สุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุล ดำเนินคดีฟ้องร้องบริษัทโกดัก (ประเทศไทย) และฝ่ายบริหารรวม
4 รายเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2528 เป็นคดีแรก จากนั้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์
2529 ก็ยื่นฟ้องคดีอาญาข้อหาปลอมแปลงเอกสารเป็นคดีที่สอง ซึ่งก็เป็นผลสืบเนื่องจากคดีแรก
และวันที่ 28 มีนาคม 2529 โกดัก (ประเทศไทย) มีหนังสือเลิกจ้างสุวัฒน์
ระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2528 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2529 หรือกว่าหนึ่งปีนี้
สำหรับสุวัฒน์แล้ว มันเป็นช่วงเวลาที่เขาคงจะลืมไม่ลงไปอีกนานแสนนานทีเดียว
พนักงานโกดักได้รับคำบอกเล่ากันจากปากต่อปากว่าการที่สุวัฒน์นำเรื่องของเขามาฟ้องร้องเป็นคดีความต่อศาลแรงงานกลางนั้น
ทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทโกดักเสียหายมากอาจจะถึงขั้นทำให้การดำเนินธุรกิจไม่ดีเหมือนที่เคย
นอกจากนี้บริษัทโกดักก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสู้คดีเป็นจำนวนเงินมากๆ
ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุให้ฐานะของบริษัทตกต่ำลง อาจจะสะเทือนถึงความมั่นคงของพนักงานทุกๆ
คนได้
สุวัฒน์ในสายตาเพื่อนร่วมงานทั่วๆ ไปก็เลยช่วยไม่ได้ที่จะต้องกลายเป็นสุวัฒน์ที่พนักงานส่วนใหญ่รู้สึกเกลียดชังขึ้นมาทันที
เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่อนาคตของเพื่อนร่วมงานตาดำๆ
นับร้อยชีวิตที่ถ้าหากทุกคนมีอันตกงานแล้วก็คงจะกระเทือนไปถึงครอบครัวของเพื่อนร่วมงานเหล่านี้ด้วย
กับเพื่อนร่วมงานบางคนที่เคยสนิทสนมกันมาก่อนก็ทำตัวห่างเหินในทันทีที่คดีถึงศาลอีกเหมือนกัน
เพราะหากขืนยังพูดคุยกับสุวัฒน์อยู่ก็เกรงว่าคำพูดคุยนั้นจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในศาลหรือก็คงกลัวบรรดา
“นาย ๆ” จะเหม็นหน้าตามไปด้วยก็เป็นได้
นับเป็นการสิ้นสุดการพูดคุยกันอย่างสิ้นเชิง แม้แต่สบตาด้วยก็ไม่กล้า
ทั้งที่ก็ไม่มีเพื่อนร่วมงานคนใดที่ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในศาล
ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า โกดักมีวิธีการบ่มเพาะพนักงานกันอย่างไร จึงได้คับแคบกันขนาดนี้
สภาพที่ต้องนั่งทำงานอย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางบรรยากาศแห่งความเกลียดชัง
ดูถูก โกรธแค้นและหวาดระแวงตลอดเวลาก็เลยต้องเป็นสภาพที่บีบคั้นจิตใจกันอย่างรุนแรงที่สุวัฒน์หลีกไม่พ้น
ว่าไปแล้วสุวัฒน์ก็อยู่ในสภาพที่ต้องสู้อย่าง “สุนัขจนตรอก” นั่นแหละ
ส่วนทางด้านบรรดา “นาย” ทั้งหลายก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก
ภายหลังการให้ปากคำในศาลว่า ตัวสุวัฒน์เองยังต้องทำหน้าที่ขายสินค้าเหมือนเช่นเมื่อ
15 ปีก่อนขณะเริ่มทำงานกับโกดักใหม่ๆ กานต์ โกสินทรกุล “นาย” โดยตรงของสุวัฒน์ในฐานะผู้จัดการฝ่ายฯ ก็ได้สั่งเป็นคำพูดไม่ให้สุวัฒน์ติดต่อกับลูกค้าหรือขายสินค้าตามที่เคยสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทำหน้าที่ขายเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2528 ทันที โดยไม่ได้มีการสั่งยกเลิกคำสั่งเดิมเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน
ซึ่งในเมื่อสุวัฒน์ไม่ได้ทำงานตามที่สั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทำ สุวัฒน์ก็จะต้องกลายเป็นพนักงานที่ไม่มีผลงานและเมื่อไม่มีผลงาน ก็คงไม่มีใครอยากจะจ้างไว้กินเงินเดือนฟรีๆ แน่
หรือเมื่อสุวัฒน์ได้ให้การในศาลว่า กานต์ โกสินทรกุล นั้นไม่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์มาก่อน
