ประมูลระบบ AIMS 2,230 ล้าน ของบทม.ส่อเค้าวุ่น หลังสายการบินทำหนังสือด่วนถึง
"สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" ประท้วงระบบเช็กอินผู้โดยสารของ Videcom ที่อาจสร้างปัญหากับระบบเดิมของสายการบิน
ขอให้ชะลอการตัดสินใจ รอการประชุม IATA ต้นเดือนพ.ย.นี้ ด้านคนในวงการวิเคราะห์ปัญหาเกิดเพราะที่ปรึกษามีบทบาทสูงในการ
ให้คะแนนเทคนิค ซึ่งทำให้พลาดหลักการที่สำคัญ
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการประมูลโครงการ AIMS (Airport Information
Management System) ของบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) มูลค่า 2,230
ล้านบาท ว่า ภายหลังคณะกรรมการพิจารณาให้กลุ่มสามารถ กับ ซีเมนส์ เป็นคนได้คะแนนด้านเทคนิคสูงสุด
และอยู่ ในระหว่างการเจรจาต่อรองราคา เริ่ม ส่อให้เห็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจดังกล่าว
เมื่อสายการบินจำนวนมาก เริ่มต้นจาก ฟินแลนด์ กัลฟ์แอร์ อีวาแอร์ ลุฟท์ฮันซ่า
แควนตัส และบริติชแอร์เวย์ ได้ทำหนังสือด่วนถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.
คมนาคม พล.อ.สมชัย สมประสงค์ รองประธานบอร์ด บทม.และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่
และนายธีรวัฒน์ ศรีฉัตรภิมุข ที่ปรึกษารัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากรู้ผลตัดสิน
ประเด็นในหนังสือดังกล่าว สายการบินอ้างว่า เกิดความไม่มั่นใจในการคัดเลือกผู้ให้บริการระบบ
Videcom ที่ใช้ในระบบ Check-in ของคณะกรรมการที่ดูแลสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากสายการบินต่างๆ
ไม่มั่นใจว่า ระบบที่เลือกเข้ามา ใช้จะสามารถทำงานร่วมกับระบบเดิม ของสายการบินต่างๆได้ดีเพียงพอ
อีกทั้งระบบที่ถูกคัดเลือก ก็มีใช้อยู่ในไม่กี่ประเทศเท่านั้น รวมทั้งระบบดังกล่าวยังไม่สามารถรองรับความต้องการของสายการบินในอนาคต
โดยที่สายการบินระบุว่า ไม่ได้สนิทสนมหรือให้การสนับสนุนผู้ให้บริการ รายใดเป็นพิเศษ
และมีความ หวังดีที่จะเห็นสนามบินสุวรรณภูมิสำเร็จลงด้วยดี จึงได้ส่งข้อคิดเห็นมา
ซึ่งสายการบินเข้าใจว่าก่อนการตัดสินใจขั้นสุดท้ายคณะกรรมการจะมีการพูดคุยกับสายการบินก่อนว่า
ระบบที่คัดเลือกจะสามารถทำงานร่วมกับระบบเดิมของสายการบินได้
แต่ว่า ขั้นตอนดังกล่าวไม่เกิดขึ้น ซึ่งสายการบินต้องการให้ยืดเวลา การพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกไปก่อน
จนกว่าสายการบินจะได้ปรึกษา หารือกัน และได้ขอให้ IATA ยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาในการประชุม
ครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นในวันที่ 10 พ.ย. ที่จะประชุมที่กรุงเทพฯด้วย
การประมูลโครงการ AIMS กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดประมาณ 800 กว่าคะแนนคือ กลุ่ม
Airport System Integration Specialists Consortium (ASIS) ประกอบด้วย Siemens
Limited, Samart Comtech, Satyam Computer Service และ. ABB Airport Technologies
GmbH มีคะแนนทางด้านเทคนิค สูงสุด (Best Technic )
กลุ่มที่เหลือ คือ ITD-SITA Joint venture ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์
บริษัท ซิต้า อินฟอร์เมชั่น เน็ตเวิร์กกิ้ง คอมพิวติ้ง (ประเทศไทย) และบริษัท ฮิวเลตต์-แพ็คการ์ด
(ประเทศไทย) จำกัด หรือเอชพี ซึ่งกลุ่มนี่ได้ประมาณ 700 กว่าคะแนน, กลุ่ม AIMS
Con-sortium ประกอบด้วย ABC Technology, Asia Multimedia, IBM Thailand, MAA Consortium
และSoft Square 1999 และกลุ่ม PASS Consortium
