Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2546








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2546
ใต้ต้นจาคารันดา             
โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
 





บริสเบนกลายเป็นเมืองสีม่วงไปแล้วครับ

ตลอดริมถนน แม่น้ำ ดอกไม้สีม่วงบานเป็นช่อดอกไม้ขนาดใหญ่ เปลี่ยนเมืองที่สงบอย่างบริสเบนให้มีสีสันอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน พร้อมกับปูพื้นโลกให้เป็นพรมสีม่วงขนาดใหญ่

ใต้ต้นจาคารันดา

เกือบทุกเช้า ผมจะเดินไปบริเวณหลังมหาวิทยาลัย เพื่อชมความงามของต้นจาคารันดา

ดอกจาคารันดาบานดอกแรกๆ ในช่วงต้นเดือนกันยายน แถวยาวของต้นจาคารันดาริมสนามฟุตบอลช่วยให้ความงามยามเช้ามีความหมายมากขึ้น

ต้นจาคารันดาเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองบริสเบน ดอกสีม่วงของจาคารันดาขับเมืองบริสเบนที่เงียบสงบให้แซมด้วยสีม่วงทั่วเมือง ปลายปีช่วงเดือนตุลาคมต่อเนื่องไปถึงพฤศจิกายน เป็นช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ หลังจากผ่านคืนวันอันแสนหนาวเหน็บในฤดูหนาวที่ผ่านมา ชาวเมืองบริสเบนจึงมักจะออกไปนั่งชมดอกจาคารันดาริมแม่น้ำบริสเบนกันในช่วงเวลานี้ ซึ่งคล้ายกับประเพณีการชมดอกซากุระของชาวญี่ปุ่น

ผมรู้จักต้นจาคารันดาครั้งแรกจากรูปภาพใน Art Gallery ประจำเมืองบริสเบนเมื่อครั้งที่มาบริสเบนใหม่ๆ และไปเที่ยวดูภาพศิลปะ

หลังจากเดินดูภาพจนทั่ว ผมก็ไปสะดุดกับภาพๆ หนึ่ง ซึ่งตั้งชื่อว่า Jacaranda โดยในภาพเป็นต้นไม้ต้นหนึ่งกำลังออกดอกสีม่วง ใต้ต้นเป็นโต๊ะและเก้าอี้ชุดหนึ่ง และมีผู้หญิงสองคนนั่งคุยและจิบชากัน

ผมไม่แน่ใจว่าเป็น Morning Tea หรือ Afternoon Tea แต่ที่แน่ใจคือ น่าจะเป็นการดื่มชาที่มีความสุขที่สุดครั้งหนึ่งแน่นอน

ครั้งนั้น ผมยังไม่รู้จักต้นไม้ต้นนี้ ผมถามเพื่อนที่ไปด้วยกันครั้งนั้นว่า อะไรคือ จาคารันดา เพื่อนผมอธิบายว่า เป็นชื่อของต้นไม้สัญลักษณ์ของเมืองบริสเบน ที่จะบานทั่วเมืองในช่วงเดือนกันยายนต่อเนื่องถึงพฤศจิกายน

นับจากวันนั้น ผมก็เฝ้ารอคอยการบานของจาคารันดา พี่สาวท่านหนึ่ง หลังจากแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนบริสเบนและได้รู้จักจาคารันดา พี่สาวท่านนี้ก็อดรนทนไม่ได้ที่จะไปค้นหาว่า จาคารันดา คือต้นไม้ใดในเมืองไทย แล้วพี่ท่านก็ส่งข่าวมาบอกว่า จาคารันดา คือต้นศรีตรัง

ดอกศรีตรัง ดอกไม้ประจำจังหวัดตรัง

ดอกศรีตรัง หรือ ดอกแคฝอย สำหรับจาคารันดาในเมืองไทย ดอกจะไม่เป็นสีม่วงทั้งดอกเหมือนพันธุ์ในประเทศออสเตรเลีย แต่รูปร่างจะเหมือนกันมาก คือ เป็นรูปทรัมเป็ตหรือระฆัง

ดอกจาคารันดามีดอกสีม่วงสว่าง ออกดอกเป็นช่อใหญ่ ดอกมีรูปร่างเหมือนทรัมเป็ต หรือระฆัง ออกดอกในฤดูร้อน ก่อนจะร่วงหล่นสู่พื้นเปลี่ยนผืนดินใต้ต้นไม้เป็นพรมสีม่วง