(แต่กลับได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการขายผลิตภัณฑ์ทางด้านนี้รวมอยู่ด้วย)
กานต์ก็ยุติการถามความรู้ดังกล่าวจากสุวัฒน์ ให้แต่บุคคลอื่นที่ทำหน้าที่ขายมาถามแทนโดยไม่ให้พูดว่ากานต์สั่งให้มาถาม ดังนี้เป็นต้น
นอกจากนี้ก็มีการมอบหมายงานให้สุวัฒน์ทำในลักษณะที่ไม่ว่าใครก็คงทำไม่ได้ถ้าอยู่ภายใต้สภาพเดียวกันกับสุวัฒน์
อย่างเช่น “โครงการบริการทำบัตรประจำตัวประชาชน (I.D. PHOTO PROJECT)”
ซึ่งกานต์อยากให้สุวัฒน์ศึกษาดูว่าจะนำมาเป็นธุรกิจสู่ตลาดได้หรือไม่ กานต์มอบเอกสารภาษาต่างประเทศหนา
159 หน้าให้กับสุวัฒน์ เป็นเรื่องราวที่ใช้ในต่างประเทศทั้งสิ้น ไม่มีข้อมูลอื่นๆ หรืองบประมาณในการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้แต่อย่างใด
เมื่อสุวัฒน์ได้อ่านและศึกษาดูแล้ว ก็เห็นว่าจะต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกเพื่อให้ได้คำตอบที่ไม่ผิดพลาด
ก็เลยเขียนสอบถามไปที่กานต์ แต่กลับถูกตำหนิอย่างรุนแรงว่า ไม่ทำงานและไม่รู้จักแยกแยะงานในปัจจุบันให้ถูกต้อง
สุวัฒน์นั้นก็ทราบอยู่เต็มอกว่า โครงการนี้ได้โอนความรับผิดชอบไปอยู่กับแผนกอื่นแล้ว
และเมื่อโอนไปอยู่แผนกอื่นแล้ว ก็ได้มีการมอบหมายให้พนักงานที่ชื่อวิชิต
พงษ์ศรีเยี่ยม เป็นผู้รับผิดชอบโครงการซึ่งโกดักก็ได้ส่งวิชิตไปฝึกอบรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับโครงการทันทีที่ต่างประเทศ
อีกทั้งยังมีแผนกวิเคราะห์ของโกดักได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจให้เรียบร้อย
แต่ก็แปลกมากที่กานต์ยังอุตส่าห์มอบหมายงานชิ้นนี้ให้สุวัฒน์ทำ
เช่นเดียวกับที่กานต์อยากให้สุวัฒน์แปลแค็ตตาล็อกภาษาอังกฤษหนึ่งเล่มให้เป็นภาษาไทย
ทั้งที่สุวัฒน์เองไม่ใช่นักภาษาศาสตร์และโกดักก็มีแหล่งงานนี้ประจำอยู่แล้ว
สุวัฒน์ไม่เข้าใจอย่างยิ่งว่ากานต์มีเจตนาอะไร?
เฉพาะอย่างยิ่งกับผู้จัดการใหญ่-เจ ซี สมิธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายจัดการ-ลาฟาเอล
เดอ ลา เวก้า หรือแม้กระทั่งผู้จัดการแผนกพนักงานสัมพันธ์-รชนี วนกุล เรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุวัฒน์
ไม่ก็มีสุวัฒน์เกี่ยวข้องแล้ว เรื่องเล็กๆ ก็มักจะต้องกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายทุกเรื่อง
การตำหนิติเตียนและการคาดโทษสุวัฒน์เกิดขึ้นถี่เป็นพิเศษ
และหนังสือตำหนิติเตียนที่มีมาถึงสุวัฒน์เกือบทุกวันจนหนาเป็นปึกๆ นั้น
หลายฉบับถูกสั่งเข้าเก็บในทะเบียนประวัติพนักงานเพื่อจะได้ใช้เป็นหลักฐานพิจารณาลงโทษกันต่อไป
ด้านสุวัฒน์เองก็มีหนังสือชี้แจงกลับไปทุกเรื่องซึ่งถ้าใครได้อ่านเนื้อหาการ
“เขียนจดหมายรัก” ตอบโต้กันระหว่างฝ่ายบริหารกับสุวัฒน์ในช่วงปีกว่าๆ
มานี้ก็น่าจะได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่า
“ยังทำงานอยู่ได้โดยไม่บ้าไปเสียก่อนก็เก่งเกินมนุษย์แล้ว”
ที่จริงสุวัฒน์ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งนี่เอง แต่คงด้วยความเชื่อมั่นว่าเมื่อเป็นฝ่ายถูกต้องแล้ว
ก็คงไม่ต้องไปเกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม ถึงที่สุดแล้วคนอย่างเขาก็คงต้องใช้ชีวิตอย่างเงยหน้าไม่อายฟ้า
ก้มหน้าไม่อายดิน
ยอมลาออกตามแรงบีบเพราะผลด้านจิตวิทยาเสียอีกที่เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะทำ
แน่นอนที่สุด...สำหรับการเลิกจ้างสุวัฒน์ไปได้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2529
หลังจากพยายามกดดันกันมาตลอดปีกว่าๆ นี้ โกดักอาจจะมองว่าเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สามารถตัดไม้ข่มนามลงอย่างราบคาบ
แต่สำหรับสุวัฒน์ เขาก็คงจะคิดเป็นอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ชัยชนะของเขาเหมือนกัน