"บ้านหลากสีสัน" หลังที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของลอนดอนนี้ มี
Susan Collier ผู้เป็น textile designer ชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของอังกฤษเป็นเจ้าของ
เมื่อได้เข้าไปเยี่ยมเยือนก็เท่ากับมีโอกาสได้เรียนเรื่องทฤษฎีการให้สีไปในเวลาเดียวกันด้วย
พอก้าวเท้าเข้าไปในห้องนั่งเล่นก็ได้พบกับความสดใสจัดจ้านของสีที่ตัดกันแบบไม่เกรงใจใคร
เหมือนเฉือนส่วนย่อยๆ ของชายฝั่ง Riviera มาไว้ที่นี่ยังไงยังงั้น เพราะผนังห้องทาสีฟ้าสด
แล้วใช้ผ้าม่านรวมทั้งพรมปูพื้นลายขาว-แดงเลือดหมูทาบทับ ขณะที่ผนังห้องรับประทานอาหารทาสีเหลือง
citrus yellow แต่มีพื้นทาสีลายทางขาว-ดำ ซึ่งน่าจะทำให้แสบตาเพราะสีจัดจ้านเหลือเกิน
แต่จริงๆ แล้วหาได้เป็นอย่างนั้นไม่ มันกลับทำให้ผู้ได้พบเห็นรู้สึกเบิกบานหัวใจอย่างน่าประหลาด
นั่นเพราะสายตาเฉียบคมของศิลปินอย่าง Susan Collier และคงเป็นเหตุผลอธิบายความสำเร็จของเธอได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันเธอควบคุมกิจการ Collier Campbell ร่วมกับน้องสาว Sarah Campbell
ด้วย
"ตอนที่เพิ่งเข้ามาในบ้านหลังนี้ ฉันรู้สึกแย่มาก เพราะห้องนั่งเล่นทาสีแดงเข้มทึบทึมจริงๆ
จึงต้องกำจัดสีนั้นออกไปด้วยการทาสีขาวทับทั้งหมด รวมทั้งทำให้ห้องกลับมามีรูปทรงตามพื้นที่เดิมด้วยการรื้อเตาผิงและตู้
built-in ออก จากนั้นก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะทำให้ห้องนี้ดูดีน่ามองได้ยังไง?"
Susan ฟื้นความหลัง
แล้วเธอก็ได้คำตอบว่า ต้องทาผนังห้องด้วยสีฟ้าสด จากนั้นตัดด้วยผ้าม่านลายขาว-แดง
ซึ่งเป็นสีโปรด เป็นผ้าม่านเพนต์ด้วยมือของ Collier Campbell ที่ออกแบบให้
Habitat เมื่อปี 1992 ส่วนพรมปูพื้นสีเดียวกันเป็นของ Ikea ขณะที่โซฟาซึ่งคลุมด้วยผ้าลาย
ทางขาว-แดงนั้น ซื้อจากตลาดในฝรั่งเศส Susan Collier ยังอธิบายทฤษฎีการให้สีไว้อย่างน่าสนใจว่า
"บางคนอาจคิดว่าผนังสีครีมน่าจะไปด้วยกันได้ดีกับสีขาว-แดง แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า
ฉันเลือกสีฟ้าสดทางผนังห้อง เพราะเป็นสีที่สามารถตรึงสีขาวและแดงได้ ทำให้มันคงความสดใสอย่างที่ควรจะเป็นอยู่ตลอดเวลา
ส่วนพรมปูพื้นลวดลายน่าเวียนหัวก็ไม่ใช่ปัญหาเลย เมื่อได้สีฟ้ามาตรึงให้อยู่ในที่ในทางอย่างสงบ
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของสีที่ใครๆ ก็เรียนรู้ได้ด้วยความเชื่อมั่น หลักง่ายๆ
มีอยู่ว่า คุณจะประสบความสำเร็จในการเลือกใช้สีๆ หนึ่งด้วยดีก็ต่อเมื่อสามารถหาสีอื่นมาตัดหรือเทียบแล้วออกมาลงตัวนั่นเอง"
ศิลปินเจ้าของบ้านเล่าต่อไปเรื่อยๆ ว่าจริงๆ แล้ว บ้าน 3 ชั้นสไตล์ Victoria
หลังนี้ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นในเชิงสถาปัตยกรรมเลยแม้แต่น้อย "เป็นบ้านธรรมดาๆ
ที่ต้องการการตกแต่งด้วยหัวใจรักอย่างแท้จริง" เธอจึงใช้หัวใจรักเข้าไปพลิกโฉมห้องรับประทานอาหารเสียใหม่
