Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน30 ตุลาคม 2546
มิตซูฯ รื้อใหญ่ระบบบริหาร             
 


   
search resources

มิตซูบิชิ
เอ็มเอ็มซี สิทธิผล
มิตซูบิชิ มอเตอร์ ประเทศไทย
มิตซูบิชิ ฟูโซ่ ทรัก แอนด์ บัส ประเทศไทย
เดวิด ดับเบิลยู โฮวาร์ด
Automotive




"มิตซูบิชิ" พลิกภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ในไทย รื้อระบบบริหารใหม่ หมด กลางเดือนพ.ย.นี้ประกาศยุติบทบาท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล ตั้งบริษัทใหม่ มิตซูบิชิ มอเตอร์ ประเทศไทย ดูแลรถยนต์นั่งและกระบะแทน พร้อมกับจัดตั้งอีกบริษัทดูแลรถบรรทุก แยกบริหารกันชัดเจน หลังจากมีการทยอยปรับเปลี่ยนโครงสร้างมาตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าจะเรื่องบุคลากร การผลิต การตลาด และตัวแทนจำหน่าย ตั้งเป้าปี 2548 ขอกลับ มาผงาดติดกลุ่มบิ๊กทรีตลาดรถยนต์ในไทย

หลังจากมิตซูบิชิในประเทศไทย ได้มีการ ปรับโครงสร้างการบริหารใหม่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนในตำแหน่งระดับบริหาร ด้วยการถอนตัวออกไปของกลุ่มตระกูล "พรรณเชษฐ์" อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีการดึงตัว นายเดวิด ดับเบิลยู โฮวาร์ด ซึ่งเป็นคนของเดมเลอร์ไครสเลอร์โดยตรง เข้า มากุมบังเหียนในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ จากนั้นมิตซูบิชิก็ได้มีการปรับเปลี่ยนองค์กรภายในอย่างเงียบๆ ตลอดระยะเวลาเกือบปีที่ผ่านมา

แยกบริษัทรถนั่ง-ทรัค

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแม้จะมีมาตลอด แต่ภาพภายนอกที่ปรากฏต่อสาธารณชนกลับยังไม่เห็นชัดเจน แต่นับจากนี้ไปมิตซูบิชิในไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยจะมีการยุติบทบาทของบริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด ซึ่งดำเนินงานมานานหลายสิบปีอย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้ ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ มิตซูบิชิในประเทศไทยจะมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ โดยจะประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมกับแยกหน่วยงานที่ดูแลรถบรรทุกและรถบัส ซึ่งเดิมรวมอยู่กันอยู่ในเอ็มเอ็มซี สิทธิผลฯ แยกออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อ บริษัท มิตซูบิชิ ฟูโซ ทรัค แอนด์ บัส ประเทศไทย จำกัด เพื่อให้การดำเนินงานมีความคล่องตัว และแยกการบริหารอย่างชัดเจน

ในส่วนของโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ ประเทศไทย ทุกอย่างยังเป็นเช่นเดิม โดยมิตซูบิชิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น หรือเอ็มเอ็มซี(เดมเลอร์ไครสเลอร์ถือหุ้นใหญ่) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 90% เช่นเดิม ขณะที่มิตซูบิชิ ฟูโซ ทรัค แอนด์ บัส ประเทศไทย ที่เพิ่งแยกออกมาตั้งบริษัทใหม่ เป็นไปตามนโยบายของเอ็มเอ็มซี ซึ่งที่ญี่ปุ่นได้มีการแยกกันบริหารงานมานานแล้ว โดยสัดส่วนหุ้นที่ญี่ปุ่นแบ่งเป็นเดมเลอร์ไครสเลอร์ 53% และมิตซูบิชิ 47%

รื้อใหญ่ระบบดีลเลอร์

นอกจากการแยกองค์กรบริหารงานแล้ว ในส่วนของระบบการจัดการภายในของมิตซูบิชิ ก็ได้มี การปรับเปลี่ยนใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของตัวแทนจำหน่าย หรือดีลเลอร์ ซึ่งได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว

ทั้งนี้ปัญหาที่ผ่านมาของมิตซูบิชิ ดีลเลอร์เป็น สาเหตุสำคัญที่ทำให้มิตซูบิชิไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็วเหมือนกับคู่แข่ง ซึ่งดีลเลอร์ส่วนใหญ่ล้วน ประสบปัญหาเอ็นพีแอล รวมถึงการเป็นหนี้มิตซูบิชิจำนวนมาก จากการได้รับเครดิตนำรถออกไป

"ดีลเลอร์มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ดี แต่ดีลเลอร์ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสถานการณ์ และเป็นไปตามมาตรฐานของเรา เพื่อให้สามารถอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง ดีลเลอร์ รายไหนที่ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ยอมปรับปรุงมาตรฐานก็จำเป็นต้องตัดออกไป หรือแม้แต่เรื่องเครดิตที่นำรถออกไปก่อน แล้วค่อยจ่ายภายใน 120 วัน ซึ่งสร้างปัญหาให้กับเรามากขณะนี้ก็ได้ยกเลิกไปแล้วเช่นกัน โดยเปลี่ยนมาให้ดีลเลอร์จ่ายเงิน สดซื้อรถแทน แต่จะได้รับอินเทนซีฟมากขึ้น" นายเดวิด ดับเบิลยู โฮวาร์ด ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกล่าว

สำหรับดีลเลอร์มิตซูบิชิเดิมมีอยู่ประมาณ 95 ราย แต่ปัจจุบันถูกตัดสิทธิ์ออกไป เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายใหม่ของมิตซูบิชิได้ทำให้ปัจจุบันเหลืออยู่กว่า 80 รายและมีโชว์รูมอยู่ 142 แห่ง ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มดีลเลอร์มาทดแทนรายเดิมอีกประมาณ 20 ราย

