด้วย
ได้ทำการประชุมแต่งตั้งผู้แทนลูกจ้างขึ้นทั้งหมด 4 คน มีนายไพฑูรย์ ขันธทัตบำรุง
นายเรวัต ลาภมากผล นางสาวจารุณี พึ่งเพียร และนางเยาวลักษณ์ สมบุญเกิด เป็นผู้มีสิทธิรับข้อเรียกร้องและเจรจาตกลงข้อแก้ไขสัญญาเกี่ยวกับสภาพการจ้างของพนักงานกับบริษัทโกดัก
(ประเทศไทย) ได้ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่า "จำเลยที่
(หมายถึงบริษัทโกดักประเทศไทย) มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงและโยกย้ายหน้าที่การงานของพนักงานได้ตามที่บริษัทฯเห็นสมควร..."
ประการที่สี่-ภายหลังที่จำเลยทั้ง 4 ได้ร่วมกันปลอมแปลงหนังสือตั้งผู้แทนลูกจ้างแล้ว
ก็ยังสมคบกันกระทำความผิดทางอาญาในข้อหาแสดงพยานหลักฐานเท็จต่อศาล โดยได้มอบหมายให้ทนายจำเลยยื่นส่งเอกสารหนังสือตั้งผู้แทนลูกจ้างต่อศาลแรงงานกลาง
และเอกสารนี้ต่อมาถูกใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีที่เป็นของสำคัญของศาลในคดีที่สุวัฒน์ฟ้องบริษัทโกดัก
(ประเทศไทย) และพวก ทั้งๆที่เป็นเอกสารเท็จ
เป็นอันว่านอกจากจะต้องสู้กันเพื่อหาข้อยุติที่ศาลแรงงานกลางแล้ว
ทั้งโจกท์และจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างกับนายจ้างคู่นี้ก็จะต้องมีนัดเพื่อพบกันที่ศาลอาญาอีกหนึ่งคดี
โดยที่ฝ่ายจำเลยผู้เป็นนายจ้างก็คงต้องประกาศสู้ไม่ถอย
การยื่นฟ้องอาญาข้อหาปลอมแปลงเอกสารฯของสุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุล นั้นได้ยื่นฟ้องไปแล้วเมื่อวันที่
27 กุมภาพันธ์ 2529 และศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 15 เมษายน 2529
สำหรับสุวัฒน์หรือสำหรับอีกหลาย ๆ คนก็น่าจะใช้ช่วงเวลาเดือนกว่า ๆ นี้ตระเตรียมพยานหลักฐานเพื่อมาหักล้างกันในวันไต่สวน
แต่สำหรับโกดักก็คงไม่เพียงเท่านั้น
วันที่ 28 มีนาคม 2529 เพียง 1 เดือนภายหลังการยื่นฟ้องอาญา หนังสือหนึ่งฉบับที่ลงนามโดย
เจ ซี สมิธ ผู้จัดการใหญ่ก็ถูกส่งถึงสุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุล
ข้อความมีอยู่สั้น ๆ ไม่กี่บรรทัด ซึ่งสรุปแล้วก็คือ "หนังสือเลิกจ้าง"
ง่ายและก็รวบรัดมาก แต่จะมีผลทำให้คดีความที่ยังคาโรงคาศาลอยู่คงไม่ง่ายและรวบรัดเช่นนั้นแน่
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ที่ศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมานี้
สุวัฒน์ ได้แจ้งให้ศาลทราบเกี่ยวกับการบอกเลิกจ้างของโกดัก ก็เลยจะต้องมีการนัดพร้อมทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย
เพื่อชี้แจงถึงสาเหตุการเลิกจ้างและหาหนทางประนีประนอมกันในวันที่ 2 พฤษภาคม
2529 (ที่ผ่านมายังไม่มีการเจรจาประนีประนอมกันเลย)
และถ้ายังไม่สามารถประนีประนอมยอมความกันได้ การยื่นฟ้องข้อหาถูกเลิกจ้างอย่างไม่ชอบธรรมโดยสุวัฒน์ก็คงต้องเป็นคดีที่สามที่สุวัฒน์จะต้องฟ้องโกดัก
(ประเทศไทย)