มีความเชื่อหนึ่งบอกว่า ถ้าเดินอยู่ใต้ต้นจาคารันดาแล้วมีดอกจาคารันดาร่วงหล่นใส่หัว แสดงว่ากำลังจะมีโชค

แต่อีกความเชื่อหนึ่งของบรรดานักศึกษา UQ (University of Queensland) บอกว่า การบานของต้นจาคารันดาเป็นเสมือนสัญญาณบอกว่า ใกล้ถึงเวลาสอบไล่แล้ว ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน เพราะฉะนั้น ใครที่กำลังหลงระเริงกับชีวิตนักศึกษาที่นี่ก็จะต้องเริ่มต้นหยิบจับหนังสือมาอ่านกันบ้างแล้ว

และถ้าดอกจาคารันดาตกใส่หัวคนไหนก็ตาม จะส่งผลให้สอบไม่ผ่าน ดังนั้นช่วงนี้นักศึกษา UQ ส่วนใหญ่จะไม่เดินผ่านต้นไม้ต้นนี้ หรือถ้าจำเป็นก็จะต้องหาอะไรมาบังหัวเสียก่อน

ในตระกูลต้นจาคารันดากว่าห้าสิบชนิด Jacaranda mimosiforia เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันทั่วไป โดยจะเติบโตได้อย่างรวดเร็วในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำดี และแสงแดดส่องถึง จาคารันดาพันธุ์นี้ไม่ชอบพื้นที่ดินเปียกชื้นหรือมีน้ำขัง รากของต้นจาคารันดาจะไม่ชอนไชลงพื้นดินลึกนัก เราจึงมองเห็นรากของจาคารันดาโผล่ขึ้นอยู่เหนือพื้นดินรอบๆ ต้น นิยมใช้ประดับสวนขนาดกลางและเล็ก จาคารันดาจะสูงเฉลี่ยประมาณสิบเมตร และแผ่กิ่งก้านกินพื้นที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณสิบเมตรเช่นกัน จาคารันดาจึงนิยมปลูกประดับริมถนนและสวนสาธารณะที่ต้องการร่มเงาของต้นไม้

ในประเทศออสเตรเลียเอง ต้นจาคารันดาถูกนำมาแพร่พันธุ์ไปทั่ว จากเมลเบิร์นขึ้นเหนือไปถึง Cairns และเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ ดอกจาคารันดาจะบานพร้อมกัน สร้างเฉดสีม่วงทั่วประเทศออสเตรเลีย

หลายคนคิดว่า จาคารันดาเป็นต้นไม้พื้นเมืองออสเตรเลีย แต่จริงๆ แล้ว จุดกำเนิดของจาคารันดาอยู่ที่บราซิลและประเทศแถบโซนร้อนของทวีปอเมริกาใต้ ในธรรมชาติจะพบต้นจาคารันดาในพื้นที่ทะเลทรายที่แห้งแล้งของบราซิล

คนริโอเดอจาไนโรและบราซิล จะเรียกจาคารันดาว่า ฮักฮารันดา (hakharanda)

จาคารันดาพันธุ์ mimosiforia จะออกดอกสองครั้งต่อปี คือ ในตอนก่อนใบไม้ผลิ กิ่งของต้นยังโกร๋นๆ อยู่ และอีกครั้งตอนที่ใบไม้เริ่มผลิใบในฤดูร้อน ใบของจาคารันดาจะเริ่มเปลี่ยนสีในฤดูหนาว โดยจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และร่วงหล่นในที่สุด

จาคารันดาถูกนำไปแพร่พันธุ์ในประเทศแถบโซนร้อนที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกา และออสเตรเลีย

เมืองกราฟตัน (Grafton) ของออสเตรเลีย จะมีการจัดงานเทศกาลจาคารันดาทุกปี

จาคารันดาบานทั่วเมืองบริสเบนแล้ว แถบสีม่วงกระจายทั่วเมืองโดยเฉพาะริมแม่น้ำบริสเบน ช่วยให้ภาพของบริสเบนในอีกแง่มุมหนึ่ง ใต้ต้นจาคารันดาอาจจะเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย หรืออาจจะว่างเปล่า มีแต่ดอกจาคารันดาร่วงหล่นอยู่ทั่วไป แม้จะไม่มีโต๊ะไม้เนื้อดี หรือชาหอมกรุ่นใต้ต้นจาคารันดา

ผมก็หวังเพียงจะได้ชื่นชมดอกจาคารันดาเท่านั้นพอ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us