ผู้บริหารแผนทีพีไอ มั่นใจเจ้าหนี้รายใหญ่ "แบงก์กรุงเทพ" นำทีม 3 แบงก์ไทยและเทศปล่อยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน 170 ล้านดอลลาร์ ในเร็วๆ นี้ หลังพิจารณารายละเอียดหลักประกันสินเชื่อเสร็จ
ยืนยันปลายปีนี้ได้ข้อสรุปจากที่ปรึกษาทางการเงินและเทคนิคตามกำหนด
ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ทีมงานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย
จำกัด (มหาชน) (TPI) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดหาเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ซื้อวัตถุดิบว่า
ขณะนี้สถาบันการเงินทั้งไทยและเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขสุดท้าย ก่อนที่จะปล่อยกู้
170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะได้ข้อยุติเร็วๆ นี้
"สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนที่ 4 สถาบันการเงินที่จะปล่อยกู้ 170 ล้านดอลลาร์นั้น
มาจาก 3 แบงก์ไทย 1 แบงก์ต่างประเทศ โดยแบงก์กรุงเทพเป็นหนึ่งในสามที่จะปล่อยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน
ซึ่งขณะนี้กำลังดูเงื่อนไขสุดท้ายเกี่ยวกับรายละเอียดหลักประกัน"
หากบริษัทฯ ได้รับสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนดังกล่าวตามวงเงินที่บริษัทฯ ได้ทำหนังสือขอวงเงินสินเชื่อจากแบงก์เจ้าหนี้จำนวน
170-200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้บริษัทฯ สามารถเดินเครื่องจักรผลิตได้เพิ่มสูงขึ้น
จากปัจจุบันโรงกลั่น ทีพีไอเดินเครื่องอยู่ที่ 1.5 แสนบาร์เรล/วัน
โดยเงินสินเชื่อทุนหมุนเวียนดังกล่าวนี้ มีวงเงินสูงกว่าสมัยที่บริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ
แพลนเนอร์ส เป็นผู้บริหารแผนทีพีไอก่อนถูกศาลล้มละลายมีคำสั่งปลดออกจากการเป็นผู้บริหารแผนฯ
และแต่งตั้งนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นผู้บริหารแผนชั่วคราว ทำให้เจ้าหนี้ระงับการปล่อยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน
80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทันทีในปลายเมษายน 2546 จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการปล่อยเงินกู้ก้อนดังกล่าว
ดร.ศิริ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการเจรจาลดดอกเบี้ยจ่ายหนี้สกุลเงินบาทจาก MLR+2%
เป็น MLR-1% นั้น ทางเจ้าหนี้รับในหลักการแล้ว เพียงแต่หาแนวทางเพื่อดำเนินการ
หากได้ข้อสรุปแล้ว ทางทีพีไอก็พร้อมที่จะชำระดอกเบี้ยปัจจุบันและดอกเบี้ยค้างจ่ายมาตั้งแต่เดือนเมษายน
2546
หากเจ้าหนี้อนุมัติคิดอัตราดอกเบี้ยเท่าลูกค้าชั้นดี ทำให้บริษัทฯ ลดการชำระดอกเบี้ยจ่าย
Tier1 เหลือเพียง 205-210 ล้านบาท/เดือน จากเดิมที่ต้องชำระถึง 320 ล้านบาท/เดือน
จากยอดหนี้สินรวมทั้งสิ้น 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้บริหารแผนทีพีไอเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จทันตามกำหนดปลายปี
2546 คือผลสรุปจากที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษาทางเทคนิคตามกำหนด เพื่อใช้เป็นแนวทาง
ในการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ เพื่อนำไปเจรจากับเจ้าหนี้ต่อไป
โดยบริษัทฯ ได้สัญญาตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ Morgan
Stanley Dean Witter Asia (Singapore) และบริษัทที่ปรึกษาทางเทคนิค คือ บริษัท
เอบีบี จำกัด
ด้านผลประกอบการในไตรมาส 3/2546 คาดว่ามีกำไรก่อนดอกเบี้ยภาษีและค่าเสื่อมราคา
(EBITDA) รวม 2.4 - 3 พันล้านบาท เทียบกับไตรมาส 2/2546 มี EBITDA เพียง 1,400
ล้านบาท เป็นผลจากบริษัทฯเร่งดำเนินการผลิตสูงสุด เฉลี่ยวันละ1.65 แสนบาร์เรลในช่วงกันยายน
เพื่อเก็บสต็อกสินค้าไว้ผลิตในช่วงที่ปิดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่น 1 เป็นเวลา 2-3
สัปดาห์
"หากทีพีไอมีกำลังการผลิตที่ 1.5-1.6 แสนบาร์เรล/วัน ต้องการเงินทุนหมุนเวียน
80 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นเงินส่วนเกินที่ได้จากเจ้าหนี้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสและจังหวะในการซื้อเป็นประโยชน์ต่อบริษัท
ส่วนจะเพิ่มกำลังการผลิตให้สูงกว่านี้หรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับตลาด ซึ่งบริษัทฯ มีความพร้อมอยู่แล้วที่จะผลิต
2.15 แสน บาร์เรล/วัน" ดร.ศิริ เคยกล่าวไว้
สำหรับราคาหุ้น TPI ได้มีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าบริษัทฯ
จะได้รับสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนในเร็วๆ นี้ รวมกับได้ข้อสรุปผลการทำดีล ดิลิเจนซ์
ส่งผลต่อฐานะการดำเนินธุรกิจแข็งแกร่งขึ้น
ส่งผลให้ TPI (31 ต.ค.) ปิดตลาด19.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท เปลี่ยนแปลง 8.33%
มูลค่าการซื้อขายสูงสุดที่ 3,919.51 ล้านบาท