พร้อมกันนี้มิตซูบิชิยังมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์โชว์รูมใหม่หมด เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นถึงการ เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น รวมถึงโลโก้และสีสันต่างๆ

เน้นบริการหลังชาย

เมื่อมีการรื้อดีลเลอร์ใหม่แล้ว สิ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไป คือ การปรับปรุงมาตรฐานด้านการบริการหลังการขาย เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้ กับลูกค้า ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและดึงลูกค้ากลับมา

เหตุนี้มิตซูบิชิจึงนำการดำเนินงานด้านบริการหลังการขายรูปแบบใหม่มาใช้ ซึ่งถือเป็นแนวใหม่ที่ไม่เคยมีบริษัทรถยนต์ใดนำมาใช้กับรถกระบะมาก่อน โดยลูกค้าที่นำรถเข้ามาซ่อม และต้องจอดรถทิ้งไว้ มิตซูบิชิจะสนับสนุนด้วยการมีรถกระบะให้ลูกค้าใช้ระหว่างรอการซ่อม

"ปัจจุบันมิตซูบิชิมีฐานลูกค้ารถกระบะอยู่ประมาณ 5 แสนราย หากลูกค้านำรถเข้ามาซ่อมไม่ว่าจะเป็นที่โชว์รูมไหน ลูกค้าจะได้รับรถกระบะไปใช้ระหว่างรอการซ่อม เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเราต้อง ลงทุนไปเป็นจำนวนมากทีเดียว แต่เพื่อความพึงพอใจ สูงสุดของลูกค้า มิตซูบิชิก็พร้อมที่จะทำ และการดำเนินงานครั้งนี้ได้จ้างบริษัทประกันภัยร่วมดูแลด้วย"นายเดวิดกล่าว

นอกจากนี้ดีลเลอร์ทุกรายจะต้องทำการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ เพื่อให้สามารถสั่งอะไหล่ หรือตรวจสอบสต็อกสินค้าได้อย่างรวดเร็ว และลูกค้าก็สามารถตรวจสอบราคาอะไหล่ และค่าแรงได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลดีต่อลูกค้าเป็นอย่างมาก

ปี 48 ปรับโฉมรถใหม่

ไม่ว่าจะสร้างความพึงพอใจลูกค้าแค่ไหน หรือ ดีลเลอร์แข็งแกร่งอย่างไรก็ตาม หากตัวผลิตภัณฑ์ยังเป็นรองคู่แข่งอยู่ ก็เป็นเรื่องลำบากที่จะทำให้มิตซูบิชิก้าวไปตามเป้าหมายได้

สิ่งเหล่านี้มิตซูบิชิดูเหมือนจะทราบดี เพราะปัจจุบันมีสินค้าให้ลูกค้าเลือกเพียง 2-3 ตัวเท่านั้น เหตุนี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มิตซูบิชิ มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น จึงได้ประกาศลงทุนในไทยกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์โมเดลใหม่ ซึ่งจะ เปิดตัวประมาณปี 2548 โดยเฉพาะปิกอัพโฉมใหม่ที่มิตซูบิชิได้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่กำลังรอการปรับเปลี่ยน โฉมรถใหม่ทุกรุ่น มิตซูบิชิก็เตรียมจัดกิจกรรม และแนะนำรถยนต์ไมเนอร์เชนจ์รุ่นปัจจุบันออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปปลายเดือน พฤศจิกายนนี้ จะมีการไมเนอร์เชนจ์กระบะ และอาจจะมีการเปิดตัวรถยนต์นำเข้ารุ่นใหม่ เอาต์แลนเดอร์ หรือที่ญี่ปุ่นเรียก แอร์เทรก สปอร์ตเกียร์ เข้ามา บุกตลาดเอสยูวีเพิ่มอีกรุ่น

ส่วนปีหน้าจะมีการนำเข้ารถยนต์เอ็มพีวี มิตซู-บิชิ แกรนดิส และรถยนต์นั่งขนาดเล็กรุ่นโคลท์ เข้า มาเสริมตลาดในไทยมากขึ้น ขณะที่มิตซูบิชิ แลน-เซอร์ ก็จะมีการไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่เช่นกัน ซึ่งจากความหลากหลายเช่นนี้ ย่อมทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น และมีส่วนผลักดันยอดขายของมิตซูบิชิให้สูงขึ้นด้วย

ตั้งเป้าขยับขึ้นเบอร์ 3

ผลจากการปรับเปลี่ยนระบบการบริหาร การผลิต การตลาด การขาย และตัวแทนจำหน่าย ทำ ให้มิตซูบิชิตั้งเป้าหมายทางการตลาด ขอกลับมาครอง อันดับ 3 ของตลาดรถยนต์รวมทุกประเภทในไทย จากปัจจุบันที่อยู่อันดับ 5 เป็นรองโตโยต้า อีซูซุ ฮอนด้า และนิสสัน

ทั้งนี้มิตซูบิชิมียอดขายในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ปีละประมาณกว่า 30,000 คัน แต่ต่อไปนี้นะต้องเพิ่ม ขึ้นทุกปี โดยปี 2547 จะต้องเพิ่มไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่น คัน และในปี 2548 ซึ่งมิตซูบิชิตั้งเป้าหมายว่า จะต้องกลับมาอยู่อันดับ 3 ของตลาดรถยนต์รวมในไทยให้ได้ ได้มีการตั้งเป้าหมายยอดขายไม่ต่ำกว่า 60,000 คัน

สำหรับยอดจำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิ 9 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) ทำได้ทั้งหมด 24,792 คัน อยู่อันดับ 5 ของตลาด แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 4,308 คัน และรถกระบะ 1 ตัน 18,911 คัน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us