โดยที่ระบบ AIMS มีองค์ประกอบ 3 ส่วนหลัก คือ 1. Basic/Core Systems มี 29 ระบบงาน
2. Operational Systems มี 6 ระบบ งาน และ 3. Administrative/Business Systems
10 ระบบงาน โดยรวมทั้งสิ้น 45 ระบบงาน
ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะกลุ่ม ASIS ของซีเมนส์ และสามารถ ถึงแม้จะมีบริษัท
ABB ที่ถือว่าเป็นมือหนึ่งด้านระบบปฏิบัติการสนามบิน แต่การเลือกใช้ซอฟต์แวร์วิดีคอม
ของประเทศอังกฤษของกลุ่มนี้ กลายเป็นจุดอ่อนที่สายการบิน ซึ่งถือเป็นลูกค้าหลักของสนามบินสุวรรณภูมิ
แสดง ความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
"หากเลือกใช้ระบบวิดีคอม จะทำให้สายการบินมีต้นทุนเพิ่มอีก 30% ในการอบรมพนักงาน
และปรับระบบใหม่"
วิดีคอม เป็นส่วนหนึ่งของระบบ CUTE หรือ Common Use Terminal Equipment หรือเรียก
ง่ายๆว่า ระบบเช็กอินผู้โดยสาร ซึ่งทั่วโลกใช้ระบบ ซิต้าประมาณ 80% รองลงมาเป็น
A-Rinc 15% เป็น วิดีคอม ประมาณ 0.3% เท่านั้น ที่เหลือเป็นการเขียนซอฟต์แวร์กันเอง
ระบบ CUTE ถือเป็นหัวใจสำคัญในส่วนของ Core System ซึ่งปัญหาของวิดีคอมมี 2 เรื่องหลักคือ
1. พนักงานสายการบินปัจจุบันไม่คุ้นเคยกับการใช้งานระบบนี้ และ 2.บริษัทที่พัฒนาวิดีคอม
เป็นบริษัทขนาดเล็ก ล้าสมัย พัฒนาได้ยาก ซึ่งรัฐบาลยังมีนโยบาย e-Passport จำเป็นต้องได้ระบบที่ทันสมัย
พร้อมรองรับ
"ที่สนามบินดอนเมือง ยังใช้ของซิต้า หรือแม้แต่ในประเทศอังกฤษ บริติชแอร์เวย์เองยังไม่ใช้วิดีคอม
ที่เป็นผู้พัฒนาระบบของอังกฤษเองเลย"
แหล่งข่าวกล่าวว่า การให้คะแนนของการประมูลครั้งนี้ กรรมการของบทม. แทบไม่ได้มีบทบาทเลย
แต่อิทธิพลจะไปอยู่ที่บริษัทที่ปรึกษา 2 ราย คือ บริษัท MITER กับบริษัท CCIV หรือ
C&C International Venture ของกลุ่มอาจารย์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่าง
ดร.สีหเทพ เทพกาญจนา ที่จะเป็นคนกำหนดหัวข้อให้คะแนน ต่างๆ ซึ่งใน 29 ระบบงานที่เป็น
Core System กลับให้คะแนนเท่ากันทุกระบบ ทั้งๆ ที่บางระบบไม่ถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างระบบทีวีวงจรปิด
หรือ ระบบ CCTV, ระบบ Human Resource Management ในขณะที่ระบบ CUTE ซึ่งถือเป็น
หัวใจสำคัญในการเช็กอินผู้โดยสารกลับไม่ได้รับการถ่วงน้ำหนัก
นอกจากนี้ บทบาทของที่ปรึกษาจากคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เคยสร้างความสงสัยให้สังคมในเรื่องความโปร่งใส
อย่างโครงการบิลลิ่ง บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น เมื่อเร็วๆนี้ หลังจากค้นพบถึงความสัมพันธ์ในการถือหุ้นโยงใยระหว่างบริษัทที่ปรึกษาของอาจารย์จุฬาฯกับบริษัทที่ชนะการประมูล
"เหมือนคุณจะสร้างหอพัก แต่คุณไม่ได้ดูลูกค้าเลย สนามบินก็เหมือนกัน เพราะรายได้ส่วน
ใหญ่ มาจากค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินของสาย การบินต่างๆ ทั้งๆ ที่สุวรณณภูมิ อยู่ในทำเลที่ดีมาก
แต่หากใช้ระบบที่สายการบินทั่วโลกไม่ยอมรับ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่สายการบิน จะเลี่ยงไปใช้สนามบินอื่น
ซึ่งจะเป็นผลเสียโดยตรงกับประเทศไทย"
ด้านนายสงวน ตรีเจริญวิวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจงานรัฐ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น
กล่าวว่า จริงอยู่ที่ระบบ CUTE ของกลุ่ม ASIS อาจจะได้คะแนนสู้คนอื่นไม่ได้ แต่หากรวม
คะแนนทุกระบบทั้งหมด ก็ถือว่ากลุ่ม ASIS ชนะ
"เหมือนคุณจะซื้อรถสักคัน แต่ว่าแอร์อาจไม่เย็นถึงใจ แต่ก็ไม่ถึงกับใช้งานไม่ได้
แล้วคุณจะมาบอกว่ารถทั้งคันไม่ดี มันก็ไม่ได้" นายสงวน กล่าว