แรกเริ่มเลยทีเดียว "ผู้จัดการ" คาดว่าโรงงานเบญจรงค์ ปิ่นสุวรรณ
ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการการจัดประชุม APEC ให้ทำของที่ระลึกมอบแก่ผู้นำแต่ละประเทศ
นั้นคือเจ้าของโรงงานที่มีประวัติยาวนานนับชั่วอายุคน
แต่เมื่อได้ตามไปพูดคุยกับ วิรัตน์ ปิ่นสุวรรณ เจ้าของโรงงานถึงอำเภออัมพวา
จังหวัดสมุทรสงคราม ปรากฏว่าสิ่งที่ "ผู้จัดการ" คิดไว้ผิดหมด
แต่ประวัติความเป็นมาและเรื่องราวของเขากลับน่าสนใจยิ่งกว่าที่คิดไว้แต่แรกด้วยซ้ำไป
วิรัตน์เป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี เกิดเมื่อ พ.ศ.2470 ปัจจุบันอายุ 76 ปี
ศึกษาจบชั้นมัธยมปีที่ 6 รับราชการเป็นครูประมาณ 7 ปี หลังจากนั้นก็แต่งงานกับแม่ค้าชาวสวนมะพร้าว
จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาได้ลาออกมาเปลี่ยนอาชีพเป็นพ่อค้ารับซื้อมะพร้าวบรรทุกเรือไปขายที่ปากคลองตลาด
โดยอาศัยบ้านของน้าสาวภรรยาเป็นที่พัก
เรื่องเล่าในช่วงเวลานั้น ล้วนเต็มไปด้วยความลำบาก ลูกทั้ง 4 คน ที่มีอายุไล่ตามกันมาก็ยังเล็ก
และทุกคนต้องเรียนหนังสือ ชีวิตจึงต้องเป็นหนี้เป็นสิน เหมือนผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ทั่วไปของประเทศ
จนต้องขายที่ขายทางใช้หนี้
จนกระทั่งปี พ.ศ.2510 วิรัตน์ได้รู้จักกับพ่อค้าของเก่า คนหนึ่งจากกรุงเทพฯ
ที่มาตระเวนหาซื้อของเก่า ประเภทถ้วยชามโบราณ เครื่องสังคโลก และเครื่องเบญจรงค์
จากชาวบ้าน และพ่อค้าคนนี้เองที่ขอให้วิรัตน์ซึ่งอยู่ในย่านนี้มานานและรู้จักคนมากมาย
ช่วยพาไปหาซื้อของเก่าตามบ้านชาวบ้าน
ตรงนั้นเองเป็นจุดเริ่มต้นให้วิรัตน์รู้จักกับของเก่า และเครื่องเบญจรงค์
แต่ก็ไม่ได้คาดคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้วิถีชีวิตของเขาและครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
ในช่วงแรกเขามีคำถามกับตัวเองว่า ทำไมนะข้าวของเก่าๆ เหล่านั้นจึงขายได้ราคาดี
ทำไมบางคนถึงยอมเสียเงินแพงๆ เพื่อซื้อถ้วยเพียงใบเดียวไปตั้งโชว์ แต่ต่อมาเมื่อได้ซึมซับสัมผัสกับของเก่ามากๆ
เข้า เขากลับรู้สึกรักและมีความรู้สึกผูกพันลึกซึ้ง กับสิ่งของแต่ละชิ้น
และเริ่มเข้าใจว่านี่คือการซื้อขายงานศิลปะของช่างโบราณที่ทำมานานตั้งแต่สมัยสุโขทัย
กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งหาได้ยากมากในปัจจุบัน
วิรัตน์เริ่มศึกษาและหาหนังสืออ่านเกี่ยวกับประวัติของของเก่าพวกนั้น
และสนใจเป็นพิเศษในสีสันอันสวยงามของเครื่องเบญจรงค์ ต่อมาภายหลังได้ไปหาซื้อของเองจากชาวบ้าน
เมื่อของเก่าย่านสมุทรสงครามเริ่มน้อยลง ก็เดินทางล่องใต้เลยเรื่อยไปตามจังหวัดราชบุรี
เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคเหนือก็ไปทั่วทั้งอยุธยา ชัยนาท อ่างทอง เมื่อได้ของมาแล้ว
ก็ให้พ่อค้าจากกรุงเทพฯ มาซื้อต่ออีกที ของที่เหลือก็ได้นำไปขายเองที่ท้องสนามหลวง
ของบางชิ้นที่ชำรุดหักพัง เขาก็จะหาวิธีและเทคนิคต่างๆ มาซ่อมแซมจนเหมือนเดิม
พร้อมๆ กับศึกษาเรื่องการผสมสีให้เหมือนของเก่ามากที่สุด เพื่อต่อเติมลงลึกในรายละเอียดของลวดลายที่ขาดหาย
ทั้งหมดคือการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อนำไปใช้บูรณะซ่อมแซมเป็นหลัก ซึ่งทุกขั้นตอนต้องอาศัยเวลา
และความเพียรพยายามอย่างมากจนความชำนาญเพิ่มขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไปหลายปี
จนวิรัตน์สามารถทำสินค้าชิ้นใหม่เลียนแบบลวดลายเก่าได้อย่างเหมือนจริงและสวยงาม
ในปี พ.ศ. 2530 วิรัตน์อายุครบ 50 ปี แต่เขายังมาเรียนทำเครื่องปั้นดินเผาร่วมกับเด็กมหาวิทยาลัยต่างๆ
ที่ศูนย์วิจัยของกรมวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้ข้อมูลใหม่ๆ นำมาพัฒนาสินค้า
ในปี 2534 เขายังได้รับโล่ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศเชิดชูให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมภาคกลางตอนล่าง
สาขาศิลปะ การช่างศิลปะ ช่างฝีมือ จังหวัดสมุทรสงคราม
ปัจจุบันเบญจรงค์ ปิ่นสุวรรณ มีลูกค้าประจำจากกระทรวงการต่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
และบุคคลชั้นสูงในเมืองไทยอีกมากมาย