โดยเฉพาะผนังห้องพักรอ (waiting-room) ซึ่งเดิมทาสี beige นั้น Susan Collier
บอกว่าเป็นสีที่ไม่เหมาะเอาเสียเลย เพราะไม่ทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า
จึงเปลี่ยนเป็นสีเหลือง citrus yellow แทน และเมื่อไม่นานมานี้ เธอเพิ่งได้แนวคิดทาสีพื้นห้องรับประทานอาหารเป็นลายทางขาว-ดำ
ผลที่ออกมาจึงเป็นความลงตัวอย่างที่เห็น (โปรดดูภาพประกอบ)
เมื่อถึงงานให้สีห้องครัว Susan ต้องปฏิวัติทั้งส่วนของสีและสถาปัตยกรรม
โดยทาผนังด้วยสีขาวแทนสี beige และบริเวณทางเข้าที่ติดกับห้องรับประทานอาหารนั้นเดิมเป็นรูปโค้งต่ำ
ทำให้เธอต้องแก้ไขด้วยการเปิดโค้งขึ้นไปให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผลคือแสงสว่างจากข้างนอกสามารถสาดส่องเข้าไปถึงบริเวณที่ประกอบอาหารของห้องครัวได้มากขึ้น
เมื่อมีลมอ่อนๆ พัดมาทางหน้าต่างห้องครัว จะเห็นผ้าม่านลวดลายสดใสหลากสีสันที่ประดับอยู่พลิ้วไหวล้อลมไปมา
เป็นงานเพนต์มือของน้องสาวคือ Sarah ที่ตั้งใจออกแบบให้พี่สาวโดยเฉพาะ ส่วนพื้นห้องครัวที่เป็นลายทางสีเทานกพิราบสลับขาวนั้น
สะท้อนถึงการนำหลักการทาสีพื้นห้องรับประทานอาหารมาปรับใช้นั่นเอง
งานออกแบบสีพร้อมๆ กับการตกแต่งภายในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แม้คนที่ลงมือเองจะเป็นศิลปินระดับ
textile designer อย่าง Susan ก็ตาม ตัวอย่างง่ายๆ คือ การเลือกเฉดสีให้ถูกต้องเหมาะสมเพียงสีเดียวคือฟ้าอ่อน
เพื่อใช้ในห้องนอนนั้น เป็นงานละเอียดอ่อนที่ต้องใช้เวลามากทีเดียว แต่สำหรับ
Susan แล้วเห็นว่าเป็นงานที่น่าสนใจคุ้มค่าแก่การทุ่มเท แรงบันดาลใจเริ่มแรกที่ทำให้เธอศึกษาเฉดสีฟ้าอ่อนอย่างจริงจัง
มาจากสิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจหลายชิ้นที่เธอมีไว้ครอบครองมาเป็นเวลานานและมีสีฟ้าทั้งสิ้น
อาทิ กล่องสบู่โบราณ-Floris ภาพเขียนรูปดอกไม้ฝีมือลูกสาวคนหนึ่งของเธอ และกระถางต้นไม้สีฟ้า
ซึ่งเป็นเหล็กเคลือบที่ปลูกดอก hydrangea สีขาว "ฉันชอบกระถางใบนี้เป็นพิเศษ
เพราะเฉดสีฟ้าของมันสามารถใช้เป็นสีเปรียบเทียบให้เห็นว่า สีฟ้าของผนังห้องนอนนั้นมีเฉดสีอ่อนมากขนาดไหน
จุดที่น่าสนใจคือ คุณสามารถใช้สีๆ หนึ่ง เป็นตัวบอกธรรมชาติของอีกสีหนึ่งได้"
ในส่วนของห้องน้ำนั้น จะเห็นว่าศิลปินผู้เชี่ยวชาญเรื่องการให้สีเลือกทาสีชมพู
strawberry pink "ฉันชอบเฉดสีนี้มาก ทริคง่ายๆ ที่จะลดความจัดจ้านของมันอยู่ที่การใช้สีครีมหม่นตัดตามขอบ
จะไม่ใช้สีขาวอย่างเด็ดขาด พื้นและเพดานก็ทาด้วยสีครีมหม่นนี้เช่นกัน"
เมื่อซื้อบ้านหลังนี้มาใหม่ๆ Susan คิดว่า มันช่างเป็นบ้านที่น่าเกลียดเอาเสียจริงๆ
จึงตั้งใจว่าจะเอาไว้ทำสวนและใช้เป็นสตูดิโอเท่านั้น แต่มาถึงวันนี้เธอกลับตกหลุมรัก
"บ้านหลากสีสัน" หลังนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น "บ้านหลังนี้ทำให้ฉันได้ประจักษ์กับตัวเองถึงบทบาทของสีว่า
สามารถทำให้คุณเกิดความรู้สึกแสนวิเศษได้อย่างประหลาด จะเรียกว่าเหมือนมีมนต์สะกดก็น่าจะได้"