บางกอกแลนด์เตรียมนำ "อิมแพค" เข้าตลาดหลักทรัพย์ ช่วง ไตรมาส 2/2547
วาดฝันระดมเงินไม่ต่ำ กว่า 1 หมื่นล้าน เพื่อใช้ขยายพื้นที่จัดแสดงสินค้า และก่อสร้าง
2 โรงแรม-เอ็นเตอร์เทนเมนต์ครบวงจร โดยไม่พึ่งเงินกู้ยืม หวังเป็นบริษัทปลอดหนี้
ล่าสุด เตรียมโอนสินทรัพย์ให้อิมแพค 1 พันไร่ก่อนเข้าตลาดหุ้น เผยมียอดจองเช่าพื้นที่ในเมืองทองธานีถึงสิ้นปีหน้าแล้ว
2.3 พันล้านบาท
วานนี้ (3 พ.ย.) บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ลงนามสัญญาแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้
จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์บริษัท
อิมแพค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นอยู่ 100%
นายอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน)
(BLAND) เปิดเผยว่า จากภาวะตลาดหุ้นในปัจจุบันที่เอื้ออำนวยในการระดมทุน และต้องการขยายกิจการของอิมแพคฯ ให้ครบวงจร
โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายที่จะระดมทุนเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ประมาณไตรมาส
2 หรือ 3 ในปี 2547
โดยบางกอกแลนด์จะลดสัดส่วนการถือหุ้นในอิมแพคฯ ลงเหลือ 70-80% โดยกระจายหุ้นให้ประชาชนทั่วไป
20-30%
เงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปใช้ขยายกิจการ โดยการขยายพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและสินค้าให้ครบวงจร
เพื่อรองรับกิจกรรมจากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งจะสร้างโรงแรมเพิ่มขึ้น 2
แห่ง ในบริเวณของเมืองทองธานี เป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว 1 แห่ง และระดับ 5 ดาว 1
แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องรวม 2,000 ห้อง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกเชนโรงแรมจากต่างประเทศเข้ามาบริหาร
คาดว่าจะดำเนินการในปี 2549 และจัดแบ่งพื้นที่จัดสร้างสถานบันเทิงครบวงจรอีก 1
แห่ง
นอกจากนั้น จะลงทุนสร้างอาคารศูนย์การแสดงนิทรรศการและสินค้า บนพื้นที่ประมาณ
200 ไร่ บนพื้นที่แถวศรีนครินทร์รวม 1,650 ไร่ สอดรับการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ
เนื่องจากเห็นว่าศูนย์แสดงสินค้าที่เมืองทองธานีบริเวณแจ้งวัฒนะ มีขนาดใหญ่พอควร
หากขยายมากกว่านี้จะก่อปัญหาการจราจรได้
ปัจจุบัน อิมแพคฯ มีพื้นที่ในการจัดแสดงนิทรรศการและสินค้า 1.3 แสนตร.ม. และห้องประชุม
5 หมื่นตร.ม. และ อารีน่ารองรับผู้ชมได้ 1.2 หมื่นที่นั่ง
"ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะระดมทุนมากน้อยแค่ไหน บอกได้แค่ว่าจะเป็นเงินมากกว่า
1 หมื่นล้านบาท แต่โครงการที่จะลงทุนเพิ่มทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
เราจึงต้องการระดมทุนให้พอสำหรับการขยายงาน โดยเรามีนโยบายบริษัทอิมแพคฯ เป็นบริษัทไม่มีเงินกู้เลย
หรือเป็นบริษัทฯ ที่ปลอดหนี้ มีรายได้จากค่าเช่าที่แน่นอน โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้น
มีแต่รายรับที่จะพอกพูนขึ้นไปเรื่อย ๆ" นายอนันต์กล่าว
เนื่องจากอิมแพคฯ เป็นผู้บริหารศูนย์การจัดแสดงนิทรรศการและสินค้าที่ใหญ่ที่สุด
