Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2546








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2546
2 ล้อ-4 ล้อ             
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
 


   
www resources

FAW-Volkswagen Home Page
Shanghai Volkswagen Home Page

   
search resources

Volkswagen
Shanghai Volkswagen
Audi AG
FAW-Volkswagen




หากกล่าวว่า พาหนะที่คล่องตัวที่สุดของกรุงเทพฯ คือ มอเตอร์ไซค์แล้ว ก็ต้องกล่าวเช่นกันว่าตั้งแต่ไหนแต่ไรมาพาหนะที่คล่องตัวและอยู่คู่กับคนปักกิ่งก็คือ จักรยานสองล้อ กับบันไดถีบสองข้างนี่แล และไม่ว่าใครก็ตามที่ได้เห็นภาพท้องถนนของกรุงปักกิ่งแล้วก็คงไม่ปฏิเสธว่า ที่นี่คือ "นครหลวงของจักรยาน" อย่างแท้จริง

ไม่เพียงแค่ปักกิ่ง แต่สำหรับคนจีนทั้งประเทศ ตั้งแต่จักรยานเป็นพาหนะหลัก และปัจจัยสำคัญของการใช้ชีวิตในเมืองจีน โดยเฉพาะยุคก่อนที่จีนจะเปิดประเทศ เครื่องชี้วัดความสำเร็จของครอบครัวคนจีนนั้นเรียกกันติดปากว่า "Big Four"

"Big Four" คือ เครื่องใช้ 4 อย่างที่ประกอบด้วย นาฬิกา จักรเย็บผ้า วิทยุ และรถจักรยาน โดย ณ ช่วงที่จีนยังอยู่หลังม่านไม้ไผ่ ครอบครัวใดที่มีจักรยานมากกว่าหนึ่งคันก็นับได้ว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะพอตัว

อย่างไรก็ตาม ภาพและค่านิยมดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ปัจจุบันจักรยานแม้จะยังเป็นพาหนะหลักของคนจีนอยู่ โดยในปักกิ่งหากเทียบจำนวนประชากรต่อจำนวนจักรยานแล้วเกือบจะอยู่ที่ 1 ต่อ 1 เลยทีเดียว (สิ้นปี 2001 เมืองปักกิ่งมีประชากรราว 13 ล้านคน มีจำนวนจักรยานราว 10.2 ล้านคัน) แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บทบาทของพาหนะ 4 ล้อ ที่เรียกว่า รถยนต์ ต่อคนจีนกลับพุ่งขึ้นสูงอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อราวครึ่งศตวรรษก่อน หลังพรรคคอมมิวนิสต์ประกาศชัยชนะเข้าปกครองประเทศจีนได้สำเร็จ โรงงานรถยนต์แห่งแรกของจีนก็ถูกตั้งขึ้นที่ ฉางชุน ในมณฑลจี๋หลิน เพื่อผลิตรถยนต์ภายใต้ชื่อ "ธงแดง (หงฉี : )" โดยมีจุดประสงค์หลักคือการนำมาใช้ในงานของภาครัฐ

การผูกขาดของ "ธงแดง" ดำเนินไปยาวนานถึง 3 ทศวรรษ จนกระทั่ง เติ้งเสี่ยวผิง ประธานาธิบดีผู้บุกเบิกนโยบายการเปิดประเทศของจีนเล็งเห็นว่า การดันทุรังและถือตัวในความสามารถของตนเอง รังแต่จะทำให้ประเทศจีนถอยหลังเข้าคลอง เพราะเทคโนโลยีในการผลิตรถยนต์ของจีนในขณะนั้น แวดวงรถยนต์โลกถือว่าเป็นของโบราณ

ขณะนั้นรัฐบาลจีนจึงมีนโยบายเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งชาติ โดยเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติสามารถเข้ามาร่วมทุนกับรัฐบาลจีนในลักษณะของบริษัทร่วมทุน (Joint Venture)

ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ เติ้งเสี่ยวผิง ประกาศนโยบายการเปิดประเทศจีนสู่ภายนอก ในปี ค.ศ.1978 บริษัทสัญชาติเยอรมันคือโฟล์คสวาเกน (Volkswagen) ก็รีบตะครุบโอกาสนี้ไว้โดยเข้ามาเจรจา กับรัฐบาลจีน เพราะโฟล์ครู้ดีว่า การที่บริษัทของตนจะสามารถต่อกรกับคู่แข่งจากประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก อย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นได้นั้นจำเป็นที่จะต้องยึดครองตลาดที่มีศักยภาพสูงให้ได้เสียก่อน

ทั้งนี้จากการวิ่งทั้งบนดินและใต้ดิน ในที่สุดโฟล์คก็ประสบความสำเร็จ เนื่องจากรัฐบาลจีนปัดข้อเสนอจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น และเลือกโฟล์คเข้ามาร่วมทุน ดังนั้นจึงนับได้ว่าโฟล์คเป็นบริษัทต่างชาติรายแรกที่เปิดประเดิมรุกเข้ามาในตลาดรถยนต์ของจีน

ในปี ค.ศ.1985 บริษัทร่วมทุนระหว่างจีน-เยอรมัน ที่ชื่อ "Shanghai Volkswagen" หรือในชื่อจีนคือ "ซ่างไห่ต้าจ้ง: " ก็เปิดทำการ ณ เมืองท่าใหญ่ของจีนคือ เซี่ยงไฮ้ โดยผลิตรถโฟล์คสวาเกนรุ่นซานตานา (Santana) ออกมาเป็นสินค้าหลัก ทั้งนี้จากการผูกขาดของโฟล์ค ในการผลิตรถป้อนตลาดจีนนั้นมีตัวเลขระบุว่า ในช่วงกลางถึงปลายทศวรรษที่ 1980 หากนับรถยนต์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในเมืองจีน 10 คันนั้นอย่างน้อยต้องเป็นโฟล์ครุ่นซานตานาเสีย 8 คัน

ด้วยข้อได้เปรียบในฐานะผู้เข้ามาเป็นเจ้าแรกในตลาดรถยนต์ของจีน โฟล์คไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ เพราะในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1991 โฟล์คก็จับมือกับบริษัทร่วมชาติ Audi AG และรัฐบาลจีนตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาอีกหนึ่งแห่งในชื่อ "FAW-Volkswagen" ในชื่อจีน คือ "อี๋ชี่ต้าจ้ง: " ที่เมืองฉางชุน มณฑลจี๋หลิน โดยมีเป้าหมายรถยนต์ระดับหรูหราภายใต้ยี่ห้อ "ออดี้ (Audi)" และโฟล์คสวาเกนบางรุ่น ทั้งนี้โรงงานของ FAW-Volkswagen ได้เริ่มดำเนินการผลิตอย่างเต็มตัวเมื่อกลางปี ค.ศ.1996

แม้ในช่วงเวลาต่อมารัฐบาลจีนจะเปิดภาคอุตสาหกรรมรถยนต์กว้างขึ้นอย่างมาก โดยอนุญาตให้บริษัทอื่นๆ จากทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อย่างเช่น เจเนอรัล มอเตอร์ส, โตโยต้า, ซีตรอง, บีเอ็มดับเบิลยู ฯลฯ เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทภายในประเทศเพิ่มเติม โดยถึงปัจจุบันมีโรงงานผลิตรถยนต์ทั้งเล็ก-กลาง-ใหญ่ กว่า 123 แห่งตั้งอยู่ใน 23 เมือง (มีผู้ผลิตรายหลักอยู่ 10 บริษัท เป็นบริษัทที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 500,000 คันต่อปี 2 บริษัท และมีกำลังการผลิตมากกว่า 100,000 คันอีก 8 บริษัท) แต่อิทธิพลของโฟล์คที่ฝังรากหยั่งลึกในตลาดจีนมาหลายทศวรรษที่ยังคงอยู่

ปัจจุบันคล้ายกับความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมการสื่อสารของเมืองไทย ที่บริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างเป็นลูกค้ารายใหญ่ของอุตสาหกรรมโฆษณาและสื่อสารมวลชน เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ในประเทศจีน หลักฐานที่พิสูจน์ถึงความร้อนแรงที่มีในอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีน ก็ไม่ต่างกันเท่าไร เพราะบริษัทรถยนต์ในจีนต่างยึดหน้าโฆษณาในหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ไว้อย่างเหนียวแน่น

จนคนจีนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าโฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์ ในปัจจุบัน "ไม่ขายบ้านก็ขายรถ"

อย่างไรก็ตาม หากเหลือบไปดูราคาของสินทรัพย์ทั้งสองชนิดแล้วจะพบว่าสะท้อนภาพ "ความรวยกะทันหัน" ของคนจีนได้เป็นอย่างดี เพราะแม้จีนจะเป็นประเทศที่สามารถผลิตรถยนต์ในแต่ละปี มีปริมาณมากเป็นอันดับ 4 ของโลก (คาดการณ์ในปี ค.ศ.2003 จะผลิตได้ 4 ล้านคัน) แต่ราคารถยนต์ในประเทศจีนนั้นหากเปรียบเทียบกับในสหรัฐฯ หรือยุโรปแล้วกลับสูงมากกว่า 2 เท่า ด้วยอัตราภาษีที่เก็บหนักถึงร้อยละ 30-40 สำหรับรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ และภาษีจะขึ้นไปถึงร้อยละ 60 หากเป็นรถยนต์นำเข้า (ภาษีรถยนต์นำเข้ามีการลดลงแล้ว หลังจากจีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก)

กระนั้นคนจีนก็ยังคงเข้าคิวรอซื้อรถยนต์กันอย่างไม่ขาดสาย จนภาครัฐของจีนล่าสุดต้องออกมาเบรกกระแสความร้อนแรงดังกล่าว ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน คือ หนึ่ง เมืองใหญ่ๆ ของจีนกำลังประสบปัญหาการจราจรและมลพิษอย่างหนักหน่วง สอง น้ำมันเป็นพลังงานที่จีนไม่สามารถผลิตใช้เองได้อย่างเพียงพอในประเทศ และต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นในแบบก้าวกระโดดทุกปี

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนต้องจะเสริมสร้างอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศให้ก้าวไปอีกขั้น โดยเน้นพัฒนามาตรฐานของเทคโนโลยียกระดับการวิจัย-พัฒนา ประหยัดพลังงาน รวมไปถึงอุตสาหกรรมการบริการที่เกี่ยวข้อง

ภายใต้นโยบายอุตสาหกรรมรถยนต์ใหม่ที่คาดว่าจะมีการประกาศใช้เร็วๆ นี้ รัฐบาลจีนจะทำการเก็บภาษีส่วนประกอบรถยนต์ที่นำเข้ามาผลิตขึ้นเป็นคันในประเทศ ด้วยอัตราสินค้านำเข้า ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งก็จะเร่งสนับสนุนอุตสาหกรรมต้นน้ำคือ อุตสาหกรรมเหล็ก เคมี เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและปริมาณ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ก่อนที่ในปี ค.ศ.2005 ตามสัญญากับดับเบิลยูทีโอ จีนจะต้องลดกำแพงการค้า เช่น ใบอนุญาตนำเข้า โควตาการนำเข้าและภาษีนำเข้าไม่เกินร้อยละ 25

พัฒนาการจาก "ถีบ 2 ล้อ" มาเป็น "เหยียบ 4 ล้อ" ของจีน ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ขึ้นในหลายแง่หลายมุม ในด้านบวกจีนได้ใช้โอกาสในฐานะประเทศที่มีตลาดใหญ่ที่สุดในโลก ดึงเทคโนโลยีจากต่างชาติเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศให้เติบโตได้อย่างชาญฉลาด และเตรียมพร้อมที่จะก้าวไปแข่งขันกับตลาดโลกในอนาคต ส่วนในด้านลบ จีนก็ต้องตามแก้ผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นอยู่กับปัญหา การจราจร พลังงาน และมลพิษที่กำลังเพิ่มเป็นดินพอกหางหมูด้วยเช่นกัน

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
Shanghai Volkswagen - http://www.csvw.com/csvw/index.htm
FAW-Volkswagen - www.faw-volkswagen.com

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us