โลกสวยด้วยดนตรี
หากไม่นับทำให้คนบางคนรวยขึ้น เพราะหากินกับคำว่า "ศิลปิน" แล้ว ประโยชน์ของดนตรีในมิติต่างๆ
(ทั้งในแง่เมโลดี้ของตัวโน้ต หรือความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่แอบแฝงระหว่างตัวโน้ต)
คงไม่ต้องบรรยายในแง่หลักการอยู่แล้ว แต่หนังสือเล่มนี้เป็นมากกว่าการบอกว่าดนตรีกาล
นั้นมีคุณค่าต่อชีวิตของมนุษย์อย่างไร เพราะการบอกซ้ำครั้งนี้ มีรายละเอียดเชิงวิจัยและสนับสนุนทางปริมาณอยู่มากพอที่จะทำให้คนอ่านเกิดประกายปัญญามากมาย
อย่างน้อยที่สุดก็คือ หยิบซีดี หรือเทปเพลงที่ชอบออกมาฟังกันได้อย่างสบาย
ไม่ต้องขัดเขินในรสนิยมของตนเอง แม้ชื่อหนังสือจะดูเหมือนออกไปทางชื่นชมดนตรีคลาสสิก
โดยยกเอาสุดยอดที่เป็นหนึ่งใน 4 อัจฉริยะทางดนตรีโลกตะวันตกอย่าง วูล์ฟกัง
อามาเดอุส โมสาร์ท มาเป็นหัวข้อเรื่อง อาจจะทำให้คนที่กลัวต้องปีนบันไดฟังดนตรีนึกขยาดและไม่กล้าหยิบอ่าน
แต่เนื้อในกลับเปิดกว้างอย่างมาก เพราะแม้จะชื่นชมโมสาร์ทเป็นพิเศษ แต่ก็บอกว่าดนตรีทุกชนิดเป็นยาวิเศษทั้งสิ้น
หากไม่ดัดจริตทำเป็นหัวสูง
แม้กระทั่งดนตรีแร็พที่มีกำเนิดจากสังเวียนแก๊งเด็กนิโกรข้างถนนในชิคาโกและนิวยอร์ก
ก็มีคุณค่า และเยียวยาจิตวิญญาณได้ดีทีเดียว
โดยเฉพาะบทที่สองนั้น คนที่นิยมอ่านหนังสือเพื่อ "เข้าถึง" ความหมายของชีวิต
จะทำให้มุมมองเกี่ยวกับดนตรี และความหมายของ "เสียงดนตรี" เปลี่ยนแปลงไปจากความรู้สึกและความเชื่อเดิมๆ
เป็นบทที่มีคุณค่ามาก แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ได้เน้นมากนัก เนื่องจากมุ่งไปให้ความสำคัญกับรายละเอียดของคุณค่าในการรักษา
"บาดแผลทางอารมณ์และวิญญาณ" พร้อมกับตัวอย่างมากมาย จนทำให้หนังสือค่อนข้างจะเป็นการยัดเยียดเลยทีเดียว
กระนั้น หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ใช่หนังสือประเภท How To... ที่น่าเบื่อแต่อย่างใด
หากช่วยให้เข้าใจเรื่องได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
เนื้อหาหนังสือเล่มนี้ ประกอบด้วยบทสำคัญดังนี้
chapter 1 Sound Beginnings : The Mozart Effects บอกถึงที่มาของชื่อหนังสือว่า
ทำไมต้องโมสาร์ท ไม่ใช่ บาค (แต่งดนตรีเหมือนนักคณิตศาสตร์เจ้าระเบียบ) เบโธเฟน
(ทำให้ตัวโน้ตอ่อนไหวดุจสายลมกล้า) วากเนอร์ (ชาตินิยมจัด) เดอะ บีทเทิลส์
(ง่ายเกินไป) หรือหลุยส์ อาร์มสตรอง (เหมาะสำหรับกลุ่มจำเพาะ) หรือมาดอนน่า
(เบาหวิวและหยาบโลนเกิน) เหตุผลก็คือ ดนตรีของโมสาร์ททำให้อารมณ์สงบ เพิ่มสมาธิ
ให้อิสระทางอารมณ์แก่ผู้ฟัง ทำให้จิตและกายสื่อสารกันอย่างสอดคล้องได้ดี