แต่บางกอกแลนด์เป็นผู้ถือครองสินทรัพย์ ซึ่งเป็นที่ดินประมาณ 2,500 ไร่ ดังนั้น
ก่อนจะนำอิมแพคฯ เข้าตลาดหุ้น บางกอกแลนด์จะมีการปรับโครงสร้างในอิมแพคฯ โดยโอนสินทรัพย์
ซึ่งเป็นที่ดินประมาณ 1 พันไร่ให้กับอิมแพคฯ แบ่งเป็นที่ดินบริเวณเมืองทองธานี
800-900 ไร่ และที่ดินซึ่งใช้ในการสร้างอาคารแสดงสินค้า บริเวณศรีนครินทร์จำนวน
200 ไร่
ยอดจองเช่าพื้นที่ 2.3 พันล้าน
นายอนันต์ กล่าวถึงผลประกอบการดำเนินงานอิมแพคฯ ว่าขณะนี้มีลูกค้าจองเช่าพื้นที่ในศูนย์แสดงสินค้าที่เมืองทองธานีจนถึงสิ้นปีหน้า
คิดเป็นมูลค่า 2,300 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นรายได้สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่ปี
2542
สำหรับผลประกอบการในปี 2546 คาดว่าจะทำได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ในปีหน้าจะมีการขยายพื้นที่สำหรับจัดงานเพิ่มขึ้น
5,000 ตารางเมตร ดังนั้นจึงไม่สามารถนำรายได้มาเปรียบเทียบกับปีนี้ได้ เพราะมีการก่อสร้างและลงทุนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
รายได้หลักของอิมแพคฯ มาจากค่าเช่าอย่างเดียว แต่สำหรับบางกอกแลนด์โครงสร้างรายได้จะมาจากค่าเช่า
50% ที่เหลือมาจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 50% เนื่องจากมีโครงการสร้างบ้านเดี่ยวบนพื้นที่ถนนศรีนครินทร์
มูลค่าโครงการทั้งหมดประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท เป็นบ้านเดี่ยวประมาณ 4,000-5,000
หลัง ราคาขายหลังละประมาณ 12 ล้านบาท โดยเฟสแรกจะเปิดขายในปีหน้าประมาณ 460 หลัง
นายเรืองวิทย์ ดุษฎีสุรพจน์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ ในฐานะที่ปรึกษาทางด้านการเงินอิมแพคฯ
กล่าวว่า การนำบริษัทอิมแพคเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้ทั้งคู่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งขึ้น
โดยบางกอกแลนด์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน อิมแพค มีส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจการจัดนิทรรศการและสินค้ากว่า 60%
นอกจากนี้ธุรกิจดังกล่าวยังได้รับผลดีจากนโยบายรัฐ ที่ต้องการให้ไทยมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะการเปิดเสรีการค้ากับหลายประเทศ ทำให้สามารถรองรับการจัดแสดงสินค้าและการประชุมขนาดใหญ่ได้
ขณะที่คู่แข่งมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ แต่อิมแพคฯ ไม่มีปัญหาดังกล่าว เพราะมีพื้นที่รองรับการขยายมาก
นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เมื่อวานนี้ อนุมัติการออกวอร์แรนต์
โดยไม่คิดมูลค่าจำนวน 2,000 ล้านหน่วย ให้แก่ผู้ถือหุ้นที่มีชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น
ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2546 ในอัตราส่วน 3 หุ้นเดิม ต่อ 1 วอร์แรนต์ โดยกำหนดให้มีการใช้สิทธิเท่ากับ
1.8 บาทต่อหุ้น (หลังจากได้ปรับลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้เป็น 1 บาท)
พร้อมทั้งมีมติอนุมัติให้เสนอขายหุ้นสามัญ ใหม่แก่นักลงทุนในแบบเฉพาะเจาะจง จำนวนไม่เกิน
4,000 ล้านหุ้น โดยบริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดจำหน่าย