และมีความถี่สูงช่วยให้ร่างกายผู้ฟังกระปรี้กระเปร่าที่สำคัญ เท้าติดดิน
และเปี่ยมด้วยความไร้เดียงสาของเด็กแรกรุ่น
chapter 2 Sound Listening การเจาะและวิเคราะห์เสียง การได้ยิน และการฟัง
เพื่อหาอิทธิพลของเสียง (ทุกชนิด) ต่ออารมณ์และบรรยากาศ รวมทั้งเสียงดนตรี
อาทิ
-
ทำไมคนผอมจึงมีระบบฟังดีกว่าคนอ้วน
-
ทำไมดนตรีร็อคจึงมีอันตรายต่อจิตใจและระบบหูของคนฟัง
-
ทำไมดนตรีชั้นสูงไม่เหมาะกับหูของคนบ้านนอกที่เคยชินกับเสียงธรรมชาติ (polyphonic
music)
-
เป็นดนตรีสากลที่มีความหมายได้อย่างไร
-
ทำไมจึงต้องเลือกเล่นดนตรีตามสภาพแวดล้อมทางสังคม
-
หูซ้ายและขวา มีระบบฟังที่แตกต่างกันอย่างไร
chapter 3 Sound Healing พัฒนาการของการใช้เสียงดนตรีบำบัดบาดแผลทางอารมณ์ในโลกปัจจุบัน
chapter 4 Sound Voice เครื่องมือสำหรับการใช้ดนตรีบำบัด เป็นรายละเอียดพร้อมตัวอย่าง
chapter 5 Sound Medicine เสียงดนตรีที่เหมาะสมในการเยียวยาบาดแผลทางอารมณ์
และลดความเครียดในชีวิตประจำวัน มีเรื่องน่าสนใจตรงที่เริ่มย้อนกลับไปใช้ดนตรีพื้นเมืองในวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้น
เพราะเข้าใจได้ง่ายทั้งกระบวนการเคลื่อนไหว เต้น ร้อง (และตะโกน)
chapter 6 Sound Images อธิบายคุณค่าของเสียงดนตรีในการจัดระเบียบอารมณ์และจิตที่สับสนให้เข้าที่ทาง
และเกิดความสอดคล้อง กาย-จิต ขึ้นมาด้วยกระบวนการอย่างไร
chapter 7 Sound Intellect การใช้ดนตรีและเสียงดนตรีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้
และความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะวิธีการของซูซูกิ (Suzuki Method) ที่ใช้ท่วงทำนองดนตรีชิ้นเยี่ยมที่สั้น
มาให้ฟังและเล่นซ้ำๆๆๆ (แบบเดียวกับการสวดมนต์ของนักบวชพุทธศาสนาและฮินดู)
ซึ่งช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ได้ดีมาก จากผลการทดลองทั่วโลก
chapter 8 Sound Spirit ดนตรีในฐานะสะพานเชื่อมชีวิต-มรณะ โดยเฉพาะการใช้ดนตรีบำบัดผู้ป่วย
และคนชรา เพื่อให้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ พร้อมกับอธิบายว่า เพลงศพ (requiem)
นั้น มีคุณค่าเพียงใดทางจิตวิทยา
chapter 9 The Eternal Song บทสรุปสั้นๆ ของเรื่องในหนังสือทั้งหมด
Postlude ตัวอย่างการใช้ดนตรีบำบัดสารพัดโรค ตั้งแต่โรคง่ายๆ จนถึงโรคที่ซับซ้อนเป็นกรณีศึกษา
เหมาะสำหรับผู้สนใจจำเพาะโดยตรง
หนังสือเล่มนี้คงไม่เหมาะสำหรับอ่านให้จบรวดเดียว แต่ควรวางไว้ใกล้มือเพื่อหยิบฉวยขึ้นมาคลายเครียดก่อนหันไปฟังดนตรีที่ชื่นชอบ
และอยากจะชื่นชอบ